คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : เมดเลย์แห่งการละเมิดสิทธิ

การดำเนินการทาง “กฎหมาย” กับนักศึกษาและเยาวชนแกนนำคณะราษฎร 2563 อย่างเข้มข้นตลอดช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ต่อภาพให้เราได้เห็นหลุมดำห้วงมืดมากมายในกระบวนยุติธรรมทางอาญา

ก่อนหน้านี้เราก็สังเกตเห็นปัญหาเหล่านั้นอยู่บ้างแล้ว แต่เมื่อมันเอามาบังคับใช้ต่อเนื่องกันเป็นชุด เพื่อวัตถุประสงค์ในทางการเมืองเช่นนี้ เราก็เห็นภาพได้ชัดเจนว่า เรามีช่องว่าง หรือข้อผิดพลาดทางกฎหมายที่ละเมิดสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้เพียงถูกกล่าวหา หรือเป็นจำเลยในคดีอาญาได้อย่างไร

เรื่องแรกที่ได้เห็นกัน คือ ที่แกนนำที่ถูกควบคุมตัวทุกคนถูกบังคับด้วยกฎระเบียบของเรือนจำ ให้ตัดผม ถ้าเป็นผู้ชายทุกคนออกมาก็ได้ทรงสั้นเกรียนขาวสามด้านออกมาทุกคน แต่ภาพที่ทำให้หลายคนสะอึกและสะเทือนใจไม่น้อย คือ รุ้ง ปนัสยา ซึ่งเราจะคุ้นเคยกับของเธอในชุดสีแดงเพลิงสดใส และผมยาวสลวยสีน้ำตาลทองที่เป็นเอกลักษณ์

แต่เมื่อเธอถูกจับกุมและควบคุมตัวไว้ในทัณฑสถานหญิง ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม จากนั้นภาพที่เธอปรากฏตัวอีกครั้งให้สาธารณชนได้เห็น รุ้งก็ถูกตัดผมสั้นและย้อมผมให้เป็นสีดำ และมีรายงานข่าวว่า แม้แต่แว่นตาของเธอก็ถูกบังคับให้เปลี่ยนกรอบด้วย

Advertisement

ไม่ต้องวิเคราะห์กันให้ลึกซึ้งลงไปถึงว่าการบังคับตัดผมนั้นเป็นการลดทอนทำลายอัตลักษณ์และความรู้สึกมีคุณค่าในตัวเองอย่างไร แต่คนที่มีจิตใจเป็นธรรมอยู่บ้าง ก็คงรู้สึกได้ว่า การที่ใครสักคนหนึ่งแค่ถูกตั้งข้อหาในคดีอาญาโดยตำรวจ เอาเขาไปคุมตัวขังไว้แค่สิบกว่าวัน และทั้งๆ ที่ก็รู้ว่ามีโอกาสได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในเวลาไม่นานแท้ๆ ทำไมต้องไปบังคับเอาถึงเนื้อตัวร่างกายของเขาถึงขนาดนั้น

แน่นอนว่าคำตอบของฝ่ายราชทัณฑ์และผู้รับผิดชอบก็มีเหตุผลมาให้เราได้ว่า เป็นเพราะเรื่องความปลอดภัย และรักษาความสะอาดป้องกันเชื้อโรคต่างๆ แต่เหตุผลนั้นจะฟังขึ้นหรือไม่ ก็สุดแต่วิญญูชนจะพิจารณา กับในคำตอบนั้นก็ฟ้องในตัวว่า ทัณฑสถานในความรับผิดชอบของท่านนั้นช่างไม่ปลอดภัยและปราศจากสุขอนามัย เพราะแค่คนไว้ผมยาว หรือทำสีผมก็เป็นเหตุให้ไม่ปลอดภัย หรือเจ็บป่วยเป็นโรคได้เสียแล้ว

แต่คำถามตั้งต้นที่สำคัญที่สุดมีอยู่ว่า ทำไมต้องเอาพวกเขา ซึ่งทั้งนี้รวมถึงผู้ต้องหาและจำเลยในคดีอาญาทั้งหลายด้วยนั้น ไปไว้ในเรือนจำที่น่าจะเป็นทัณฑสถานสำหรับผู้ที่ศาลพิพากษาว่ามีความผิดและต้องรับโทษ
จำคุกด้วยเล่า

อย่าลืมว่าหลักการสำคัญที่สุดของรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการทางอาญา คือ หลักการที่ว่าต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลไม่มีความผิดทางอาญา และถ้าไม่มีคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้

หลักการนี้ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญไทยแทบทุกฉบับ โดยฉบับปัจจุบันได้บัญญัติไว้ในมาตรา 29 วรรคสอง และยังเป็นหลักสิทธิมนุษยชนสากลและถือเป็นหนึ่งในหลักนิติธรรมด้วย

การเอาคนที่แค่ถูกตำรวจตั้งข้อกล่าวหา ยังไม่ส่งฟ้องศาล หรือกระทั่งส่งฟ้องศาลแล้ว แต่ก็ยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำผิดจริงมาขังไว้ในเรือนจำ เช่น อยู่ภายใต้กฎระเบียบเดียวกันกับนักโทษผู้ต้องคำพิพากษา แม้เป็นเวลาสั้นๆ แต่นั่นมองลงมาจากหลุมทะเลสาปดวงจันทร์ก็น่าจะรู้ว่าขัดรัฐธรรมนูญ

สำหรับเรื่องนี้จึงขอบันทึกไว้ว่าในอนาคต #ถ้าการเมืองดี เมื่อไรแล้ว เราควรต้องมีสถานที่ควบคุมตัวสำหรับผู้ต้องหาและจำเลยที่ไม่ใช่เรือนจำ เพื่อจำกัดอิสรภาพในการเดินทางของเขาเพียงเพื่อประโยชน์แห่งการดำเนินคดีเท่านั้น แต่จะจำกัดหรือละเมิดสิทธิเสรีภาพประการอื่นๆ ไม่ได้

หรือในระยะเร่งด่วนที่สุด คือ ถ้าจะต้องกักขังผู้ต้องหา หรือจำเลยไว้ในเรือนจำแล้ว อย่างน้อยก็ต้องไม่บังคับใช้กฎ หรือระเบียบในลักษณะเดียวกับผู้ต้องโทษตามคำพิพากษาต่อเขา

ส่วนเรื่องต่อมาที่อยากจะกล่าวถึง คือ เรื่องของการปล่อยตัว การอายัดตัว และหมายจับ ซึ่งทำให้เกิดความอลหม่านอลเวงอย่างน่าเศร้าใจและชวนให้เดือดดาล ในช่วงศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ ที่ผ่านมา เพราะหลังจากที่ศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอฝากขังแกนนำคณะราษฎรคือ รุ้ง เพนกวิน ไมค์ และแบงค์แล้ว มวลชนก็ดีใจ เพราะเข้าใจว่าจะมีการปล่อยตัวพวกเขาและเธอ จึงไปรอรับกันที่หน้าเรือนจำ

แต่การณ์กลายเป็นว่า มีตำรวจจาก สน.ประชาชื่น กลับตามมาขออายัดตัวกลับไปดำเนินคดี ด้วยการอ้างอำนาจของหมายจับที่สิ้นผลแล้ว ถือมายืนกรานกระต่ายขาเดียวว่าจะขออำนาจควบคุมตัวผู้ต้องหาต่อไปจนกลายเป็นเรื่องวุ่นวาย สุดท้ายเพื่อให้เราได้จดจำว่า เด็กๆ ของพวกเราเข้มแข็ง อดทน มีอารมณ์ขัน และยึดหลักการสันติอหิงสาอย่างไร

แม้ว่าการอายัดตัวนี้เป็นกลไกปกติของตำรวจในกรณีของผู้ต้องหาที่ถูกออกหมายจับว่ากระทำความผิดนั้นถูกควบคุมตัวอยู่ ตำรวจในเขตท้องที่ที่รับผิดชอบก็สามารถมาอายัดตัวจากเรือนจำเพื่อนำไปสอบสวนได้ แต่สำหรับมุมมองของผู้ถูกกักขัง ญาติพี่น้อง และคนที่เขารักแล้ว นี่ถือเป็นการทำร้ายจิตใจอย่างโหดเหี้ยมด้วยการคว้าอิสรภาพที่เขาควรได้รับไปต่อหน้าต่อตา โดยไม่แจ้งไม่บอกไม่กล่าว แม้จะชอบด้วยกฎหมาย แต่ถ้าโดนกับตัวบ้างก็คงจะรู้สึกถึงความอยุติธรรมได้

การอายัดตัวผู้ต้องหาที่ถูกควบคุมตัวนี้ แม้จำเป็นต้องมีอยู่เพื่อการบังคับใช้กฎหมาย แต่ก็สมควรอย่างยิ่งที่จะต้องแก้ไขให้เป็นธรรม อาจจะเป็นไปในทางว่า เมื่อปรากฏว่ามีบุคคลใดเป็นผู้ต้องหาถูกควบคุมตัวแล้ว ทางฝ่ายตำรวจจะต้องดำเนินการแจ้งอายัดตัวในคดีต่างๆ ที่เขาถูกกล่าวหามีหมายจับให้เสร็จเรียบร้อยอย่างน้อยก็ก่อนที่เขาจะได้รับคำสั่งปล่อยตัวจากศาล แต่ถ้ารอจนถึงวันที่ศาลมีคำสั่งปล่อยตัวไม่ว่าด้วยเหตุใดในคดีใดแล้ว จะอายัดตัวทันทีไม่ได้

ถ้าจะอ้างเหตุว่าเป็นไปไม่ได้ หรือยากเย็นในทางปฏิบัติ ตำรวจจะไปรู้ได้อย่างไรว่าบุคคลตามหมายจับคนไหนถูกควบคุมตัวไว้ในคดีอื่นแล้ว ข้ออ้างแบบนี้เมื่อสัก 20-30 ปีที่แล้วมันก็ยังฟังขึ้นอยู่ แต่กับยุคสมัยที่รัฐมีข้อมูลทุกอย่างของประชาชนอยู่ในมือ และสามารถเชื่อมต่อเรียกดึงกันเมื่อไรก็ได้ที่ต้องการ เช่น เราคงทราบว่าคนมีหมายจับถ้ากำลังจะผ่านกระบวนการตรวจคนเข้าเมืองแล้ว หมายจับทั้งปวงของผู้นั้นจะแสดงขึ้นมาต่อหน้าจอของเจ้าหน้าที่ทันทีนั้นคงทำให้เราเชื่อได้ยาก

เอาง่ายๆ เมื่องานรับปริญญาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ 30-31 ตุลาคมที่ผ่านมานี้ ชาวเราก็ได้เห็นแล้วว่า ถ้าแม้นภาครัฐนั้นจะบูรณาการข้อมูลของประชาชนแล้ว พวกเขาก็สามารถทำได้โดยละเอียดยิบพิสดาร ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลเกี่ยวกับการทำกิจกรรมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง หรือแม้แต่ประวัติการรักษาทางจิตเวชก็ขุดค้นขึ้นมาได้เพียงเสียบบัตรประจำตัวประชาชนเข้าไปที่เครื่องอ่านก็ขึ้นมาหมด

ก็ในเมื่อเรามีเทคโนโลยีที่ยอดเยี่ยม เพื่อการละเมิดสิทธิผู้คนขนาดนี้แล้ว เราจะประยุกต์ใช้เพื่อรักษาสิทธิและให้ความยุติธรรมบ้างก็น่าจะดี แต่อย่างไรก็ตาม การจะวางข้อจำกัดในเรื่องการอายัดตัวนี้ก็ต้องอาศัยการแก้กฎหมายต่างๆ เช่น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา อันนี้ก็เป็นการบ้านที่เราจะต้องไปรอแก้ไขกัน #ถ้าการเมืองดี กว่านี้

สำหรับสุดท้ายที่อยากบันทึกและตั้งข้อสังเกตไว้ คือ เรื่องของ “หมายจับ” ที่ตำรวจอ้างใช้เพื่อรออายัดตัวแกนนำและบุคคลที่เกี่ยวข้องได้ ไม่ว่าศาลจะยกคำร้องขอฝากขัง หรือศาลจะยอมให้ประกันปล่อยตัวชั่วคราวอย่างไร

เรื่องของ “หมายจับ” นี้ เคยได้รับการแก้ไขปรับปรุงครั้งใหญ่ไปในระดับหลักการ ตามรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่เปลี่ยนจากอำนาจของตำรวจที่จะออกหมายจับ มาเป็นอำนาจของศาลแทน เพราะการจับกุมตัวบุคคลเป็นการทำให้เขาสิ้นอิสรภาพในเนื้อตัวร่างกาย ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานอันสำคัญ ดังนั้นจึงควรจะต้องให้เป็นอำนาจตุลาการที่จะพิจารณาและอนุมัติ

แต่ปัญหาของเรื่องหมายจับนี้อยู่ที่ว่า เมื่อหมายจับออกไปแล้ว จะสามารถใช้ได้ทั่วราชอาณาจักรแบบถาวรจนกว่าจะสิ้นผลไปเอง ในกรณีที่จับบุคคลตามหมายจับได้แล้ว หรือบุคคลนั้นเข้ามามอบตัวรับทราบข้อกล่าวหาต่อทางพนักงานสอบสวนแล้ว หรือเป็นกรณีที่คดีหมดอายุความไป แต่หมายจับที่สิ้นผลไปนี้จะไม่มีการเพิกถอน เพราะเหตุที่ศาลจะเพิกถอนหมายจับได้ ก็ต่อเมื่อมีการออกหมายจับโดยผิดหลง เพราะได้รับข้อเท็จจริงที่ไม่ถูกต้องเท่านั้น

และก็คงไม่มีใครคิดว่าจะมีคนเอาหมายจับที่สิ้นผลแล้วนำกลับมาใช้ใหม่กันแบบนี้ความที่หมายจับนั้นคงอยู่ตลอดกาล จึงกลายเป็นช่องว่างให้ฝ่ายตำรวจสามารถไปขอหมายจับมาเก็บไว้ได้ ถ้านึกจะไปจับผู้ต้องหาเสียเมื่อไร หรือเก็บไว้เวลาจะเอาไว้อ้าง เพื่ออายัดตัวไปดำเนินคดีต่อก็ได้เสียอย่างนั้น

ซึ่งเราได้เห็นกันว่า หมายจับฉบับหลังๆ ที่ทางตำรวจเอามายกอ้างเพื่ออายัดตัวแกนนำนั้น เป็นคดีที่ถูกกล่าวหามานานแล้ว และอาจจะมีหมายจับเก็บไว้แล้วด้วยซ้ำ ดังที่นายตำรวจใหญ่ออกมาให้ข่าวว่ามีหมายจับแกนนำไว้รวม 80 คดี รอไว้ใช้งาน หมายจับบางหมายอ้างถึงการกระทำความผิดตั้งแต่เดือนสิงหาคม หรือกันยายน ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ “ผู้ต้องหา” จะปรากฏตัว มีที่อยู่ชัดเจน ทำกิจกรรมทางการเมือง บางครั้งตำรวจก็ยืนดูอยู่ตรงนั้นนั่นแหละ แต่ก็ไม่ได้มีการจับกุมตัวมาตามหมายจับอะไร เหมือนจะเก็บเอาไว้ใช้เวลาอยากใช้

เรื่องของหมายจับนี้ จึงเป็นอีกเรื่องที่สมควรแก้ไข ไม่ให้มีการนำหมายจับมาเลือกใช้แบบผิดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและกฎหมายได้อีก

และขอทิ้งท้ายไว้สำหรับท่านตำรวจทั้งหลาย ที่ชอบอ้างว่า ที่มาจับแกนนำนั้นเป็นเพราะหน้าที่ ขืนไม่จับจะโดนข้อหาละเว้นปฏิบัติหน้าที่ ไม่ได้กลั่นแกล้งอะไร กระทำไปตามกฎหมายทั้งสิ้น ฯลฯ แล้ว

ก็อยากจะถามว่า การที่มีหมายจับเก็บรอไว้เพื่อใช้ หรือมีหมายจับแล้วพอจะจับได้แต่ก็ไม่จับ มารอจับเอาตอนที่อยากจะจับ ไม่ว่าจะเพื่ออะไรก็แล้วแต่ อย่างนี้ถือว่าชอบด้วยกฎหมาย หรือเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริตหรือไม่

อย่าลืมว่า คดีปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 มีอายุความ 15 ปี หรือความผิดฐานกลั่นแกล้งให้คนต้องรับโทษทางอาญา ตามมาตรา 220 วรรคสอง มีอายุความถึง 20 ปี ถ้าตอนนี้ท่านอายุสัก 50 ปี ก็ลองหักลบอายุตัวเองดูก็ได้ว่า ถ้าจะต้องมาขึ้นศาลถูกชำระความในวัยนั้น เพราะกรรมที่กระทำไว้วันนี้นั้น จะยังไหวกันอยู่หรือไม่

กล้า สมุทวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image