อุเบกขาอย่างชาวพุทธ

พุทธศาสนิกชนเป็นผู้ที่โชคดีเพราะเกิดมาในสังคมที่ยังสอนให้นึกถึงกรรม ปัจจัยของกรรมและผลของกรรม มีการสอนให้เว้นจากอกุศล ให้รู้จักละวางและสงบอารมณ์ ไม่หัวร้อนหัวเสียเมื่อไม่ถูกใจ ไม่พองโตลิงโลดเมื่อได้ ไม่จมอยู่กับความโศกเศร้าเมื่อสูญเสีย ไม่ดันทุรังเมื่อติดขัด ฯลฯ

การปล่อยวางเหล่านี้ช่วยให้ชีวิตดำเนินไปอย่างมีความสุข มีการผ่อนหนักผ่อนเบาและไม่แข็งกระด้าง สังคมก็จะมีปฏิกิริยาที่ไม่รุนแรงก้าวร้าวต่อกัน

นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว เคยเขียนถึงอุเบกขาที่ประยุกต์ใช้ได้ดีโดยทั่วไป ท่านให้นัยในแนวพุทธว่าอุเบกขาเป็นการกระทำที่เป็นขั้นตอน แนวคิดนี้ช่วยให้รู้จักประเมินและกระทำให้เหมาะควรอย่างเป็นลำดับตามสภาพความเป็นจริง

Advertisement

พระพุทธศาสนาสอนให้รู้จักการปล่อยวางตั้งแต่ในชีวิตประจำวันจนถึงขั้นของการปฏิบัติทางจิต พุทธศาสนิกชนน้อยคนนักที่จะไม่เคยได้ยินคำว่า “อุเบกขา” อย่างไรก็ตาม อุเบกขาของชาวพุทธเป็นการปล่อยวางอย่างมีปัญญา จิตไม่แล่นไปในทางที่ชอบหรือชังแต่มิใช่นิ่งเฉยจนไม่รับรู้หรือต้องเก็บกดอารมณ์เอาไว้ มีการเรียนรู้ที่จะสังเกตหรือเห็นด้วยอารมณ์ที่เป็นกลาง

หลวงพ่อสุรศักดิ์ เขมรังสี แนะนำให้มีสติกำหนดรู้โดยขณะเดียวกันก็ต้องปล่อยวางด้วย เมื่อจะพิจารณาก็ไม่คิดให้ยืดยาว พิจารณาเฉพาะสิ่งที่กำลังปรากฏ สิ่งที่หมดไปแล้วก็แล้วไป

อุเบกขาเป็นคำที่มีมาก่อนพุทธกาล การปฏิบัติทางจิตก็ไปถึงอุเบกขาฌาน พระพุทธองค์ไม่ทรงบัญญัติคำใหม่ทดแทนแต่ทรงสอนอุเบกขาที่มีประโยชน์ มีปัญญาและทำให้หลุดพ้น

Advertisement

พราหมณ์โบราณเช่นดาบสและชฎิลมีการเจริญฌานซึ่งนำไปสู่อุเบกขาจิต การปฏิบัติเป็นไปเพื่ออัตตา พราหมณ์โบราณจึงมักเข้าใจว่าความสงบจากอุเบกขาฌานเป็นบรมสุขหรือนิพพาน

อุเบกขาแบบก่อนพุทธกาลเป็นจิตที่เป็นอารมณ์เดียวหรือเอกัคคตา ในตติยฌาน จิตไม่ถูกรบกวนโดยปีติและนิ่งอยู่ในความสุขที่ละเอียด ในจตุตถฌานจิตสงบนิ่งไม่รับรู้อารมณ์อื่นใด

อุเบกขาดังกล่าวมีประโยชน์ตรงที่จิตนิ่งหรือไม่ซัดส่ายแต่ขาดปัญญา จึงต้องแก้ไขให้จิตตื่นรู้ มิฉะนั้นจะติดยึดอุเบกขาฌานและอัตตาตัวตน ผู้ที่ติดอยู่กับอุเบกขาฌานอาจต้องแก้ไขด้วยการเรียนรู้ความเป็นจริงให้ถึงอริยสัจ 4 ซึ่งก็จะต้องเปลี่ยนศรัทธาและแนวทางการเรียนรู้เสียใหม่

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนสมณพราหมณ์ที่สำเร็จฌานให้เข้าใจอุเบกขาจิตจนกระทั่งบรรลุพระอรหัตตผล ตัวอย่างในพรรษาต้นแห่งพุทธกิจได้แก่การแสดงธรรมโปรดเหล่าชฎิลสามพี่น้องกัสสปโคตรซึ่งได้แก่อุรุเวลกัสสปะ นทีกัสสปะและคยากัสสปะริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา

ในช่วงที่ทรงแสดงธรรมโปรดอุรุเวลกัสสปะ มีการกล่าวถึงพรหมนารทชาดกซึ่งนับว่าเป็นชาดกแรกในพระพุทธศาสนา ชาดกนี้กล่าวถึงชาติที่พระพุทธองค์ทรงเป็นพระพรหมนามว่านารทกัสปโคตร มีเมตตาส่งเสริมการกระทำความดีและมีอุเบกขาต่อข้อท้าทายของผู้หลงผิด ในขณะที่บำเพ็ญอุเบกขาบารมีก็ยังช่วยเหลือให้สัตว์โลกมีกุศลธรรม ไม่เพิกเฉย ไม่ท้อถอยและไม่หวั่นไหว

ในส่วนของพระธรรมคำสอน พระพุทธองค์ทรงแสดงอาทิตตปริยายสูตรแก่เหล่าชฎิลสามพี่น้องซึ่งเป็นพวกบูชาไฟ เจริญกสิณไฟจนคิดว่าบรรลุแล้ว

พระพุทธองค์ทรงสอนว่าการบูชายัญนั้นเป็นไปเพื่อกามคุณและไม่สงบจากไฟอันเป็นกิเลส สิ่งทั้งปวงร้อนดุจไฟ อายตนะและผัสสะก็เป็นของร้อน ผู้รู้เท่าทันย่อมเบื่อหน่ายและไม่ยึดมั่นถือมั่น

อุเบกขาของชฎิลจึงมิได้หลุดจากกิเลส เมื่อจิตสัมผัสสิ่งเร้า ความรุ่มร้อนและถือตนว่าวิเศษก็จะกลับมากำเริบอีก

ในวันพุทธปรินิพพานระหว่างทางที่พระพุทธองค์ทรงเสด็จจากบ้านนายจุนทะไปกุสินารา ปุกกุสมัลลบุตรได้เข้าเฝ้าและกล่าวถึงวิหารธรรมของบรรพชิต ปุกกุสะเชื่อว่าอาจารย์อาฬารดาบสมีฌานที่สงบสูงสุดเพราะสงบจากขบวนเกวียนที่ผ่านไปมากถึง 500 เล่ม พระพุทธองค์ทรงชี้ถึงความสงบที่ยิ่งกว่าฌานโดยทรงยกเหตุการณ์ที่ทรงประทับในโรงกระเดื่องเมืองอาตุมา ครั้งนั้นพระพุทธองค์ทรงอยู่ในวิหารธรรมอย่างสงบยิ่งทั้งที่มีฟ้าผ่าฟ้าลั่นที่ทำอันตรายถึงชีวิต

อุเบกขาแบบพุทธเป็นการปล่อยวางที่แท้จริง มีความสงบและมีปัญญา จึงหลุดจากกิเลสได้ อุเบกขาที่ขาดปัญญาจะเรียกว่าอัญญาณุเบกขา ส่วนอุเบกขาที่มีปัญญาเรียกว่าญาณุเบกขา

ปัญญาในระดับจิตสำนึกซึ่งอาศัยศรัทธาและการฟังการอ่านได้นั้นทำให้ชาวพุทธมีอุเบกขาในชีวิตประจำวันได้ดี ในขั้นตอนนี้ชาวพุทธจะรู้จักระงับอารมณ์ที่รับรู้ได้เช่นรู้จักสงบสติอารมณ์ที่ฉุนเฉียว อารมณ์ใดก่ออกุศลก็รู้จักละอารมณ์นั้น รู้จักวิธีสร้างอุเบกขาที่ตัดอารมณ์ทางลบ

ส่วนปัญญาในลำดับที่สูงขึ้น ชาวพุทธจะฝึกฝนจิตใจให้มีอุเบกขาที่มีปัญญาเป็นลำดับ การปฏิบัติจะมีอุเบกขาที่ช่วยทำให้เดินทางจนถึงฝั่งในศีล ในสมาธิและในธรรมได้

ในพระอภิธรรมมีคำว่า “ตัตรมัชฌัตตตา” ซึ่งแสดงความเป็นกลางของสภาวะจิตและสำคัญมาก นอกจากนี้ก็มีการกล่าวถึงอุเบกขา 10 ซึ่งอาจแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งเป็นอุเบกขา 6 ซึ่งเป็นสภาวะจิตหรือเจตสิกที่มีความเป็นกลาง อีกกลุ่มเป็นอุเบกขาที่เป็นงานของปัญญา

อุเบกขา 10 นี้ยากที่จะหาคำอธิบายในรายละเอียด ต้องประมาณเทียบเคียงเพื่อทำความเข้าใจแนวทางการปฏิบัติด้วย สามข้อแรกและสามข้อท้ายเป็นอุเบกขา 6

1.อุเบกขาบริสุทธิ์ เกิดในจตุตถฌานอันสงบยิ่ง อุเบกขามีสติที่บริสุทธิ์ จิตส่งใน

2.อุเบกขาในฌาน เกิดในตติยฌาน จิตสงบจากปีติแล้วแต่ยังมีสภาวะของสุขชัดเจน จิตมีอุเบกขาร่วม มีสติและสัมปชัญญะชัด สำหรับปฐมฌานและทุติยฌานมีอุเบกขาที่ยังไม่ชัด

การเจริญฌานของพราหมณ์โบราณเช่นดาบส ชฎิลและนิครนถ์จะเข้าถึงอุเบกขาทั้งสองนี้โดยไม่มีปัญญา ส่วนสมถภาวนาของชาวพุทธจะมีปัญญาอยู่ด้วยระดับหนึ่ง ในตติยฌานจะมีอุเบกขาพร้อมสติและสัมปชัญญะที่ชัดกว่าฌานขั้นอื่นและมิได้มีเฉพาะสุขและเอกัคคตาซึ่งเป็นองค์ฌานเท่านั้น

ส่วนอรูปฌานมิได้มีการระบุไว้ อุเบกขาที่เกิดขึ้นในอรูปฌานมีความละเอียดกว่าในรูปฌาน อุเบกขาขั้นเนวสัญญานาสัญญายตนะน่าจะจัดเป็นอุเบกขาบริสุทธิ์เช่นกัน อย่างไรก็ตาม พระภิกษุสาวกปกติอาศัยอรูปสมาบัติเมื่อเป็นพระอริยบุคคลแล้ว

3.อุเบกขาที่เป็นกลางจากอคติ (ตัตรมัชฌัตตุเปกขา) เป็นอุเบกขาที่มีลักษณะของความเป็นกลางหรือไม่เอนเอียงไปในอคติที่เกิดขึ้น อคติแปลกันว่าความเอนเอียงหรือทางประพฤติที่ผิด อคติ 4 ได้แก่ ฉันทาคติซึ่งชอบ โทสาคติซึ่งชัง โมหาคติซึ่งหลง และภยาคติซึ่งกลัว จึงเป็นการตกอยู่ในความนึกคิดที่ผิดอันเป็นกิเลสขั้นกลางเช่นอาการตื่นตาตื่นใจ โกรธเกลียด หมกมุ่นหรือกลัว

ความนึกคิดที่มีความราบเรียบหรือไม่เป็นมิจฉาสังกัปปะจะเป็นอุเบกขาในลักษณะนี้ ผู้ที่มีตัตรมัชฌัตตุเปกขาจะพร้อมต่อการสดับธรรมและการเข้าถึงปัญญาชนิดต่างๆ ได้

4.อุเบกขาในวิปัสสนา เป็นอุเบกขาที่เป็นกลางในการพิจารณาซึ่งละสิ่งที่ปรากฏได้ ในขั้นวิปัสสนา ผู้ปฏิบัติจะเจริญสติปัฏฐานและสังเกตเห็นสภาวะของรูปและกลาปรูปที่ไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน เมื่อเห็นก็เพียงสังเกตหรือรับรู้เท่านั้น

5.อุเบกขาในเวทนา การเจริญสติปัฏฐานจะส่งผลต่อจิตให้ละเอียดมากขึ้นและสังเกตเวทนาความรู้สึกได้ ขั้นนี้จะอาศัยอุเบกขาที่เป็นอุบายปัญญา เมื่อเกิดทุกขเวทนาและสุขเวทนาก็ไม่มีปฏิกิริยาตอบโต้ต่อทุกขเวทนาและสุขเวทนานั้นๆ เกิดความรู้สึกไม่ทุกข์ไม่สุขหรืออุเบกขาเวทนา

6.อุเบกขาในสังขาร เป็นอุเบกขาในวิปัสสนาขั้นที่สูงขึ้น จิตมีความตั้งมั่นมากในการพิจารณาละการปรุงแต่งทั้งหลายซึ่งรวมถึงในระดับจิตตสังขารที่เป็นกิเลส มีอุเบกขาวางเฉยเพราะผ่านการเห็นว่าสังขารทั้งหลายเป็นทุกข์และน่าเบื่อหน่ายแล้ว

ความรู้เกี่ยวกับขันธ์ 5 และการเห็นอาการของจิตนับเป็นพื้นฐานที่สำคัญยิ่ง ในเวทนานุปัสสนาและจิตตานุปัสสนา จิตจะถึงขั้นเห็นเวทนาและจิตตสังขาร เมื่อเห็นก็เพียงแต่มอง ไม่ผูกหรือตามเข้าไปในเวทนาและสังขารนั้นๆ อุเบกขาที่มีความว่องไวเท่าทันจึงระงับการเพิ่มพูนกิเลสได้

เวทนาเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นเมื่อมีการกระทบทางอายตนะ สัญญาที่เป็นความจำทำให้จิตรับรู้และรู้จักความรู้สึกดังกล่าวซึ่งก็เพราะกายและจิตมีความสัมพันธ์กัน สัญญาอีกส่วนหนึ่งจะตีความว่าชอบหรือไม่ชอบหรือว่ารู้สึกเฉยๆ

ถ้าจิตนำเอาเวทนาทางกายมาปรุงแต่งต่อหรือขยายซ้ำจะทำให้จิตตสังขารเกิดขึ้น กลายเป็นการสร้างตัณหาความทะยานอยาก จิตตสังขารส่วนนี้กระทำการให้ความทุกข์และความสุขรุนแรงขึ้นทั้งๆ ที่เวทนาที่เริ่มต้นนั้นยังคงเท่าเดิม ส่วนหลังนี้เป็นผลจากจิตของตนเองล้วนๆ

อุเบกขาในขั้นของเวทนาความรู้สึกเป็นการไม่มีปฏิกิริยาตอบโต้เวทนาทางกายที่เกิดขึ้น จึงเป็นเพียงการรับรู้เวทนานั้นๆ ว่าสุขหรือทุกข์หรือไม่สุขไม่ทุกข์ มิให้เวทนามีผลต่อเนื่องไปถึงตัณหาในทางยินดีหรือไม่ยินดี

อุเบกขาในขั้นของสังขารการปรุงแต่งเป็นการระงับมิให้จิตคล้อยตามสังขาร เป็นเพียงจิตที่ดูจิต เมื่อการปรุงแต่งเกิดขึ้นจิตก็กลับเข้ามาตั้งมั่นที่อุเบกขา เป็นขั้นที่เกิดอัปปนาสมาธิแล้ว

7.อุเบกขาในความเพียร เมื่อการปฏิบัติมีความก้าวหน้า จิตหรือปัญญาจะเกิดความเพียรอย่างมากแต่ก็จะต้องเดินสายกลาง ไม่เร่งความเพียรจนตึงเกินไปหรือจนฟุ้งซ่านส่งออกนอก เมื่อจิตรู้จักละให้เกิดความพอดี อุเบกขาก็จะเจริญขึ้น

8.อุเบกขาในโพชฌงค์ สภาวจิตที่เป็นอุเบกขาสัมโพชฌงค์เป็นโพชฌงค์ขั้นที่มีกำลังสมาธิสูงมาก อุเบกขานี้ชัดในจตุตถฌานโดยมีปัญญาทำให้จิตเห็นว่าอุเบกขาในสภาวะนั้นไม่เที่ยง

9.อุเบกขาในพรหมวิหาร เป็นสภาวจิตที่เป็นอุเบกขาในขั้นพรหมวิหารของพระอริยบุคคล พรหมวิหารุเปกขาเป็นอุเบกขาเจโตวิมุติที่แผ่ออกไป จิตเว้นจากความรู้สึกสุขทุกข์และหลุดจากปฏิฆะอันละเอียด นับเป็นอุเบกขาของพระอนาคามีถ้าละกามราคะได้แล้ว

10.“ฉฬังคุเปกขา” เป็นสภาวจิตที่เป็นอุเบกขาของพระอรหันต์ จิตวางเฉยต่ออารมณ์ทั้งหลายที่มาสัมผัสทางอายตนะทั้งหก จิตมีอุเบกขาเสมอ

อุเบกขามีความสำคัญยิ่งต่อการเดินทางของชาวพุทธ ในพรหมวิหาร เมตตา กรุณาและมุทิตาช่วยดึงจิตให้อยู่ในกุศล อุเบกขาเป็นทางของความเป็นกลางหรือตัตรมัชฌัตตตา จิตซึ่งไม่ทุกข์ไม่สุขจะทำให้เสาพรหมวิหารไม่ไหวเอียง มีความละวางไม่ว่าจะเห็นความสำเร็จหรือล้มเหลวก็ตาม

อุเบกขาเป็นความเป็นกลางที่สงบจากกิเลส มีทั้งที่เป็นปฏิบัติวิธีและสภาวะในขณะจิตนั้นๆ

การเดินมรรคต้องอาศัยอุเบกขาโดยอรหัตตผลจะมีอุเบกขาเป็นธรรมชาติอัตโนมัติ

ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image