ทางออก-ทางตัน อนาคต‘บิ๊กตู่’ อนาคต ประเทศไทย

การประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญที่เปิดไปเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม โดยมีวาระพิเศษเพื่อหาทางออกให้ประเทศไทยระหว่างวันที่ 26-27 ตุลาคม ผ่านพ้นไปแล้ว

การหารือภายในการประชุมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีเหตุการณ์ระทึกขวัญเมื่อ นายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ชักมีดขึ้นมากรีดข้อมือตัวเอง 3 รอย

ประท้วง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ใช้กำลังสลายการชุมนุมกลุ่มราษฎรเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม ย่านปทุมวัน

ขณะที่ผลสรุปจากการอภิปรายมีความเคลื่อนไหว 2 ประการ

Advertisement

ประการแรก พล.อ.ประยุทธ์รับปากต่อรัฐสภาว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะสำเร็จ 3 วาระในเดือนธันวาคมนี้

ประการที่สอง ที่ประชุมมีความเห็นให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อหาทางออก

เป็นหนทางออกที่รัฐสภาคิดและรัฐสภากำลังดำเนินการ

Advertisement

แต่ดูเหมือนว่า ข้อเสนอของรัฐสภายังไม่สามารถหยุดการชุมนุมของกลุ่มราษฎรได้ เมื่อปรากฏการชุมนุมของนักเรียนนิสิตนักศึกษาอย่างต่อเนื่อง

ส่วนข้อเสนอจากรัฐสภานั้น ยังดำเนินไปท่ามกลางความไม่ไว้วางใจ

ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แม้ พล.อ.ประยุทธ์จะชี้แจงต่อรัฐสภาโดยกำหนดเวลาชัดเจน แต่ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์เคยรับปากหลายเรื่องหลายราวมาตั้งแต่ปี 2557 โดยเมื่อถึงเวลาก็เกิดอาการพลิ้ว ด้วยเหตุผลนานัปการ

ทำให้คำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ ในรัฐสภาไม่หนักแน่นถึงขนาดหยุดข้อเรียกร้องเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญได้

ในการตั้งคณะกรรมการหาทางออกก็เช่นกัน วิธีการนี้เคยกระทำมาก่อน แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถยุติความขัดแย้งได้

ข้อเสนอการตั้งคณะกรรมการหาทางออก จึงกลายเป็นเรื่อง “ซื้อเวลา”

ข้อเรียกร้องของกลุ่มราษฎร จึงยังคงตอกย้ำให้ พล.อ. ประยุทธ์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ทางด้าน พล.อ.ประยุทธ์นั้น ยืนยันหนักแน่นมาตั้งแต่ต้นว่าจะอยู่ต่อ

หากวิเคราะห์เจตนาของ พล.อ.ประยุทธ์ นับตั้งแต่ยึดอำนาจ ร่างรัฐธรรมนูญแล้วล้ม แล้วร่างรัฐธรรมนูญ และเลือกตั้งกระทั่งมาเป็นรัฐบาลปัจจุบัน

น่าเชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ มีเจตนาจะเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปอีกหลายปี

ด้วยกลไกของรัฐธรรมนูญปี 2560 โดยเฉพาะการให้อำนาจ ส.ว. เข้ามาเกี่ยวพันกับการเลือกนายกรัฐมนตรี และวาระการดำรงตำแหน่งของ ส.ว. ทำให้มองได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ ต้องการอยู่ในอำนาจ 4 ปี บวก 4 ปี

ดังนั้น เมื่อมีการเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ ลาออก จึงไม่มีเสียงตอบรับใดๆ

ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ยังยืนยันในสภาว่า จะทำงานจนกระทั่งทำไม่ไหว

สอดรับกับความเคลื่อนไหวของพรรคพลังประชารัฐที่ประกาศหนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป

สอดรับกับความเคลื่อนไหวของวุฒิสภา ที่ยังปฏิเสธการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเลือกตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมายกร่างฉบับใหม่

สถานการณ์หลังการประชุมรัฐสภาเพื่อหาทางออก

ยังเป็นเป็นทางตัน

ในจังหวะที่ทุกอย่างยังมืดมน เริ่มมีความเคลื่อนไหวจากกลุ่มที่เคยเป็นผู้สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์

ล่าสุด คือ คำกล่าวของ นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ในการสัมมนา ที่โรงแรมแมริออท สุขุมวิทพาร์ค มีการจัดเวทีนักคิดดิจิทัล ครั้งที่ 13 “จากรุ่นอนาล็อกสู่ยุคดิจิทัล เราจะลดช่องว่างการสื่อสารด้วยความจริงใจและความงามได้อย่างไร”

นายอานันท์กล่าวตอนหนึ่งว่า สถานการณ์ในปัจจุบันเป็นข้อขัดแย้งระหว่างคนที่อยู่กันคนละรุ่น การใช้อินเตอร์เน็ตแพลตฟอร์ม ทำให้เกิดปัญหาความไม่เข้าใจขึ้น ดังนั้น ต้องเปิดกว้างและรับฟังกันให้มาก

และเมื่อมีข้อซักถามเกี่ยวกับประเด็นร่างรัฐธรรมนูญ

นายอานันท์มองว่า ต้องดูมาตราที่สร้างปัญหา ที่มีปัญหาแน่นอนคือการแต่งตั้ง 250 ส.ว. และให้อำนาจตั้งนายกฯ อันนี้ต้องออกไปแน่ๆ เป็นประเด็นทำให้เกิดการเดินขบวน เป็นสิ่งที่เยาวชนรุ่นใหม่และรุ่นเก่าอย่างตนอยากเห็นว่าไม่มีมาตรานี้อยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับต่อไป

และ

“เด็กยืนยันว่านายกฯเป็นตัวปัญหา คนรุ่นใหม่มองว่านายกฯเป็นคนเดียวที่ปลดล็อกได้ จะปลดล็อกด้วยวิธีลาออกหรือไม่ ผมไม่รู้ ถ้าไม่ลาออก ผมก็ไม่ว่าอะไร เพราะเป็นสิทธิของท่าน แต่ต้องรู้ว่าเขาเรียกร้องอย่างนั้น ท่านฟังหรือได้ยินหรือไม่ ผมก็ไม่รู้ แต่ถ้าเกิดจะเถียงกับเด็กรุ่นใหม่ โดยอ้างกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ต่างๆ มันไปไม่ถึงไหน เพราะเริ่มต้นผิดมาตลอดแล้ว”

นายอานันท์บอกว่า ผิดมา 7 ปีแล้ว

นอกจากนี้นายอานันท์ยังช่วยตอบคำถามที่ พล.อ.ประยุทธ์ ข้องใจว่า “ผมผิดอะไร”

นายอานันท์บอกว่า นายกฯถามว่าผมทำอะไรผิด เป็นการพูดคนละภาษา เด็กพูดภาษาดิจิทัล แต่รัฐบาลยังพูดภาษาอนาล็อก สงครามการต่อสู้ก็คนละสนาม เด็กเล่นสนามนี้ ผู้มีอำนาจเล่นอีกสนามหนึ่ง ไม่เคยเจอกันและพูดกันคนละประเด็น

“ผมเห็นว่าสังคมโลกเขาพูดกันว่า คุณจะมีสันติภาพไม่ได้ถ้าไม่มีความยุติธรรม และคุณจะไม่มีความยุติธรรมถ้าคุณไม่มีความจริงใจระหว่างกัน”

จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น หาก พล.อ.ประยุทธ์ คิดจะอยู่ให้ครบเวลาตามที่ตัวเองต้องการ จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนวิธีการ

ประการแรก ยุทธวิธี “ม็อบ” ชน “ม็อบ” ที่เคยใช้สำเร็จก่อนการรัฐประหารหลายครั้งที่ผ่านมา พิสูจน์แล้วว่าไม่เป็นผลดีต่อประเทศชาติ

แม้จะควบคุมอำนาจได้ แต่ก็ไม่สามารถลดความเกลียดชังได้เลย

ประการที่สอง การสื่อสารระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มผู้ชุมนุมจำเป็นต้องปรับปรุง เพื่อฟังให้เข้าใจ และสื่อความกันให้รู้เรื่อง

การฟังความแล้วป้ายสี อาจจะสนับสนุนให้ยุทธวิธี “ม็อบ” ชน “ม็อบ” ประสบความสำเร็จ เพราะเพิ่มความเกลียดชังให้เกิดขึ้น และสามารถเป็นเงื่อนไขในการใช้กำลังจากภาครัฐ

แต่ที่ติดตามมาย่อมเหมือนเดิม นั่นคือ กระจายความเกลียดชังให้เกิดขึ้นทุกระดับ

แม้แต่ระดับครอบครัวก็ไม่เว้น

และประการที่สำคัญ คือ ความจริงใจต่อการรับฟัง และยอมดำเนินการเพื่อเรียกความไว้วางใจกลับคืนมา

ทั้งเรื่องที่รับปากไปแล้ว คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเลือกตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ทั้งเรื่องที่ยังไม่รับปาก อาทิ การลาออก หรือยุบสภา

หากรัฐบาลสามารถดำเนินการได้จนกลุ่มผู้ชุมนุมไว้วางใจ แม้ พล.อ.ประยุทธ์ อาจจะอยู่ไม่ครบเวลาตามที่ตัวเองคาดคิด

แต่อย่างน้อย พล.อ.ประยุทธ์ ก็มีทางลงจากหลังเสือได้ดีกว่าปัจจุบัน

อนาคตของ พล.อ.ประยุทธ์ และอนาคตของประเทศ จึงขึ้นอยู่กับตัดสินใจของ พล.อ.ประยุทธ์ที่จะเลือกระหว่าง “ทางออก” หรือ “ทางตัน”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image