เดินหน้าชน : ‘อีวี’อืดอาด

เห็นด้วยอย่างยิ่งกับความเห็นของ นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

กรณีคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบอร์ดบีโอไอ อนุมัติโครงการลงทุน 3.5 หมื่นล้านบาท และออก
แพคเกจลงทุนรถยนต์ไฟฟ้า 100% (อีวี) รอบ 2

ที่สำคัญแพคเกจกระตุ้นอีวีครั้งนี้ครอบคลุมรถยนต์ทุกชนิด ทั้งรถจักรยานยนต์ รถตุ๊กตุ๊ก รถโดยสาร รถ
บรรทุก เรือ ให้เป็นระบบไฟฟ้าทั้งหมด

เชื่อว่าจะจูงใจการลงทุนอุตสาหกรรมรถยนต์ไทยที่แข็งแรงอยู่แล้ว ให้ขยายตัวมากขึ้น เพราะระยะยาวรถ
อีวีถือเป็นเทรนด์ของโลก

Advertisement

แต่นายสุพันธุ์อยากให้การกระตุ้นในส่วนของการใช้งานรถอีวีมากขึ้น ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน นอกเหนือจากส่งเสริมการลงทุนผลิต อาทิ รถโดยสารสาธารณะควรเป็นอีวีทั้งหมด และควรใช้รถไฟฟ้าผลิตในประเทศไทย

เพราะผู้ผลิตไทยมีศักยภาพ เพียงแต่ภาครัฐต้องสนับสนุน เพื่อให้ซัพพลายเชนของไทยแข็งแกร่ง

สิ่งสำคัญจะกระตุ้นตลาดได้เห็นผลมากที่สุดคือการผลิตและใช้เองภายในประเทศ

Advertisement

การอนุมัติครั้งนี้ของบีโอไอ เป็นการเปิดส่งเสริมรอบใหม่ หลังหมดระยะเวลาการยื่นคำขอรับการส่งเสริมไปตั้งแต่ปี 2561

รอบนี้ เปิดให้การส่งเสริมยานพาหนะไฟฟ้าทุกประเภท โดยไม่กำหนดปีสิ้นสุด

บีโอไอส่งเสริมการลงทุนกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า มุ่งเน้นการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่เป็นหลัก (บีอีวี) แต่ให้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมควบคู่ไปด้วยกันได้

กรณีขนาดการลงทุนไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาท บีอีวีจะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี หากลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาได้รับสิทธิเพิ่ม

กรณีลงทุนน้อยกว่า 5,000 ล้านบาท จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี และจะได้รับสิทธิเพิ่มขึ้นหากดำเนินการได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด

อาทิ เริ่มผลิตรถยนต์ภายในปี 2565 ผลิตชิ้นส่วนสำคัญเพิ่มเติมจากข้อกำหนดพื้นฐาน มีปริมาณการผลิตจริงมากกว่า 10,000 คันต่อปี และลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา

ถ้ามีโครงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบปลั๊กอินไฮบริด (พีเอชอีวี) ด้วย จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี แต่ต้องผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้าอย่างน้อย 3 ชิ้น

ดูเหมือนว่าบีโอไอจะพยายามส่งเสริมให้มีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มที่

แต่จะมีประโยชน์อะไร หากเมื่อรถยนต์ไฟฟ้าหรือยานพาหนะไฟฟ้าแต่ละประเภท ถึงมือผู้บริโภคในราคาสูง

หากรัฐบาลต้องการจะส่งเสริมให้รถยนต์ไฟฟ้าเกิดอย่างรวดเร็ว เพื่อให้เกิดประโยชน์กับผู้บริโภคอย่างจริงใจ

จะต้องลองไปศึกษาแนวนโยบายของประเทศจีน ให้ส่วนลดสำหรับผู้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้าค่อนข้างสูง โดยรัฐจะเป็นผู้สนับสนุน

จะมีส่วนช่วยลดปัญหาฝุ่นควันพิษที่กำลังจะมาเยือนประเทศไทยเร็วๆ นี้อีกแล้ว

แต่ประเทศไทย ดูเหมือนรัฐบาลเกรงใจค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่ในเมืองไทย

หลายค่ายพยายาม “เตะถ่วง” ไม่ให้รถยนต์ไฟฟ้าเกิดในเมืองไทยรวดเร็ว

เพราะตัวเองพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าไม่ทัน และยังอยากจะขายเทคโนโลยีอย่างไฮบริดที่พัฒนาและลงทุนไปแล้ว ให้คุ้มก่อน ถือว่าเห็นแก่ตัวอย่างยิ่ง

แต่คงโทษบริษัทรถยนต์ไม่ได้ เพราะภาคธุรกิจย่อมคำนึงถึงผลประโยชน์ของตัวเองเป็นหลัก

คงต้องหันมาดูรัฐบาลที่มีหน้าที่ดูแลประชาชนผู้บริโภค ทำไมถึงไม่กล้าตัดสินใจ

เดินหน้าเรื่องรถอีวีอย่างอืดอาดเชื่องช้าเต็มที

หรือว่าเกรงใจภาคธุรกิจรายใหญ่ อย่างที่เคยมีใครบอกว่ารัฐบาลนี้เขาเกรงใจแต่พวก “ขาใหญ่”

ก็เลยไม่สนใจส่งเสริมการใช้รถยนต์อีวีอย่างจริงจังหรือเปล่า!?

สุรพล สุประดิษฐ์ ณ อยุธยา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image