หลัง’ประชามติ’ โดย ปราปต์ บุนปาน

แฟ้มภาพ

ผลการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ “ฉบับมีชัย ฤชุพันธุ์” และเห็นด้วยกับคำถามพ่วงเรื่องให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคล ซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ในระหว่าง 5 ปีแรก นับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้

มีผลลงเอยเบื้องต้นค่อนข้างชัดเจน (ณ เวลาเขียนบทความชิ้นนี้เมื่อ 18.00 น. วันที่ 7 สิงหาคม 2559)

ว่ามีเสียง “รับ/เห็นด้วย” มากกว่า “ไม่รับ/ไม่เห็นด้วย”

ถ้าเราเชื่อว่า “การเมือง” เป็นเรื่องความสัมพันธ์ทางอำนาจแบบ “บนลงล่าง”

Advertisement

ก็คล้ายกับว่าในเกมกระดานนี้ เครือข่ายภาครัฐ โดยเฉพาะ คสช. รัฐบาล และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ บวกด้วยกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง อย่าง กปปส. จะมีเสียงดังและทรงพลานุภาพกว่าสองพรรคการเมืองใหญ่ คือ เพื่อไทย และประชาธิปัตย์ ซึ่งมีความเห็นพ้องกับกลุ่ม นปช. ตลอดจนบรรดานักศึกษา นักวิชาการ นักกิจกรรม อีกหลากหลายกลุ่ม

แต่หากยังเชื่อมั่นใน “พลัง” และเคารพใน “เจตจำนง” ของ “ประชาชน”

เราก็คงต้องมาพินิจพิเคราะห์กันว่า ทำไมเสียงของ “ประชาชน” ส่วนใหญ่ จึงตัดสินใจ “รับ” ร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง?

ซึ่งมิใช่เรื่องที่จะสามารถทำความเข้าใจได้อย่างกระจ่างชัดในทันทีทันใด เพราะคงไม่ง่ายนัก กับการมานั่งอ่าน-วิเคราะห์ความคิดของผู้ลงคะแนนเสียงแต่ละคน แต่ละกลุ่ม จากแต่ละจังหวัด และแต่ละภาค ภายใต้ข้อจำกัดทางระยะเวลา

หนึ่งในผลลัพธ์ที่น่าสนใจจากการลงประชามติคราวนี้ อาจมิได้อยู่ตรงการรณรงค์อันพ่ายแพ้ของกลุ่มนักศึกษา นักวิชาการ และนักกิจกรรม

แต่กลับกลายเป็นการรณรงค์อันพลาดท่าเสียทีของฝ่าย “นักการเมือง” จากสองพรรคใหญ่ พร้อมคำถามถึง “ตำแหน่งแห่งที่” ของพวกเขาบนสนามการเมืองไทยในอนาคต

(เพื่อไทยก็ต้องเผชิญหน้ากับโจทย์เฉพาะแบบหนึ่ง ขณะที่ประชาธิปัตย์ต้องเผชิญหน้ากับโจทย์เฉพาะอีกแบบ)

ซึ่งจะตามมาด้วยคำถามพ่วงอีกชุดใหญ่

ไม่ว่าจะเป็นการตั้งคำถามว่ารัฐราชการร่วมสมัยที่กุมกลไกอำนาจได้อย่างกระชับมือ นั้นทำงานและกำกับควบคุมความคิดของประชาชนได้ทรงประสิทธิภาพกว่าพรรคการเมืองหรือไม่?

หรือประชาชนส่วนใหญ่ในปัจจุบัน มีความเชื่อมั่นต่อรัฐราชการและเครือข่ายเสียยิ่งกว่านักการเมือง?

หรือประชาชนอาจมีเหตุผลในการตัดสินใจของตัวเอง ที่ไม่ขึ้นกับทั้ง คสช. กลุ่มการเมืองใดๆ และนักการเมืองพรรคไหนๆ?

อย่างไรก็ดี ไม่ว่าผลและเหตุจะออกมาแบบไหนและมีที่มาเช่นใด การเมืองไทยต้องหาทางเดินหน้าต่อไป

เพราะยังมีกระบวนการเกี่ยวข้องอีกมากมายนับจากนี้ ทั้งขั้นตอนการออกกฎหมายลูก การเลือกตั้งทั่วไปในปี 2560 และผลต่อเนื่องของการเลือกตั้งดังกล่าว วิธีการ

ลงจากอำนาจของ คสช. ตลอดจนปัจจัยข้องเกี่ยวอื่นๆ

ซึ่งแต่ละฝ่ายคงต้องออกแรงผลักดัน-เคลื่อนไหวประเด็นที่พวกตนสนับสนุน และต้องปรับประสานต่อรองระหว่างกันอีกเยอะ

ไปๆ มาๆ “ประชามติ” ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของพัฒนาการทางการเมืองไทยในยุคนี้เท่านั้นเอง

เหมือนกับที่หลายคนเคยบอกว่า “การเลือกตั้ง” ไม่ใช่ทุกอย่างของระบอบ “ประชาธิปไตย” นั่นแหละ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image