พินิจพม่าช่วงหลังเลือกตั้ง

คณะกรรมการการเลือกตั้งพม่าประกาศผลการเลือกตั้งที่เพิ่งจะจัดกันเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายนแล้ว พรรค NLD ของด่อ ออง ซาน ซูจี ยังกวาดเสียงข้างมากได้เหมือนการเลือกตั้งครั้งก่อนในปี 2015 แต่ที่น่าสังเกตคือท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทั้งตัวหัวหน้าพรรคและการทำงานของพรรครัฐบาล NLD พรรคกลับได้ที่นั่งในสภาทั้ง 2 สภาเพิ่มขึ้น ในขณะที่พรรค USDP ซึ่งเป็นพรรคตัวแทนของกองทัพกลับได้ที่นั่งน้อยลง ในสภาสูง (สภาเชื้อชาติ) พรรค NLD กวาดที่นั่งไปทั้งหมด 138 ที่นั่ง คิดเป็นร้อยละ 61.6 ในขณะที่พรรคของกลุ่มชาติพันธุ์กลับได้ที่นั่งมาไม่มากตามที่คาดการณ์ไว้ พรรคแห่งชาติอาระกัน (ANP) พรรคที่ถูกจับตามองมากที่สุดในรัฐอาระกัน ซึ่งกำลังเป็นพื้นที่การต่อสู้ระหว่างกองทัพอาระกัน (AA) และกองทัพฝ่ายรัฐบาลพม่าอยู่ในขณะนี้ กลับได้ที่นั่งมาเพียง 7 ที่นั่ง หรือร้อยละ 3.1 ของที่นั่งในสภาสูงทั้งหมดเท่านั้น โดยรวม NLD ได้รับเสียงในการเลือกตั้งปี 2020 นี้มากกว่าการเลือกตั้งครั้งก่อน โดยได้ที่นั่งทั้งหมด
รวม 920 จากที่นั่งทั้งหมด 1,117 ที่นั่ง คิดเป็นร้อยละ 82.3 มากกว่าการเลือกตั้งครั้งก่อนอย่างเห็นได้ชัด

ในสภาล่าง (สภาผู้แทนราษฎร) อันเป็นพื้นที่ขับเคี่ยวหลังของพรรคการเมืองทั่วประเทศ พรรค NLD ก็กวาดที่นั่งไปได้ถึง 258 ที่นั่ง เท่ากับร้อยละ 58.6 พรรค USDP ที่เป็นคู่แข่งหลักของ NLD ได้ที่นั่งเพียง 26 ที่นั่ง น้อยกว่าการเลือกตั้งครั้งก่อนไม่ถึงกับมาก แต่พอที่จะชี้ให้เห็นความนิยมของพรรคทหาร และเรตติ้งของกองทัพที่ยิ่งตกต่ำลงเรื่อยๆ ในเมืองหลวง กรุงเนปยีดอ ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นฐานที่มั่นสำคัญของพรรค USDP เพราะมีครอบครัวของทหารอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก USDP ได้ที่นั่งในเนปยีดอมาเพียง 1 ที่นั่ง พื้นที่ที่ USDP ได้คะแนนเสียงท่วมท้นที่สุดกลับเป็นพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์บางแห่งในรัฐฉานตอนเหนือและตะวันออก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่ภายใต้กองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์และเป็นฝ่ายเดียวกับกองทัพพม่า

กองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่มเกิดขึ้นภายใต้การสนับสนุนของกองทัพและพรรค USDP มีการฝึกฝนตามแบบกองทัพพม่า ในปัจจุบันอยู่ภายใต้การดูแลของศูนย์อำนวยการกองกำลังประชาชนและกองกำลังรักษาดินแดน (Directorate of People’s Militia and Border Guard Force) มีกองกำลังประเภทนี้อยู่ในรัฐฉานมากกว่า 200 กลุ่ม แต่ละกองกำลังมีทหารตั้งแต่ 10-10,000 นาย พรรค USDP ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาว่าพรรคตนให้การสนับสนุนกองกำลังติดอาวุธในเขตกลุ่มชาติพันธุ์นับร้อยๆ กลุ่ม ชาวบ้านในพื้นที่ส่วนใหญ่เกรงกลัวอิทธิพลของผู้นำกองกำลังเหล่านี้ เป็นเหตุผลว่าเหตุใดพรรค USDP จึงได้รับชัยชนะเหนือพรรค NLD และ SNLD อันเป็นพรรคใหญ่ที่สุดในรัฐฉาน ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด พรรค NLD ได้รับที่นั่งในรัฐฉานมากที่สุดถึง 33 ที่ ด้านพรรค SNLD และ USDP ได้ที่นั่งมา 27 และ 24 ที่ตามลำดับ ในการเลือกตั้งครั้งก่อน พรรค USDP นำโด่งในรัฐฉาน โดยได้ที่นั่งทั้งสิ้น 31 ที่ พื้นที่ในรัฐฉานเป็นพื้นที่ที่พรรคการเมืองทั้งสามแข่งขันกันอย่างสูสี แต่ชัยชนะขาดของ NLD ในครั้งนี้ชี้ขาดว่ากองทัพและ USDP ไม่สามารถรักษาฐานอำนาจเดิมๆ ของตนเองได้เหมือนเดิม และภายใต้ระบอบประชาธิปไตยแบบ NLD พรรค USDP ยิ่งจะมีความนิยมน้อยลงไปเรื่อยๆ

ด้วยเหตุนี้ เราจึงเห็น USDP พยายามทุกวิถีทางเพื่อประกาศว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม พรรคได้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งว่ามีเหตุไม่ชอบมาพากลมากกว่า 600 เคส แต่อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่น และความศรัทธาพรรค NLD ยังคงมีมาก และจะยังคงมีอยู่ต่อไปตราบใดที่ด่อ ออง ซาน ซูจี ยังเป็นหัวหน้าพรรค และเป็นเสมือน “ประมุข” ของรัฐ แม้ผลการเลือกตั้งที่ออกมาจะไม่มีการ “พลิกโผ” ใดๆ และนโยบายหลักของ NLD ยังคงเป็นการเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อกันกองทัพออกไปจากการเมืองให้ได้ อันเป็นวิธีคิด (mindset) ของคนใน NLD มาตลอดหลายสิบปี แต่สิ่งที่เราต้องนำมาพิจารณาด้วยคือสถานะของ NLD และรัฐบาลพม่าหลังการเลือกตั้ง 2015 กับการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป อาจกล่าวได้ว่าทั่วโลกจับตามองรัฐบาลพม่าของ NLD ด้วยความไม่ไว้วางใจ ก่อนการเลือกตั้งในปี 2015 ทั่วโลกมั่นใจว่าด่อ ออง ซาน ซูจี ผู้ที่เคยได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ และผู้ที่อยู่ด่านหน้าต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมาโดยตลอด เป็นบุคคลที่ดีที่สุดที่จะเข้าไปเป็นประมุขฝ่ายบริหารในรัฐบาลพม่า แต่มาในวันนี้ ทั่วโลกไม่ได้มองว่าเธอเป็นวีรบุรุษประชาธิปไตยอีกต่อไปแล้ว แต่กลับมองว่าเธอคือต้นตอของปัญหาด้วยซ้ำไป ทั้งในเรื่องการปฏิบัติต่อชาวโรฮีนจา และสงครามกลางเมืองที่ยังคงมีอยู่ต่อไป โดยเฉพาะในรัฐยะไข่

Advertisement

เซบาสเตียน สตรันจิโอ (Sebastian Strangio) เขียนบทความชื่อ “How Will Myanmar’s Election Affect Its Foreign Policy?” หรือการเลือกตั้งในพม่าจะมีผลกระทบอย่างไรกับนโยบายการต่างประเทศ ในเว็บไซต์ The Diplomat สตรันจิโอชี้ให้เห็นว่าทัศนคติของนานาประเทศที่มีต่อพม่าในปัจจุบันจะเป็นตัวกำหนดทิศทางด้านการต่างประเทศของพม่า และวาระที่สำคัญมากที่สุดคือพม่าจะรับมือกับการเติบโตของประเทศขนาดใหญ่ 2 ประเทศ ทั้งจีนและอินเดีย อย่างไร พม่าเป็นประเทศเดียวในโลกที่มีพรมแดนติดประเทศมหาอำนาจทางการค้าทั้ง 2 ประเทศนี้ ชื่อเสียงที่ไม่ค่อยดีนัก
ของด่อ ออง ซาน ซูจี ในโลกตะวันตกจะผลักให้พม่าภายใต้รัฐบาล NLD เข้าหาจีนมากขึ้น โดยจะใช้จีนเป็นเกราะกำบังจากคำวิพากษ์วิจารณ์ของโลกตะวันตก NLD เองก็มีความคาดหวังว่าจีนจะช่วยให้พม่าเติบโตแบบก้าวกระโดดทั้งด้านการลงทุนทางเศรษฐกิจ และการช่วยเป็นตัวกลางเจรจาสันติภาพกับกลุ่มชาติพันธุ์ตามแนวชายแดนพม่า-จีน

นโยบายการต่างประเทศของพม่าในอีก 5 ปีข้างหน้าจะเป็นไปในเชิง “เป็นอิสระและแข็งขัน” (independent and active) แต่การสานสัมพันธ์กับชาติตะวันตกและสหรัฐอเมริกาที่กำลังจะกลับมาอยู่ภายใต้พรรคเดโมแครต จะเป็นเรื่องยาก ดังนั้นตัวเลือกที่เด่นชัดสำหรับพม่าคือการหันมาสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับจีน อินเดีย ตลอดจนประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทย ประเทศอื่นๆ ในอาเซียน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ แทน แต่ในมุมมองของผู้นำระดับสูงในกองทัพ การเข้ามาของจีนไม่ใช่ผลดีกับพม่า

หากจำครั้งที่รัฐบาลประธานาธิบดีเต็ง เส่ง สั่งให้แขวนสัมปทานการสร้างเขื่อนมยิตโซน ที่เป็นการลงทุนร่วมกับบริษัทยักษ์ใหญ่จากจีนได้ ก็จะพอเห็นว่ากองทัพพม่าไม่ค่อยไว้วางใจรัฐบาลจีนนัก และการหาจุดกึ่งกลางของการพึ่งพาจีนนี้ก็จะยิ่งกลายเป็นประเด็นที่อาจทำให้ความบาดหมางระหว่างรัฐบาล NLD และกองทัพมีมากขึ้นในอนาคตก็เป็นได้

ลลิตา หาญวงษ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image