ทางออก หุบเหวแห่งหายนะ

แม้แนวโน้มสถานการณ์ร้อนแรงทำท่าจะผ่อนคลายลงทีละน้อย จากการยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง เปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ รอตั้งกรรมการสมานฉันท์ ทยอยปล่อยตัวแกนนำ แสดงท่าทียอมรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญตัดอำนาจวุฒิสมาชิกในการเลือกนายกรัฐมนตรีก็ตาม

ในความเป็นจริงเหตุการณ์ยังดำเนินต่อไป ยังไม่ห่างไกลจนหลุดพ้นจากหุบเหวแห่งหายนะ ยังอยู่ระหว่างเขาควาย ด้านหนึ่งคือความรุนแรงสุดขั้ว บาดเจ็บล้มตาย เข่นฆ่ากันกลางเมือง อีกด้านหนึ่งคือ การประนีประนอม พูดคุยกันฉันคนไทยด้วยกัน สมานข้อเรียกร้องของทุกฝ่าย หาจุดร่วมพบกันตรงกลาง เพื่อนำไปสู่ความสุขสงบสันติ อยู่ร่วมกันท่าม กลางความแตกต่างหลากหลายต่อไปให้ได้

เป็นความท้าทายสังคมไทย และคนไทยทั้งมวลอีกครั้งใหญ่ จะออกจากหลุมของความขัดแย้งแตกแยกได้อย่างไร โดยมีวันเวลาที่ผ่านไปเป็นตัวเร่ง

ภายใต้ปัจจัยบวกที่ช่วยประคับประคองสถานการณ์ไม่ให้จบลงด้วยโศกนาฏกรรมความเลวร้าย เพราะคนส่วนใหญ่สรุปบทเรียน ปฏิเสธความรุนแรง สุดขั้ว สุดโต่ง ไม่มีทางนำไปสู่ความสุขสงบได้

Advertisement

ทางออกที่ไม่ใช่ทางเลือกของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถ้ายังยืนกรานไม่ลาออก คงต้องจับประเด็น จัดลำดับให้ชัด แก้ไปทีละเปราะจากเรื่องที่เห็นพ้องต้องกันก่อน แก้รัฐธรรมนูญให้เร็วที่สุด เริ่มจากแก้ไขรายมาตรา 272 เลิกอำนาจวุฒิสมาชิกในการเลือกนายกรัฐมนตรีเป็นสิ่งแรก โดยไม่ต้องรอการทำประชามติ

นายกรัฐมนตรีไม่เพียงแค่ส่งสัญญาณอย่างที่ผ่านมา แต่ต้องใช้พลังทั้งมวลผลักดันให้เกิดขึ้นจริง

ที่สำคัญต้องไม่ปล่อยให้กลุ่มวุฒิสมาชิกตลอดกาล สุดขั้ว ช่วงชิงการนำเล่นเกมยื้อต่อไป ซึ่งมีแต่ทำให้สถานการณ์พลิกกลับร้อนแรง ยืดเยื้อ ยาวนาน จนเอาไม่อยู่ สุดท้ายต้องยอมลงจากตำแหน่งหรือไม่ก็ยุบสภา คืนอำนาจให้ประชาชน

Advertisement

ขณะที่ความเคลื่อนไหวจัดตั้งกรรมการอิสระเพื่อการปรองดอง เป็นเรื่องยาว เรื่องยุ่ง หาบทสรุปฉันทามติได้ยาก ทั้งประเด็นโครงสร้าง องค์ประกอบ ที่มา อำนาจ หน้าที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นที่จะนำขึ้นมาปรึกษาหารือ ก้าวไปถึงระดับไหน ระหว่างความเห็นต่างของแต่ละฝ่าย ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญของการตัดสินใจเข้าร่วมหรือไม่

ไม่ว่าสถานการณ์จะดำเนินต่อไปในทิศทางใดของทางสองแพร่ง ไม่ว่าจะกล่าวโทษเด็ก ว่า ก้าวร้าว หยาบคาย สุดโต่ง สุดขั้ว ตกเป็นเครื่องมือของใคร อย่างไรก็ตาม ความรับผิดชอบหลักก็ยังคงตกอยู่บนบ่าของ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะผู้นำฝ่ายบริหารและฐานะของความเป็นผู้ใหญ่ที่มีบทบาท จัดการสังคม ร่วมกับ ส.ส. ส.ว. เจ้าหน้าที่รัฐ พลเรือน ทหาร ตำรวจ ฯลฯ ต้องส่งต่อสังคมที่ดี มีความหวัง มีอนาคตให้กับ ลูกหลานเยาวชน คนรุ่นใหม่ที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป ขณะที่คนรุ่นก่อนมีแต่จะล้มหายตายจากไปทุกวัน

สถานการณ์ต่อจากนี้ไปถึงวันที่ 17 พฤศจิกายน ซึ่งจะมีการประชุมรัฐสภาพิจารณาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ การชุมนุมประท้วงกดดันให้นายกรัฐมนตรีลาออกจะยกระดับขึ้นแค่ไหน การย้อนถาม ผมผิดอะไร ยืนกระต่ายขาเดียว ไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้นไปกว่า ความอดกลั้นอดทนและยอมรับความจริง ที่ยากจะปฏิเสธได้ว่าเป็นหนึ่งในความผิดพลาด

เป็นต้นเหตุหนึ่งของปัญหาบานปลาย ก็คือ การเบี่ยงเบนเจตนารมณ์กฎหมายรัฐธรรมนูญที่ว่าด้วยกระบวนการแต่งตั้งวุฒิสมาชิก ตั้งแต่เมื่อครั้งที่ดำรงฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

รัฐธรรมนูญ มาตรา 269(1) บัญญัติให้มีคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาคณะหนึ่ง ซึ่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งมีความรู้และประสบการณ์ในด้านต่างๆ และมีความเป็นกลางทางการเมือง จำนวนไม่น้อยกว่าเก้าคนแต่ไม่เกินสิบสองคน

พล.อ.ประยุทธ์ แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา 10 คน ตามคำสั่ง คสช. ที่ 1/2562 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา ได้แก่

1.พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ (รองหัวหน้า คสช.และรองนายกรัฐมนตรี) เป็นประธาน 2.นายพรเพชร วิชิตชลชัย (ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ) กรรมการ 3.พลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร(รองหัวหน้า คสช.) กรรมการ

4.พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย (รองหัวหน้า คสช.) กรรมการ 5.พลตำรวจ เอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว(รองหัวหน้า คสช.) กรรมการ 6.พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง (รองนายกรัฐมนตรี) กรรมการ 7.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ (รองนายกรัฐมนตรี) กรรมการ

8.วิษณุ เครืองาม (รองนายกรัฐมนตรี) กรรมการ 9.พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ (รองนายกรัฐมนตรี) กรรมการ 10.พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา (ผู้แทนคณะรักษาความสงบแห่งชาติ) กรรมการ ต่อมานายพรเพชรได้ลาออก

ผลการสรรหาแต่งตั้งปรากฏเป็นที่รับรู้กันแล้วว่าใครเป็นใครบ้าง ประเด็นที่ถูกวิจารณ์มากที่สุด คือกรรมการสรรหาได้รับการแต่งตั้งด้วย จนถูกนินทาทั่วบ้านทั่วเมืองว่าแต่งตั้งตัวเอง เข้าทำนอง ชงเอง กินเอง ไม่เคยปรากฏมาก่อน

คำตอบต่อเสียงวิจารณ์ข้างต้น คือ ข้ออ้างที่ว่ากฎหมายไม่ห้าม จึงทำได้ ไม่ผิด กับข้อโต้แย้งที่ว่า คนเหล่านี้ไม่มีคุณวุฒิ ความรู้ และประสบการณ์ ตรงไหน ไม่มีความเป็นกลางทางการเมืองตรงไหน

ทั้งๆ ที่มีทางเลือกอื่น มีคนที่มีคุณสมบัติ มีความเหมาะสมให้เลือกอีกมากมาย แต่เพราะแนวคิดที่ว่าต้องตั้งคนที่พูดกันรู้เรื่อง พูดภาษาเดียวกัน ขอได้ กำกับได้ เป็นส่วนใหญ่ และไม่ไว้วางใจคนอื่น บทสรุปสุดท้ายจึงกลายเป็นสถานการณ์ที่ยังครุกรุ่น รุมเร้า ไม่รู้จุดจบอย่างไร เมื่อไหร่ ในขณะนี้นี่เอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image