ปรองดอง-ปฏิรูป โดย วีรพงษ์ รามางกูร

ขณะนี้คำว่าปฏิรูปกับปรองดองเป็นคำที่ได้ยิน ได้ฟัง ได้อ่าน อยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะนั่งฟังวิทยุที่ไหน อ่านหนังสือพิมพ์หรือดูข่าวจากเว็บ ดูโทรทัศน์ พอๆ กับได้ฟังเพลงคืนความสุขให้ประชาชน กลายเป็นสังคมที่ถูก “รัฐ” ทำการล้างสมอง ถูกบังคับดู บังคับฟัง บังคับอ่านไปเสียแล้ว ซึ่งเป็นของธรรมดาที่ไม่ใช่สังคมพลเรือนหรือ civil society

นึกถึงสมัย 60 ปีก่อน เมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำรัฐประหารรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของพรรคเสรีมนังคศิลา ด้วยข้อกล่าวหาว่าเลือกตั้งสกปรก มีการซื้อสิทธิขายเสียง รัฐบาลทุจริตคอร์รัปชั่นและมีการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ด้วยข้อหา 3 ข้อนี้ กองทัพจึงมีความจำเป็นต้องทำการปฏิวัติ เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2500

ประเทศไทยหลังการทำรัฐประหารเมื่อปี 2500 และมีการทำรัฐประหารซ้ำอีกในปี 2502 จึงเป็นยุคปฏิวัติและยุคพัฒนา ทุกอย่างจะอยู่ในขบวนการปฏิวัติและขบวนการพัฒนา เด็กสมัยนั้นก็ต้องเป็นเด็กที่ปฏิวัติตัวเองเพื่อการพัฒนา มีคำว่าปฏิวัติกับคำว่าพัฒนา พร้อมกับมีคำขวัญว่า “น้ำไหล ไฟสว่าง ทางดี มีงานทำ” ที่ผู้คนจะได้ยินอยู่ตลอดเวลา เวลาผ่านมา 60 ปี เราก็กลับมาที่เดิม มาฟังคำขวัญที่มีเนื้อหาคล้ายๆ เดิม แต่เป็น “นามธรรม” ไม่เป็น “รูปธรรม” เหมือนเดิม

เมื่อจะดำเนินการปรองดองก็ต้องตั้งอยู่บนสมมุติฐานที่ว่า ผู้คนแตกแยกกัน ที่ว่าแตกแยกนั้นมีพื้นฐานมาจากอะไร ประการแรก ทางความคิดหรือทางฐานะทางเศรษฐกิจหรือความเชื่อในลัทธิศาสนา พื้นที่ภูมิศาสตร์ ประการที่สอง จำนวนคนในแต่ละฝ่ายมีจำนวนเท่าๆ กัน หรืออย่างน้อยก็ไม่มากไม่น้อยกว่ากันมากนัก ประการที่ 3 สาเหตุของการแตกแยกคืออะไร ในเมื่อก่อนหน้านั้นความแตกแยก ด้วยสาเหตุทางความคิด ทางเศรษฐกิจ ลัทธิศาสนา แทบจะไม่มี ในระยะ 10 ปีหลังมานี้ ความรู้สึกว่าตนไม่ได้รับความเป็นธรรม มีการเลือกปฏิบัติ มีการใช้มาตรฐานที่ไม่เหมือนกันในการปฏิบัติต่อตนเองหรือพรรคพวกของตนเอง ในระยะยาวสังคมไม่มีทางอยู่ได้ถ้าคนส่วนใหญ่รู้สึกว่าตนถูกกดขี่ ตนไม่ได้รับความเป็นธรรมจากคนส่วนน้อยที่มีฐานะทางเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมสูงกว่า หรือแม้แต่กลุ่มคนส่วนน้อยก็รู้สึกว่าตนไม่ได้รับความเป็นธรรม

Advertisement

“การปรองดอง” จึงเป็นเพียงวาทะ ที่ฟังดูดีเป็นไปในทางสร้างสรรค์ แต่ไม่สู้จะมีความหมายอะไร ถ้าความแตกแยกเกิดขึ้น เพราะสังคมที่คนส่วนใหญ่รู้สึกว่าตนไม่ได้รับความเป็นธรรม สังคมใช้มาตรฐานที่แตกต่างในการปฏิบัติต่อกัน

ขณะเดียวกัน คนจำนวนน้อยกว่า แต่อยู่ในฐานะทางเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมที่สูงกว่า แต่ไม่รู้สึกว่าตนมีความรู้สึกเช่นนั้น คิดว่าเป็นเรื่องธรรมดาหรือเป็นสิทธิอันชอบธรรมของตน หรือถ้าจะรู้สึกก็ไม่คิดว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เป็นอันตรายต่อการดำรงอยู่ของสังคมในโครงสร้างเดิมที่ตนหรือกลุ่มคนในแวดวง ของตนสังกัดอยู่

ด้วย เหตุที่การปรองดอง กลมเกลียวสมานฉันท์เป็น “นามธรรม” เป็นเรื่องของจิตใจ เป็นเรื่องของความรู้สึก เป็นเรื่องของ “ศรัทธา” ซึ่งไม่สามารถบังคับกันด้วยกฎหมายหรือปากกระบอกปืนได้

การปลุกกระแสเรื่องการปรองดอง โดยไม่ทราบว่าจะทำให้เกิดความปรองดองได้อย่างไร จะต้องทำอย่างไรบ้าง แม้เป็นเรื่องที่ต้องทำแต่ก็คงจะหวังผลในระยะสั้นๆ นี้ไม่ได้ จิตใจของผู้คนนั้นเมื่อเสียไปแล้วก็ยากที่จะทำให้กลับคืนมาได้ บางทีนานเกินกว่าชั่วอายุคน

Advertisement

วิธีที่น่าจะดีกว่าก็คือ ขจัดสิ่งที่ผิดพลาดในอดีต บังคับใช้กฎหมายโดยปฏิบัติต่อทุกคนอย่างเสมอหน้า ฟังเสียงของคนส่วนใหญ่ เปิดโอกาสให้คนส่วนใหญ่ได้มีตัวแทนที่จะมีส่วนร่วมในการกำหนดโชคชะตาของบ้าน เมืองของเขา ทำให้เขามีความรู้สึกว่าเขาก็เป็นเจ้าของประเทศนี้ด้วยเหมือนกัน ไม่ใช่เป็นเพียงผู้ถูกปกครองเท่านั้น ความรู้สึกเช่นนี้หมดไปเมื่อมีการรัฐประหารและมีการจัดตั้งรัฐบาลเผด็จการ ทหารขึ้น คงจะได้ยินวาทะการสร้างความปรองดองตลอดทั้งปีในปี 2559 นี้ แต่ความปรองดองจะเกิดหรือไม่เกิดไม่มีใครรู้ เพราะเป็นเรื่อง “นามธรรม” เรื่องของจิตใจ แต่ที่เป็นรูปธรรม ที่ได้เห็น ได้ยินและจับต้องได้ก็คือ ขบวนการเล่นงาน สิ่งที่เป็นของคนส่วนใหญ่ โดยไม่สนใจว่าคนส่วนใหญ่ของสังคมจะ “สะเทือนใจ” อย่างไร

อีกเรื่องที่เป็นเรื่องได้ยินอยู่ตลอดเวลาคือ “ปฏิรูป” ที่ต้องปฏิรูปก็เพราะ ของเก่าไม่ดี ล้าสมัย ไม่ทันสมัย ดำรงอยู่ต่อไปไม่ได้ ต้องไปแก้ไขเปลี่ยนแปลง แต่เป็นอะไรบ้าง มีอะไรบ้าง ไม่มีใครทราบ ทราบแต่ว่ามีการปฏิรูปกฎหมาย ปฏิรูประบบภาษีอากร ปฏิรูประบบข้าราชการ ปฏิรูปการศึกษา ปฏิรูประบบพรรคการเมือง การเลือกตั้ง ซึ่งต้องคอยฟังกันต่อไปว่าจะทำอย่างไร

ส่วนการปฏิรูปในสิ่งที่เป็นนามธรรมคือ ปฏิรูปความรู้สึกนึกคิด เรื่องสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค การมีส่วนร่วมขบวนการประชาธิปไตย ซึ่งเป็นกระแสของโลกในยุคโลกาภิวัตน์ ยังไม่เคยได้ยินว่าเรากำลังมุ่งหน้าไปทางนั้น ตรงกันข้ามเรากำลังปลุกกระแสต่อต้านสิ่งซึ่งกำลังเป็นกระแสของโลกในขณะนี้

ปีที่แล้วเป็นปีที่มีการเลือกตั้งทั่วไปในประเทศพม่า ประเทศเพื่อนบ้านที่มีรัฐบาลเผด็จการทหารมาอย่างช้านาน ตั้งแต่นายพลเนวินทำการรัฐประหาร รัฐบาลประชาธิปไตยของนายกรัฐมนตรีอู นุ ในปี 2505 สื่อมวลชนทั่วโลกกระพือข่าวนี้ไปทั่วโลก ขณะนี้ปี 2559 จะถูกกลบด้วยข่าวการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ข่าวการเลือกตั้งประธานาธิบดีรัฐสภา ผู้ว่าการของรัฐและสภาของรัฐ ทำให้ช่วงเวลาของเหตุการณ์เช่นว่านี้กลายเป็นบรรยากาศที่จะกดดันกระแสปฏิรูป ของประเทศเรา ให้คืนสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยให้คนไทยโดยเร็ว ไม่ช้ากว่ากำหนด

ถ้าจะมีการปฏิรูปก็คงจะเป็นกระแสเรียกร้องให้การเมืองมีการปฏิรูปกลับไปที่เดิม มีการเลือกตั้ง ผลการเลือกตั้งเป็นไปอย่างเดิม เพราะคิดไม่ออกอย่างที่ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญกล่าวว่า จะเขียนรัฐธรรมนูญให้มีผลการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีผลแตกต่างไปจากเดิมอย่างมีนัยสำคัญอย่างไร

ที่สำคัญก็คือยังไม่มีใครรู้ว่า โครงการต่างๆ ที่จะปฏิรูปนั้น ของเดิมมีจุดบกพร่องมีจุดอ่อนอย่างไร ล้าสมัยอย่างไร แล้วถ้าจะปฏิรูป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาษีอากร การเงิน การค้า ระบบการค้า ระบบขนส่ง คมนาคม และเรื่องอื่นๆ ที่เป็นเรื่องกายภาพ จะทำอย่างไรบ้าง แม้จะไม่รู้หรือไม่มีใครสนใจอยากจะรู้ ตัวผู้ทำการเองก็น่าจะรู้และบอกให้คนอื่นรู้บ้าง

แม้ว่ากระแสการปฏิรูปจะเป็นกระแสที่ถูกสร้างขึ้น เป็นกระแสหลักควบคู่ไปกับกระแสการสร้างการปรองดองไปตลอดทั้งปีในปีนี้ แต่บรรยากาศ ก็คงจะอึดอัด อึมครึม ไม่ชัดเจน ว่าสังคมต้องการอะไร ผู้ปกครองจะเอาแบบไหน ยังไม่มีอะไรชัดเจน

แต่ ที่ชัดเจนก็คือเรื่องเศรษฐกิจ ประเทศถูกปิดล้อมโดยมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ เช่น สหรัฐอเมริกาและยุโรป ออสเตรเลีย เป็นต้น การเจรจาเรื่องการค้าการส่งออกทำไม่ได้ ราคาสินค้าตกต่ำตามสถานการณ์เศรษฐกิจของโลก อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจต่ำลง ขณะนี้การว่างงานสำหรับคนชั้นล่างยังไม่มีปัญหา แต่การหางานทำของบัณฑิตจบใหม่เริ่มมีปัญหา แต่ก็ยังไม่ถือว่ามีความรุนแรงอะไร ทุนสำรองระหว่างประเทศก็ยังมั่นคง

มีเพียงสภาพจิตเท่านั้นที่ยังอึดอัด อึมครึม ไม่ชัดเจน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image