ตีความ โดย วรศักดิ์ ประยูรศุข

เรียกน้ำย่อยทันที หลังจากร่างรัฐธรรมนูญ และคำถามพ่วงผ่านประชามติ

นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีต ส.ว. อดีต สปช. เปิดแถลงว่า จะตั้งพรรคการเมือง ชื่อว่าพรรคประชาชนปฏิรูป

นอกเหนือจากการปฏิรูปต่างๆ แล้ว พรรคนี้จะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นนายกฯ

ถือเป็นการจุดพลุโยนหินที่เรียกเสียงฮือฮาจากวงการเมือง แม้จะรู้สึกว่า ไม่ใช่มุขที่สดใหม่อะไรนัก

Advertisement

นายไพบูลย์กล่าวด้วยว่า คำถามพ่วงที่ประชาชนโหวตเห็นชอบกว่า 10 ล้านเสียง คงมีอุดมการณ์เดียวกับที่ตนเคยเสนอคือ สนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯต่อ เพราะถ้าไม่เห็นชอบคงไม่โหวตคำถามพ่วงให้ผ่านมากขนาดนี้

สำหรับคำถามพ่วงที่ได้รับความเห็นชอบด้วยคะแนน 13.9 ล้าน ต่อ 10 ล้านเสียง ในการลงประชามติเมื่อวันที่ 7 ส.ค.ที่ผ่านมา มีเนื้อความว่า ใน 5 ปีแรก

ให้ ส.ว.ร่วมโหวตเลือกนายกฯกับ ส.ส.ได้

Advertisement

คำถามพ่วงที่ว่านี้ คณะของ อ.มีชัย ฤชุพันธุ์ จะต้องไปเติมไว้ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ

เป็นการยกเว้นบทบัญญัติในรัฐธรรรมนูญ ที่กำหนดให้เฉพาะ ส.ส. 500 คน เป็นผู้เลือกนายกฯ ส่วน ส.ว. บทเฉพาะกาลกำหนดว่า ในวาระเริ่มแรก ให้มี ส.ว. 250 คน ที่ คสช.เป็นผู้สรรหา ด้วยวิธีการต่างๆ โดยให้มี ปลัดกลาโหม ผบ.สูงสุด ผบ. 3 ทัพ และ ผบ.ตำรวจแห่งชาติ รวม 6 ตำแหน่ง รวมอยู่ด้วย

เท่ากับว่า ในรัฐสภา 750 คน ส.ว.มีสัดส่วน 1 ใน 3 เลยทีเดียว

ส่วนในรัฐธรรมนูญ กำหนดให้มี ส.ว. 200 คน มาจากสาขาอาชีพต่างๆ แล้วมาเลือกกันเองให้เหลือตามจำนวน

คำประกาศของนายไพบูลย์ ออกมาในกระแสเดียวกับการตีความผลประชามติ ที่หลักๆ เห็นว่า เป็นคะแนนเสียงสนับสนุนรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ และ คสช.

ต้องคอยดูกันต่อไปว่า จะมีรายใหญ่ๆ โดดออกมาในแนวเดียวกันอีกหรือไม่

และบิ๊กตู่จะมีความเห็นอย่างไรกับเสียงเชียร์ซึ่งจะยืดเวลาลงจากหลังเสือออกไป

สิ่งที่เกิดขึ้นขณะนี้ ไม่ได้เหนือความคาดหมาย เพราะในอดีตก็เคยมีมาแล้ว ที่ภายหลังรัฐประหาร จะมีสูตรตั้งพรรคการเมือง ต่อท่ออำนาจ รองรับผู้นำรัฐประหารมาเป็นนายกฯในระบบพรรคการเมือง

ครั้งหลังสุดได้แก่ รัฐประหาร รสช.เมื่อ 23 ก.พ.2534 ก่อนลงเอยด้วยเหตุการณ์ในเดือน พ.ค. 2535

ส่วนรัฐประหาร 19 ก.ย.2549 เกิดการคืนอำนาจอย่างรวดเร็ว ไม่ต่อท่ออำนาจ แล้วพรรคไทยรักไทยลุกจากหลุมมาชนะเลือกตั้ง จนกลายเป็นที่มาของข้อสรุป “เสียของ”

ผลประชามติ, รัฐธรรมนูญใหม่และบทเฉพาะกาล จะนำพาการเมืองมุ่งไปทางไหนพอเห็นกันได้อยู่

แต่จะไปได้แค่ไหน การตีความตัวเลขต้องเป๊ะ คลาดเคลื่อนขึ้นมาก็เหนื่อยเหมือนกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image