รถเก่าแลกใหม่ต้องใจถึง

ดูเหมือนว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กำลังเร่งสปีดมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเต็มสูบ

ส่วนใหญ่มาตรการที่ผ่านๆ มาของรัฐบาล ไม่ค่อย “โดน” กลุ่มเป้าหมายมากนัก แค่เฉียดๆ ถากๆ

แต่สำหรับโครงการ “คนละครึ่ง” ถือว่าค่อนข้างเข้าเป้า เพราะเม็ดเงินถึงมือผู้ค้ารายย่อยมากขึ้น

หลังจากที่ผ่านมามาตรการต่างๆ โดนรายใหญ่ “งาบ” ไปเกือบหมด

Advertisement

ถ้าเปรียบเป็นไอติม ถึงมือรายย่อยก็เหลือแค่ไม้ไอติมมีคราบไอติมอยู่เล็กๆ น้อยๆ ให้รายย่อยได้ดูดได้เลียพอรู้รสชาติว่าเป็นไอติมแค่นั้น

ดังนั้น เมื่อ “คนละครึ่ง” เข้าเป้า ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลจึงเดินหน้าต่อไม่รอแล้วนะ ลุยต่อเฟส 2 ทันที

งานนี้ต้องยกเครดิตให้กับ สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และทีมเศรษฐกิจที่ช่วยกันผลักดันเรื่องนี้ ช่วยกู้หน้ารัฐบาลไว้ได้

ล่าสุดแว่วมาว่า รัฐบาลเตรียมผลักดันโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญอีกเรื่องคือ โครงการรถแลกแจกแถมเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน

มีที่มาจากการผลักดันของ “ไพรินทร์ ชูโชติถาวร” ประธานกรรมการ ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 หรือเรียกย่อว่า ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) ต้องการให้เร่งส่งเสริมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 100% หรืออีวี ให้เกิดขึ้นจริงจังโดยเร็ว

สอดคล้องกับความเห็นของ เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ก็อยากเห็นรัฐบาลเร่งส่งเสริมอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าเหมือนกับในหลายประเทศกำลังเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้เหมือนกัน

ทางด้านภาคเอกชนค่ายรถยนต์ได้หารือกับภาครัฐ เห็นตรงกันว่าจะเป็นประโยชน์ เพราะอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นอุตสาหกรรมชั้นนำสร้างรายได้ และสร้างงานได้มหาศาล

แต่ต้องพิจารณารายละเอียดอย่างรอบคอบ เบื้องต้นรัฐบาลอาจจะเน้นสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้า ทั้งร    ถไฮบริด ปลั๊กอินไฮบริด และอีวี 100%

มีข้อเสนอหลายเงื่อนไข เพื่อจูงใจให้ประชาชนนำรถเก่ามาแลกรถใหม่ อาทิ ให้ค่ายรถยนต์ สนับสนุนส่วนลด 2% และอุดหนุนค่ากำจัดซาก 1% ของราคาขายรถใหม่

โดยให้นำค่าใช้จ่ายจากการซื้อยานยนต์ไฟฟ้าไปหักภาษีเงินได้ส่วนบุคคล คิดเป็นเงินส่วนลด 3% ของราคาขายรถใหม่ แต่สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท

อย่างไรก็ตาม กระบวนการนี้อยู่ระหว่างการหารือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลังจะต้องดูในเรื่องภาษี รายได้ ผลดี ผลเสีย การกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากน้อยแค่ไหน

และจะต้องไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยโครงการรถยนต์คันแรก เหมือนในอดีตที่ทำให้เกิดความต้องการเทียมหรือดีมานด์เทียม กระทบกับตลาดรถยนต์ กลไกตลาดรวนไปหลายปี

ด้านกระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องจัดกระบวนการและสภาพแวดล้อม สนับสนุนให้เกิดกิจการกำจัดซากรถเก่า

ขณะที่กระทรวงคมนาคมต้องเชื่อมโยงข้อมูลทะเบียนกับกรมขนส่งทางบก เพื่อยกเลิกทะเบียนรถเก่าที่ผ่านการใช้งานมาแล้ว ส่วนจะเป็นรถยนต์เก่ากี่ปี คงต้องหาข้อสรุปกันอีกครั้ง

เรื่องนี้ดูเหมือนไม่มีอะไร แต่ความจริงเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะเกี่ยวข้องกับหน่วยงานจำนวนมาก

ที่สำคัญจะเกิดประโยชน์หลายด้าน ทั้งเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจ การต่อยอดอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศให้เกิดเร็วขึ้น การลดมลพิษ

สำหรับการกำจัดซากรถนั้น เป็นไปตามนโยบายมุ่งเน้นสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจแนวใหม่ เป็นการนำเศษซากมาสร้างประโยชน์ใหม่

รวมทั้งยังช่วยลดปัญหาฝุ่นขนาดเล็ก พีเอ็ม 2.5 ปัญหาหนักอกสำหรับคนไทย แม้เวลาจะผ่านไปกี่ปี ก็ไม่สามารถแก้ได้ กลายเป็นวงจรอุบาทว์ วนกลับมาในช่วงหลังฝนหมดของทุกปี

ทางที่ดีรัฐบาลควรมองเป้าหมายระยะยาว อย่ามองแค่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น แต่ควรให้ความสำคัญกับรถยนต์ไฟฟ้า 100% หรืออีวี เป็นหลักสำคัญ

ส่วนเครื่องยนต์ประเภทอื่น เช่น ไฮบริด หรือปลั๊ก-อิน หรือรถที่ต้องเสียบปลั๊กชาร์จไฟและใช้น้ำมันได้ด้วย จัดลำดับความสำคัญไว้หลังๆ

เพราะถือว่าเป็นเทคโนโลยีค่อนข้างเก่า ค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่ผลิตออกมาเพื่อขายเทคโนโลยีนี้คั่นเวลา ก่อนเปลี่ยนไปสู่รถยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบในเร็วๆ นี้

เรียกได้ว่า ถ้างานนี้รัฐบาล “ใจถึง” กล้าคลอดมาตรการนี้ออกมาได้สำเร็จ ผลประโยชน์จะเกิดขึ้นมาอย่างมากมายมหาศาลเลยทีเดียว

แต่ขึ้นอยู่บนเงื่อนไข ต้องไม่เกรงใจ “ขาใหญ่” เพราะมีบรรดาค่ายรถยักษ์ใหญ่ยังไม่อยากให้เปลี่ยนเทคโนโลยี คอยดึง คอยถ่วงเวลาเอาไว้

ประเทศไทยถึงยังไปไม่ถึงไหนในเรื่องรถยนต์ไฟฟ้าจนถึงวันนี้ยังไงล่ะ

สุรพล สุประดิษฐ์ ณ อยุธยา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image