17-18 พฤศจิกายน วันพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ

นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภากล่าวเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2563 ถึงญัตติของ ส.ว. และ ส.ส. 72 คน ที่ขอให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ว่าญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 3 ญัตติที่เกี่ยวกับการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญนั้น ขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยบอกว่าญัตติดังกล่าวจะได้รับการบรรจุเข้าวาระหลังวันที่ 18 พฤศจิกายน ดังนั้น ในวันที่ 17-18 พฤศจิกายน จะมีวาระเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญวาระเดียว โดยจะพิจารณาญัตติต่าง ๆ พร้อมกันทั้ง 7 ฉบับ คือ 6 ฉบับที่เสนอโดยการเข้าชื่อกันของ ส.ส. จำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้า อีกฉบับหนึ่งมาจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าห้าหมื่นคน ซึ่งหน่วยงานที่ชื่อว่า ไอลอว์ เป็นผู้รวบรวมรายชื่อ และจะขอเรียกชื่อว่า ฉบับไอลอว์ ต่อไปจะขอเสนอใจความของญัตติทั้ง 7 ฉบับที่จะมีการพิจารณาในวันที่ 17-18 พฤศจิกายนนี้

1) ญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรครัฐบาล ขอแก้ไขมาตรา 256 (ถ้าแก้ไขสำเร็จตามนี้ ต่อไปจะการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องใช้เสียงของ ส.ส. + ส.ว. จำนวนไม่น้อยกว่าสามในห้า และยังมีเงื่อนไขการลงประชามติเมื่อมีการขอแก้ไขในบางเรื่อง) และเพิ่มหมวดการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ซึ่งสมาชิก 150 คนมาจากการเลือกตั้ง อีก 50 คน มาจากการสรรหา

2) ญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญของฝ่ายค้านฉบับที่หนึ่ง ขอแก้ไขมาตรา 256 ให้ ส.ส. + ส.ว. ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ และให้ ส.ส.ร. ทั้ง 200 คนมาจากการเลือกตั้ง

3) ญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญของฝ่ายค้านฉบับที่สอง ขอแก้ไขมาตรา 272 และ 159 เพื่อยกเลิกอำนาจ ส.ว. ในการเลือกนายกรัฐมนตรี และให้เลือกจากบัญชีของพรรคการเมืองหรือจาก ส.ส. เท่านั้น ไม่มีคนนอก

Advertisement

4) ญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญของฝ่ายค้านฉบับที่สาม ขอแก้ไขอำนาจวุฒิสภาในเรื่องการปฏิรูปประเทศและการยับยั้งร่างกฎหมาย

5) ญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญของฝ่ายค้านฉบับที่สี่ ขอแก้ไขระบบเลือกตั้งให้เป็นไปตามแนวทางของรัฐธรรมนูญปี 2540 และใช้บัตรเลือกตั้งสองใบ

6) ญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญของฝ่ายค้านฉบับที่ห้า ขอแก้ไขมาตรา 279 เพื่อยกเลิกประกาศ-คำสั่งของ คสช.

Advertisement

7) ญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับไอลอว์ โดยจะขอนำเสนอเฉพาะในส่วนที่เพิ่มเติมจาก 6 ญัตติข้างต้น

7.1) ปรับปรุงขั้นตอนการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และกรรมการองค์กรอิสระอื่น ๆ

7.2) ยกเลิกการนิรโทษกรรมให้แก่การรัฐประหาร

7.3) ตัดเรื่องยุทธศาสตร์ชาติออกจากรัฐธรรมนูญ

7.4) กำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส. หากแก้ไขมาตรานี้แล้ว จะมีผลให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขาดคุณสมบัติ ส่วนคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ นายชัยเกษม นิติสิริ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แม้จะมีชื่อในบัญชีของพรรคแต่ไม่ได้เป็น ส.ส. จึงเป็นนายกรัฐมนตรีไม่ได้เช่นกัน

7.5) ตัดข้อความในวรรคสองของมาตรา 252 “หรือในกรณี องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รูปแบบพิเศษ จะให้มาโดยวิธีอื่นก็ได้แต่ต้องคํานึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนด้วย” ออก เพื่อให้ผู้บริหารท้องถิ่นมาจากการเลือกตั้งเท่านั้น

7.6) ให้ ส.ว. มาจากการเลือกตั้ง

7.7) เริ่มสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชุดใหม่ ตามขั้นตอนและวิธีการที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2540 และพระราชบัญญัติประกอบ รัฐธรรมนูญที่ออกภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2540 เพื่อให้มีผู้กำกับดูแลการเลือกตั้ง ส.ว. ชุดใหม่ และการเลือกตั้ง ส.ส.ร. ส่วนกรรมการองค์กรอิสระอื่น ให้รอรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

7.8) ในการเลือกตั้ง ส.ส.ร. จำนวน 200 คน ให้ใช้ระบบบัญชีรายชื่อ (บัญชีจะมีผู้สมัครคนเดียวหรือหลายคนก็ได้) โดยให้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง (ไม่มีการแบ่งเขต)

ผมขอคาดการณ์ถึงเส้นเวลา (timeline) เบื้องต้นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (สมมุติว่าเป็นกรณีที่ ส.ส. ส.ว. และรัฐบาลเอาจริงเอาจังเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ) ว่าอาจจะเป็นดังนี้

1) รัฐสภารับหลักการญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 7 ญัตติในวันที่ 17-18 พฤศจิกายน 2563

2) รัฐสภาตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญแปรญัตติ กำหนดเวลาประมาณ 2 เดือน

3) รัฐสภาผ่านกฎหมายออกเสียงประชามติ กำหนดเวลาประมาณ 3 เดือน

4) รัฐสภาพิจารณาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระสองกำหนดเวลาประมาณ 15 วัน

5) รอไว้ 15 วันตามรัฐธรรมนูญ

6) รัฐสภาลงมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญในวาระสาม ประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2564

7) เตรียมยกร่างกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ร. รวมทั้งการสรรหา ส.ส.ร. (ถ้ามี) เพื่อให้สอดคล้องกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม

8) ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาในส่วนที่ไม่ต้องลงประชามติ ประมาณเดือนมีนาคม 2564

9) เตรียมยกร่างกฎหมายอื่นที่จะต้องตราขึ้นให้สอดคล้องกับบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในส่วนที่ไม่ต้องลงประชามติ ที่สำคัญคือกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จะต้องแก้ไขเพิ่มเติมในกรณีที่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้

10) การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมในส่วนที่ต้องลงประชามติ ประมาณเดือนเมษายน 2564

11) ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมในกรณีที่ได้รับความเห็นชอบจากผู้ไปใช้สิทธิออกเสียงประชามติ ประมาณเดือนพฤษภาคม 2564

12) รัฐสภาพิจารณาและผ่านกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ร. ประมาณเดือนมิถุนายน 2564

13) จัดให้มีการเลือกตั้งและการประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส.ร. ประมาณเดือนกรกฎาคมหรือสิงหาคม 2564

14) สมมุติว่า ส.ส.ร. มีเวลาทำงานแบบมีส่วนร่วม 9 เดือน ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ ส.ส.ร. จะเสร็จประมาณเมษายนหรือพฤษภาคม 2565

15) ขั้นตอนต่อไปคือการให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับ ส.ส.ร. ซึ่งจะต้องใช้เวลาอีกหนึ่งหรือสองเดือน ขึ้นอยู่กับจะให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบ และ/หรือต้องลงประชามติ กว่าจะประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็ประมาณมิถุนายนหรือกรกฎาคม 2565 ถึงตอนนั้น ถ้านายกรัฐมนตรีไม่ลาออกหรือไม่ยุบสภาก็จะดำรงตำแหน่งมากว่าสามปีแล้ว

ผมบังอาจคิดเส้นเวลาข้างต้นนี้ โดยมีสมมุติฐานแบบโลกสวยว่า ส.ส. ส.ว. และรัฐบาลจะเอาจริงเอาจังกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะพวกเขาและประชาชนได้ยินได้ฟังจากผู้ชุมนุมว่า นี่เป็นหนึ่งในความปรารถนาที่จะให้มีการเดินไปด้วยกันบนเส้นทางนี้ ผมอยากให้ผู้ที่รู้เรื่องเงื่อนไขเวลาต่าง ๆ มาช่วยเสริมหรือแย้งเส้นเวลาข้างต้น เพื่อให้เห็นความเป็นไปได้อื่น ๆ ที่จะให้เราเดินไปได้เร็วขึ้น รวมทั้งปัญหาและอุปสรรค ที่จะทำให้การเดินไปด้วยกันนั้นช้าลง ทั้งนี้ เพื่อให้กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะได้ใช้ความคิดอย่างถูกวิธี มีความรอบคอบและแยบคาย จนได้ผลลัพธ์ที่กอปรด้วยหลักการอันดีงาม มีความประณีต และเปิดกว้างต่อแรงปรารถนาของสังคมไทย

ถึงตรงนี้ ผมคิดคำนึงถึงข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมข้อที่สาม อันเป็นโจทย์ที่ยิ่งยากขึ้นไปใหญ่ นั่นคือการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ฝ่ายอนุรักษ์นิยมบอกว่า เบื้องหลังคำว่า “ปฏิรูป” คือเจตนาล้มล้าง ผมเปิดพจนานุกรม เขาให้ความหมายคำว่าปฏิรูป เช่นปฏิรูปบ้านเมืองว่า “ปรับปรุงให้สมควร” ก่อนที่จะกล่าวโทษกันว่ามีเจตนาแอบแฝง ก็อยากจะชวนให้คิดว่า เจตนานั้นมองไม่เห็น ที่พอมองเห็นคือการกระทำทางวาจา และทางกายภาพ การใช้วาจาที่ไม่สมควรต้องได้รับการโต้แย้ง ต้องแสดงความรู้สึกว่าปวดร้าวเมื่อได้ยินวาจาอันไม่สมควรเหล่านั้น กระนั้น ขอให้คิดว่า คนรุ่นใหม่เหล่านี้ มีเพียงวาจาที่บาดใจ ซึ่งไม่ทำให้ชอกช้ำเหมือนการ “เอามีดมากรีดหิน” คนรุ่นใหม่ไม่ต้องการและไม่มีศักยภาพที่จะใช้ความรุนแรงทางกายภาพ ไม่มีอาวุธ ไม่มีกองกำลัง ไม่มีทรัพยากรมากมายอะไร แล้วจะ “ล้มล้าง” สถาบันฯที่กองทัพและคนไทยจำนวนมากมายพิทักษ์รักษาอยู่ได้อย่างไร อย่าแต่งนิยายว่ามีอำนาจต่างชาติอยู่เบื้องหลังเลย นิยายเช่นนี้มีไว้เพื่อให้เกิดความกลัว อันอาจนำไปสู่การกระทำรุนแรงต่อเยาวชนของเรา ความรักชาติก็มีกันทุกคน แม้ว่าบางทีจะมีกันคนละแบบ ผมเชื่อว่าเยาวชนมีความใสสะอาด และจะออกมาอยู่แถวหน้าด้วยซ้ำ ถ้ามีผลประโยชน์ต่างชาติมาคุกคาม

ผมยิ่งไม่บังอาจที่จะเสนอเส้นเวลาการทำให้ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ” มีความเข้มแข็งและยั่งยืน เพียงแต่ขอย้อนเส้นเวลาไปประมาณ 90 ปี โดยขออนุญาตอ้างอิงถึงข้อเขียนของคุณหญิงมณี สิริวรสาร ที่เคยเข้าเฝ้าสมเด็จพระปกเกล้าฯอย่างใกล้ชิดที่อังกฤษ และขอยกข้อเขียนจากการที่ทรงเล่าให้ฟังดังนี้

“คณะผู้ก่อการได้เดินทางมาเฝ้าและขอขมาในการที่ได้แจกใบปลิวในวันปฏิวัติ มีข้อความที่โจมตีพระบรมราชวงศ์จักรีและสมเด็จพระปกเกล้าฯ อย่างรุนแรงยิ่งนัก ได้อัญเชิญให้เสด็จกลับพระนคร ให้ทรงเป็นพระมหากษตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญองค์แรกของประเทศไทยต่อไป ทรงรับสั่งว่า ความจริงพระองค์ได้มีพระราชดำริที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญให้แก่ประชาชนชาวไทยมานานแล้ว เคยทรงมีพระราชโองการให้ … ปลัดทูลฉลองและที่ปรึกษากระทรวงต่างประเทศชาวอเมริกัน ให้ช่วยกันร่า

รัฐธรรมนูญขึ้นฉบับหนึ่ง … บุคคลทั้งสองนี้ก็ได้ทูลเกล้าฯถวายบันทึกเค้าโครงรัฐธรรมนูญขึ้นฉบับหนึ่ง แต่ก็มีบันทึกความเห็นประกอบว่า … ยังไม่ถึงเวลา … เพราะประชาชนยังไม่มีการศึกษาและความเข้าใจเพียงพอในการปกครองแบบประชาธิปไตย เมื่อพระองค์ได้ส่งสำเนาร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ให้ที่ประชุมอภิรัฐมนตรีทรงพิจารณา อภิรัฐมนตรีส่วนมากก็ทรงคัดค้าน … ทรงรับสั่งถึงเหตุการณ์เหล่านี้ให้ฟังด้วยพระอารมณ์ที่ปราศจากความแค้นเคืองหรือความพยาบาทแต่อย่างใด และทรงรับสั่งด้วย … อารมณ์ขันหลายตอน … มิได้ทรงมีความขมขื่น พยาบาทแค้นเคืองเสียดาย หรือน้อยพระทัยแต่อย่างใดในการสูญเสียพระราชอำนาจ แต่ทรงวางพระองค์อยู่ในความสงบ”

เส้นเวลาได้ผ่านไปเก้าสิบปีแล้ว แต่เรายังวนเวียนอยู่ในวังวนการรัฐประหาร ได้แต่หวังว่าแม้จะต้องใช้เวลาอีกบ้าง ก็คงไม่นานเกินไป เพื่อว่าประเทศจะมี constitutional monarchy สมดังพระราชดำริของสมเด็จพระปกเกล้าฯ ที่ทรงหวังให้เป็นการปกครองโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวไทยอย่างถ้วนหน้ากัน

โคทม อารียา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image