ที่เห็นและเป็นไป : รธน.‘หมวดรัฐประหาร’

รธน.‘หมวดรัฐประหาร’

หลังรัฐสภาไม่ผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนยื่นเสนอ พร้อมๆ กับกลไกรัฐบาลตอบโต้อย่างหนักต่อการชุมนุมที่ต้องการแสดงเจตนากดดันสมาชิกรัฐสภาจนบาดเจ็บกันเป็นจำนวนมาก

วันรุ่งขึ้นปรากฏการณ์ชุมนุมใหญ่ของเยาวชน-คนรุ่นใหม่ที่รู้สึกหมดหวังกับความเปลี่ยนแปลงตามที่ตัวเองเรียกร้อง

หลังจากโฆษกรัฐบาลออกมาประกาศแถลงการณ์นายกรัฐมนตรีว่าด้วยความจำเป็นที่จะต้องใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นเพื่อจัดการกับการชุมนุม

อันนำมาซึ่งความกังวลว่าสถานการณ์ถึงจุดที่ต้องเผชิญหน้ากันแล้ว และนั่นหมายถึงความวิตกว่าจะเกิดความสูญเสียที่เป็นโศกนาฏกรรมอันนำพาความเศร้าหมองมาให้สังคมไทยอีกครั้ง

Advertisement

เป็นความเศร้า เป็นความสูญเสียที่วนมาแล้วเวียนมาอีกอย่างไม่รู้จบรู้สิ้น

รัฐบาลจากการเลือกตั้งถูกรัฐประหารยึดอำนาจ จากนั้นประชาชนชุมนุมต่อต้านรัฐบาลเผด็จการทำให้ต้องจัดการเลือกตั้ง

มีรัฐบาลจากการเลือกตั้งแล้ววนกลับสู่การรัฐประหาร

Advertisement

แทบทุกครั้งของการเปลี่ยนแปลง ช่วงที่มีการชุมนุมประท้วงมาแทรก จะเกิดการใช้กำลังรุนแรงปราบปราม ซึ่งผลคือการบาดเจ็บล้มตายของประชาชน

เวียนไป วนมาเช่นนี้ตลอด

นักการเมืองไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้ง หรือพวกได้รับวาสนาจากการแต่งตั้งมีความเชื่อว่าสิ่งที่เรียก “วงจรอุบาทว์” นี้ต้องแก้ด้วยการเข้มงวดกับการชุมนุม

ทำให้ที่สุดแล้วมีการศึกษาจากประเทศต่างๆ ว่าจัดการกับการชุมนุมอย่างไร จนเป็นที่มาของ “พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ”

ออกกฎหมายมาเพื่อควบคุมการชุมนุม จัดการให้การแสดงพลังของประชาชนอยู่ในที่ในทาง อยู่ในกรอบ

โดยละเลยที่จะมองว่า “กฎหมายว่าด้วยการชุมนุม” ที่เอาอย่างมาจากประเทศอื่นนั้น ประเทศเหล่านั้นเป็นประเทศประชาธิปไตย ผ่านเลยอำนาจจากการทำรัฐประหาร เอากำลังเข้ายึดอำนาจ สถาปนาตัวเองเป็นรัฏฐาธิปัตย์ไปแล้ว

กฎหมายควบคุมการชุมนุมในประเทศประชาธิปไตยจึงเป็นเรื่องถูกต้องเพราะทำให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนทำในสิ่งที่รัฐสภาซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชนเช่นกันกำหนดให้

แต่ของประเทศไทยไม่ใช่อย่างนั้น “กฎหมายควบคุมการชุมนุม” เขียนขึ้นโดยรัฐสภาที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร

ไม่เพียงเท่านั้น “วงจรอุบาทว์” เพื่อทบทวนกันให้ถึงที่สุดแล้วสาเหตุไม่ได้มาจากการชุมนุม แต่เกิดจาก “รัฐประหาร”

ในประเทศประชาธิปไตยนั้น “รัฐประหาร” เป็นสิ่งแปลกปลอม ไม่มีทางได้รับการยอมรับ

แต่ในประเทศไทยเรา “รัฐประหาร” ทำกันจนกลายเป็นเรื่องปกติ แม้กระทั่งทุกวันนี้เมื่อมีใครสักคนเห็นว่าการเมืองอยู่ในภาวะวิกฤตไม่มีทางออก การเรียกร้องให้กองทัพทำรัฐประหารจะเกิดขึ้นเสมอ

เมื่อประเทศไทยมีลักษณะพิเศษเช่นนี้

จึงเป็นเรื่องที่ควรพิจารณาหรือไม่ว่าให้ “ตรากฎหมายว่าด้วยการทำรัฐประหาร” ขึ้นมาบังคับใช้เสียเลย

สถานการณ์ของประเทศแบบไหนจึงทำรัฐประหาร ใครเป็นผู้มีอำนาจและหน้าที่ทำรัฐประหาร

ภารกิจของคณะรัฐประหารคืออะไร ใช้อำนาจอะไรได้ ใช้อำนาจอะไรไม่ได้ เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับผลประโยชน์อะไรได้บ้าง

ถ้าพิจารณาให้ดี น่าจะเห็นพ้องกันว่า “กฎหมายว่าด้วยการชุมนุม” เป็นเรื่องการบังคับประชาชน ว่าไปแล้วสำคัญน้อยกว่า “กฎหมายที่ออกมาควบคุมการรัฐประหารด้วยซ้ำ”

ดังนั้น ไหนๆ จะแก้รัฐธรรมนูญกันแล้ว และเป็นการแก้ไขที่เปิดโอกาสร่างแก้ไขของประชาชน สมาชิกรัฐสภาที่นึกว่าตัวเองเป็นผู้ทรงเกียรติทั้งๆ ที่แสดงออกเหมือน “ฝักถั่วได้น้ำ” น่าจะเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่จะแก้ไขขึ้นมาอีกหมวด

เป็น “หมวดที่ว่าด้วยการทำรัฐประหาร”

ไหนๆ ก็ปฏิเสธมาได้ ไปไม่พ้นแล้ว ทำให้ “รัฐประหาร” เป็นเรื่องถูกกฎหมาย อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยมี “พ.ร.บ.การทำรัฐประหาร” ออกมารองรับด้วยก็ได้

เพื่อทำให้ “ประชาธิปไตยแบบไทยๆ” ไม่ใช่ “วาทกรรม” ที่พูดกันไปเรื่อยเปื่อย

เป็น “ไทยๆ” กันให้ “มันหยด” ไปเลย

อาจจะเยียวยาความเสี่ยงที่จะสูญเสียชีวิตและเลือดเนื้อจาก “วงจรอุบาทว์” ได้บ้าง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image