แฟลชสปีช : โดนัลด์ ทรัมป์ มองผ่านการเมืองไทย

แฟลชสปีช : โดนัลด์ ทรัมป์ มองผ่านการเมืองไทย : โดย การ์ตอง

แฟลชสปีช : โดนัลด์ ทรัมป์ มองผ่านการเมืองไทย : โดย การ์ตอง

ท่าทีของ โดนัลด์ ทรัมป์ ต่อความพ่ายแพ้ ในท่วงท่า “ไม่ยอมรับ” และพร้อม “เฮี้ยว”

ทั้งกล่าวหาว่าการเลือกตั้งมีทุจริต ทั้งประกาศไม่ออกจากทำเนียบขาว ทั้งไม่ห้ามปรามการก่อประท้วง และอื่นๆ สารพัด

ทำให้คนไทยจำนวนหนึ่งหันขวับไปมองการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ด้วยคำถามในใจ “อย่างนี้ก็ได้เหรอ”

Advertisement

ขณะนี้ที่คนจำนวนมากไม่ได้สะดุดคิดอะไร เพราะเคยชินอยู่ในความรู้สึกว่า “มันต้องเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว” การปฏิเสธผลเลือกตั้งที่ตัวเองพ่ายแพ้ เป็นเรื่องธรรมดามาก

“มันต้องทุจริตซิ” ถ้าไม่ชนะ

ความคิด จินตนาการ ความเชื่อแบบนี้เกิดขึ้นทุกครั้งสำหรับการเลือกตั้งในประเทศไทยเรา

Advertisement

ที่เป็นเช่นนี้ก็เนื่องจาก การเลือกตั้งที่มาจาก “ประชาธิปไตยแบบไทยๆ” เริ่มต้นด้วยความไม่ไว้วางใจประชาชน และไม่เชื่อถือในระบบการจัดการ

เป็นเรื่องง่ายมากที่จะกล่าวหาว่า “การลงคะแนนนั้นมีความผิดเพี้ยน”

ยิ่งระบบแบบสหรัฐ ที่วิธีการโหวตเป็นไปอย่างง่ายๆ กาใส่ไปรษณียบัตรส่งมา หรืออื่นๆ ที่ไม่มีทางรู้ได้เลยว่าผู้มีสิทธิแต่ละคนกาเองหรือไม่ หรือให้คนอื่นกาโหวตให้

มองผ่านสายตานักเลือกตั้งจากไทย แบบนี้ย่อมง่ายอย่างยิ่งที่ใครสักคนจะรวบรวมเอาไปรษณียบัตรมากาเองคนเดียว

ถ้าเป็นเมืองไทยวิธีโหวตต่างๆ แบบอเมริกาจะง่ายต่อการกล่าวหาอย่างยิ่งว่า “ขายสิทธิ ขายเสียง”

แต่นั่นเป็นการมองในมุมของ “ประชาธิปไตยแบบไทยๆ” ที่นักการเมืองถูกทำให้ไม่น่าเชื่อถือ และประชาชนถูกตีค่าว่าไม่ซื่อสัตย์ต่อสิทธิของตัวเอง

ส่วนอเมริกานั้น ที่ผ่านมาไม่ได้เป็นอย่างนั้น

การเลือกตั้งก่อนหน้านั้น ไม่ว่าจะโหวตกันด้วยวิธีไหน จะดำเนินไปด้วยความเชื่อ หรือหลักคิดที่ว่า “ประชาชนจะไม่โกงสิทธิของกันและกัน จะใช้สิทธิของตัวเองโดยไม่ละเมิดหรือไปด้อยค่าสิทธิของคนอื่น”

ดังนั้นเมื่อประกาศผลออกมาอย่างไร

มันจะเป็นอย่างนั้น ด้วยเชื่อมั่นร่วมกันว่า “สิทธิของทุกคนไม่ว่าจะใช้แบบไหนเป็นเรื่องที่คนอื่นต้องเคารพ”

แต่นั่นเป็นเรื่องก่อนหน้าโน้น

มาถึงการเลือกตั้งครั้งนี้ดูจะไม่เป็นแบบนั้นเสียแล้ว

ดูเหมือนว่า “โดนัลด์ ทรัมป์ จะแสดงออกชัดเจนถึง “ความไม่เชื่อในประชาชนที่เป็นหลักที่มีอยู่ก่อนหน้านั้น”

มีการพูดถึง “ทุจริตเลือกตั้ง” และ “ระบบการจัดการที่หละหลวม” ถี่ขึ้น ด้วยท่าทีที่ไม่ยอมรับมากขึ้น

มีคนในประเทศไทยเราหลายคนเริ่มเหยียดว่าเป็นประเทศที่เป็นแม่แบบของประชาธิปไตย ขึ้นชื่อในเรื่องการเชื่อมั่นในอำนาจประชาชน

การนำเสนอมุมมองในทาง “ไม่เชื่อมั่นหลักการที่ให้เชื่อว่าประชาชนทุกคนมีความสัตย์ซื่อในสิทธิของตัว” กันครึกโครม

ซึ่งมุมมองเช่นนี้เป็นการ “ด้อยค่าความชอบธรรมของระบอบประชาธิปไตย” ไปด้วย

คำถามที่เกิดขึ้นคือ

ระหว่าง “เชื่อมั่น” กับ “หมิ่นแคลน” นั้น การมองประชาชนในมุนไหน จะทำให้พัฒนาการอยู่ร่วมกันในสังคม

มีความสงบสุขมากกว่า

เราควรเลือกที่จะพัฒนา “หลักการการอยู่ร่วมกัน” ไปทางไหน

การ์ตอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image