ต้อง‘ลาออก’หรือไม่

หลังจากที่ตั้งอกตั้งใจชมรายการถามตรงโดยจอมขวัญของไทยรัฐทีวี ที่เชิญ “เอ๋-ปารีณา ไกรคุปต์” ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ มาคุยร่วมกับ “มายด์-ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล” ผู้นำม็อบเยาวชนปลดแอก อย่างตั้งอกตั้งใจฟัง

ตัดเอา “ใครน่ารักกว่าใคร ใครมีมารยาทมากกว่าใคร ใครมีวุฒิภาวะมากกว่าใคร ใครควบคุมสติอารมณ์ได้ดี ใครสุขภาพจิตดี ใครเอ๋อ ใครชั้นเชิงนำประเด็นการสนทนาได้มากกว่า” และอื่นๆ อีกมากมายอันเป็นเรื่องของรูปลักษณ์ และท่าที หรือกระทั่งคำตอบที่ต่างฝ่ายต่างพยายามยืนหยัดในเหตุผลของตัวเองออกไป

เหลือที่นำมาพินิจพิจารณาเพียงแก่นแกนของสาระที่นำมาสู่วิวาทะครั้งนี้ แม้ดูเหมือนที่พูดนั้นจะเป็นเรื่องเดียวกัน คือ “มุมมองการเมืองที่มีความขัดแย้งตามความเชื่อ” แต่ถึงที่สุดแล้ว “พูดกันคนละเรื่อง”

ขณะที่เยาวชนซึ่งมาจากการชุมนุมเจาะจงไปที่หัวใจของปัญหาโครงสร้างอำนาจ คือ “รัฐธรรมนูญ” อันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ที่สร้างความเหลื่อมล้ำ สร้างกลไกที่เอื้อต่อการผูกขาดอำนาจให้คนกลุ่มหนึ่ง เปิดทางสนับสนุนให้ทำลายคนอีกฝ่าย ไม่เป็นประชาธิปไตย

Advertisement

ความเคลื่อนไหวบนถนนของเยาวชนคนรุ่นใหม่ เป็นไปเพื่อปลดการกดทับที่ทำให้ประชาธิปไตยที่แท้จริงงอกเงยขึ้นมาเป็นระบอบที่ใช้ปกครองประเทศไม่ได้

เยาวชนคนรุ่นใหม่สู้ด้วยความหวังว่าจะรื้อการกดทับนั้นออก เพื่อสิทธิเสรีภาพอันเชื่อว่าจะนำสู่ชีวิตที่มีความหวังว่าอนาคตที่ดีกว่าได้

เป็นเวทีที่สู้เพื่อ “อนาคต”

Advertisement

แต่ ส.ส.ที่เป็นตัวแทนอำนาจในปัจจุบัน เล่นอยู่ในเวทีของอดีต

ไม่ว่าจะเป็นการตั้งคำถาม การนำเสนอสาระ ล้วนแล้วเรียกร้องให้ยึดอดีตไว้ให้เหนียวแน่น ไม่มีจินตนาการ่วมเมื่อมีการนำเสนอภาพของอนาคต

เมื่อคนหนึ่งอยู่ในเวที “ความฝันต่ออนาคตที่ดีกว่า”

แต่อีกคนหนึ่ง “อยู่ในความหวาดวิตกว่าจะกระทบกระเทือนต่ออดีต”

เมื่อฟังอย่างตั้งอกตั้งใจจึงเกิดความรู้สึกว่าต่างคนต่างยืนอยู่ “คนละเวที”

ด้วยเหตุนี้เองทำให้ต้องใช้เวลากลับมาย้อนทบทวนประเด็นความขัดแย้งทางการเมืองที่เป็นอยู่ในขณะนี้อีกครั้ง

ไม่ว่าจะเป็นการประชุมสมัยวิสามัญของรัฐสภาที่เพิ่งจบไป

ไม่ว่าจะเป็นการปลุก การเกณฑ์พลังเสื้อสี ดาราประกาศตบเด็กเปิดทางมาเป็นผู้นำม็อบที่ผู้ว่าราชการจังหวัดจัดเตรียมระดมไว้ให้

หรือป้าลุงไล่ตบเด็กนักเรียนที่มีท่าทีขัดหูขัดตาอยู่ตามที่สาธารณะ

การแสดงออก ของผู้ควบคุมศูนย์กลางอำนาจทั้งหลาย ทั้งนักการเมือง และข้าราชการ

สาระที่เสนอแทรกอยู่ในการชุมนุมของม็อบเยาวชนที่เปลี่ยนที่และรูปแบบไปเรื่อยๆ กระจายไปหลายๆ ที่ในแต่ละวัน

รวมถึงสงครามช่วงชิงพื้นที่โลกออนไลน์ ช่วงชิงแฮชแท็กยอดนิยมในโซเชียลเน็ตเวิร์ก

ทั้งหมดเหมือนเป็นการต่อสู้ในเวทีเดียวกัน

แต่หากค่อยๆ หาแก่นสารจะพบว่า ความต้องการเหมือนอยู่คนละโลก

ฝ่ายหนึ่งเรียกหา “อนาคตที่ดีกว่า” ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งตะโกนให้ “สู้เพื่อรักษาอดีตไว้”

ดังนั้นโอกาสจะพูดกันรู้เรื่องจึงถูกตัดขาดอย่างสิ้นเชิง ไม่มีทางที่จะเข้าใจกัน

ทว่า การแสดงออกใน “เวทีความคิด” คนละเวที พูดกันละเรื่องนั้น กลับกลายเป็นแหล่งสร้างพลังขัดแย้งใหญ่หลวงที่มีแนวโน้มว่าจะเกิดการปะทะจนสูญเสียอย่างรุนแรงได้ใน “เวทีของชีวิตจริง”

แนวโน้มเช่นนี้ดูจะหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย

หากผู้มีอำนาจในการบริหารจัดการบ้านเมือง ไปเลือกที่จะยืนร่วมเป็นผู้ต่อสู้อยู่บนเวทีหนึ่ง หนำซ้ำยังสนับสนุน ส่งเสริม ยินดีปรีดากับการทำลายล้างคนที่ไม่มาร่วมความคิดเดียว
กับตัว

หนทางเดียวที่จะรอดจากวิกฤตความขัดแย้งที่รุนแรง คือ “ผู้มีอำนาจบริหารประเทศ” จะต้องถอยออกมา

ก้าวแรก ถอยออกมาเป็นผู้ชม ผู้ฟัง โดยชม และฟังให้เข้าความปรารถนาต้องการของคนทั้ง 2 เวที เข้าใจอย่างถ่องแท้

ก้าวที่สอง จัดการรวมเวทีให้ต่างฝ่ายต่างหาทางพูดคุยกันเพื่อแลกเปลี่ยนมาจะถนอม และสร้างให้เป็นตามความปรารถนาของแต่ละฝ่ายได้อย่างไร

หาข้อสรุปร่วมกัน

เอาฝ่ายอดีตมาเสนอเรื่องจะทำให้มีความหวังว่าอนาคตที่ดีกว่าได้อย่างไร

และนำอีกฝ่ายหนึ่งมาร่วมคิดว่าจะรักษาอดีตที่ดีงามไว้ได้อย่างไร

นี่คือหนทางที่จะทำให้ผู้ที่อยู่คนละเวทีไม่ตีกันจนเกิดความสูญเสียรุนแรง

และบางทีนี่อาจจะเป็นคำตอบในคำถามของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ว่า “ผมผิดอะไร” เมื่อถูกเรียกร้องให้ “ลาออกจากนายกรัฐมนตรี”

คำตอบที่มาจากคำถามที่ว่า “เป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการบริหารประเทศ ที่เป็นคนของเวทีหนึ่ง หรือเป็นที่ต้องมีภารกิจสร้างเวทีสร้างข้อสรุปร่วมกันในความปรารถนาของแต่ละฝ่าย”

แล้วจะตอบได้ว่า “ต้องลาออกหรือไม่”

สุชาติ ศรีสุวรรณ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image