ประชามติ 7 สิงหาคม โดย วีรพงษ์ รามางกูร

แฟ้มภาพ

การลงประชามติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญถาวรฉบับใหม่เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม ที่ผ่านมา อาจจะต้องถือว่าเป็นเหตุการณ์ทางการเมืองที่สำคัญของประเทศไทย ที่ต้องปรากฏอยู่ในประวัติศาสตร์การเมืองของประเทศไทย

การลงประชามติทั่วประเทศไม่ว่าจะเป็นประเด็นใดประเด็นหนึ่ง ย่อมต้องถือว่าผลของการลงประชามติมีความหมายและมีความสำคัญยิ่ง เพราะเป็นการแสดงเจตนารมณ์ของประชาชนโดยตรง เป็นขบวนการประชาธิปไตยโดยตรง ไม่ต้องผ่านผู้แทนของตน เป็นมติที่ทุกฝ่ายต้องปฏิบัติ การยกเลิกเปลี่ยนแปลงประชามติก็ต้องทำโดยประชามติเช่นเดียวกัน หรือไม่ก็ต้องกระทำโดยคำสั่งของหัวหน้าคณะปฏิวัติหรือคณะรัฐประหาร ที่ยึดอำนาจอธิปไตยไปจากปวงชน เหมือนกับการยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2550 เป็นต้น

ผลของการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่มีสัญญาผูกพันก่อนการลงประชามติ ว่าให้รับร่างรัฐธรรมนูญไปก่อนแล้วค่อย “แก้” ทีหลัง เช่นเมื่อครั้งมีการจัดให้มีการออกเสียงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 แม้ว่าก่อนจะมีผลการลงประชามติรัฐบาลพยายามปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นของฝ่ายที่คัดค้านการลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญก็ตาม ผลของประชามติจึงมีความสำคัญมากยิ่งขึ้นไป

มีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงประชามติครั้งนี้ประมาณร้อยละ 59-60 เมื่อเทียบกับการทำประชามติปี 2550 มีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงประมาณร้อยละ 57 ซึ่งก็ต้องถือว่าเป็นความสำเร็จของ กกต.ที่สามารถกระตุ้นให้มีผู้ออกมาใช้สิทธิออกเสียง การลงประชามติก็เป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย ไม่มีเหตุการณ์รุนแรงใดๆ ตลอดทั้งวันจนสิ้นสุดการนับคะแนนเสียง

Advertisement

ผลของการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญนั้น มีผลทางการเมืองอย่างมาก แม้ว่าผลในทางเศรษฐกิจโดยตรงอาจจะไม่มาก

ประการแรก ผลของประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญในสัดส่วนที่มาก อาจจะกล่าวได้ว่าท่วมท้นก็ได้ คือร้อยละ 61 ต่อ 39 เท่ากับประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศให้ความชอบธรรมกับการทำรัฐประหาร เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 และให้ความชอบธรรมกับคณะรัฐบาลบริหารประเทศไปตามแผนหรือ road map ที่คณะรัฐประหารวางเอาไว้ หากจะมีการฟ้องร้องการปฏิวัติล้มล้างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ที่ผ่านประชามติมาก่อนนั้นแล้ว ก็เป็นอันลบล้างไปด้วยประชามติครั้งใหม่นี้

ประการที่สอง คนไทยไม่ต้องการประชาธิปไตยเต็มใบแบบตะวันตก แต่อาจจะชอบประชาธิปไตยครึ่งใบ โดยการมีนายกรัฐมนตรีที่ไม่จำเป็นต้องมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หลายคนนึกถึงความมีเสถียรภาพทางการเมืองสมัยที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญปี 2520 ที่วุฒิสภามาร่วมลงคะแนนกับสภาผู้แทนราษฎรในญัตติสำคัญๆ ด้วย เมื่อพ้นระยะเวลาบทเฉพาะกาลเป็นประชาธิปไตยเต็มใบแล้ว นายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งก็ไม่สามารถอยู่ในตำแหน่งได้ หัวหน้าพรรคที่มีคะแนนเสียงในสภาผู้แทนราษฎร คือ พรรคชาติไทยก็ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีและถูกกองทัพทำรัฐประหารโค่นล้มในปี 2535

Advertisement

ประการที่สาม ผลของประชามติสะท้อนถึงความนิยมในตัว พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีไปในตัว เพราะตามหลักแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ต้องรับผิดชอบต่อผลของการออกเสียงรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ แม้ว่า พล.อ.ประยุทธ์เคยแถลงว่าจะไม่รับผิดชอบต่อผลของการออกเสียงประชามติก็ตาม เมื่อผลประชามติออกมาว่ารับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งก็ต้องถือว่าเป็นนโยบายและงานสำคัญของคณะรัฐประหาร รัฐบาลชุดนี้ซึ่งนายกรัฐมนตรีมีความชอบธรรมที่จะอ้างได้ นายกรัฐมนตรีเข้าใจผิดว่าการลงประชามติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเป็นคนละเรื่องกับการดำรงอยู่ของรัฐบาล

ประการที่สี่ การที่ประชาชนออกมาใช้เสียงเป็นจำนวนถึงร้อยละ 59-60 เท่ากับว่าประชาชนยังให้ความสนใจกับการเมืองการปกครองของประเทศ ไม่ได้เฉยเมย ไม่ได้เฉื่อยชาต่อกิจกรรมทางการเมือง ปกติการลงประชามตินั้นไม่มีพรรคการเมืองเข้ามายุ่งเกี่ยวในฐานะผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง ประชาชนออกมาใช้สิทธิด้วยตนเองไม่ว่าตนจะชอบหรือไม่ชอบพรรคการเมืองใด สัดส่วนของการออกมาลงคะแนนน่าจะน้อยกว่าการเลือกตั้งทั่วไป แม้ว่าพรรคการเมืองใหญ่ทั้ง 2 พรรคได้แสดงจุดยืนของตนแล้ว แต่ผลของประชามติก็ไม่ได้เป็นไปตามการประกาศจุดยืนของพรรคการเมือง แต่เป็นไปตามจุดยืนของบุคคลแต่ละคน

พฤติกรรมของการออกเสียงประชามติในแต่ละภาคภูมิศาสตร์ แม้ว่ายังมีแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกับการออกเสียงเลือกตั้ง แต่มีสัดส่วนน้อยลง สัดส่วนของการยอมรับระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยครึ่งใบมีมากขึ้น

ประการที่ห้า ในอนาคตประมาณ 5-8 ปีข้างหน้า ขณะที่รัฐสภาอันประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ซึ่งมาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร มีสิทธิเลือกนายกรัฐมนตรีจากคนนอกที่ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้แทนราษฎร เราก็คงจะได้นายกรัฐมนตรีจากคนนอกที่ไม่ได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยการสนับสนุนจากพรรคการเมืองขนาดกลางและขนาดเล็ก ทิ้งพรรคการเมืองขนาดใหญ่เพียงพรรคเดียวเป็นฝ่ายค้าน คล้ายๆ กับพรรคชาติไทยเคยถูกทิ้งไว้ข้างนอกรัฐบาล ในสมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม เมื่อหัวหน้าพรรคชาติไทยประกาศตนจะเป็นนายกรัฐมนตรีเสียเอง จนต้องมีการเปลี่ยนหัวหน้าพรรค จึงสามารถกลับเข้ามาร่วมรัฐบาลได้ เพราะนายกรัฐมนตรีมีสิทธิเลือกพรรคร่วมรัฐบาลได้ ไม่ใช่พรรคเลือกนายกรัฐมนตรี ผู้เลือกนายกรัฐมนตรีคือสมาชิกวุฒิสภาเป็นหลัก พรรคการเมืองเป็นส่วนประกอบ

ประการที่หก ผลของการลงประชามติน่าจะทำให้ความกดดันจากต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในค่ายยุโรปและสหรัฐอเมริกาลดลง เพราะคณะรัฐประหารและรัฐบาลอาจจะอ้างความชอบธรรมจากผลของประชามติได้ อย่างน้อยก็ระดับหนึ่งเมื่อเทียบกับก่อนหน้าการทำประชามติ ที่รัฐบาลไม่อาจจะอ้างความชอบธรรมในการเข้ามายึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

นอกจากนั้นก็คงจะมีเหตุผลอย่างอื่นอีกมากที่เราอาจจะนึกไม่ถึง สำหรับพฤติกรรมทางการเมืองหลายคนคิดว่าในยามที่เศรษฐกิจชะลอตัว ธุรกิจบางส่วนล้มหายตายจากไป คนรุ่นเก่าที่อยู่ในวงการธุรกิจก็มักจะนึกถึงรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ สามารถทำงานได้ มีรัฐมนตรีที่มีประวัติการทำงานไม่ด่างพร้อย มีความรู้ความสามารถ ซึ่งเป็นลักษณะของพวกที่ฝรั่งเรียกว่า technocrat ที่ไม่ต้องกังวลต่อคะแนนเสียงความนิยมเมื่อถึงคราวจะมีการเลือกตั้ง

เมื่อผลของประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญออกมามีเสียงรับมากกว่าที่คาดมากมายเช่นนี้ รัฐบาลทหารก็ยิ่งผูกพันกับพันธะที่จะต้องปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่ได้ให้ไว้กับประชาชน โดยเฉพาะปฏิบัติตามสัญญาประชาคมที่ให้ไว้ว่าจะต้องมีการเลือกตั้งทั่วไปภายในปี 2560

การที่ประชาชนยังไม่กดดันรัฐบาลทหารให้คืนอำนาจการปกครองตนเองในขณะนี้ ก็เพราะมีความหวังว่าประเทศชาติจะกลับคืนสู่สังคมประชาธิปไตยสังคมพลเรือน ไม่ใช่สังคมทหาร อย่างนานาอารยประเทศภายในสิ้นปี 2560 แต่ถ้ามีสัญญาณว่าจะมีการผิดสัญญา หรือมีความพยายามให้เป็นไปอย่างอื่น ปฏิกิริยาก็จะเกิดขึ้นไม่ช้าก็เร็ว

ในทางกลับกัน ถ้าผลของประชามติออกมาว่าประชาชนส่วนใหญ่ออกเสียงไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ การเมืองก็จะเข้าสู่ภาวะทางตันทันที ยังนึกไม่ออกว่ารัฐบาลจะหยิบรัฐธรรมนูญฉบับใดที่ประชาชนยอมรับได้ เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งคืนอำนาจให้ประชาชนได้อย่างราบรื่น เพราะขนาดร่างรัฐธรรมนูญที่คณะกรรมาธิการยกร่างทำขึ้นประชาชนยังไม่ยอมรับ แล้วจะยอมรับรัฐธรรมนูญที่ทหารหยิบขึ้นมาได้อย่างไร

ยังมีเวลาอีกกว่า 1 ปี รัฐบาลควรเร่งดำเนินโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทุกอย่าง โดยใช้เงินกู้ภายในประเทศให้รวดเร็วกว่านี้ เพราะเวลาจะผ่านไปอย่างรวดเร็ว ต้องสร้างผลงานให้ปรากฏไว้เช่นเดียวกับจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และ พล.อ.เปรม

 

ผู้คนก็จะไม่ลืมตลอดไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image