สุจิตต์ วงษ์เทศ ไปอุบล พบคนกุลา (ทุ่งกุลาร้องไห้) เชื้อสายไทยใหญ่ในพม่า

ตื่นก่อนตีสี่เช้าวันศุกร์ที่ 5 สิงหาคม ครั้นราวๆก่อนตีห้าก็ออกจากบ้านช่างหล่อ (ใกล้โรงพยาบาลศิริราช) ไปหัวลำโพง ขึ้นรถไฟดีเซลรางด่วนพิเศษ ก่อนหกโมงเช้าออกจากหัวลำโพงจะไปอุบลราชธานี

ถึงสถานีรังสิต เขาประกาศว่ารถเสีย ยังไปไม่ได้ ต้องรอรถขบวนใหม่จากหัวลำโพง มาเปลี่ยน ยังไม่รู้เมื่อไร จะต้องเคลื่อนไปรอที่สถานีหน้า

ปีก่อนเคยโดนอย่างนี้มาครั้งหนึ่งแล้ว เลยตัดสินใจไม่รอ เพราะไม่มีอนาคต แต่มีงานต้องทำ แล้วลงจากตู้รถไฟเดินข้ามทางรถไฟหาแท็กซี่ไปดอนเมือง ขึ้นเครื่องบินก่อนเที่ยง ลงอุบลฯหลังเที่ยง

ไปนั่งพักเหนื่อยที่สุนีย์ทาวเวอร์ (ที่มีงานอุบล บุ๊คแฟร์) จากนั้นหาแท็กซี่ไปชุมชนคนกุลา บ้านโนนใหญ่ อ. เขื่องใน จ. อุบลฯ

Advertisement

ราว พ.ศ. 2546 อ. สมชาย นิลอาธิ พาผมไปครั้งแรก คุยกับคนกุลาบ้านโนนใหญ่ หลังจากนั้นผมแวะไปเองอีกหลายครั้ง เพราะเป็นหลักฐานประวัติศาสตร์สังคมสำคัญมากเกี่ยวกับชื่อทุ่งกุลาร้องไห้กับการโยกย้ายของคนตามเส้นทางการค้าข้ามภูมิภาคสมัยก่อนๆ

เสาหลักบ้าน อยู่ตรงศาลากลางบ้าน ที่บ้านโนนใหญ่ เมื่อบ่ายวันศุกร์ที่ 5 สิงหาคม 2559
เสาหลักบ้าน อยู่ตรงศาลากลางบ้าน ที่บ้านโนนใหญ่ เมื่อบ่ายวันศุกร์ที่ 5 สิงหาคม 2559
ศาลากำลังสร้างใหม่ เลียนแบบของเก่า
ศาลากำลังสร้างใหม่ เลียนแบบของเก่า

 

ทุ่งกุลาร้องไห้

กุลา ในชื่อทุ่งกุลาร้องไห้ หมายถึง ไทยใหญ่ หรือเงี้ยว (มีหลักแหล่งอยู่ลุ่มน้ำสาละวิน ทางตอนเหนือของพม่า)

Advertisement

ยังมีเชื้อสายกลุ่มชาติพันธุ์นี้สืบตระกูลจนถึงปัจจุบัน แล้วเรียกตัวเองเป็นชาวกุลา  มีบรรพชนเป็นไทยใหญ่มาจากพม่า มีประเพณีพิธีกรรมอย่างไทยใหญ่ ตั้งหลักแหล่งอยู่บ้านโนนใหญ่ ต. ก่อเอ้ อ. เขื่องใน จ. อุบลราชธานี มีพยานหลักฐานจากศิลปวัฒนธรรมเป็นแบบไทยใหญ่ (เงี้ยว) เช่น ภาษาพูด, วัดวาอาราม, ศิลปกรรม, ประเพณีพิธีกรรม, ฯลฯ

ชาวบ้านเองก็รู้ว่าบรรพชนเป็นกุลา มีบอกในหนังสือประวัติบ้านโนนใหญ่ (หมู่ 3-4 ต. ก่อเอ้ อ. เขื่องใน จ. อุบลราชธานี จัดพิมพ์โดยพ่อเสริม แม่แสลม สอนอาด, รวบรวมค้นคว้าจากพ่อแพทย์ถวิล แสงสว่าง บ้านโนนใหญ่ พิมพ์ที่โรงพิมพ์ศิริธรรม อุบลราชธานี นายปรีชา พิณทอง ผู้พิมพ์ผู้โฆษณา ไม่ระบุปีพิมพ์)

รูปเก่าวัดทุ่ง

วัดทุ่งสว่าง
รูปเก่าวัดทุ่งสว่างอารมณ์ บ้านโนนใหญ่ ขยายติดไว้ในศาลาหลังวัด

กุลา

จิตร ภูมิศักดิ์

[คัดจากหนังสือ ข้อเท็จจริงว่าด้วยชนชาติขอม ของ จิตร ภูมิศักดิ์ สำนักพิมพ์ไม้งาม พิมพ์ครั้งแรก กรกฎาคม 2525]

กุลา เป็นคำที่ชาวพม่าใช้พูดเป็นภาษาปากตลาดเรียกชาวอินเดีย และมีความหมายเชิงดูถูกเหยียดหยามว่าเป็นคนชั้นต่ำ

ไตลื้อออกเสียงคำนี้เป็น กะลา และยังคงใช้หมายถึงชาวอินเดีย

ไทยพายัพ (คนเมือง) ใช้ว่า กูลวา เป็นคำพื้นเมืองเก่าที่ใช้เรียกชาวอินเดียเช่นกัน และยังมีอีกคำหนึ่งในภาษาโบราณว่า กูลวาขาว ใช้เรียกฝรั่ง

ไทยภาคกลางใช้ว่า คุลา มาแต่โบราณ มีการละเล่นในงานพิธีที่เรียกว่า คุลาตีไม้ มีกลอนกลบทชนิดหนึ่งเรียกว่า คุลาซ่อนลูก พจนานุกรมบอกว่าคุลาหมายถึงชนชาติต้องสู้และไทยใหญ่ซึ่งเป็นชนชาติส่วนน้อยอยู่ในพะม่า

จะเห็นว่าความหมายของคำเดินทางพ้นจากอินเดียมาแล้ว

ในภาษาลาว กุหล่า เป็นคำเรียกชนพวกหนึ่งที่มาจากพะม่าเหนือ, สะพายสัมภาระเร่ขายไปตามละแวกบ้าน, แต่ที่เข้าใจรวมๆ ว่าคือพะม่า ก็มี.

ในภาษาเขมร คำนี้เป็น กุฬา (ออกเสียง โกะลา). พจนานุกรม เขมร-ฝรั่งเศสฉบับหนึ่งให้คำแปลคำ กุฬา เป็นภาษาฝรั่งไว้ว่า ชาวพะม่า, แต่มีภาษาเขมรอธิบายเพิ่มเติมไว้ว่า เป็นชนชาติหนึ่งในเอเซีย ปัจจุบันอยู่ในประเทศพะม่า.

ที่จังหวัดพระตะบองมีอำเภอที่ลือชื่อเรื่องพลอยอยู่แห่งหนึ่ง ชื่ออำเภอไพลิน. ชาวเขมรเรียกชนพวกหนึ่งที่ตั้งรกรากขุดพลอยอยู่ที่นั่นว่ากุฬา. ข้าพเจ้าเคยไปที่นั่นครั้งหนึ่งเมื่อราวยี่สิบปีมาแล้ว, ยังจำได้ว่ารูปร่างทรวดทรง หน้าตา ผิวพรรณของชาวกุฬาก็คือพะม่าเราดีๆ นี่เอง, ศิลปในการสร้างวัด สลักพระพุทธรูปหินอ่อนสีขาว และตัวอักษรก็เป็นแบบพะม่าทั้งสิ้น. แม้ชื่ออำเภอที่เรียกว่า ไพลิน ก็สงสัยว่าจะเป็นชื่อที่ชนพวกนี้นำติดตัวมาจากพะม่า, คือนำมาจากชื่อเมืองเพ่ลิน ในพะม่าเหนือ, อันเป็นเขตที่มีทับทิมและพลอย, อยู่ทางทิศตะวันตกของเมืองบ่อแสงเขียว ซึ่งเป็นเขตของไตคำตี่ (บ่อแสงเขียว คือบ่อนิลสีคราม, แสง ในภาษาไตแปลว่าเพชรหรือพลอย). แต่ชนพวกนี้จะมาจากเมืองเพ่ลินหรือเปล่า และจะเป็นพะม่าหรือชนชาติอื่น ข้าพเจ้าก็ไม่ได้สนใจสอบถามในครั้งนั้น แต่ถึงอย่างไรก็รวมความได้ว่า กุฬาในภาษาเขมรมิได้หมายถึงชาวอินเดียอย่างในภาษาพะม่า. หากเลื่อนความหมายมาอยู่ในบริเวณพะม่า.

คำว่า กุลา นี้มีผู้กล่าวว่ามีกำเนิดมาจากรัฐเบงกอลของอินเดีย ซึ่งชาวพื้นเมืองเองออกเสียงว่า บังกลา (ไทยโบราณเรียกว่า บังกะหล่า). ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง, การที่พะม่าเรียกชาวอินเดียทั้งหมดว่า กุลา ชาวอินเดียก็จะต้องส่ายหน้าบอกว่านั่นไม่ใช่ชื่อของเขา หากเป็นเพียงชื่อรัฐหนึ่งใน 17 รัฐของเขาเท่านั้น. ซ้ำพะม่า ผู้ใช้คำกุลาเรียกชาวอินเดียเชิงดูถูก  ก็กลับถูกชาติอื่นเอาคำนี้มาย้อนเรียกตนเองเข้าในที่สุด.

เรื่องของคำ กุลา นี้ เหมือนกับเรื่องของขอมไม่ผิด: เขมรส่ายหน้าบอกว่าขอมไม่ใช่ชื่อของเขา, ไทยและลาวเอาไปยัดเยียดให้เขาต่างหาก; แต่ไทยและลาวผู้เรียกนั้นเองก็ถูกชาติอื่นเรียกตนว่า ขอม (กะหลอม) เข้าให้อีกด้วย.

บูธของสำนักพิมพ์มติชน มีหนังสือลดราคาหลากหลาย เลือกได้สะดวก ในงานอุบลฯ บุ๊คแฟร์ ที่สุนีย์ทาวเวอร์ จ. อุบลราชธานี
บูธของสำนักพิมพ์มติชน มีหนังสือลดราคาหลากหลาย เลือกได้สะดวก ในงานอุบลฯ บุ๊คแฟร์ ที่สุนีย์ทาวเวอร์ จ. อุบลราชธานี
บรรยากาศบูธมติชน ชั้น 4 สุนีย์เซ็นเตอร์
บรรยากาศบูธมติชน ชั้น 4 สุนีย์เซ็นเตอร์

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image