ให้โอกาสความสมานฉันท์อันแสนยาก

เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2563 นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เผยผลการหารือร่วม 3 ฝ่าย ระหว่างนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล และนายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน ว่าที่ประชุมได้พิจารณาโครงสร้างคณะกรรมการสมานฉันท์ที่เสนอโดยเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ดังนี้

คณะกรรมการสมานฉันท์จะมีจำนวน 21 คน มาจาก 7 กลุ่ม ประกอบด้วย (1) ตัวแทนจากรัฐบาล 2 คน (2) ตัวแทนจาก ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล 2 คน (3) ตัวแทนจาก ส.ส.ฝ่ายค้าน 2 คน (4) ตัวแทนจาก ส.ว. 2 คน (5) ตัวแทนจากกลุ่มผู้ชุมนุม 2 คน (6) ตัวแทนจากกลุ่มผู้มีความเห็นเป็นอย่างอื่น 2 คน และ (7) ผู้ทรงคุณวุฒิ 9 คน โดย 3 คนมาจากที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย, 1 คนมาจากที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ, 1 คนมาจากที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล และ 4 คนมาจากผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์ด้านปรองดองสมานฉันท์ และมีนายคุณวุฒิ ตันตระกูล รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่เป็นเลขานุการ

นายชวน กล่าวว่า เบื้องต้นใช้ชื่อว่าคณะกรรมการสมานฉันท์ แต่หากต้องการปรับเปลี่ยนภายหลังก็สามารถทำได้ รวมถึงตำแหน่งประธานคณะกรรมการฯ นั้นขึ้นอยู่กับมติของคณะกรรมการฯ

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน ตัวแทนผู้ชุมนุม (คณะราษฎร 2563) ได้แถลงข่าวที่ท้องสนามหลวงว่า คณะกรรมการสมานฉันท์เป็นเพียงการแสดงละครทางการเมืองของรัฐบาลเพื่อซื้อเวลาให้นายกรัฐมนตรีอยู่ต่อ พร้อมทั้งยืนยันให้นายกรัฐมนตรีลาออกเท่านั้น “เราไม่สามารถปล่อยให้ พล.อ. ประยุทธ์ตีเนียนไปจนหมดวาระได้แน่นอน”

Advertisement

ดูเหมือนว่าจะมีกรรมการฯที่เห็นด้วยกับรัฐบาลอยู่ในคณะกรรมการฯค่อนข้างมาก (ตัวแทนรัฐบาล + ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล + ส.ว. รวม 6 คน และน่าจะรวมถึงตัวแทนผู้มีความเห็นเป็นอย่างอื่น 2 คน และตัวแทนจากที่ประชุมอธิการบดี 5 คน รวมเป็น 15 คน คิดเป็นสัดส่วนห้าในเจ็ดของกรรมการฯทั้งหมด) การสมานฉันท์ในหมู่กรรมการฯก็อาจจะง่าย แต่โจทย์น่าจะอยู่ที่ความสมานฉันท์ของพลเมืองโดยรวม แม้กรรมการฯบางคนจะโน้มเอียงไปทางรัฐบาล แต่ทุกคนจะต้องตอบโจทย์นี้ให้ได้มิใช่หรือ

หลังจากที่รัฐสภาไม่รับหลักการญัตติ 4 ฉบับของ ส.ส. ฝ่ายค้าน และ 1 ฉบับที่มาจากการเข้าชื่อของประชาชนประมาณหนึ่งแสนคน ผู้ชุมนุมหลายคนคงรู้สึกผิดหวังมิใช่น้อย ประกอบกับการยืนยันจากแกนนำคณะราษฎร 2563 ที่ว่าจะไม่ลดเพดานของข้อเรียกร้อง ได้แก่ (1) ขอให้นายกรัฐมนตรีลาออก (2) ขอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญและให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (3) ขอให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ นั้น ทำให้ความหวังที่มีต่อคณะกรรมการสมานฉันท์ดูริบหรี่เต็มที

ข่าวร้ายที่มาซ้ำเติมความหวังอันริบหรี่นี้คือแถลงการณ์นายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้ “ปัจจุบันสถานการณ์ยังคงไม่คลี่คลายไปในทิศทางที่ดีนัก และมีแนวโน้มจะพัฒนาไปสู่ความขัดแย้ง นำไปสู่ความรุนแรงมากยิ่งขึ้น หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไปอาจเกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ และสถาบันอันเป็นที่รักยิ่ง รวมทั้งความสงบสุขปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนโดยทั่วไป รัฐบาลและหน่วยงานด้านความมั่นคงจึงจำเป็นต้องเพิ่มความเข้มข้นในการปฏิบัติ โดยจะบังคับใช้กฎหมายทุกฉบับ ทุกมาตราที่มีอยู่ ดำเนินการต่อผู้ชุมนุมที่กระทำความผิด ฝ่าฝืนกฎหมาย เพิกเฉยต่อการเคารพสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น โดยจะดำเนินคดีต่าง ๆ ให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมของประเทศ ที่สอดคล้องกับหลักการสากล”

Advertisement

วลีที่ว่า “จะบังคับใช้กฎหมายทุกฉบับ ทุกมาตราที่มีอยู่” นั้น หมายถึงอะไร ก็น่าจะตีความได้ว่า ก่อนหน้านี้นายกรัฐมนตรีเคยกล่าวว่า ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงมีรับสั่งมิให้ใช้มาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญาที่บัญญัติว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15 ปี” นั้น มาบัดนี้ สถานการณ์เปลี่ยนไปและจะใช้มาตรา 112 แล้ว ประกอบกับคำกล่าวของนายวิษณุ เครืองามที่พูดในทำนองว่า มาตรา 112 มิได้มีบทลงโทษที่ร้ายแรงอะไรนักเมื่อเทียบกับมาตราอื่นของประมวลกฎหมายอาญาในหมวดเดียวกัน ทำให้เชื่อได้ว่าอาจมีการบังคับใช้มาตรานี้กับผู้ชุมนุม

การนัดชุมนุมในวันที่ 25 พฤศจิกายนที่สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ หรือวังแดง ซึ่งมีการระบุว่าเป็นเขตพระราชฐาน ที่ห้ามมิให้มีการชุมนุมในระยะที่ใกล้กว่า 150 เมตร และตำรวจได้นำลวดหนามมากั้นไว้ตั้งแต่วันที่ 23 พฤศจิกายนแล้วนั้น ทำให้ประเมินว่าอารมณ์ความรู้สึกดูจะเป็นการยกระดับความขัดแย้งมากกว่าจะเป็นอารมณ์แห่งความสมานฉันท์

อย่างไรก็ดี ขอโอกาสให้ความสมานฉันท์ด้วย คำคำนี้หมายถึง “ความมีใจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ความพร้อมใจกัน” ซึ่งทำได้ยากกว่าการปรองดองที่มีความหมายว่า “ประนีประนอม ไม่แก่งแย่งกัน” ขอเอาใจช่วยคณะกรรมการสมานฉันท์ที่กำลังจะตั้งขึ้นนี้ เพราะเป็นหนทางแห่งสันติที่เน้นความ “เสมอกัน” ทั้งในความเคารพและการมีศักดิ์ศรี ผมมองไม่ออกว่าการขัดแย้งครั้งนี้จะคลี่คลายโดยไม่ใช้ความรุนแรง (ซึ่งมักจะมาจากฝ่ายรัฐหรือผู้ที่มีอาวุธ) ได้อย่างไร หากไม่มีการพูดคุยกันด้วยใจที่รักอย่างเสมอเหมือนกันในความเป็นธรรม

เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม มีคณะบุคคลเข้ากราบนมัสการสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ อ. ปยุตฺโต) และขอให้ท่านช่วยอธิบายความหมายของความสมานฉันท์ ซึ่งขอสรุปใจความดังนี้

สม แปลว่าเสมอกัน ฉันทะ แปลว่าความเห็นพ้องต้องกันของคนหมู่มาก ความไว้เนื้อเชื่อใจ รวมกันหมายถึงความเห็นพ้องโดยความเสมอเหมือนกัน เพื่อให้เกิดความสมานฉันท์ขึ้น จะต้องการปัจจัยสำคัญอย่างน้อย 3 ประการ ได้แก่

เจตนา (intention, volution, will) ในที่นี้หมายถึงใจตรงกัน ในอันที่จะกระทำการณ์เพื่อประโยชน์ร่วมกัน เจตนานั้นพึงมีฉันทะ (ศรัทธา ความคิด ความเชื่อ) เป็นจุดร่วม ซึ่งหมายถึงการสมานทิฏฐิให้เข้ากันได้นั่นเอง อย่างไรก็ดี ความสมานฉันท์มีหลายระดับ ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเห็นพ้องต้องกันในทุกระดับ เช่น เป็นธรรมดาสำหรับผู้ที่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองที่ต่างกันที่จะมีฉันทะไม่ตรงกัน แต่ในระดับที่สูงขึ้นก็อาจมีฉันทะตรงกันได้ เช่น ในระดับของรัฐหรือของระบอบประชาธิปไตย เมื่อกล่าวถึงเจตนา จะมีผู้วิจารณ์ว่าเป็นเรื่องของใจ เป็นเรื่องภายในที่ดูไม่ออก ดังนั้น เจตนาแห่งความสมานฉันท์มิใช่ดูที่ใจอย่างเดียว จะต้องดูที่การกระทำที่ตรงกับใจด้วย เช่น มีการกระทำเพื่อประโยชน์ของรัฐหรือระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เจตนาต้องการจิตสำนึกที่โยงเข้าหาเป้าหมาย เช่น มีจิตสำนึกที่มุ่งเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน สรุปก็คือเจตนานั้นเป็นเหตุ ส่วนความสามัคคีคือผล

ปัญญา หมายถึงความรู้ การเข้าถึงข้อเท็จจริง ความสามารถในการแสดงเหตุผลให้ผู้อื่นเข้าใจความปรารถนาดีของตน โดยการแสดงความเห็นต้องอยู่บนพื้นฐานของความรู้ มีมุมมองที่กว้าง และต้องพูดกันได้ทั้งหมด เช่น สามารถอธิบายว่าวัฒนธรรมนี้เป็นมาอย่างไร วัฒนธรรมของทั่วโลกนี้เป็นอย่างไร พูดกันด้วยข้อมูลที่ไม่เข้าใครออกใคร ปัญญาช่วยให้สามารถแยกความรู้และความรู้สึกออกจากกัน ปัญญาช่วยให้เข้าใจวัตถุประสงค์ของการตกลงกัน เช่น ปัญญาช่วยให้เข้าใจว่ากติกาหรือกฎหมายมีไว้ทำไม อาทิ เข้าใจว่ากฎจราจรมีไว้เพื่อให้รถแล่นไปได้โดยมีอุบัติเหตุน้อยที่สุด ปัญญาช่วยให้พระสงฆ์เข้าใจว่าการตีระฆังมีไว้เพื่อให้กิจของสงฆ์เป็นไปตามการนัดหมาย พลเมืองเข้าใจว่ากฎหมายมีวัตถุประสงค์ให้ทุกคนอยู่เย็นเป็นสุข มิใช่มุ่งการบังคับตามเจตนาของการเมืองที่ไร้เมตตา ส่วนสื่ออาจมุ่งให้ตื่นเต้นเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจ แต่ทั้งนี้ก็ไม่ควรลืมประโยชน์สุขส่วนรวมซึ่งเป็นวัตถุประสงค์ที่อยู่เหนือขึ้นไป ผู้รับสารเองต้องพัฒนาปัญญาเพื่อแยกแยะความน่าเชื่อถือของข่าวสารและรู้เท่าทันเจตนาของสื่อ กรณีที่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมีคนในกลุ่มซึ่งศีลไม่สมานกับกลุ่มหรือมีศีลวิปริต คนอื่น ๆ ในกลุ่มก็ต้องมีปัญญาที่จะก้าวข้ามการไม่สมานทิฏฐินั้นไปได้ เป็นต้น สรุปก็คือ เจตนาเท่านั้นไม่พอ ต้องพัฒนาปัญญาควบคู่ไปด้วย

การสังเคราะห์ หมายถึงการนำสิ่งต่าง ๆ มารวมหรือสมานให้เข้าด้วยกัน เจตนา ปัญญา และการกระทำสอดคล้องและไม่ขัดกัน ทำให้ความสมานฉันท์นำไปสู่การกระทำที่ส่งผลดีตามเจตนาและตามวัตถุประสงค์ที่เล็งไว้ด้วยปัญญา

คำสอนของสมเด็จพระโฆษาจารย์ย่อมลุ่มลึกกว่าที่ผมสามารถสรุปได้ด้วยข้อความข้างต้น แต่อย่างน้อยคำสอนนี้สอนเราว่า ความสมานฉันท์เป็นเรื่องที่ยาก ดังนั้น คนที่จะมาเป็นกรรมการสมานฉันท์ควรจะมีฉันทะและวิริยะที่จะทำงานนี้ด้วยจิตอาสา ด้วยน้ำใสใจจริง จนได้รับความไว้วางใจแม้แต่จากผู้เห็นต่าง เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่จะทำให้ภารกิจการเสริมสร้างความเห็นพ้องต้องกัน บังเกิดเป็นผลดีต่อสังคมทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

โคทม อารียา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image