ยุคโปเกมอน โดย ชุมฉันท์ ชำนิประศาสน์

การรุกล้ำสถานที่บางแห่งที่ไม่เหมาะสมและไม่ปลอดภัยทำให้เกม โปเกมอน โกŽ ถูกแบนมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่เฉพาะในเมืองไทย ยังรวมไปถึงต่างประเทศ

ช่วงเวลาของการเล่นเป็นอีกเงื่อนไขที่เกมถูกแบนไปด้วย กรณีที่ไปล้ำเส้นเวลาทำงาน เวลาเรียน หรือเวลาที่ต้องใช้สมาธิ เช่น ขับรถ

ปรากฏการณ์ความนิยมในเกมโปเกมอน โก ค่อยๆ ขยายไปทั่วโลก ด้วยความเข้าถึงได้ง่ายทางโทรศัพท์มือถือ และความแปลกใหม่ของเกม ซึ่งเทคโนโลยีมีส่วนสำคัญทำให้เกมสนุก

คอลัมน์หลาก&หลาย ในหนังสือพิมพ์ข่าวสด ให้ข้อมูลว่า เกมๆ นี้ ค่ายนินเทนโดของญี่ปุ่นจับมือกับเนียนติก แล็บส์ บริษัทในเครืออัลฟาเบ็ต ร่วมมือกันพัฒนาขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีเออาร์

Advertisement

เออาร์ที่ว่านี้มาจากคำว่า Augmented Reality แปลตรงตัวคือ ความเป็นจริงเสริม

โดยจำลองภาพสังเคราะห์คือตัวละครโปเกมอนลงไปอยู่ในสภาพแวดล้อมจริงในชีวิตประจำวัน ให้คนไล่จับกันสนุก

แม้ว่าในทางเทคนิคแล้ว เทคโนโลยีเออาร์ไม่เหมือนกับเทคโนโลยีวีอาร์ Virtual Reality หรือ ความเป็นจริงเสมือน ที่ใช้ในเกมคอมพิวเตอร์อื่นๆ แต่การเล่นเกมโปเกมอน โก อย่างชนิดคลั่งไคล้นี้ ก็เป็นความสนุกที่ได้ดึงเอาจินตนาการมาผสมกับความเป็นจริง คล้ายกับที่ผู้เล่นเกมด้วยเทคโนโลยีวีอาร์สนุกที่ได้หลุดเข้าไปอยู่ในโลกเสมือนจริง

Advertisement

นี่อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การไล่จับตัวละครโปเกมอน โก ท้าทายและสนุกมากสำหรับหลายๆ คน

ปรากฏการณ์นี้ไม่ได้แปลกแตกต่างจากกระแสทางสังคมอื่นๆ นับจากกระแสเลี้ยงทามาก็อตจิ เห่อถ่ายรูปในตู้สติ๊กเกอร์ จนมาถึงการถ่ายเซลฟี่

ในขณะที่ผู้คนมีโลกส่วนตัวขยายตัวกว้างขึ้น อยู่กับตัวเองมากขึ้น ได้แสดงตัวต่อคนอื่นมากขึ้น แต่มีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างน้อยลง สนใจสิ่งแวดล้อมรอบตัวน้อยลง

หากพิจารณาเทียบเคียงกับกระแสทางการเมือง อาจจะเห็นว่าเป็นกระแสที่คล้ายคลึงกัน ในลักษณะนำตนเองเป็นที่ตั้ง

ลัทธิขวาตกขอบ เกลียดชังและกีดกันความหลากหลายทางเชื้อชาติ ศาสนา ขยายความนิยมมากขึ้น ผู้คนหันมาชื่นชอบคนที่กระตุ้นความเป็นชาตินิยม มีแนวทางบริหารประเทศแบบเด็ดขาด ยึดถือผลประโยชน์ตัวเองและไม่อยากรับภาระช่วยเหลือใคร หรือประกาศปราบโกงแบบบู๊แหลก ทั้งที่ไม่มีกลไกตรวจสอบตนเอง

เช่นเดียวกับการเติบโตของกลุ่มความเชื่อสุดโต่งอย่างไอเอส อัลเคด้า ฯลฯ ที่ทนไม่ได้ต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคม จึงเลือกใช้ความรุนแรงสุดขั้วในการต่อต้าน

ช่วงเวลานี้คนที่ศรัทธาและยึดมั่นในหลักสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย สังคมนิยม หรือความเท่าเทียมกันของมนุษย์ จึงอาจจะต้องเหนื่อยใจอยู่บ้างที่เห็นกระแสสังคมเดินไปในแนวทางข้างต้น

แต่หากมองย้อนประวัติศาสตร์แล้วทุกอย่างก็มีจุดอิ่มตัวของมัน กระแสที่เคยขึ้นสูงจะค่อยๆ ลดลงไปตามการปรับสมดุลในสังคมมนุษย์ อะไรที่ไม่เป็นธรรมชาติก็จะฝืนต่อไปไม่ได้

เหมือนกรณีเกมโปเกมอน โก นักสุขภาพจิตมองว่าเป็นแค่สิ่งใหม่ที่เข้ามา เมื่อเวลาผ่านไปกระแสก็จะตกและลดลงไปเอง

เพียงแต่ต้องเล่นอย่างระวัง ไม่ให้ตกบ่อหรือตกงานไปเสียก่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image