คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : ByeBye‘ตาลุง’บ้านเขา

คอลัมน์ “คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง” เคยเขียนถึงโดนัลด์ ทรัมป์ ตั้งแต่ในครั้งแรกที่เป็นไปได้ว่า
เขาจะได้รับเลือกเป็นตัวแทนพรรครีพับลิกันลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีลงในหนังสือพิมพ์มติชน
ฉบับวันพุธที่ 18 ธันวาคม 2558 ในชื่อตอน “ทรัมป์ เลอแปน และ ‘ตาลุง’ ข้างบ้าน”

บางส่วนของคอลัมน์นั้นเขียนว่า “…แรกทีการลงสมัครประธานาธิบดีของโดนัลด์ ทรัมป์ เจ้าพ่อธุรกิจบันเทิงและเจ้าของสิทธิประกวดนางงามจักรวาล คล้ายจะเป็นเรื่องขำๆ เป็นสีสันของการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในปีหน้า ก็ด้วยการหาเสียงให้สัมภาษณ์โผงผางและเสนอนโยบายสุดโต่งจนเหมือนเป็นตัวตลก กระนั้นคะแนนนิยมของนายทรัมป์นับวันก็ยังสูง … ที่เริ่มขำไม่ออก ก็เพราะนโยบายของนายทรัมป์นั้นเหมือนจะพูดเล่น แต่ก็อาจจะก่อปัญหาเชิงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและความร้าวฉานได้จริง เช่น แก้ปัญหา
ผู้อพยพด้วยการสร้างกำแพงกั้นผู้อพยพจากเม็กซิโก ประกาศจะส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศทั้งหมด ตั้งป้อมเป็นศัตรูกับจีนแบบสุดโต่ง ทั้งจะสั่งห้ามชาวมุสลิมเข้าประเทศ ประกอบกับท่าทีการพูดจาที่โผงผางและ
ข้อมูลผิดๆ ถูกๆ แบบคนอวดรวยเสียงดัง ที่ไม่สนใจเรื่องวาทะจรรยา (Political correctness) ใดๆ … นักการเมืองนักการต่างประเทศทั้งหลายก็เห็นตรงกันว่า การให้สัมภาษณ์หรือหาเสียงของทรัมป์นั้นล้ำเส้นเกินไปมาก จนไม่ใช่เรื่องตลกหรือสนุกคะนองต่อไป…”

และประโยคปิดของข้อความดังกล่าวคือ “เราอาจจะได้เห็นคนแบบนี้ขึ้นเป็นผู้นำของประเทศที่ทรงอำนาจที่สุดในโลกจริงหรือ?”

ล่วงไปห้าปี เราได้คำตอบสำหรับประโยคข้างต้นแล้วว่า “จริง” และข้อกังวลที่คาดไว้ก็เป็นจริงทั้งหมดทั้งหลายเรื่องก็ไปไกลหรือเลวร้ายได้เกินกว่าจินตนาการ

Advertisement

การกีดกันผู้อพยพเข้าเมืองแบบไม่สนใจเรื่องมนุษยธรรมระดับแยกแม่กับลูกที่เป็นทารกหรือเด็กเล็กจากกัน การดำเนินนโยบายอย่างไม่แยแสโลกเช่นการปฏิเสธปัญหาสิ่งแวดล้อมและภาวะการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศอย่างจริงจังถึงขนาดถอนตัวออกจาก Paris Agreement การก่อสงครามการค้ากับจีนและการยั่วยุสร้างความร้าวฉานโดยไม่จำเป็น เช่น เรียกไวรัส COVID-19 ในสุนทรพจน์อย่างเป็นทางการในฐานะประธานาธิบดีว่า “ไวรัสของจีน” (China’s virus) จนเป็นเหตุให้เกิดการเหยียดและรังแกชาวจีนและคนเอเชียในสหรัฐ การดูดาย ทะเลาะกับทีมแพทย์ เล่นตลก และให้ข้อมูลผิดๆ ถูกๆ เรื่องของโรคร้ายจนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสอย่างรุนแรงในประเทศ การบริหารรัฐการแผ่นดินแบบเอาแต่ใจ ตั้งคนปลดคนตามอารมณ์เหมือนเป็นกิจการบ้านตัวเอง การกระทำหยาบหยามต่อ จอห์น แมคเคน วีรบุรุษของชาติซึ่งเป็น ส.ว. พรรคเดียวกัน รวมถึงการแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลสูงซึ่งเป็นตำแหน่งตลอดชีพ ทั้งๆ ที่เหลือวาระไม่ถึงเดือนโดยไม่สนใจมารยาทประเพณีปฏิบัติทางการเมืองใดๆ ฯลฯ

เรื่องนานาสารพัด จนน่าจะได้จารึกตำนานว่าเขาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐที่ทำลายล้างธรรมเนียมประเพณีทั้งหลายในประวัติศาสตร์

แม้แต่เมื่อเขาน่าจะต้องพ้นตำแหน่งแล้ว นักวิเคราะห์ก็ยังหวั่นเกรงว่าการเปลี่ยนผ่านส่งมอบตำแหน่งก็ยังอาจจะไม่เป็นไปโดยราบรื่นนัก ด้วยเขาประกาศไว้ตั้งแต่ต้นว่าจะยอมรับผลการเลือกตั้งก็ต่อเมื่อตัวเองเป็นฝ่ายชนะหรือไม่ก็ไม่แพ้เท่านั้น กับท่าทีโวยวายตั้งแต่ในการนับคะแนนและเมื่อผลเริ่มปรากฏออกมาในทางที่ว่าเริ่มจะแพ้ก็ว่าตัวเองถูกโกงการเลือกตั้ง ขู่ว่าจะดำเนินการฟ้องร้องให้นับคะแนนใหม่ ซึ่งก็มีผู้ประเมินว่าหากทรัมป์ทำเช่นนั้นจริง ก็อาจจะเกิดเรื่องวุ่นวายในทางรัฐธรรมนูญและกฎหมายตามมาไม่รู้จบจนกระทบต่อการเข้ารับตำแหน่งใหม่ของโจ ไบเดน ประธานาธิบดีผู้ชนะการเลือกตั้ง

Advertisement

นอกจากนี้ “แผล” ที่เขาได้ทำไว้หลายเรื่องในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งเช่นความไม่โปร่งใสในเรื่องของภาษี ซึ่งที่ผ่านมามีความคุ้มกันในฐานะของประมุขรัฐทำให้ไม่ถูกดำเนินคดี แต่เมื่อพ้นจากตำแหน่งแล้วก็เป็นไปได้ที่จะถูกเช็กบิลย้อนหลังก็อาจจะทำให้เขาตัดสินใจทำอะไรที่คาดไม่ถึง เช่นการออกคำสั่งหรือกฎหมายนิรโทษกรรมให้ตัวเองย้อนหลังส่งผลจากอดีตไปยังอนาคต

ใครๆ ก็ประเมินท่าทีและการตอบสนองของทรัมป์ได้ยาก เพราะที่ผ่านมาในตำแหน่งประธานาธิบดี เขาก็คือตาลุงมหาเศรษฐีเอาแต่ใจนิสัยเสียที่ดันไปถูกจริตคนส่วนใหญ่ซึ่งมีจำนวนอันเป็นนัยสำคัญมากพอ และเมื่อไปประกอบกับระบบการเลือกตั้งที่ยังมีปัญหาเกี่ยวกับการสะท้อนเสียงของประชาชนมาเป็นผลการเลือกตั้ง ทำให้เขาได้รับเลือกให้มานั่งบนเก้าอี้ที่มีอำนาจมากที่สุดในโลก

แต่เมื่อเอาเข้าจริง เมื่อผลการเลือกตั้งในสมัยที่สองเริ่มปรากฏชัดขึ้น เราก็ได้เห็นว่าอำนาจของทรัมป์นั้นได้เสื่อมลงไปเห็นๆ จริงๆ เหมือนกัน นับตั้งแต่วันที่เขาแถลงการณ์ถ่ายทอดสดออกโทรทัศน์ไปทั่วประเทศเกี่ยวกับเรื่องการเลือกตั้ง พอเขาเริ่มใส่ไฟว่าถูกโกงการเลือกตั้งอย่างนั้นอย่างนี้เท่านั้น โทรทัศน์หลายสถานีก็ตัดสัญญาณการถ่ายทอดทันที พร้อมกับรายงานผู้ชมว่าสิ่งที่ผู้ที่เป็นประธานาธิบดีเพิ่งกล่าวไปนั้นเป็น
ข่าวเท็จ เป็นการกล่าวอ้างที่ไม่มีหลักฐาน ไม่นับว่าก่อนหน้านี้ ระบบของ Twitter ที่ทรัมป์ใช้เป็นปากที่สองของตัวเองก็จัดการติดระบบเตือนข้อความของทรัมป์แบบไม่สนใจให้เกียรติกันไปแล้ว

ข้ออ้างเรื่องโกงการเลือกตั้งนี้ฟังไม่ขึ้น และกระทั่งตอนนี้ก็ยังไม่ปรากฏข่าวว่ามีการฟ้องร้องเรื่องการเลือกตั้งไปทั่วประเทศให้วุ่นวายอะไรอย่างที่คาดการณ์ แม้ว่าทรัมป์จะยังไม่ออกมาประกาศยอมรับความพ่ายแพ้ตามธรรมเนียมของการเลือกตั้งประธานาธิบดี แต่เรื่องนี้ก็เริ่มทำให้สมาชิกของพรรครีพับลิกันเริ่มรู้สึกอึดอัด เพราะสิ่งที่ทรัมป์กำลังดื้อแพ่งตะแบงรั้นเอาแต่ใจของตัวนั้นกำลังทำลายธรรมเนียมปฏิบัติในระบอบประชาธิปไตยและศักดิ์ศรีความสง่างามต่อพรรคของรัฐบุรุษอย่างอับราฮัม ลินคอล์น ที่สั่งสมมานานกว่าร้อยปี

ทั้งเอาเข้าจริงที่หวั่นกันว่าการที่ทรัมป์ยังตั้งผู้พิพากษาที่มีแนวคิดเป็นขวาเข้าไปในศาลสูงนั้นเพื่อเอื้อประโยชน์ให้ตัวเขานั้นก็อาจจะไม่ใช่เรื่องต่างตอบแทนอะไรง่ายดายขนาดนั้น เพราะการมีความคิดเป็นขวา แต่การตัดสินวินิจฉัยก็ยังต้องยืนอยู่บนหลักกฎหมายอยู่ดี นั่นก็เพราะศักดิ์ศรีในฐานะนักกฎหมายและศาลสูงนั้นจะติดตัวท่านและเธอตลอดไปจนถึงวงศ์ตระกูล ดังนั้น คงไม่มีใครอุตริพิพากษายุบพรรคเดโมแครตเพราะไบเดนออกเงินทดรองให้ลูกพรรคไปซื้อน้ำอัดลม หรือสั่งให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะเพราะหน่วยเลือกตั้งสักหน่วยในรัฐอาคันซอลืมปิดม่านตอนลงคะแนนเป็นแน่ หรือเรื่องการจะออกกฎหมายหรือการใช้อำนาจประธานาธิบดีในครั้งสุดท้ายเพื่อล้างผิดให้ตัวเองก็น่าจะเป็นเพียงการคาดเดาในเชิงเทคนิคทางกฎหมายและประเพณีทางรัฐธรรมนูญซึ่งไม่น่าจะเกิดขึ้นจริงเช่นกัน

สิ่งที่ทำให้อำนาจของทรัมป์นั้นหายวับไปต่อหน้าต่อตา ก็คือผลการเลือกตั้งที่ออกมาชัดเจนสิ้นสงสัยนั่นเอง คือผลการเลือกตั้งที่ชี้ว่า บัดนี้ประชาชนชาวสหรัฐไม่ได้เลือกให้เขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในสมัยต่อไปอีกแล้ว

หากเรามองว่าการขึ้นสู่อำนาจและการใช้อำนาจตลอดสี่ปีของทรัมป์ คือความผิดพลาดของระบอบประชาธิปไตยที่ถ้ามีประชาชนจำนวนมากที่บ้าพอจะสนับสนุนและระบบเลือกตั้งที่ไม่รัดกุม ก็สามารถส่งคนเพี้ยนๆ ให้ขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศได้

แต่การพ้นอำนาจของทรัมป์นั้น ก็คือสิ่งที่ชี้ให้เห็นเช่นกันว่า หากเราอดทนได้เพียงพอ ประชาธิปไตยก็มีกลไกการซ่อมแซมตัวเองได้ และเป็นประชาชนนั้นเองที่เป็นผู้ซ่อมแซม ภายใต้วิถีทางเดิมกับที่ก่อปัญหา

เพราะระบบการเลือกตั้งของอเมริกาที่ใช้ระบบคณะผู้เลือกตั้งที่ผู้ชนะได้คณะผู้เลือกตั้งไปยกรัฐโดยไม่สนใจคะแนนเสียงที่แท้จริงเมื่อรวมกันทั้งประเทศที่เป็นปัญหานั้นก็ยังไม่ได้เปลี่ยนไป ก็เป็นกติกาเดิมที่ทรัมป์เคยชนะเมื่อสี่ปีที่แล้วนั่นแหละ และหากจะยอมรับ คะแนนของเขาก็เพิ่มขึ้นเสียด้วย เพียงแต่คะแนนเสียงและคณะผู้เลือกตั้งของไบเดนนั้นมากกว่าเท่านั้น

ด้วยอำนาจนั้นยึดโยงกับประชาชน เมื่อประชาชนไม่มอบอำนาจแล้ว จากประธานาธิบดีก็กลายเป็นตาลุงแพ้แล้วพาลคนหนึ่งก็เท่านั้น

เมื่อกล่าว Bye Bye ทรัมป์ในฐานะของ “ตาลุงขี้โมโห” ข้างบ้านที่กำลังจะอำลาไปแล้ว ย้อนกลับมาดูตาลุงในบ้านที่ยังเป็นคนเดิมเหมือนเมื่อตอนที่ทรัมป์เริ่มลงสมัครเลือกตั้งก็ทำให้เศร้าใจนิดหน่อย

ตาลุงคนนี้อาจจะก็มีดีกรีความเฟอะฟะไม่ได้แตกต่างจากทรัมป์มากนัก อีกทั้งพฤติกรรมต่างๆ ก็ไม่ได้ผิดกันมากนัก ทั้งการพูดจาที่ไม่สนถูกผิดข้อเท็จจริง การใช้อำนาจบริหารประเทศเหมือนกิจการในค่ายทหารตัวเอง แต่งตั้งตุลาการผ่านกลไกของตัวเองเกือบๆ ยกชุด แต่ที่เหนือกว่าทรัมป์เข้าไปอีกขั้น คือการกำหนดกติกาทางการเมืองได้เองด้วยการให้คนมาเขียนรัฐธรรมนูญแบบที่ให้ตัวเองมีอำนาจที่สุด ได้เปรียบที่สุด ถึงขนาดว่ามือร่างร่างไปพอไม่ให้น่าเกลียดก็ยังไม่พอใจ ไปเขียนเติมจนคนร่างก็ยังยกธงขาว

ที่ว่าทรัมป์พยายามจะออกกฎหมายหรือคำสั่งประธานาธิบดีมานิรโทษกรรมตัวเองก็เด็กๆ ไปเลย เมื่อเทียบกับการนิรโทษกรรมให้ตัวเองและพวกพ้อง คสช. ไว้ในรัฐธรรมนูญตั้งแต่อดีตจนถึงอนาคต

ในตอนที่ลุ้นผลการเลือกตั้งสหรัฐอเมริกา คอการเมืองคงจะทราบว่าระบบการเลือกตั้งของเขานั้นจริงๆ แล้วเป็นการเลือกตัวแทนจากแต่ละรัฐไปออกเสียงเลือกประธานาธิบดีแบบทางอ้อม ดังนั้น เวลาลุ้นเขาก็เลยลุ้นกันว่า ใครชนะการเลือกตั้งในรัฐไหน เพราะนั่นหมายถึงว่าจะได้เสียงจากคณะผู้เลือกตั้งในรัฐนั้นไปแล้วกี่เสียง

ซึ่งจริงๆ มันเทียบไม่ได้หรอกในเชิงหลักการทฤษฎี แต่ถ้าเอาเรื่องอารมณ์หรือนึกกันสนุกๆ น่ะพอได้ บางคนก็เลยอาจจะกล้อมแกล้มเทียบระบบคณะผู้เลือกตั้งนี้ กับระบบแบบประเทศเราที่เป็นการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรที่ให้ ส.ส.ไปโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในสภา

ทีนี้ก็ลองมาคิดกันว่า ถ้าสมมุติว่ามีรัฐธรรมนูญกำหนดให้ทรัมป์สามารถตั้งคณะผู้เลือกตั้งจากรัฐรัฐหนึ่งที่เป็นพันธมิตรของเขาได้ถึง 250 เสียง แล้วไปโหวตเลือกตัวเขาเองได้แล้วจะบันเทิงขนาดไหน

ซึ่งลุงของบ้านเราทำได้ โดยรัฐที่เขาตั้งมาเป็นคณะผู้เลือกตั้งนั้น 250 เสียงนั้น คือ “รัฐประหาร”

เพราะอย่างนี้ไง ตาลุงเฮงซวยบ้านเราก็เลยไม่ Bye Bye ไปเสียที แถมไม่ต้องเกรงใจอะไรทั้งนั้นต่อประชาชนที่ออกมาไล่กันทุกวี่ทุกวัน ไม่ว่าจะออกมากันกี่หมื่น กี่แสน หรือกี่ล้าน ก็เพราะอำนาจของเขาไม่ได้มีที่มาหรือไม่ได้ขึ้นอยู่กับพวกเราเลย

กล้า สมุทวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image