เยือน‘วัดเกาะ’เลาะสำเพ็ง ไชน่าทาวน์ยุคแรกหลังชัตดาวน์ ‘บางจีน’

“ยี่สิบห้าสตางค์ต่างรู้ท่านผู้ซื้อ ร้านหนังสือหน้าวัดเกาะเพราะนักหนา ราษฎร์เจริญโรงพิมพ์ริมมรรคา เชิญท่านมาซื้อดูคงรู้ดี”

คือคำคล้องจองที่ ขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) จดจำได้อย่างดีแม้เวลาผ่านมานานหลายทศวรรษ จากวัยหนุ่ม สู่ผู้อาวุโสแห่งวงการหนังสือพิมพ์

เป็นข้อความเดียวกันกับที่ปรากฏบนปกหลังของหนังสือที่ตีพิมพ์โดย ‘โรงพิมพ์ราษฎร์เจริญ’ ที่คนยุคก่อนเรียกติดปากว่า ‘โรงพิมพ์วัดเกาะ’

วรรณกรรมจักรๆ วงศ์ๆ และนิทานชาวบ้านคืองานถนัด ฮอตฮิตหนักมาก หากใช้ศัพท์ยุคนี้ต้องตีตราว่า ‘แมส’ (แล้ว) แมสอีก โดยได้รับความนิยมต่อเนื่องยาวนาน กระทั่งเลิกกิจการไปเมื่อ พ.ศ.2520

Advertisement

หนังสือเล่มบางที่เคยดาษดื่น กลายเป็นวัตถุล้ำค่าในมือนักสะสมและพิพิธภัณฑ์

“โรงพิมพ์วัดเกาะ พิมพ์หนังสือที่นิทานพื้นบ้าน จักรๆ วงศ์ๆ เอามาจากสมุดข่อย จากกลอนสวดแล้วนำมาแต่งใหม่ สำหรับหนังสือวัดเกาะเป็นวรรณกรรมประชาชนที่เชื่อมวัฒนธรรมเก่าในอดีตคือการอ่านด้วยหู หมายถึงการฟัง มาเป็นการอ่านด้วยตา ได้รับความนิยมแพร่หลายมาก คนต่างจังหวัดที่อยากเล่นลิเก ก็เอาไปท่องแล้วเล่นได้ มีลำตัดเสียดสีการเมือง ขอให้เผด็จการรีบลาออก ถือเป็นวรรณกรรมที่สร้างความสั่นสะเทือนจนแวดวงวรรณกรรมกระแสหลักหวั่นไหว โจมตีว่าสำนวนไม่ดี ลอกฝรั่ง” สุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์ในเครือมติชน กล่าวเสริมคำกลอนที่ ขรรค์ชัย ท่องอย่างคล่องแคล่ว เหมือนเพิ่งอ่านมาเมื่อวาน

เกริ่นมาขนาดนี้ แน่นอนว่า รายการ ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว ประจำเดือนพฤศจิกายนนี้ จะพาแฟนานุแฟนไปค้นหาเรื่องราวของโรงพิมพ์วัดเกาะและประวัติศาสตร์สังคมในย่านสำเพ็งอันเป็นที่ตั้งของทั้ง วัดสัมพันธวงศารามวรวิหาร หรือวัดเกาะ และที่ตั้งโรงพิมพ์เก่า ซึ่งวันนี้อยู่ในพื้นที่เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ ในชื่อตอน ‘สำเพ็ง ไชน่าทาวน์ เก่าสุดในกรุงเทพฯ เยาวราช, ราชวงศ์, ทรงวาด, ตลาดน้อย’ ดำเนินรายการโดย เอกภัทร์ เชิดธรรมธรพิธีกร ‘มติชนทีวี’ เช่นเคย

Advertisement

ก่อนถึงประเด็นอื่นใด ขรรค์ชัย-สุจิตต์ เตรียมเล่าที่มาของชุมชนในย่านสำเพ็ง ซึ่งปรากฏในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาว่า เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี โปรดให้สร้างพระราชวังใหม่ในฝั่ง
ตะวันออกของกรุงธนบุรี จึงให้ ‘พวกจีน’ ย้าย (จากย่านบางจีน) ไปยังสำเพ็ง

ความตอนหนึ่งว่า

‘ให้พระยาราชาเศรษฐี ยกพวกจีนลงไปตั้งบ้านเรือนใหม่ ณ ที่สวนตั้งแต่คลองใต้วัดสามปลื่ม ลงไปจนถึงคลองเหนือวัดสามเพ็ง’

ตำแหน่งราชาเศรษฐี ก็คือหัวหน้าชุมชนจีน ซึ่งเดิมอาศัยในย่าน ‘บางจีน’ ที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา สันนิษฐานว่าเกิดขึ้นตั้งแต่หลังการขุดคลองลัดบางกอกในแผ่นดินพระไชยราชา ราว พ.ศ.2080

ถามว่า บางจีนอยู่ที่ไหน? คำตอบคือ น่าจะมีอาณาบริเวณตั้งแต่ท่าช้างวังหน้า, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์, มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ, ท่าช้างวังหลวง กระทั่งถึงท่าเตียน

ส่วน วัดเกาะ หรือวัดสัมพันธวงศ์ ในย่านสำเพ็ง สถานที่หลักในการ ‘ทอดน่อง’ และนั่งสนทนาของอดีตสองกุมารสยามนั้น ภูมิศาสตร์เดิม เคยมีทางน้ำล้อมรอบ จึงเป็นที่มาของชื่อวัดเกาะ ซึ่งเป็นอารามเก่าแก่ มีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ต่อมา รัชกาลที่ 1 โปรดให้ปฏิสังขรณ์ใหม่ใน พ.ศ.2339 ได้ชื่อเป็น ‘วัดเกาะแก้วลังการาม’ ตามพระนาม ‘เจ้าฟ้าแก้ว’ กรมพระศรีสุดารักษ์ พระมารดาเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี (จุ้ย) ต้นตระกูลมนตรีกุล ต่อมา รัชกาลที่ 4 โปรดให้เปลี่ยนชื่อเป็น ‘วัดสัมพันธวงศาราม’ ตามพระนามพระสัมพันธวงศ์ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี แม่กองปฏิสังขรณ์ นอกจากนี้ ยังเปลี่ยนจากมหานิกายเป็นธรรมยุติกนิกาย

“ย่านวัดเกาะเป็นส่วนหนึ่งของสำเพ็ง ซึ่งเป็นชุมชนจีนเก่าที่สุดในกรุงเทพฯ เพราะการขยายตัวครั้งแรกของกรุงเทพฯคือสำเพ็ง บนถนนสำเพ็งในสมัยรัชกาลที่ 1 แล้วจึงตามมาด้วยย่านเจริญกรุง บนถนนเจริญกรุง สมัยรัชกาลที่ 4 ต่อมาจึงมีการตัดถนนเยาวราชในสมัยรัชกาลที่ 5 ตั้งแต่คลองโอ่งอ่าง ถึงคลองผดุงกรุงเกษม อย่างไรก็ตาม สำเพ็งไม่เพียงเป็นย่านชาวจีน แต่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ทั้งเจ๊ก แขก ฝรั่ง ไทย ทุกวันนี้มีพม่าด้วย จึงมองว่าความเป็นไทยที่แท้จริงอยู่ตรงนี้” สุจิตต์กล่าว

ส่วนคำว่า ‘สำเพ็ง’ มาจากไหน ? สุจิตต์-ขรรค์ชัย จ่อโชว์หลักฐานกลางรายการ ว่าเป็นภาษามอญโบราณ แปลว่า มหาอำมาตย์ ซึ่งต่อมา พม่ายืมคำนี้ไปใช้เป็นบรรดาศักดิ์ราชการ ปรากฏในจารึกภาษามอญ พบที่จังหวัดลพบุรี อายุราว พ.ศ.1100 และ พ.ศ.1645

ประเด็นนี้ จิตร ภูมิศักดิ์ นักคิด นักเขียน และนักต่อสู้ผู้มาก่อนกาล อธิบายไว้ในหนังสือ ‘ความเป็นมาของสยาม ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ’ พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2519

ย่านสำเพ็ง จึงเป็น ‘ไชน่าทาวน์’ ยุคแรกของกรุงเทพฯ ตั้งแต่ครั้งยังไม่มี ‘ถนนเยาวราช’ ซึ่งตัดขึ้นในภายหลัง คือ สมัยรัชกาลที่ 5 ทว่า มีเพียง ‘ถนนสำเพ็ง’ สมัยรัชกาลที่ 1 และ ‘ถนนเจริญกรุง’ หรือ ‘นิวโร้ด’ สมัยรัชกาลที่ 4

ส่วน ‘ถนนทรงวาด’ เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยทรงวาดแนวถนนลงบนแผนที่ เพื่อลดความแออัดของย่านสำเพ็งหลังเกิดไฟไหม้

อีกหนึ่งความพิเศษของรายการในตอนนี้ คือการพาไปชี้โลเกชั่นประวัติศาสตร์การพิมพ์ อย่างที่ตั้งของ ‘โรงพิมพ์วัดเกาะ’ ซึ่งแม้ยุติกิจการ ทว่า ไม่เพียงตำนานที่คงอยู่ แต่ตึกแถวเก่าก็ยังอยู่เช่นกัน

ธัชชัย ยอดพิชัย ผู้ช่วยบรรณาธิการ นิตยสารศิลปวัฒนธรรรม รับหน้าที่เช็กอินบรรยาย ณ ตึกแถวเลขที่ 472 ถนนวานิช ที่ตั้งแรกซึ่งมีเพียงคูหาเดียว รวมถึงตึกแถวสวยคลาสสิก 3 คูหา ก่อนย้ายไปยังถนนจันทน์ ยานนาวา จวบจนปิดฉากธุรกิจ

เป็นอีกหนึ่งตอนชวนรับชมด้วยสีสันจัดจ้านในย่านวัฒนธรรมจีน ด้วยประวัติศาสตร์ท้องถิ่นกรุงเทพฯ ที่มากมายด้วยเรื่องราวมากกว่าเพียงเพื่อการท่องเที่ยว หากแต่เพื่อความเข้าใจในความเป็นมาของผู้คน ชุมชน และพื้นที่อันเป็นส่วนสำคัญของประวัติศาสตร์รัฐไทยในวันนี้

พรรณราย เรือนอินทร์

 

ติดตามรายการขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว ตอน ‘สำเพ็ง ไชน่าทาวน์ เก่าสุดในกรุงเทพฯ เยาวราช, ราชวงศ์, ทรงวาด, ตลาดน้อย’ ได้ที่เพจเฟซบุ๊กมติชนออนไลน์, ข่าวสด, ศิลปวัฒนธรรม และยูทูบมติชนทีวี ในวันพฤหัสบดีที่ 26 พ.ย. เวลา 20.00 น.

เกาะติดความเคลื่อนไหว ภาพเบื้องหลังการถ่ายทำ และคลิปสั้นสุดพิเศษได้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว’

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image