จะไม่เกิดความรุนแรง ถ้า…

ผู้อ่านอาจไม่ค่อยคุ้นเคยกับสงคราม 9 ปีของเมืองทรอยที่เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 13 หรือ 12 ก่อนคริสตกาล แต่อาจพอจำตำนานของกรีกที่เล่าถึงกลยุทธม้าไม้เพื่อเอาชนะกรุงทรอยได้บ้าง สาเหตุของสงครามก็คล้ายกับรามเกียรติ์คือ เริ่มด้วยความขัดแย้งระหว่างเทพเจ้า ที่มายุยงให้มนุษย์ทำสงครามเหมือนเป็นสงครามตัวแทน โดยเทพเจ้าจำนวนหนึ่งยุยงให้เจ้าชายปารีสแห่งทรอยลักพาเฮเลน ชายาของกษัตริย์เมเนลาอุสแห่งสปาร์ตา แล้วพาข้ามน้ำข้ามทะเลมาอยู่ฝั่งตุรกีที่เมืองทรอย ชาวกรีกถือเป็นเรื่องหยามเกียรติที่ไม่อาจให้อภัย ประกอบกับมีเทพเจ้าอีกจำนวนหนึ่งหนุนหลัง จึงรวมรวมกองทัพบุกกรุงทรอย แต่กว่าจะเอาชนะได้ก็ต้องทำเป็นล่าถอย ทิ้งไว้แต่ม้าไม้ที่ชาวทรอยลากเข้าเมืองเพื่อเฉลิมฉลอง หารู้ไม่ว่านี่คือลูกไม้ของกรีกที่ซ่อนทหารไว้ในม้าไม้ เมื่อเข้าเมืองได้ทหารก็ลงมาจากม้าไม้เพื่อเปิดประตูเมืองแล้วเข่นฆ่าชายชาวทรอยทุกคน ส่วนหญิงก็เอามาเป็นทาส สงครามนี้ถูกเล่าขานในมหากาพย์กรีกชื่ออีเลียดและออดีสซี เขียนโดยกวีกรีกชื่อโฮเมอร์

หลังจากนั้นอีกหลายพันปี คือในปี ค.ศ. 1935 นักเขียนชาวฝรั่งเศสชื่อ ฌัง ชีโรดูซ์ เขียนบทละครชื่อ “จะไม่เกิดสงครามเมืองทรอย” เขาเห็นเค้าลางของสงครามที่เคลื่อนเข้ามาในยุโรปในปีนั้น จึงเขียนบทละครและจัดให้มีการแสดงละครเพื่อเตือนสติ โดยใช้สงครามเมืองทรอยเป็นฉาก ตัวละครของเขาแบ่งเป็นสองฝ่าย แต่ละฝ่ายมีทั้งชาวกรีกและชาวทรอย โดยที่ฝ่ายหนึ่งอยากทำสงคราม อีกฝ่ายหนึ่งอยากหลีกเลี่ยงโดยจะส่งเฮเลนคืนกลับไป ฝ่ายที่ต้องการหลีกเลี่ยงทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้จนเกือบเป็นผลสำเร็จ จนถึงกับประกาศว่าสงครามจะไม่เกิด อนิจจา ฝ่ายกระหายสงครามทำตัวเป็นตัวป่วน ซึ่งป่วนได้สำเร็จด้วยความบังเอิญที่มาประจวบเหมาะ สงครามก็เกิดขึ้นจนได้ ในกรณีของฝรั่งเศส แม้จะมีการเตือนสติของชีโรดูซ์ แต่เหตุการณ์ก็เป็นไปตามลางสังหรณ์ คือสงครามโลกครั้งที่สองก็เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1939

มาในปีนี้ที่เมืองไทย เกิดมีเค้าลางความขัดแย้งอันใหญ่หลวง ที่ขอแบ่งเป็น 2 ด้าน คือด้านที่พอคุยกันได้ กับด้านที่คุยกันในเวทีปกติได้ยาก ข้อขัดแย้งในกรณีหลัง เป็นเรื่องคุณค่าและอารมณ์แรง (passion) การยกเหตุผลใดๆ มาอ้างก็คงไม่ค่อยจะมีการรับฟัง ในกรณีนี้มีฝ่ายหนึ่งที่ต้องการเปลี่ยนแปลงคุณค่า ว่าให้เป็นไปตามยุคสมัย อีกฝ่ายหนึ่งถือเป็นการคุกคามคุณค่าที่เทอดทูนมาแต่เดิม

คุณค่านี้มีพื้นฐานอยู่ที่ว่า “ทุกคนรักสถาบันฯ เพราะสถาบันฯรักทุกคน ทุกคนจึงเกิดจิตใจที่จะปรองดองกัน ด้วยเห็นแก่สถาบันฯ” การที่จะออกจากวิกฤตโดยรักษาคุณค่าพื้นฐานนี้เอาไว้ได้ ก็ควรพิจารณาและทำให้เป็นที่ประจักษ์ว่า “สถาบันฯรักทุกคน” วิธีหนึ่งที่อาจทำได้คือสถาบันฯเปิดทางให้มีการคุยกันอย่างเงียบๆ เพื่อให้เกิด “ปัญญาอย่างประณีต” ว่าจะให้สถาบันฯอยู่เหนือความขัดแย้งทางการเมืองอย่างไรจึงดีที่สุด ทั้งนี้ เป็นไปตามข้อเสนอของประเวศ วะสีนั่นเอง

Advertisement

ความขัดแย้งด้านแรกแม้จะยากมาก เพราะการเปลี่ยนแปลงย่อมหมายถึงการมีผู้ได้ประโยชน์และผู้เสียประโยชน์ แต่ก็พอคุยกันได้ตามปกติในกรอบของรัฐสภา อยากเสนอให้ถือคติที่ว่า ทุกอย่างไม่เที่ยง สิ่งที่เมื่อวานบอกว่าดีแล้ว วันนี้มีคนรุ่นใหม่ที่บอกว่า สามารถเปลี่ยนแปลงให้ดีกว่าได้

ในการประชุมรัฐสภา วันที่ 26-27 ตุลาคม 2563 ดูเหมือนว่านายกรัฐมนตรีจะยอม/เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการผ่านร่างพระราชบัญญัติประชามติโดยการพิจารณาร่วมกันในคราวเดียวของ ส.ส. และ ส.ว. ภายในเดือนธันวาคมนี้ และมี ส.ว. บางคนบอกว่าน่าจะมี ส.ว. เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่น้อยกว่า 84 คนตามเงื่อนไขที่จะให้ญัตติผ่านการพิจารณาของรัฐสภา เป็นอันว่าน่าจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงสู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้นกันเสียที

ญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอโดยพรรคการเมืองมีดังนี้

Advertisement

1) ญัตติพรรคเพื่อไทยให้แก้ไขมาตรา 256 ว่าด้วยวิธีแก้ไขรัฐธรรมนูญ และเพิ่มหมวดว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดย ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด 200 คน

2) ญัตติพรรคร่วมฝ่ายรัฐบาลให้แก้ไขมาตรา 256 และให้มี ส.ส.ร. 150 คนที่มาจากการเลือกตั้ง และ50 คนมาจากการสรรหา

3) ญัตติพรรคร่วมฝ่ายค้านให้ (ก) แก้มาตรา 272 และ 159 เพื่อตัดอำนาจ ส.ว. ในการเลือกนายกรัฐมนตรี (ข) ตัดมาตรา 270 และ 271 ว่าด้วยการปฏิรูปประเทศ (ค) ตัดมาตรา 279 ว่าด้วยการรับรองคำสั่งและประกาศ คสช. และ (ง) แก้ไขหลายมาตราเกี่ยวกับระบบเลือกตั้งเพื่อให้ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ

ญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มาจากการเข้าชื่อของประชาชนประมาณหนึ่งแสนชื่อ มีประเด็นสำคัญดังนี้

1) นายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส.

2) ส.ว. มาจากการเลือกตั้ง

3) เปลี่ยนวิธีสรรหากรรมการองค์กรอิสระให้ยึดโยงกับประชาชนมากขึ้น

4) แก้ไขมาตรา 256 ให้ต่อไปนี้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญกระทำได้โดยเสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา และให้ ส.ส.ร. มาจากการเลือกตั้งทั้ง 200 คน โดยใช้ระบบสัดส่วนที่ประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง

สำหรับญัตติของพรรคการเมือง มีการตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาที่ขอเวลาศึกษา 30 วัน และขอขยายเวลาอีก 15 วัน ส่วนญัตติของประชาชนนั้น อยู่ระหว่างการตรวจสอบ/คัดค้านรายชื่อมีกำหนดถึงวันที่ 12 พฤศจิกายน ดังนั้น คาดว่ากลางเดือนพฤศจิกายน รัฐสภาน่าจะมีมติรับหลักการญัตติทุกญัตติข้างต้น เพื่อนำไปพิจารณาแปรญัตติในขั้นกรรมาธิการต่อไป หากเคารพเงื่อนเวลาเช่นนี้ (รวมทั้งมีสัญญาณเปิดทางจากทางสถาบันฯ) ก็หวังว่าฝ่ายผู้ชุมนุมจะลดระดับลง เพื่อเปิดโอกาสการพุดคุย และลดโอกาสการปะทะระหว่างผู้ชุมนุมสองฝ่าย

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์เขียนว่า “ปัญหาที่เรากำลังเผชิญ … เป็นความขัดแย้งที่ไม่สามารถพูดถึงมันได้โดยตรงบนเวทีใด ๆ ที่เป็นทางการ วิกฤตความชอบธรรมครั้งนี้ … มีอะไรที่มากไปกว่าความชอบธรรมของรัฐบาล มันลึกซึ้งไปกว่า (นั้น) ร้าวลึกจนถึงกับเป็นเรื่องที่หาที่ยืนให้แก่ความเป็นกลางมิได้ … แค่จะยอมรับร่วมกันว่าเป็นวิกฤตก็ยากเย็นเต็มที” ข้อคิดนี้เป็นประโยชน์ในการบ่งบอกปัญหาตลอดจนนัยของทางแก้ไขด้วย พิชญ์บอกว่าปัญหาอยู่ที่ไม่มีเวทีที่จะพูดถึงปัญหา นัยของทางแก้คือรัฐบาลหรือผู้มีอำนาจหน้าที่ควรจัดให้มีเวทีเช่นนั้น โดยยอมรับตรงไปตรงมาว่ามีวิกฤตเกิดขึ้นแล้ว

ในวิกฤตเช่นนี้ จะมีคนที่อยากให้แตกหัก เพราะ “ทนไม่ได้” หรือ “ไม่มีทางอื่นแล้ว” จะมีตัวป่วนที่ระดมคนมาชวนแตกหัก จะมีคนที่อยู่ในหลืบมุมที่คอยสร้างทฤษฎีสมคบคิด คอยชี้เป้าความเกลียดชัง คอยระบุว่าคนโน้นคนนี้อยู่เบื้องหลัง รัฐบาลแทนที่จะระวังแต่เพียงว่าผู้นำการชุมนุมจะทำอะไรและจะสะกัดกั้นได้อย่างไร ควรหันความสนใจไปที่ผู้ทำไอโอทั้งหลายและขอให้ผู้ทำที่ใกล้ชิดกับราชการให้หยุดเสีย รวมทั้งมุ่งสะกัดตัวป่วนที่อยากแตกหักด้วยความรุนแรง ถ้ามีใครในหมู่รัฐบาลที่จะช่วยอ่านหนังสือ “The Trojan War Will Not Take Place” แล้วแนะนำรัฐบาลว่า “จะไม่เกิดความรุนแรง ถ้า … มีการระวังตัวป่วนอย่างไรให้เพียงพอ ถ้า … คิดถึงความเสี่ยงจากเหตุบังเอิญอย่างรอบคอบ ถ้า … ฯลฯ เพื่อมิให้มีผู้หยิบฉวยความบังเอิญมาเดินเรื่องตามจุดหมายของตน” ได้ละก็ รัฐบาลจะได้ชื่อว่าทำเพื่อประโยชน์ของปวงชนอย่างจริงจัง

โคทม อารียา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image