กขค.-ซีพี-เทสโก้ฯ

“กขค.” ไม่ใช่ “ก้างขวางคอ” แต่เป็นชื่อย่อของ “คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า” ซึ่งเป็นบอร์ดชุดแรกตาม พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560 ที่แก้ไขจากฉบับเดิมปี 2542 โดยกรรมการมาจากสรรหาแทนชุดเดิมที่มี รมว.พาณิชย์เป็นประธานโดยตำแหน่ง และกรรมการส่วนใหญ่เป็นข้าราชการกระทรวงพาณิชย์

รวมทั้งมีสำนักงาน กขค.ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ แต่ไม่ใช่ส่วนราชการและไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ โดยมี “สมศักดิ์ เกียรติชัยลักษณ์” ลูกหม้อเก่าจากกรมการค้าภายใน เป็นเลขาธิการ กขค.คนแรก จากเดิมที่เป็นสำนักงานสังกัดกรมการค้าภายใน

“กขค.” แม้จะดำเนินงานมาสักระยะหนึ่งแล้วแต่ยังไม่เป็นที่รู้จักกันมากนัก กระทั่งมีกรณีการควบรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด และบริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งบอร์ด กขค.เสียงข้างมากมีมติให้รวมธุรกิจได้

หลัง “กขค.” ไทยไฟเขียวให้รวมธุรกิจได้ ทางคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าของมาเลเซียก็อนุมัติให้รวมเทสโก้สโตร์สในมาเลเซียเช่นเดียวกัน โดยกำหนดเงื่อนไขบางอย่างเช่นกัน

Advertisement

การรวมธุรกิจครั้งนี้ ต้องย้อนไปก่อนหน้านี้ ที่บริษัทแม่เทสโก้ ในอังกฤษต้องการขายกิจการในไทยและมาเลเซีย มีการเปิดประมูลซื้อกิจการ ปรากฏว่ากลุ่มซีพี เป็นผู้ชนะด้วยมูลค่ากว่า 3.38 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นธุรกิจที่ซีพีเคยบริหารมาก่อน เมื่อครั้งยังชื่อโลตัส แต่ต้องขายหุ้นให้กับเทสโก้ของอังกฤษไปเมื่อปี 2541 เนื่องจากพิษวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 จึงเท่ากับว่าเทสโก้ โลตัส กลับสู่อ้อมอกซีพี ซึ่งเป็นกลุ่มทุนไทยอีกครั้ง

การที่ “กขค.” ไฟเขียวให้รวมธุรกิจค้าปลีกกันได้ครั้งนี้ มีเหตุมีผล และมองในมิติที่กว้างต่อเศรษฐกิจโดยรวมของไทย

“กขค.” ระบุว่า ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการส่งเสริมการประกอบธุรกิจเพิ่มขึ้น แม้จะทำให้มีอำนาจเหนือตลาดมากขึ้น แต่ไม่เป็นการผูกขาด ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจร้ายแรง รวมทั้งไม่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคส่วนรวม

Advertisement

นอกจากนี้ การกำหนดเงื่อนไขบางอย่าง เช่น ให้เพิ่มสัดส่วนยอดขายสินค้าจากเอสเอ็มอี ทั้งสินค้าเกษตร สินค้าชุมชน สินค้าโอท็อป และอื่นๆ ของร้านเซเว่นฯ และเทสโก้ สโตร์ส เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาไม่น้อยกว่า 10% ต่อปี เป็นเวลา 5 ปี

ถือเป็นการช่วยกระจายสินค้าในชุมชนต่างๆ ก่อให้เกิดรายได้หมุนเวียนและการจ้างงานในท้องถิ่นมากขึ้น

คาดกันว่าจะมีเกษตรกรและเอสเอ็มอี ได้รับประโยชน์จากเงื่อนไขนี้กว่า 1 ล้านคน

ส่วนเงื่อนไขที่กำหนดเรื่องเครดิตเทอมให้เอสเอ็มอี 30-45 วันเป็นเวลา 3 ปี ช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กับเอสเอ็มอี เพราะได้รับเงินเร็วขึ้น

ดังนั้น แม้ซีพีจะผ่านด่านการรวมธุรกิจไปได้ แต่ยังมีงานหนักรออยู่ ทั้งจากต้นทุนจากการซื้อเทสโก้ฯกลับคืนมาในราคาที่สูงลิ่ว เพราะเป็นดีลที่เกิดก่อนวิกฤตโควิดระบาด ที่ส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกทรุดหนัก

ขณะเดียวกันเงื่อนไขที่ “กขค.” กำหนด ก็เป็นการเพิ่มต้นทุนเข้าไปอีก จึงไม่ใช่งานง่ายสำหรับซีพี

ส่วนที่บางฝ่ายกังวลว่า ซีพีจะมีอำนาจเหนือตลาดและอาจเกิดการผูกขาดในอนาคตได้นั้น “กขค.” ยังมีอำนาจกำกับดูแลอยู่ ทั้งเรื่องการใช้อำนาจเหนือตลาดอย่างไม่เป็นธรรม, การตกลงร่วมกันที่ไม่เป็นธรรม หรือการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมทางการค้า ก็สามารถจะดำเนินการเอาผิดได้อยู่แล้ว

ดังนั้น มติ “กขค.” ที่ออกมานี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทย เพื่อต่อกรกับวิกฤตโควิดซึ่งยังไม่รู้ว่าจะจบลงเมื่อไร

สราวุฒิ สิงห์เอี่ยม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image