คำถามและความเชื่อ

ครั้งหนึ่งขณะที่ไถหน้าจอติดตามข่าวการชุมนุมของคณะราษฎร ก็ได้เห็นข้อความจากมิตรสหายท่านหนึ่ง สรุปความเท่าที่จำได้คือ “ถ้าเด็ก Respect ใน Belief ของผู้ใหญ่ และผู้ใหญ่ Answer กับ Why ของเด็กๆ เราอาจจะผ่านความขัดแย้งนี้ไปด้วยกันได้”

ข้อความนี้น่าสนใจจนชวนให้คิดต่อ เพราะหากจะยอมรับตามตรง สิ่งที่เป็นข้อขัดแย้งกันอย่างยิ่งแทบทุกเรื่องในตอนนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมือง หรือการบ้าน ระหว่างฝ่ายเด็ก เยาวชน และคนหนุ่มสาว กับฝ่ายผู้ใหญ่ทั้งในเชิงของอายุและสถานะนั้น ก็คือจุดยืนเนื้อหาที่ฝ่ายหลังมองว่า นั่นคือการ “ก้าวล่วง” ต่อ “ความเชื่อ” ของพวกเขา ในขณะที่ฝ่ายแรกนั้นมองว่า นี่เป็นเพียงการ “ตั้งคำถาม” อันจำเป็นในขอบเขตอันสมควรแล้วเท่านั้น

ดังนั้นที่มิตรสหายท่านนี้คิดว่า ถ้าอย่างนั้น เด็กก็ควรที่จะเคารพ (Respect) ต่อ “ความเชื่อ” (Belief) ของผู้ใหญ่ ในขณะที่ผู้ใหญ่ก็ต้องพยายามตอบ (Answer) คำถาม (Why) ของเด็กให้ได้ ก็น่าจะเป็นการลดและแลกจุดยืน เพื่อให้คนสองฝ่ายที่เหมือนจะไม่คุยกันแล้วนี้พอจะหันกลับมาต่อบทสนทนากันได้

แต่เรื่องยากคือ เราอาจจะต้องยอมรับว่า ในเรื่องนี้แง่มุมที่ยากคือ การปรับใจของฝ่าย “ความเชื่อ” นั่นเป็นเพราะเขา “เชื่อ” ไปแล้วว่าเป็นฝ่ายถูกกระทบกระเทือนก่อน และได้รับความเสียหาย

Advertisement

เพราะ “ความเชื่อ” คือภาวะธรรมชาติทางความคิดและจิตวิญญาณที่สำคัญแข็งแรงที่สุด ด้วยความเชื่อนั้นคือ การยอมรับว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้นคือ ความจริง และเมื่อเป็นความจริงแล้วก็จะเป็นสิ่งที่ผู้ที่เชื่อในสิ่งนั้นแล้วยึดถือและปฏิบัติด้วย

ซึ่งความเชื่อนั้นแตกต่างจากอารมณ์ประเภทรัก ชอบ ชัง อยู่มากในแง่ที่ว่าสำหรับบางคนแล้ว ความเชื่อนั้นคือ แก่นแกนของชีวิต คือเครื่องยึดโยงไม่ให้ล้มร่วงลงไปในยามที่พบปัญหา หรืออุปสรรค แม้แต่เราเองก็ตาม หลายครั้งที่เราล่วงทุกข์ได้ด้วยความเชื่อ ในขณะที่ยังมองไม่เห็นหนทางในความเป็นจริง ความเชื่อนั้นทำให้เรากล้าที่จะเดินดุ่มไปในทิศทางอันมืดมิดไม่เห็นแม้แต่รอยเท้าของตัวเอง หากยังไปต่อได้ด้วยความแน่ใจว่าเดินไปสู่จุดหมายแล้ว ความเชื่อนั้นเองที่ทำให้เรากล้าที่จะท้าทายสิ่งที่เหนือกว่าใหญ่กว่าตัวเราอย่างเทียบไม่ได้ ด้วยพลังแห่งความเชื่อนั้นบอกว่านั่นเป็นสิ่งที่เราทำได้และควรทำ

ความเชื่อนั้นแม้โดยหลักแล้วควรจะเกิดจากเหตุผล และการไตร่ตรอง แต่ความเชื่อนั้นก็ไม่ได้ต้องการเหตุผลเป็นจุดกำเนิด เราสามารถเชื่อได้โดยไม่จำเป็นต้องมีเหตุผล หรือเข้าใจในสิ่งนั้นอย่างถ่องแท้นัก หรือแม้จะมีเหตุผลก็เป็นเหตุผลที่อธิบายให้คนอื่นเข้าใจได้ยากที่เราเรียกว่า ศรัทธา

Advertisement

กระทั่งว่าหลายครั้งแล้วนั้นเราเข้าใจว่า เพราะในเรื่องนั้นมีเหตุผลอันยอมรับเราจึงเชื่อเช่นนั้น แต่เอาเข้าจริงเราก็ไม่เคยสำรวจความได้ตรรกะเหตุผลของความเชื่อนั้นอย่างจริงจังเท่าไร บางความเชื่อนั้นเราเข้าใจโดยแท้ว่านั่นคือ สิ่งที่ต้องเป็นไปเช่นนั้นจนเป็นเหตุเป็นผลในตัวเองก็มี

ด้วยเหตุนี้ “ทำไม” หรือการตั้งคำถามจึงเป็นเครื่องสอบทานชี้วัด “ความเชื่อ” ที่ดีที่สุดและร้ายที่สุดไปพร้อมกัน การตั้งคำถามจึงเป็นพันธมิตรที่ดีที่สุดสำหรับความเชื่อที่สมเหตุสมผล และเป็นศัตรูอันร้ายกาจต่อความเชื่อที่มิได้เป็นเช่นนั้น

เพราะหากความเชื่อใดคงทนต่อการตั้งคำถาม และสามารถให้คำตอบของคำถามว่า “ทำไม” ได้เรื่อยๆ อย่างไม่สุดไม่จนแล้วก็ย่อมแสดงว่าความเชื่อนั้นน่าจะตั้งอยู่บนรากฐานแห่งเหตุผลอันแข็งแกร่งได้มากขึ้นไปเท่านั้น

หากในทางกลับกันความเชื่อใดไม่สามารถต่อสู้กับ “คำถาม” โดยเฉพาะถามว่า “ทำไม” นั้นก็จะไปสั่นคลอนและทำลายความเชื่อลงได้อย่างย่อยยับเช่นกัน หากว่าเมื่อถามว่า “ทำไม” ซ้อนลงไปหลายชั้นเข้าไปแล้ว จะถึงจุดที่ความเชื่อนั้นไม่อาจตอบได้อธิบายชัด

หลายเรื่องแม้เพียงการตั้งคำถามว่า “ทำไม” กับความเชื่อในบางเรื่อง จึงราวกับเป็นการโจมตีความเชื่อนั้นแล้วโดยอัตโนมัติ ถามขึ้นมาเท่านั้นก็ทำให้ผู้ที่มีความเชื่อนั้นหัวร้อนได้แล้ว เพราะแค่คิดจะถามก็เป็นการละเมิดต่อแก่นแกนแห่งความเชื่อนั้นแล้วก็มี คำถามเหล่านั้นก็เช่น

– ทำไมจึงถือว่าพ่อแม่เป็นผู้มีบุญคุณ

– ทำไมเราต้องนับถือศาสนา

– ทำไมจึงเชื่อว่าบุคคลผู้เป็นที่พึงเคารพสมควรแก่การได้รับความเคารพ

คำถามเหล่านี้เพียงเอ่ยกล่าวขึ้นมา หรือพยายามอภิปรายหาคำตอบก็อาจจะเหมือนลบหลู่ผู้ที่มีความเชื่อเช่นนั้นแล้ว

มนุษย์เราต่างคนต่างมีระดับความเคารพ และความรู้สึกว่าไม่ได้รับการเคารพที่แตกต่างกันออกไปแบบอัตวิสัย สำหรับฝ่ายหนึ่ง เพียงตั้งคำถามอย่างสุภาพในท่าทีแต่ตรงไปตรงมาในสาระก็ถือว่า นั่นเป็นการแลกเปลี่ยนทรรศนะอย่างให้ความเคารพแล้ว ในขณะที่ฝ่ายถูกถามนั้น เพียงการตั้งคำถามกับความเชื่อของเขา ก็ถือว่าไม่เคารพกันแล้ว

เช่นนี้ทางออกของความขัดแย้งโดยให้ฝ่ายหนึ่งเคารพ “ความเชื่อ” และฝ่ายที่มี “ความเชื่อ” ต้องตอบคำถามฝ่าย “ทำไม” ให้สิ่งสงสัยมัน จึงไม่อาจเป็นไปได้โดยง่ายนัก

การที่ใครคนอื่นพิสูจน์สำเร็จว่าความเชื่อของเรานั้นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง หรือไม่มีเหตุผล แม้ว่าในที่สุดแล้วอาจจะเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์ในท้ายที่สุด และแม้ว่าเราจะจนด้วยเหตุผลเชิงประจักษ์ แต่ความเจ็บปวดระหว่างช่วงระยะเวลาที่ต้องยอมรับความจริงว่า ความเชื่อของตนนั้นผิด อาจจะผิด หรือแค่ไม่ถูกเสียทั้งหมดก็อาจจะสร้างความเจ็บปวดให้ได้

เมื่อต้องยอมรับว่า ความเชื่อของเรานั้นไม่ถูกต้อง หรือไม่มีเหตุผล มันส่งผลให้ทั้งความรู้สึกพังทลายที่ว่า เข็มทิศที่เราใช้อ้างอิงนั้นมิได้นำไปชี้นำในทางที่ถูกต้อง ดวงดาวที่เรายึดถือว่า เป็นหมุดหมายปลายทางนั้นที่แท้เป็นแค่โคมไฟที่ใครสักคนแขวนลืมไว้บนต้นไม้ การลงแรงลงใจที่ผ่านมาทั้งหมดนั้นเป็นเรื่องสูญเปล่า และเราหลุดหลงจากเส้นทางมาไกลอย่างที่ต้องจำนนยอมรับ

ความสิ้นหวังผสมปนเปกับความรู้สึกว่า ความเชื่อนั้นเกิดจากความโง่เขลาไม่รู้รอบของเราเอง จึงประดังประเดกันจนส่งผลให้ผู้ซึ่งความเชื่อพังทลายนั้นจะระเบิดออกในเชิงของการปฏิเสธอย่างดื้อตาใส การต่อต้านอย่างก้าวร้าวต่อผู้ที่พยายามมาชี้ หรือพิสูจน์ความเชื่อนั้น โดยเฉพาะอย่างหลังนั้นอาจจะทำเพื่อหยุดการพิสูจน์ เพื่อจะได้ไม่ต้องให้ความจริงที่ตนเองก็ยังคลางแคลงนั้นกระจ่างออกมาว่า แท้แล้วนั้นคือความลวงเรื่องเท็จ

ยิ่งถ้าความเชื่อนั้นฝังลึกเข้าไปในแก่นแกน หรือเป็นหลักในชีวิตของผู้นั้นแล้ว การที่ความเชื่อนั้นถูกหักล้าง ยิ่งทิ้งหลุมรอยไว้ในจิตใจเหมือนกับการถอนไม้ใหญ่ที่เคยเป็นหลักมั่นอันประคองชีวิต ร่างกาย และจิตใจของเขาเอาไว้

สภาพของการปฏิเสธและต่อต้านนี้เป็นสิ่งที่เราได้พบเห็นเสมอเมื่อมีการกล่าวหา หรือร้องเรียนว่าสมณะที่เป็นที่เคารพสักการะของคนสักหมู่นั้นอาบัติปาราชิก หรือไม่ได้อยู่ในศีลอันสมบูรณ์

กระนั้นสำหรับผู้ที่มั่นใจว่าความเชื่อของตนนั้นมีเหตุผล และทนต่อการอธิบาย ก็อาจจะยินดีที่จะตอบคำถามที่มีผู้ตั้งข้อสงสัยต่อความเชื่อของเขาได้เช่นกัน เพราะอย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่า ความเชื่อใดยิ่งทนต่อคำถาม และพร้อมทานรับการพิสูจน์ได้เท่าไร ก็ย่อมหมายความว่า ความเชื่อนั้นเป็นสัจจะความจริงอันคงทนที่ถามมาก็ตอบได้เสมอ การตอบคำถามและอธิบายกี่รอบกี่ครั้งก็จะไม่สั่นคลอน หรือทำอะไรความเชื่อนั้นได้ และยิ่งสามารถตอบคำถามละเอียดลึกซึ้งได้บ่อยซ้ำเท่าไร ผู้ตอบและผู้มีความเชื่อก็จะยิ่งมั่นใจต่อศรัทธาความเชื่อของตนมากขึ้นเท่านั้น

ในทางกลับกัน หากความเชื่อใดศรัทธาที่ผู้มีความเชื่อนั้นพยายามหลีกเลี่ยงห้ามปราม หรือกีดกันการตั้งคำถาม หรือตอบข้อสงสัย นั่นก็แปลว่าความเชื่อนั้นอาจจะไม่ใช่ของจริง หรือมิได้ตั้งอยู่บนเหตุผลอันมั่นคงเท่าใดนัก อย่างที่แม้แต่ผู้ที่เชื่อเองก็ยังยอมรับและหวั่นใจจนแสดงออกมาในเชิงต่อต้านเช่นที่กล่าวไป หรือความเชื่อนั้นไม่ได้มีตรรกะ หรือประจักษณ์พยานหนักแน่นพอที่จะตอบได้ เพราะนั่นเป็นความเชื่อที่ไม่ได้เกิดจากเหตุผล หรือการไตร่ตรองของผู้ที่มีความเชื่อเช่นนั้นมาตั้งแต่ต้น

เช่นนี้คำพูดที่ว่า หากเด็กเคารพในความเชื่อของผู้ใหญ่ และผู้ใหญ่ตอบคำถามว่าทำไมของเด็กๆ ได้ ก็จะเป็นกุญแจของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติในสังคมแล้ว การที่จะใช้กุญแจนี้ได้ สังคมนั้นอาจจะต้องอยู่ในสภาวะอันเป็นประชาธิปไตย ที่มีเสรีภาพ ความเสมอภาค และภราดรภาพด้วย

สังคมที่มีเสรีภาพที่จะสงสัยในความเชื่อใดๆ ก็ตามที่ส่งผลกระทบต่อส่วนรวมได้ทุกเรื่อง สามารถถามออกมาได้ดังๆ ที่จะเชิญชวนอภิปรายเพื่อหาความจริงอย่างเต็มที่จนแทบไม่มีความเชื่อใดที่ห้ามพิสูจน์ ห้ามถาม ห้ามสงสัย

สังคมที่มีความเสมอภาคที่จะถกเถียงกันได้ภายใต้อำนาจ และความสามารถที่เท่าเทียมกัน พูดได้เสียงดังเท่าๆ กัน โดยไม่มีความเสี่ยง หรือต่อให้มีความเสี่ยงก็ต้องรับไปเท่าๆ กัน ไม่ใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสามารถพูดได้ทุกเรื่องเสียงดัง แต่มีอีกฝ่ายต้องพูดอ้อมไปอ้อมมา เพราะหากพูดไม่ระวังแล้วเกิดโทษภัยจากอำนาจไม่เป็นธรรมบางอย่าง

และสุดท้ายคือ ภราดรภาพ ที่จะทำให้การถกการถามนั้นเป็นไปอย่างเห็นอกเห็นใจและให้เกียรติกัน เยี่ยงคนร่วมครอบครัวที่จะเลือกใช้ท่าทีที่ไม่ทำร้าย หรือทำให้อีกฝ่ายไม่สบายใจ ฝ่ายที่ถามก็ไม่ตั้งคำถามแบบไล่ต้อนมุ่งจะเอาชนะคะคานเกินกว่าขอบเขตของความอยากทราบสงสัย และฝ่ายที่ตอบก็ไม่ตอบด้วยตรรกะวิบัติพาลทะโลเพียงเพื่อปกป้องความเชื่อของตน

สังคมใดที่เป็นประชาธิปไตย ก็จะเป็นสังคมที่ความเชื่อ และเหตุผลอยู่ร่วมกันได้สันติ หรือในอีกทางหนึ่ง การที่ความเชื่อ และเหตุผลสามารถอยู่ร่วมกันได้โดยสันตินั้นก็คือ เครื่องบ่งชี้ความเป็นประชาธิปไตยของสังคมนั้น ฉันใดก็ฉันนั้น

กล้า สมุทวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image