ชิง7อรหันต์‘กสทช.’

ปิดกล่องไปแล้วเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม ที่เปิดให้ผู้สนใจยื่นสมัครเข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ชุดชั่วคราว 7 คน ตาม พ.ร.บ.กสทช.พ.ศ.2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

ที่เป็นชุดชั่วคราว เพราะร่าง พ.ร.บ.กสทช.ฉบับใหม่ อยู่ระหว่างการพิจารณาของวุฒิสภา ขณะที่ กสทช.ชุดปัจจุบันพ้นวาระมานานแล้ว แต่มีคำสั่ง คสช.ให้อยู่ต่อจนถึงปัจจุบันกว่า 9 ปีแล้ว

อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นชุดชั่วคราว แต่ร่าง พ.ร.บ.กสทช.ฉบับใหม่คงจะมีบทเฉพาะกาลให้ชุดชั่วคราวนี้ทำงานต่อจนวาระครบ 6 ปีก็ได้ เพราะเกณฑ์การคัดเลือกก็ล้อไปกับร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่อยู่แล้ว โดยให้มีกรรมการ กสทช. 7 คน ใน 7 ด้าน

หลังปิดรับสมัครปรากฏว่ามีผู้สนใจแห่ยื่นรวม 80 คน ที่น่าสนใจก็คือมีนายทหารถึง 26 นาย ที่สมัครชิงชัยด้วย

Advertisement

แบ่งเป็น 1.ด้านกิจการกระจายเสียง มีผู้ยื่นสมัคร 7 คน เป็นนายทหารถึง 5 นาย 2.ด้านกิจการโทรทัศน์ มีผู้สมัคร 8 คน เป็นนายทหาร 4 นาย

3.ด้านกิจการโทรคมนาคม มีผู้สมัคร 11 คน เป็นนายทหาร 4 นาย 4.ด้านวิศวกรรม มีผู้สมัคร 12 คน เป็นนายทหาร 5 นาย

5.ด้านกฎหมาย มีผู้สมัคร 14 คน เป็นนายทหาร 4 นาย 6.ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค หรือส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน มีผู้สมัครมากสุดถึง 21 คน เป็นายทหาร 4 นาย

Advertisement

มีเพียงด้านเศรษฐศาสตร์ เท่านั้นที่ไม่มีนายทหารสมัคร

อืม…ทหารไทยเก่งทุกด้านจริงๆ ยกเว้นเรื่องเศรษฐศาสตร์

ขั้นตอนต่อจากนี้ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา จะส่งรายชื่อผู้สมัครไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบว่าผู้สมัครแต่ละคนมีคุณสมบัติตามเกณฑ์และมีลักษณะต้องห้ามหรือไม่

เป็นการกรองด่านแรก

นอกจากนี้ ยังเปิดให้คนทั่วไปส่งข้อมูลเกี่ยวกับผู้สมัครไปยังตู้ ปณ.45 ปณฝ.รัฐสภา กรุงเทพฯ 10305 และทางเว็บไซต์ www.senate.go.th ภายในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563

ไม่รู้ว่าผู้สมัครแต่ละคนจะเจอใส่ไฟอะไรบ้าง บางเรื่องบางราวไม่เคยรับรู้มาก่อน อาจมีคนขุดขึ้นมาแฉเพื่อตัดคะแนนคู่แข่ง

จากนั้นจะเชิญผู้สมัครมาแสดงวิสัยทัศน์ แล้วคณะกรรมการสรรหาจะพิจารณาคัดเลือกผู้สมัครที่มีคุณสมบัติเหมาะสมจำนวน 2 เท่าหรือ 14 คน เพื่อเสนอให้วุฒิสภาลงคะแนนลับคัดเลือกให้เหลือ 7 คน ส่งให้ประธานวุฒิสภานัดให้ผู้ที่ได้รับการสรรหาทั้ง 7 คน ประชุมกันเองเพื่อเลือกประธาน กสทช. แล้วส่งรายชื่อให้นายกรัฐมนตรีทูลเกล้าฯ ต่อไป

ต้องฝากความหวังไว้ที่กรรมการสรรหาและวุฒิสภา ในการคัด 7 อรหันต์ กสทช. ที่นอกจากจะพิจารณาคุณสมบัติผู้สมัครแต่ละคนแล้ว ควรจะพิจารณาประโยชน์ในภาพรวมของประเทศด้วย

โดยเฉพาะการกำกับดูแลด้านโทรคมนาคม ที่ กสทช.จะมีบทบาทสำคัญในการผลักดันและขับเคลื่อนประเทศไทยในช่วงเปลี่ยนผ่านที่จะเข้าสู่โลกดิจิทัล อันจะมีผลต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยอย่างมากมายมหาศาล

ช่วงที่ผ่านมา จากสถานการณ์โควิด-19 ระบาด เป็นปัจจัยเร่งให้เทคโนโลยีโทรคมนาคมต้องเกิดเร็วขึ้น อาทิ การรักษาพยาบาลทางไกล การศึกษาทางออนไลน์ อี-คอมเมิร์ซ หรือด้านการเกษตร รวมทั้งปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) และอื่นๆ อีกมากมาย

โดยเฉพาะเทคโนโลยี 5G ที่เพิ่งประมูลคลื่นความถี่ไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งยังต้องมีการสานต่อ ผลักดันขับเคลื่อนโดยเร็ว เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาประเทศในยุคดิจิทัล

ดังนั้น หากได้ กสทช.ที่เคยผ่านงานด้านนี้มา จะมีประสบการณ์ รับรู้ถึงอุปสรรคและปัญหา และมีแนวนโยบายที่จะเร่งขับเคลื่อนให้เห็นผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว

โลกยุคดิจิทัล หากก้าวช้าไปนิดเดียวก็ตกยุคแล้ว ซึ่งที่ผ่านมาไทยล่าช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้านมากในการนำคลื่นความถี่มาใช้ให้เกิดประโยชน์ แต่ตอนนี้ไทยเราแซงหน้าหลายประเทศแล้ว กระนั้นก็ตามยังมีเรื่องที่จะต้องสานต่อ ผลักดัน ขับเคลื่อนให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว เพื่อให้คนไทยทั้งประเทศ ได้รับผลประโยชน์เต็มที่ในการพัฒนาด้านต่างๆ จากเทคโนโลยีด้านโทรคมนาคม

หากไทยก้าวได้เร็วก็อาจจะช่วยชดเชยความสูญเสียด้านเศรษฐกิจที่หายไปจากโควิด-19 และช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ที่จะยกระดับความเป็นอยู่ของคนไทยให้ดีขึ้น

ทั้งนี้ทั้งนั้น อยู่ที่ว่า 7 อรหันต์ “กสทช.” ชุดใหม่นี้จะเป็นใครบ้าง

สราวุฒิ สิงห์เอี่ยม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image