โค้งสุดท้ายของการเมืองปี 2563

เขาสู่เดือนสุดท้ายของปี 2563 การเมืองและเศรษฐกิจของไทยยังคงร้อนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และไม่มีทีท่าที่จะจบลงง่ายๆ ในสัปดาห์นี้เลยคิดว่าน่าจะลองประมวลเรื่องราวที่คิดว่าสำคัญก่อนที่จะเหลือเวลาอีกเดือนเดียวที่จะก้าวผ่านปีนี้ไป

ประการที่หนึ่ง เศรษฐกิจของประเทศอาจจะเริ่มเข้าที่เข้าทางมากขึ้น แต่การเข้าที่เข้าทางมากขึ้นน่าจะหมายความว่าไม่ตกต่ำไปกว่านี้ ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะว่าสถานการณ์ในโลกนั้นทรงตัวกว่าช่วงที่โควิดกระทบหนักประมาณกลางปี

แน่นอนว่ามาตรการรัฐ “คนละครึ่ง” นั้นน่าจะเป็นนโยบายที่มาถูกทางที่สุดท่ามกลางนโยบายในช่วงหลัง และแม้ว่าจะมีข้อวิจารณ์อยู่ อาทิ การเข้าไม่ถึงของประชากรอีกจำนวนไม่น้อย แต่เรื่องนี้หากรัฐบาลนั้นเอาจริงเอาจัง โดยเฉพาะการเชื่อมประสานกับกระทรวงดีอีเอส และกระทรวงอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ก็น่าจะทำให้นโยบายคนละครึ่งพอที่จะเป็นรากฐานของการแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจไปได้ในระดับหนึ่ง

หมายความว่า ควรจะถึงเวลาของการตั้งคำถามแล้วว่า ประชาชนควรจะมีสิทธิเข้าถึงสัญญาณอินเตอร์เน็ตในฐานะสิทธิขั้นพื้นฐานในประเทศนี้ได้หรือยัง (อย่างน้อยก็ควรมีสิทธิขั้นต่ำว่าจำนวนสักเท่าไหร่ต่อเดือน เพราะอย่าลืมว่าเรื่องเหล่านี้ กสทช.น่าจะต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบ) รวมทั้งการครอบครองโทรศัพท์มือถือขั้นพื้นฐาน (ลองคิดถึงตอนที่แจกกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิทัล เป็นต้น ใครมีแล้วก็ใช้สิทธิไปลดรุ่นที่แพงกว่าได้)

Advertisement

อีกเรื่องหนึ่งที่ควรจะพิจารณาร่วมกันก็คือ เรื่องของการกำหนดโควต้าการรับสิทธิคนละครึ่ง และระยะเวลา (รวมทั้งการขยายระยะเวลา) ของการใช้โครงการนี้ ซึ่งน่าจะต้องมาคิดร่วมกันว่า ในการ
กำหนดโควต้าการรับสิทธินั้นควรจะมีในจำนวนเท่าไหร่ และช่องทางการรับสิทธินอกจากการลงทะเบียนในอินเตอร์เน็ตแล้วเราสามารถไปลงทะเบียนที่ไหนได้อีกบ้าง

สุดท้ายนอกจากโครงการคนละครึ่งแล้ว ในโครงการที่มีลักษณะเช่นนี้ เช่น บัตรคนจน การลดหย่อนภาษี เที่ยวด้วยกัน ฯลฯ ควรจะมีระบบตรวจสอบที่เป็นอิสระจากรัฐ ยึดโยงกับประชาชนในแง่ของการแต่งตั้ง และเปิดโอกาสให้มีการตรวจสอบ ซึ่งเรื่องเหล่านี้น่าจะเป็นเรื่องที่จะสร้างผลงานได้ดีกว่าเรื่องของการให้รัฐบาลมาประชาสัมพันธ์เสียเอง

ประการที่สอง สถานการณ์โควิดน่าจะเริ่มผ่อนคลายขึ้น แม้ว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมาจะมีกรณีการติดเชื้อและแนวโน้มที่ต้องเฝ้าระวังที่เชียงใหม่ แต่ในอีกด้านหนึ่งระบบการเฝ้าระวัง ติดตามผล รักษาพยาบาลของประเทศก็เป็นระบบที่มีมาตรฐานและเข้าถึงประชาชน ประกอบกับความร่วมมือร่วมใจของประชาชนในเรื่องของการเฝ้าระวังโควิดก็เป็นระบบที่ทรงประสิทธิภาพ ประกอบกับข่าวเรื่องของความคืบหน้าเรื่องการสร้างวัคซีนต้านโควิดก็ดูจะคืบหน้าเป็นอย่างดีในระดับโลก และมีความสำเร็จมากกว่าหนึ่งผู้ผลิต

Advertisement

ประเด็นสำคัญในเรื่องโควิดจึงอยู่ที่เรื่องของการบริหารจัดการหาจุดลงตัวระหว่างการเปิดประเทศกับการเฝ้าระวัง แน่นอนว่าเงื่อนไขของเรื่องการท่องเที่ยวเป็นเรื่องที่สำคัญในทางเศรษฐกิจ แต่เรื่องของการเฝ้าระวังการระบาดก็ยังเป็นเรื่องที่สำคัญ ประเด็นท้าทายในวันนี้คือ ระบบการตัดสินใจเรื่องการสร้างสมดุลของการเปิดเศรษฐกิจกับการเฝ้าระวังไม่ได้มีลักษณะที่เปิดกว้างให้สังคมได้เข้าไปตรวจสอบ และมีส่วนร่วมในการให้ความเห็น การรวบอำนาจไว้ใต้ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเงื่อนไขที่ทำให้การรวบอำนาจทั้งทางการบริหารงานสาธารณสุขและเศรษฐกิจอยู่ในมือของนายกรัฐมนตรี แต่ยังหาสมดุลของการเปิดให้มีการตรวจสอบและเสนอความเห็นมีส่วนร่วมในเรื่องการตัดสินใจได้มากนัก
ประการที่สาม เรื่องของการเมือง ตอนนี้ทางออกของสังคมยังไม่มีความชัดเจนในหลายเรื่อง อาจจะต้องไล่พิจารณาไปทีละประเด็นย่อย

1.ม็อบ: การเคลื่อนไหวของการชุมนุมเองจะมีลักษณะต่อเนื่อง ยืดเยื้อยาวนานต่อไป ปัจจัยสำคัญก็คือข้อเรียกร้องของม็อบไม่ได้รับการตอบสนอง และนอกจากไม่ได้รับการตอบสนองแล้วยังมีลักษณะเพิกเฉย ไม่สนใจ รวมทั้งออกมาตอบโต้กับการเคลื่อนไหวและข้อเรียกร้องเป็นระยะ

ผมเองไม่ค่อยเห็นด้วยว่าม็อบปัจจุบันนั้นไม่ใช่ว่าไม่มีแกนนำ แต่คำว่าแกนนำควรต้องถูกนิยามเสียใหม่มากกว่า เพราะม็อบปัจจุบันนั้นมีหลายกลุ่ม แต่ขับเคลื่อนประเด็นร่วมเดียวกันเสียมากกว่าจะมองว่ามีแกนนำหรือไม่มีแกนนำ

ส่วนสำคัญของม็อบอยู่ที่ “แกนเรื่อง” มากกว่า “แกนนำ” เพราะการจัดการชุมนุมมีลักษณะเครือข่ายที่หลวมและไม่รวมศูนย์เดียว กล่าวคือ หากเราเข้าใจม็อบในสมัยก่อนว่ามีสองแบบ คือม็อบตัวแทน เช่น ชาวนา กรรมกร นักศึกษา มาที่ม็อบเครือข่ายกลุ่มปัญหาอย่างสมัชชาคนจน หรือต่อมาม็อบสีเสื้อ เราจะพบว่ามีการประกาศกลุ่มแกนนำที่ทำการตัดสินใจ

ขณะที่ม็อบในปัจจุบันนั้นแม้ตัวนักข่าวเองก็ยังงงว่าใครเป็นเจ้าภาพในแต่ละครั้ง เพราะว่ามีการจัดกันหลายกลุ่ม ภายใต้การประสานงานกันหลวมๆ นอกจากนั้นยังไม่มีบทบาทของนักการเมืองอยู่บนเวที

ในส่วนต่อมาของม็อบก็คือตัวผู้ชุมนุม ซึ่งลักษณะของการชุมนุมนั้นแตกต่างกันไปจากเดิม เนื่องจากไม่ใช่ม็อบค้างคืน และเนื้อหาในการชุมนุมก็มีการปรับเปลี่ยนให้สั้นกระชับขึ้น รวมทั้งมีกิจกรรมอื่นเข้ามาแทรก

นอกจากนั้นการรวมตัวกันของผู้ชุมนุมยังมีความหลากหลายมากขึ้น นอกเหนือจากคนรุ่นใหม่ ยังมีการขอโทษคนเสื้อแดง และเริ่มมีทั้งคนเสื้อแดง กรรมกร เครือข่ายความหลากหลายทางเพศ และนักเรียน เข้ามาร่วมมากขึ้น ความน่าสนใจในเรื่องของการตั้งคำถามว่า “ถ้าการเมืองดี” มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะทำให้เรื่องหลายเรื่องเชื่อมโยงกันได้มากขึ้น

นอกจากนี้ระบบท่อน้ำเลี้ยงและการบริหารจัดการม็อบก็เปลี่ยนไป การรับบริจาคเป็นไปได้โดยตรงจากการโอนเงินระบบโมบายแบงกิ้งมากขึ้น แน่นอนย่อมมีการพูดคุยกันระหว่างแกนนำม็อบกับบุคคลที่พวกเขาสนใจ แต่ระบบการออกแบบการชุมนุมนั้นเปลี่ยนแปลงไป แม้ว่าแฟลชม็อบที่เป็นระบบอาจจะเริ่มจากช่วงสุดท้ายของอนาคตใหม่ แต่การกระจายตัวไปทั่วประเทศช่วงก่อนโควิด และหลังโควิดนั้นพ้นจากความเชื่อมโยงตรงกับอนาคตใหม่ในแง่ของจินตนาการมากขึ้นไปเรื่อยๆ และต้องไม่ลืมว่าเรื่องของการกล่าวขอโทษคนเสื้อแดง และการ “ผลักเพดาน” นั้นเป็นอะไรที่พ้นไปจากข้อเสนอและกิจกรรมของอนาคตใหม่ในช่วงที่ผ่านมาไปมาก แต่ถึงกระนั้นก็ตามความร้าวลึกในแง่ของการเมืองระหว่างรุ่นก็จะดำเนินต่อไป แต่ “ความเป็นรุ่น” นั้นจะมีความซับซ้อนซ่อนมากขึ้น เพราะความเป็นรุ่นในความขัดแย้งทางการเมืองไทยในวันนี้เป็นเรื่องของอัตลักษณ์การเมืองมากกว่าเรื่องของปัจจัยด้านประชากรศาสตร์อย่างเดียว

อีกประการที่สำคัญก็คือเรื่องของบทบาทของสื่อในรอบนี้ ซึ่งผมคิดว่าภูมิทัศน์ของสื่อรอบนี้มีความน่าสนใจมาก และเราควรจะเริ่มมองมุมใหม่ๆ มากขึ้นโดยไม่ได้มองไปที่ความเป็นกลางของสื่อในฐานะของสิ่งที่หยุดนิ่ง แต่ให้มองถึงภูมิทัศน์สื่อที่สำคัญกว่าตัวสื่อเอง นั่นคือความหลากหลาย
ของสื่อในรอบนี้ทำให้เกิดข้อมูลและความเห็นที่หลากหลาย ซึ่งมีความสำคัญกว่าการตั้งคำถามกับความเป็นกลางของสื่อในฐานะที่หยุดนิ่งในแง่ที่ว่าสื่ออ้างตนว่าสถานะพิเศษที่เข้าถึงความจริง รายงาน และประกอบสร้างความจริงได้อย่างเป็นกลาง

ในรอบนี้เราพบว่า ข้อมูลและทรรศนะทางสังคมที่หลากหลายไม่ได้มาจากการที่เราเสพสื่อเดียว แต่มาจากการที่เราสามารถเข้าถึงสื่อได้หลากหลายขึ้นต่างหาก และการอ้างตนว่าช่องใดช่องหนึ่งนั้นมีความเป็นกลางนั้นหายไปแล้ว ทุกช่องสื่ือนั้นมีทั้งผู้ที่ติดตามในฐานะแฟน ติดตามในฐานะของการตรวจสอบ และมีการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานกันอย่างเข้มข้น ประกอบกับการที่สื่อเองมีความหลากหลายในเชิงรูปแบบการนำเสนอทั้งในแง่โทรทัศน์ อินเตอร์เน็ต และสิ่งพิมพ์ ทำให้เราเริ่มเข้าใจว่าคำว่าเสรีภาพสื่อไม่ได้หมายความว่าสื่อพูดอะไรก็ถูก หรือสื่อที่อ้างอิงตำรา คู่มือ และจริยธรรม
จะเข้าถึงความจริง ข้อมูล และความเห็นได้มากกว่าสื่อที่ไม่ได้อ้างอะไรเหล่านี้ เช่น สื่อเลือกข้าง
หรือสื่อที่ประชาชนนั้นจัดทำกันเอง รวมไปถึงการที่รัฐเองนั้นไม่สามารถปิดสื่อได้อย่างสมบูรณ์แบบด้วยกลไกการคานอำนาจกันในระดับหนึ่งของระบบกฎหมาย และการที่รัฐควบคุมโลกอินเตอร์เน็ตไม่ได้ทั้งหมด

สิ่งเหล่านี้ทำให้ภูมิทัศน์สื่อในรอบนี้มีความหลากหลาย และเกิดการคานอำนาจและตรวจสอบกันเอง โดยที่ “การตรวจสอบกันเอง” ของสื่อไม่ได้เกิดจากการตั้งกรรมการของตัวแทนสื่อ แต่มาจากการแข่งขัน และการเปิดกว้างให้สื่อในรูปแบบต่างๆ นั้นดำรงอยู่ และระบบการให้ความเห็นของประชาชนที่พร้อมตอบโต้กับสื่อต่างๆ ได้อย่างฉับพลันทันที

2.สภา: ปัญหาสำคัญของสภาในปัจจุบันมีสามประการ หนึ่งคือ สภาไม่ได้เป็นตัวแทนเดียวของประชาชนอีกต่อไป ทั้งในแง่ของความเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์สื่อและม็อบ ด้วยว่าสภากลายเป็นพื้นที่ที่พูดเรื่องที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองได้น้อยกว่าที่ควรจะพูดมากขึ้นเรื่อยๆ และสภากลายเป็นพื้นที่ที่แปลกแยกกับความรู้สึกของผู้คนจำนวนไม่น้อย ส่วนหนึ่งแน่นอนว่าสภานั้นมีจำนวนตัวแทนที่มาจากการแต่งตั้งของระบอบงูเห่าคือหัวหน้า คสช.เข้ามาเป็นวุฒิสมาชิกและเท่าที่ผ่านมาส่วนมากไม่ได้ทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลอย่างเข้มข้น เหมือนระบบวุฒิสมาชิกในช่วงประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540 นอกจากนั้นด้วยระบบการปัดคะแนนทำให้พรรคที่มีคะแนนไม่ถึงหนึ่งเสียงเข้ามาได้จำนวนไม่น้อยและเข้าไปอยู่กับฝ่ายรัฐบาล

ประการต่อมา พรรคฝ่ายค้านอ่อนแอและไร้เอกภาพ นับจากการเลือกตั้งซ่อมหลายครั้งที่ผ่านมาจะพบว่า การลงแข่งในพื้นที่เดียวกันทำให้คะแนนของพรรคฝ่ายค้านแตกออกจากกัน ซึ่งหากรวมกันก็จะสามารถกำชัยได้ ความไม่ลงรอยกันของฝ่ายค้านนั้นมักสะท้อนออกมาในลักษณะของการแสวงจุดร่วมสงวนจุดต่างได้

และในภาพรวมสิ่งที่ยังขาดการพัฒนาก็คือระบบการพัฒนาพรรคการเมืองให้เป็นมากกว่า “จักรกลการเลือกตั้ง” สำหรับบางพรรค

สำหรับปลายปีนี้ เรื่องที่สำคัญก็คือเรื่องการเลือกตั้งนายกและสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดของทุกจังหวัดนอกจากกรุงเทพมหานคร ซึ่งเราก็จะได้เห็นพลวัตและพัฒนาการว่าพรรคการเมืองจะมีบทบาททางตรงและทางอ้อมในการเชื่อมโยงกับการเมืองระดับจังหวัดมากน้อยอย่างไร ทำไมบางพรรคเลือกที่จะลงแข่งขันโดยตรง ขณะที่บางพรรคเลือกที่จะเชื่อมโยงกับพื้นที่ทางอ้อม

ในประการสุดท้ายเรื่องของการแก้รัฐธรรมนูญที่มีแนวโน้มว่าจะล่าช้า และจะเป็นไปตามทิศทางที่ฝ่ายระบอบปัจจุบันต้องการมากกว่าความต้องการของม็อบและประชาชนอีกจำนวนไม่น้อยนั้นจะยิ่งทำให้การชุมนุมยังยืดเยื้อต่อไปเพื่อให้เกิดการกดดันทิศทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

(และแน่นอนว่าการฟ้องร้องแกนนำม็อบและผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้สื่อข่าว ก็อาจจะติดร่างแหไปด้วย)

3.ความเปลี่ยนแปลงต่อการรับรู้อดีตที่ยึดโยงกับปัจจุบัน และความเปลี่ยนแปลงในการรับรู้ปัจจุบันที่ยึดโยงอดีต เราจะพบว่ามิติของการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์นั้นเป็นมิติที่มีความละเอียดอ่อน แต่ก็เป็นมิติที่เริ่มปรากฏชัดขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในข้อเรียกร้องของม็อบ ในการสนทนาสาธารณะในหน้าสื่อ ในรัฐสภาเอง และในต่างประเทศ แม้ว่าจะยังถูกจำกัดด้วยกรอบหลายประการ

แม้ว่าการกล่าวถึงและการวิพากษ์วิจารณ์จะถูกจำกัดด้วยกรอบนานัปการ แต่ในรอบนี้การตั้งคำถามถึงความสำคัญและความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกับระบอบประชาธิปไตยเป็นไปอย่างกว้างขวางที่สุดนับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นต้นมา ในหลากหลายมิติ รวมทั้งการย้อนกลับไปตั้งคำถามถึงสถานะ ความหมาย ความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 มากขึ้นเรื่อยๆ และในช่วงนี้การตั้งคำถามถึงบทบาททางการเมืองการบริหารก็กำลังเริ่มก้าวไปสู่มิติของการตีความการเปลี่ยนแปลงการปกครองในด้านของการจัดการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ก่อน พ.ร.บ.ในปี 2561 และรวมไปถึงมิติของความเปลี่ยนแปลงในเรื่องของหน่วยงานด้านความมั่นคงมากอีกด้วย

เรื่องราวที่ประมวลมากว้างๆ นี้น่าจะเป็นส่วนที่สำคัญที่จะทำให้เราจับตาดูความเปลี่ยนแปลงในเดือนสุดท้ายของปี 2563 และน่าจะยังมีผลต่อควาเป็นไปในบ้านเมืองในปีหน้า

4.ความเป็นไปได้ในการมีรัฐประหาร: ผมเชื่อว่าหากจะมีขึ้น ต้นทุนในการทำรัฐประหารในรอบนี้จะสูงมาก ดังนั้น หากจะมีการทำจะต้องมีเงื่อนไขสำคัญสองประการ ได้แก่ การสร้างเงื่อนไขในการทำรัฐประหารโดยการระดมฝ่ายสนับสนุนของฝ่ายผู้มีอำนาจออกมาอย่างเป็นระบบและถักทอเรื่องราวต่างๆ เข้าด้วยกัน ซึ่งยังต้องใช้เวลา และสองคือ อาจจะมีการทำรัฐประหารในรูปแบบใหม่ๆ ในมิติทางกฎหมาย เช่น ใช้ข้อกฎหมายบางข้อในการจำกัดสิทธิเสรีภาพ มากกว่าการใช้กำลังทหารในการยึดอำนาจโดยตรง

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image