ตำรวจกับประชาธิปไตย

ความสัมพันธ์ระหว่างตำรวจกับประชาธิปไตยเป็นเรื่องที่มีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนานและมีการศึกษาวิจัยในทางวิชาการอยู่ไม่น้อย

หมายความว่าการพูดถึงตำรวจไม่ได้หมายความว่าตำรวจจะต้องเท่ากับอำนาจเผด็จการ หรือเป็นเครื่องมือของระบอบเผด็จการเท่านั้น เหมือนกับที่เราคุ้นชิน โดยเฉพาะกับคำว่า “รัฐตำรวจ” (police state)

ในอีกด้านหนึ่ง แม้ในสังคมประชาธิปไตยเอง เรามักพูดถึงสิทธิเสรีภาพ การเลือกตั้ง แต่สิ่งเหล่านี้ก็ไม่ได้หมายถึงประสบการณ์จริงที่ผู้คนจะพบในชีวิตประจำวัน ซึ่งประชาชนก็ต้องเจอกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และไม่ค่อยทำให้เรารู้สึกว่าตำรวจนั้นเกี่ยวข้องกับประชาธิปไตยอย่างไร

กล่าวอีกอย่างก็คือ ในสังคมสมัยใหม่นั้นตำรวจทำหน้าที่ควบคุมปราบปรามอาชญากรรมและดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการไกล่เกลี่ยความขัดแย้ง ดูแลการจราจรและช่วยเหลือเมื่อมีอุบัติเหตุ แต่กระนั้นก็ตามเราก็ต้องทำความเข้าใจว่าในสังคมสมัยใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยและไม่ใช่ประชาธิปไตยนั้น สภาพแวดล้อม/เงื่อนไขที่ตำรวจปฏิบัติหน้าที่ เครื่องไม้เครื่องมือ/วิธีการในการจัดการและเป้าหมายในการปฏิบัติการของตำรวจก็ไม่เหมือนกัน

Advertisement

ในกรณีของสังคมประชาธิปไตยนั้น ตำรวจมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ไม่ใช่ว่าพอมีสังคมประชาธิปไตยแล้วจะไม่มีเรื่องของอาชญากรรมและเรื่องของปัญหาความเรียบร้อยในสังคม ยิ่งไปกว่านั้น การปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจเองก็จะเป็นตัวชี้วัดระดับประชาธิปไตยในสังคมนั้นๆ ด้วย

ตัวชี้วัดสำคัญชุดหนึ่ง ที่จะบอกว่าสังคมนั้นเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ก็คือ การทำหน้าที่ของตำรวจที่เป็นไปตามหลักนิติรัฐ-นิติธรรม คือไม่ทำตามใบสั่งหรือความต้องการของผู้มีอำนาจ หรือพรรค/พรรคพวกที่ครองอำนาจ การทำหน้าที่ของตำรวจที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับประชาชนได้ก็ด้วยเงื่อนไขที่จำกัดมากๆ ไม่ใช่ให้อำนาจอย่างกว้างขวางไปหมด และประการสุดท้าย การทำหน้าที่ของตำรวจจะต้องพร้อมถูกตรวจสอบและพร้อมรับผิดกับประชาชน

Advertisement

ในความเป็นจริงนั้น เรามักจะรู้สึกว่าตำรวจเป็นผู้ที่สามารถใช้อำนาจ/กำลังทางกายภาพได้เพราะกฎหมายให้อำนาจไว้ แถมยังมักจะพรากเสรีภาพไปจากเรา และนี่คือสิ่งที่มักจะทำให้เกิดการที่ตำรวจอาจจะละเมิดหรือใช้อำนาจของเขาในทางที่ผิด ในความเป็นจริงแล้วการบังคับใช้กฎหมายนั้นไม่ได้เป็นเรื่องของตำรวจเท่านั้น (อาทิ เรื่องของความผิดชอบชั่วดี ข้อตกลงชุมชน ฯลฯ) และเมื่อตำรวจจะต้องรักษากฎหมายและดูแลความสงบเรียบร้อยนั้น พวกเขากำลังเผชิญกับความท้าทายอย่างยิ่งยวดที่่จะต้องสร้างสมดุลสำคัญระหว่างเสรีภาพและระเบียบกฎเกณฑ์/ความสงบเรียบร้อย และสิ่งนี้แหละที่เป็นประเด็นท้าทายว่าการเป็นตำรวจและปฏิบัติหน้าที่ตำรวจในสังคมประชาธิปไตย (democratic policing)

ตำรวจนั้นอาจจะเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้สังคมประชาธิปไตยนั้นเดินหน้า หรืออาจจะเป็นอุปสรรคต่อการเดินหน้าสู่สังคมประชาธิปไตยได้เช่นกัน เพราะถ้าตำรวจปฏิบัติหน้าที่ตาม “หลักนิติรัฐ นิติธรรม” (rule of law) พวกเขาก็จะปกป้องประชาธิปไตยโดยการชี้ว่ากฎหมายนั้นสำคัญสำหรับทุกคน แต่ถ้าตำรวจพยายามจะชี้ว่าจะหาข้อกฎหมายมาจัดการศัตรูทางการเมืองของรัฐ หรือตอบไม่ได้ว่าทำไมไม่บังคับใช้กฎหมายกับอีกหลายกรณี สิ่งนี้แหละที่จะทำให้การปฏิบัติหน้าที่ของ
ตำรวจนั้นบ่อนทำลายความเป็นประชาธิปไตยของสังคม ซึ่งในแง่นี้ตำรวจในสังคมประชาธิปไตยควรจะสื่อสารให้ประชาชนรู้ว่าพวกเขาทำหน้าที่ตามหลักกฎหมายที่เคารพนิติรัฐ นิติธรรม คือบังคับใช้กฎหมายเสมอกัน และบังคับใช้กฎหมายที่ปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน

ไม่ใช่อ้างแค่ทำหน้าที่ตามกฎหมาย แม้จะรู้ (หรือไม่รู้เลย) ว่ากฎหมายเหล่านั้นเป็นกฎหมายที่ไม่ชอบด้วยหลักนิติรัฐ-นิติธรรม

ในความหมายนี้ตำรวจจึงต้องเป็นผู้ปฏิบัติงานที่มีทั้งมิติด้านกฎหมาย และมีมิติด้านศีลธรรม (ความรู้สึก-เข้าใจต่อความผิดชอบชั่วดี) เขาจะคิดแค่ว่าเขาทำตามกฎหมายในแบบคู่มือไม่ได้ เขาจะต้องพิจารณาด้วยว่าอะไรคือหลักการของกฎหมายที่เขาใช้ เขาจะต้องคำนึงถึงความเป็นมนุษย์ และคำนึงว่าสังคมนี้เป็นสังคมที่ประชาชนเป็นใหญ่ การเป็นตำรวจจึงเป็นเรื่องที่ยาก แต่ท้าทาย และเป็นความกล้าหาญทางศีลธรรมที่จะเผชิญหน้าทั้งกับสถานการณ์ ชุดกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม และความต้องการอยากรักษาอำนาจเอาไว้ของคนที่มีอำนาจ

“เกียรติของตำรวจ” จึงมิได้มาจากการปราบเหล่าร้ายที่มาทำร้ายประชาชนในนามของการพิทักษ์สันติราษฎร์ แต่ต้องมาจากการทำความเข้าใจหัวใจสำคัญของระบอบประชาธิปไตยหรือระบอบที่ราษฎรเป็นใหญ่ โดยเฉพาะจิตวิญญาณของกฎหมายในสังคมประชาธิปไตย (นิติรัฐ-นิติธรรม) การรักษา “สันติ” ในความหมายของสังคมประชาธิปไตยจึงเป็นเรื่องที่ยากลำบาก และเกียรติของตำรวจจะต้องมาจากการทำสิ่งเหล่านี้ให้เป็นที่ประจักษ์ โดยการเคารพประชาชนผู้เป็นที่มาและเจ้าของประชาธิปไตย

เมื่อตำรวจเคารพประชาชน ประชาชนก็จะเคารพตำรวจ ไม่ใช่กลัวตำรวจ หรือเกลียดตำรวจ

เมื่อตำรวจเข้าใจหลักการประชาธิปไตย และเข้าใจหลักการนิติรัฐ นิติธรรม พวกเขาจะไม่มองว่าความเห็นต่างทางการเมือง และ การแสดงความเห็นต่างทางการเมืองเป็นอาชญากรรม เพราะตำรวจนั้นแม้จะเป็นส่วนหนึ่งของกลไกในฝ่ายบริหาร แต่พวกเขาต้องเคารพต่อฝ่ายนิติบัญญัติและตุลาการ ไม่ใช่ขึ้นกับผู้มีอำนาจที่ไม่ใช่ประชาชน

เมื่อย้อนไปศึกษาพัฒนาการของตำรวจนั้น แน่นอนว่าการปราบปรามอาชญากรรมและรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคมย่อมมีมาแต่โบราณ แต่อาชีพและภารกิจของตำรวจนั้นเป็นเรื่องของสังคมสมัยใหม่ ที่แบ่งแยกหน้าที่ของตำรวจออกมาประมาณศตวรรษที่ 18 โดยดูเรื่องความมั่นคงภายใน แยกจากทหารที่ป้องกันภัยจากภายนอก และเมื่อกฎหมายนั้นทวีจำนวนเพิ่มขึ้น หน้าที่ในการรักษากฎหมายก็มากขึ้น

ในเวลาเดียวกันที่กฎหมายมีมากมายขึ้น ในสังคมที่เป็นประชาธิปไตยการตรวจสอบการทำงานของตำรวจที่ทำหน้าที่เป็นผู้รักษากฎหมายก็ย่อมมีมากขึ้นและเข้มงวดมากขึ้นเช่นกัน รูปแบบตำรวจที่หลายแห่งมองว่าเป็นอุดมคติเช่นนี้จึงเกิดขึ้นในบางสังคม เช่น อังกฤษ ที่ตำรวจทั่วไปนั้นไม่พกอาวุธที่ทำร้ายประชาชนถึงชีวิต คือ ไม่พกปืน เพราะเชื่อในหลักการว่าจะต้องปฏิบัติหน้าที่ภายใต้การยินยอมของประชาชน (policing by consent) ไม่ใช่ด้วยกำลัง (แต่บางหน่วยนั้นใช้ปืน เช่น หน่วยที่ป้องกันรัฐสภา ตัวเลขในปี 2016 ข้อมูลจากสำนักข่าว NBC เสนอว่าตำรวจอังกฤษและเวลส์ใช้กระสุนไป 7
นัดในหน้าที่) และนี่คืออีกเงื่อนไขว่าการทำงานของตำรวจต้องได้รับความร่วมมือและการเคารพจากประชาชนไม่ใช่จากการใช้กำลังข่มขู่คุกคาม

เงื่อนไขที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้ตำรวจนั้นทำงานในสังคมประชาธิปไตย และส่งเสริมความเป็นประชาธิปไตยไม่ใช่การปล่อยให้ทำอะไรก็ได้ แต่หมายถึงการตรวจสอบการทำงานของตำรวจอย่างเข้มข้น แต่ไม่ได้หมายถึงการจับผิดตำรวจเพราะมองว่าตำรวจเป็นโจรในเครื่องแบบ แต่หมายถึงการพยายามรักษาจิตวิญญาณของหลักนิติรัฐ-นิติธรรมเอาไว้ให้ได้ การมีหน่วยงานอิสระ หรือระบบตุลาการที่เป็นอิสระ และองค์กรประชาชนจะมีส่วนสำคัญเพื่อยืนยันหลักการว่าตำรวจนั้นปฏิบัติตามกฎหมายและรักษาจิตวิญญาณของกฎหมายที่มาจากการริเริ่มและเห็นชอบของประชาชน

ในกรณีของสหรัฐอเมริกา มีกระบวนการที่ชัดเจนในการที่ประชาชนจะฟ้องร้องตำรวจและตรวจสอบตำรวจ

ในกรณีของอังกฤษ มีข้อถกเถียงมาตลอดว่าตำรวจอังกฤษซึ่งส่วนมากพกอาวุธร้ายแรงไม่ได้จะต้องมีความเข้าใจในเรื่องความผิดชอบชั่วดีที่สัมพันธ์กับการรักษาสมดุลในเรื่องของการปกป้องเสรีภาพในสังคมประชาธิปไตย และก็ต้องรักษาประสิทธิภาพในการป้องกันอาชญากรรมและความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยของสังคม

นอกจากนี้ การรักษาไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยและการทำงานที่มีประสิทธิภาพของตำรวจยังหมายรวมถึงการออกแบบกระบวนการยุติธรรมให้มีขั้นตอนที่กลั่นกรองและตรวจสอบกัน ให้อำนาจ สอบสวน จับกุม พิพากษา และลงโทษไม่อยู่ในองค์กรเดียวกัน และจะต้องมีกระบวนการตรวจสอบการใช้อำนาจเหล่านี้อย่างรอบคอบ-เข้มข้น

ในสังคมประชาธิปไตยนั้น ภารกิจในการป้องกันสังคมจากอาชญากรรมและความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยแม้ว่าจะสำคัญ แต่การป้องกันสังคมจากการใช้อำนาจของตำรวจรวมถึงอำนาจในการสอดส่องดูแลประชาชนที่อาจจะละเมิดทั้งหลักนิติรัฐ-นิติธรรม และหลักสิทธิมนุษยชนต่างๆ ก็สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน ในแง่นี้ตำรวจในปัจจุบันอาจไม่ได้อยู่ในรูปแบบของเจ้าหน้าที่ใส่เครื่องแบบ แต่อาจหมายถึงเทคโนโลยีการตรวจสอบใหม่ๆ ที่เราอาจมองไม่เห็น สิ่งเหล่านี้เป็นได้ทั้งการปกป้องประชาธิปไตย และการทำลายประชาธิปไตย การตรวจสอบปฏิบัติการสอดส่องดูแลเรื่องเหล่านี้จึงเป็นเรื่องสำคัญในสังคมประชาธิปไตยเช่นกัน

กล่าวโดยสรุปในสังคมประชาธิปไตยนั้นมีความจำเป็นที่จะต้องมีตำรวจไว้ปกป้องประชาชน และในอีกด้านหนึ่ง สังคมประชาธิปไตยก็จะต้องช่วยกันปกป้องตนเองจากตำรวจเช่นกัน ในแง่ของการตรวจสอบ/ปฏิรูปตำรวจครับ

หมายเหตุบางส่วนจาก Garry T. Marx. Police and Democracy. The Encyclopedia of Democracy. 1995 และ Alexander Smith. The Vast Majority of UK Police Dontt Carry Guns. Here’s Why. NBC News. 23/3/17

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image