‘น่านเน้อเจ้า’ พลัง (แม่) หญิงบนผืนผ้า จิตวิญญาณล้านนาในความร่วมสมัย

“น่าน” เมืองเก่าแก่แห่งดินแดนล้านนาตะวันออก ซึ่งมีภาพจำผ่านการโปรโมตท่องเที่ยวสายอันซีนว่า “กระซิบรัก”

“ปู่ม่าน-ย่าม่าน” เอียงแอบแนบชิดกระซิบถ้อยคำที่เราไม่อาจรู้ บนผนังอุโบสถวัดภูมินทร์ ฝีมือหนานบัวผัน “ช่างแต้ม” หรือจิตรกรพื้นบ้านที่จรดพู่กันบันทึกเสี้ยวหนึ่งของห้วงเวลาไว้เมื่อกว่า 150 ปีก่อน

ใครเลยจะล่วงรู้ว่าวันนี้จะกลายเป็นภาพที่ปรากฏในความทรงจำของผู้คนทั่วประเทศในยุคร่วมสมัย บนสินค้าข้าวของที่ระลึกมากมาย

Advertisement

ไม่เพียงใบหน้า แววตา อารมณ์ ความรู้สึกของชายหญิงบนภาพที่สะกดสายตา หากแต่วัฒนธรรมไทลื้อที่ปรากฏผ่านเสื้อผ้า อาภรณ์ ลายซิ่น ทรงผม ของย่าม่าน อีกทั้งรอยสักตามร่างกายของปู่ม่าน นับเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่ธำรงอยู่อย่างยาวนานมาถึงปัจจุบัน

เช่นเดียวกับวัฒนธรรมการทอผ้าของ “แม่ญิง” น่าน ซึ่งยังคงสืบสานการทอผ้าอันเป็นอัตลักษณ์เฉพาะตัวจากรุ่นสู่รุ่น ไม่เพียงเท่านั้น ยังยกระดับสู่ความ ร่วมสมัย สรรค์สร้างแบรนด์ใหม่ที่น่าจับตา อย่าง “น่านเน้อเจ้า” ของ 4 กลุ่มทอผ้าภายใต้การสนับสนุนของ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ได้แก่ กลุ่มทอผ้าโฮงเจ้าฟองคำ ตำบลในเวียง, กลุ่มทอผ้าบ้านซาวหลวง ตำบลบ่อสวก, กลุ่มทอผ้าบ้านนาปงพัฒนา ตำบลบ่อสวก และกลุ่มส่งเสริมอาชีพบ้านเชียงราย ตำบลดู่ใต้

Advertisement

ผ่านการสร้างสรรค์ ออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่าผ้าทอ ต่อยอดภูมิปัญญา และสืบสานมรดกบรรพชนจนได้รับรางวัล PATA Gold Award 2020 ประเภทพลังผู้หญิง Women Empowerment Initiative จากสมาคมการท่องเที่ยวแห่งเอเชียแปซิฟิกมาครองเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

จากความสำเร็จนี้ สุขสันต์ เพ็งดิษฐ์ ผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษ 6 อพท. เดินหน้าต่อยอดให้มากยิ่งขึ้น ทั้งในส่วนของความร่วมมือจากกลุ่มทอผ้าพื้นที่อื่นๆ เพื่อพัฒนาสินค้าให้หลากหลาย อาทิ กระเป๋า หมวก เสื้อ เสื้อคลุม รวมถึงเครื่องใช้ในโรงแรม ภายใต้ราคาย่อมเยา จับต้องได้ในมุมผู้บริโภค รวมทั้งตอบโจทย์ในเรื่องรายได้
ชุมชนที่ต้องเพิ่มขึ้น

“อพท.จะร่วมมือกับชุมชนที่ยกระดับการพัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ผสานอัตลักษณ์ดั้งเดิม โดยการแปรรูปมาจากผ้าทอที่นำลายผ้าซิ่นมาออกแบบเป็นการใช้ร่วมกับผลิตภัณฑ์ต่างๆ นับเป็นพลังสตรีในการสร้างรายได้เพิ่มขึ้นนอกเหนือจากอาชีพหลักทางการเกษตร แต่ยังคงไว้ถึงความเชื่อ และศรัทธาในพุทธศาสนาที่ต้องแต่งกายด้วยซิ่นเมื่อไปวัด และใช้ในชีวิตประจำวัน” สุขสันต์กล่าว

นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยว สร้างการเรียนรู้สัมผัส ซึมซับมรดกวัฒนธรรมการทอผ้าแบบล้านนาจากชุมชนต่างๆ ยิ่งไปกว่านั้น จากอัตลักษณ์ที่โดดเด่นและความเข้มแข็งของชุมชน อพท.ยังเตรียมยกระดับเมืองเก่าน่านเข้าสู่สมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก หรือ The UNESCO Creative Cities Network (UCCN) ให้ได้ภายในปี 2564

อาจารย์ภัทราภรณ์ ปราบริปู แห่งกลุ่มทอผ้าโฮงเจ้าฟองคำ

มีบทบาทอย่างยิ่งในการพัฒนาต่อยอดลายโบราณสู่ยุคใหม่โดยไม่ทิ้งอัตลักษณ์ซิ่นเมืองน่าน หนึ่งในนั้นคือการประยุกต์ลายผ้าพื้นฐานจากลายน้ำไหลแบบดั้งเดิม สร้างความซับซ้อนของลวดลายให้มีความอ่อนช้อย ร่วมสมัยด้วยสีสันงดงามเกิดเป็น “ผ้าลายน้ำไหลหยดน้ำ” ซึ่งใช้เวลาทอถึง 22 วันต่อ 1 ผืน จึงเป็นผ้าที่มีราคาสูง เพราะใช้เวลานาน ต้องทออย่างประณีต เชี่ยวชาญ จึงผลิตตามคำสั่งซื้อเป็นหลัก

อย่างไรก็ตาม ยังมีผ้าทอลวดลายอื่นๆ ที่สามารถเลือกซื้อในราคาหลากหลาย

นอกจากนี้ อาจารย์ภัทราภรณ์ยังเป็นผู้รับช่วงดูแล “โฮงเจ้าฟองคำ” เรือนไม้โบราณอายุกว่า 200 ปี ที่ตำบลในเวียง คุ้มของ “เจ้าศรีตุมมา” หลานเจ้ามหาวงศ์ เจ้าผู้ครองนครน่านองค์ที่ 6 ก่อนตกทอดมาถึงเจ้าฟองคำ

ทุกวันนี้ได้รับการอนุรักษ์เป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิต จัดแสดงข้าวของในวิถีชีวิตชนชั้นนำแห่งล้านนา และที่สำคัญคือพื้นที่สาธิตการทอผ้า ปักผ้า ปั่นฝ้ายบริเวณใต้ถุนโฮง

อีกหนึ่งชุมชนสำคัญคือ “บ้านซาวหลวง” ตำบลบ่อสวก เมืองน่าน ซึ่งนำลวดลายภาชนะดินเผาโบราณจาก แหล่งเตาเมืองน่านบ้านบ่อสวก “มาดัดแปลงเป็นผ้าทอลายบ่อสวก” ในขณะเดียวกันก็ไม่หลงลืมลายดั้งเดิมที่ถักทอสืบต่อกันมา ไม่ว่าจะเป็นลายป้อง ลายม่าน ลายคำเคิบ ลายเชียงแสน ลายคาดก่าน ลายน้ำไหล ลายยกดอก รวมถึงลายดอกจันแปดกลีบ สะท้อนความเชื่อของคนพื้นถิ่น โดยการนำดอกไม้ตามธรรมชาติมาพัฒนาเป็นลายผ้า มีกลีบดอก 8 กลีบ ป้องกันภัยทั้ง 8 ทิศ

หากมาเยี่ยมเยือนชุมชน สามารถร่วมทดลองฝึกทอผ้าตั้งแต่การเก็บดอกฝ้าย รีดเม็ดฝ้าย ตีฝ้าย แล้วดึงเป็นเส้นด้าย เข้ากระสวย ก่อนนำไปทอเป็นผ้าผืน

ปิดท้ายด้วยเรื่องราวของผ้าซิ่น “ลายตาโก้ง” แห่งบ้านเชียงราย ตำบลดู่ใต้ ซึ่งเดิมเป็นลายผ้าขาวม้าและผ้าห่มที่เป็นมรดกประจำบ้าน ส่งต่อไปยังลูกสาวที่ออกเรือน ที่แฝงความเชื่อการส่งมอบความอบอุ่นและคุ้มครอง เมื่อกาลเวลาผ่านไป ลายผ้าเกือบสูญหาย กระทั่งได้รับการฟื้นฟูและพัฒนา ดีไซน์ เพิ่มสีสัน แต่ยังคงโครงร่างของลวดลายไว้ดังเดิม ส่วนเทคนิคการทอก็สำคัญไม่แพ้กัน เมื่อเป็นผ้าทอร่วมสมัยก็ต้องใส่ความแข็งแรงให้มากขึ้นกว่ายุคเก่า ด้วยเทคโนโลยีที่รุดหน้า โดยการเพิ่มเส้นยืนจาก 2 เส้นเป็น 3 เส้น เพื่อให้สามารถนำไปใช้สำหรับผลิตสินค้าประเภทต่างๆ ได้หลากหลาย อาทิ เสื้อคลุม ผ้าปูโต๊ะ ผ้ารองจาน พวงกุญแจ ผ้าหุ้มโซฟาโรงแรม กระเป๋าเศษสตางค์ เป็นต้น

ไม่เพียงชมความงดงามแห่งจิตวิญญาณล้านนาบนผืนผ้าให้ประจักษ์สายตา จับจ่ายซื้อหาผ้าผืนงามประดับเรือนร่าง ยังมีกิจกรรม DIY ให้ทดลองทำด้วยตัวเองสักครั้ง

เป็นอีกก้าวของวัฒนธรรมที่จับต้องได้จากภูมิปัญญาพื้นบ้านสู่ความร่วมสมัยที่ อพท.พร้อมผลักดันสู่สากล

ทีมข่าวเฉพาะกิจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image