7 เทพ กสทช.กับความหวัง การทำนายอนาคตเทคโนโลยี เคลื่อนประเทศเป็นผู้นำ

เครือมติชน มีการจัดสัมมนาในหัวข้อ “7 เสือที่อยากเห็น กสทช.ชุดใหม่ เปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจไทย” เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมหนังสือพิมพ์ข่าวสด โดยได้รับฟังมุมมองจากผู้เชี่ยวชาญ ได้แก่ นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ), นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.), นายพิสุทธิ์ งามวิจิตวงศ์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัท หลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) และนายสืบศักดิ์ สืบภักดี กรรมการบริหารและเลขาธิการสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (สทค.)

ไม่ใช่ตามแก้ปัญหา แต่ต้องทำงานเชิงรุก

นายสืบศักดิ์ สืบภักดี กรรมการบริหารและเลขาธิการสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (สทค.) กล่าวตอนหนึ่งว่า การเลือก กสทช.ชุดใหม่ มีความคาดหวังอย่างมากจากหลายภาคส่วน โดยเฉพาะ กสทช.ชุดปัจจุบัน ซึ่งได้รับการต่ออายุอยู่ในตำแหน่งมาเกือบ 9 ปี ท่ามกลางบริบทของประเทศ บริบทของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม หรือแม้แต่เราที่เป็นผู้ใช้เทคโนโลยี เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ทำให้ กสทช.ไม่มีโอกาสได้ทำในหลายเรื่อง ซึ่งสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ

Advertisement

ตัวอย่าง กสทช.ชุดปัจจุบัน เข้ามาในยุคการเปลี่ยนผ่านโทรศัพท์มือถือเพื่อรองรับระบบ 3G แต่ในบ้านเรายังไม่สามารถใช้งานได้ เพราะยังไม่มีคลื่นความถี่ย่าน 2100 เมกะเฮิรตซ์ ให้บริการ ทำให้ประเทศเสียโอกาส โดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของประเทศ รวมถึงด้านเศรษฐกิจ ซึ่งไทยเข้าสู่ตลาด 3G ล่าช้ากว่าประเทศอื่นในโลกประมาณ 10-12 ปี ถือเป็นวิกฤตที่ร้ายแรงมาก และเป็นเรื่องที่ กสทช.ต้องแก้ไขปัญหา โดยภารกิจของ กสทช.ชุดปัจจุบัน คือ การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2100 เมกะเฮิรตซ์ อย่างรวดเร็ว ทำให้เราสามารถเข้าสู่ตลาด 3G จากนั้นจึงพัฒนาสู่ระบบ 4G และ 5G

“กสทช.ชุดใหม่ ต้องมีนิววิชั่น ไม่ได้แค่ตามแก้ไขปัญหา แต่สามารถมองภาพไปถึงอนาคตได้ชัดเจนว่าเทคโนโลยีดิจิทัล เทคโนโลยีสื่อสาร โทรคมนาคม อะไรบ้างที่จะเป็นโครงสร้างหลักของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และทำเรื่องเหล่านั้นออกมาเป็นรูปธรรมอย่างรวดเร็ว เชิงรุก ต้องมองไปข้างหน้าว่า 5-10 ปีจากนี้จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง อะไรที่ยังเป็นข้อติดขัดของกฎระเบียบเรื่องการสื่อสารโทรคมนาคม การทำธุรกิจ รวมถึงการขับเคลื่อนประเทศ และทำสิ่งเหล่านั้นให้ออกมา เพื่อให้เห็นว่าองค์กรกำกับดูแลของประเทศไทยมีความทันสมัย และมีแนวความคิดเชิงรุก” นายสืบศักดิ์กล่าว

‘7 เทพ’กำหนดอนาคตเทคโนโลยี

Advertisement

นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ระบุว่า ประเทศไทยเริ่มเป็นประเทศที่แข่งขันกับใครไม่ได้ ที่ผ่านมาสวมหมวก 2 ใบ คือ ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) และนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ซึ่งรับเด็กเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยด้วยระบบการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา หรือทีแคส เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เด็กไม่ต้องวิ่งรอกสอบ แต่สิ่งที่ค้นพบและน่าตกใจคือ การรับเด็กผ่านระบบทีแคสปี 2561 มีคนเข้าระบบ 4 แสนคน ทั้งที่มหาวิทยาลัยไทยกว่า 200 แห่ง รับเด็กได้กว่า 4 ล้านคน ขณะที่ปี 2562 เหลือ 3 แสนคน ปี 2563 เหลือไม่ถึง 2 แสนคน แสดงว่าทุนมนุษย์ไม่มีแล้ว เหลือเพียงอย่างเดียวที่จะสู้กับประเทศอื่นได้ คือคุณภาพ พลานุภาพของประเทศตอนนี้ไม่ได้อยู่ที่จำนวน แต่อยู่ที่คุณภาพ เป็นทางรอดที่ประเทศจะสามารถแข่งขันได้ ดังนั้นตอนนี้ต้องคิดอย่างเดียวว่าจะทำอย่างไรประเทศจะมีทุนมนุษย์ที่มีคุณภาพ ซึ่งกลไกหนึ่งที่จะเข้ามาช่วยคือ กสทช.

“7 เสือที่จริงต้องเรียกว่า 7 เทพ ต้องหาคนที่มาเป็นดีไซเนอร์ ผู้ออกแบบ ว่าในอนาคตเทคโนโลยีอะไรที่จะมาเติมให้คนไทยมีคุณภาพมากขึ้น จะใช้กฎหมายใดในการออกแบบประเทศให้มีคุณภาพ และจะทำอย่างไรให้สื่อสารมวลชนผลิตเนื้อหาที่คนอยากดู และขอเรื่องหนึ่งคือ ที่บอกว่าประเทศไทยมีอินเตอร์เน็ตเข้าได้ ไม่ใช่ความสำเร็จ แต่การทำอย่างไรที่เข้าถึงได้แล้วจะสามารถเปลี่ยนแปลงทุนมนุษย์ให้ดีขึ้น เป็นเป้าหมายสูงสุดในการยกระดับทุนมนุษย์ให้มีคุณภาพ ก่อให้เกิดมิติใหม่ทางด้านนวัตกรรม” นายสุชัชวีร์กล่าว

หนุนเอื้อประโยชน์เอสเอ็มอีจากเครื่องมือรัฐ

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การสรรหา กสทช.ครั้งนี้ถือเป็นกระดูกสันหลังของประเทศชาติ ถ้าเลือกไม่ดีอาจได้แมวมา 7 ตัว แทนที่จะได้สิงห์มา 7 ตัว ถ้าเลือกผิดอาจทำให้ไทยขยับลำบาก เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะไทยพลาดโอกาสหลายครั้งมาแล้ว ที่ผ่านมารัฐได้เงินจำนวนมาก แต่ประชาชนยังไม่ได้ประโยชน์ที่แท้จริง จนเห็นความเหลื่อมล้ำเยอะมาก ตอนนี้ประชาชนต้องเข้าร้านสะดวกซื้อเพื่อจ่ายค่าธรรมเนียม ถ้าลดต้นทุนค่าธรรมเนียมส่วนนี้ได้ หรือไม่มีเลย หรือสามารถเรียนรู้ มีการเรียนการสอนด้านการศึกษาผ่านเทคโนโลยีใหม่ๆ จะประหยัดค่าใช้จ่ายได้มาก

“ห่วงความเชื่อมั่น โดย กสทช.ทั้ง 7 คนหรือ 7 เทพที่เลือกเข้ามา นอกจากเก่ง ทำงานเป็นทีม ควรใช้เพาเวอร์คอนเน็กชั่นที่มี ในการประสานกับองค์กร หรือหน่วยงานต่างๆ นอกจากนี้ อยากให้กำกับดูแล ให้ความเป็นธรรมเพราะเป็นหัวใจสำคัญ ทำอย่างไรให้ผู้ประกอบการได้ประโยชน์ ทำให้เทคโนโลยีของประเทศเดินต่อไปได้ ต้องลดความเหลื่อมล้ำลงในผู้ใช้ และผู้ประกอบการ ดูว่าจะทำอย่างไรให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) เข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้มากขึ้น วันนี้ไทยมี 5G แล้วแต่ต้องไม่ลืมว่า จะทำอย่างไรให้ผู้ประกอบการสามารถลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้ ทั้งปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) หุ่นยนต์ เพราะวันนี้เอสเอ็มอีให้ความสำคัญตื่นตัวตลอดเวลา ทุกคนมีเงินทุน มีเทคโนโลยี มีทีมงาน พร้อมปรับตัว แต่อย่าลืมว่าเศรษฐกิจไทยยังมีเอสเอ็มอีอยู่ ตรงนี้ต้องดูว่า กสทช.จะเข้าไปช่วยได้อย่างไร เอสเอ็มอีจะใช้ประโยชน์จากเครื่องมือรัฐได้อย่างไร” นายสุพันธุ์กล่าว

เพิ่มผู้เล่นตลาด 5G ลดสงครามปั่นราคา

นายพิสุทธิ์ งามวิจิตวงศ์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัท หลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เผยว่า มองว่าการมี กสทช.ดีกว่าไม่มี เพราะ 10 ปีแรกของ กสทช.เกิดการเปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทานเป็นระบบใบอนุญาต ซึ่งหากไม่มี กสทช.ผู้ที่ทำหน้าที่นี้จะเป็นบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ซึ่งส่วนตัวเชื่อมั่นในระบบมากกว่าตัวบุคคล เพราะมองว่าคน 7 คน ไม่สามารถผลักดันสิ่งที่ควรทำทั้งหมดได้ รวมถึงความสำคัญ นอกจากคุณสมบัติแล้ว คือ ทัศนคติที่ต้องมี เนื่องจาก กสทช.ทั้ง 7 คนที่จะเข้ามาต้องมีการแต่งตั้งที่ปรึกษา เพื่อเข้ามาช่วยในการทำงานแน่นอน ไม่มีทางที่ทั้ง 7 คน จะสามารถรู้ได้ทุกอย่าง และสามารถผลักดันเรื่องเหล่านี้ไปได้

“ระยะถัดไป อยากมอง กสทช.เป็นสถาบัน เพื่อให้มีความน่าเชื่อถือแบบธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แต่แน่นอนว่า ธปท. เกิดมาหลายสิบปี ส่วน กสทช.เกิดมาเพียง 10 ปี จึงต้องให้เวลาเพิ่ม อีกทั้งอยากเห็น กสทช.ให้ความสำคัญกับกลไกของตลาด ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญ ที่จะทำให้ธุรกิจและประเทศเดินหน้าไปได้ ไม่อยากเห็นการกำกับดูแลที่โน้มเอียง ซึ่งจะทำให้เกิดการผูกขาด หากปล่อยให้ระบบทุนนิยมทำงาน โดยไม่เข้าไปดูแล ทุนจะเอาเปรียบเพื่อเติบโต” นายพิสุทธิ์กล่าว

นายพิสุทธิ์กล่าวว่า ทั้งนี้ หาก กสทช.มาช้ากว่าที่ควรจะส่งผลกระทบรุนแรง 2 เรื่อง ได้แก่ 1.สัญญาสัมปทานดาวเทียมไทยคมที่จะสิ้นสุดในเดือนกันยายน 2564 ซึ่งสำนักงาน กสทช.อยู่ระหว่างร่างวิธีการจัดสรรวงโคจร หากร่างแล้วเสร็จ แต่ กสทช.ตัวจริงยังไม่มา กสทช.ที่รักษาการอยู่จะกล้ารับร่างหรือไม่ หากไม่มีการให้ใบอนุญาตเพื่อสร้างดาวเทียมใหม่ และถ่ายโอนลูกค้าจากดาวเทียมเก่าสู่ดาวเทียมใหม่ จะสร้างความเสียหายในเชิงธุรกิจ

และ 2.ตลาด 5G มีผู้เล่นเพียง 2 ราย ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีคลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ ไม่นับบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค เพราะไม่ได้เข้าประมูลคลื่นความถี่ย่านดังกล่าว แต่ดีแทคมีคลื่นความถี่ย่าน 2300 เมกะเฮิรตซ์ ที่สามารถใช้ทำ 5G ได้เช่นกัน จึงมองว่า กสทช.น่าจะช่วยเปิดโอกาสให้ดีแทคเข้าสู่ตลาด 5G เพื่อให้มีผู้เล่นเพิ่มขึ้นได้ เพราะหากมี 2 ราย จะมีการแย่งลูกค้ากันไปมา ทำให้เกิดการทำสงครามการลดราคาขึ้น ซึ่งมีทั้งดีและไม่ดี โดยมองว่าต้องทำให้ผู้บริโภคมีตัวเลือก และผู้ประกอบการสามารถอยู่ได้ ทั้งนี้ หากทุกอย่างไม่เป็นตามที่ประเมินไว้ จะส่งผลกระทบให้หุ้นโทรคมนาคมปรับราคาลงได้

‘โปร่งใส’หัวใจกำกับดูแล

นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ระบุว่า หากจะประเมินว่า กสทช.ชุดปัจจุบันได้กี่คะแนน ต้องดูที่ความน่าเชื่อถือ โดยถามจากหน่วยงานที่ไม่เกี่ยวกับ กสทช. คงจะเห็นความจริงที่ปรากฏออกมาว่าเป็นอย่างไร ซึ่งการที่อยู่ยาวเกินไปและอยู่แบบไม่มีกำหนดการแน่นอน แม้อยู่ระหว่างการสรรหา กสทช.ชุดใหม่ ภายใต้ พ.ร.บ.เดิม แต่ถ้ามองย้อนกลับไปมีข้อผิดพลาดสำคัญ ที่ทำให้ กสทช.เป็นหน่วยงานที่ไม่น่าเชื่อถืออย่างที่ควรจะเป็น

ทั้งนี้ มุมมองจากหลายฝ่ายอยากเห็น กสทช.มีวิสัยทัศน์ที่หลากหลาย ทั้งการเป็นดีไซเนอร์ หรือทำงานในเชิงรุกมากขึ้น ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ หากทำได้ก็ดี แต่หน้าที่พื้นฐานของ กสทช.คือองค์กรกำกับดูแล ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย งานพื้นฐานตรงนี้คือเรื่องที่สำคัญที่สุด ส่วนเรื่องการกำกับดูแลราคาเพื่อให้ตลาดแข่งขันอย่างธรรมชาติ ต้องมีการศึกษา หาก กสทช.จะทำอะไรนอกเหนือจากนี้สามารถทำได้ แต่ควรทำหน้าที่พื้นฐานให้แน่นก่อน โดยทำให้เกิดความมั่นใจ มีความโปร่งใส มีเหตุมีผล และทำนายได้ก่อน ให้ทุกคนสามารถรู้ว่าจากนี้อีก 2-5 ปีข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้น เพื่อวางแผนธุรกิจ เช่น การประมูลคลื่น 5G ที่เหลืออยู่จะได้ประมูลเมื่อไร ซึ่งมองว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเหมือนปริศนา เป็นต้น ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องเตรียมพร้อมล่วงหน้า หากไม่มีการวางแผนจะทำให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานที่ดีไม่ได้ ซึ่งสิ่งนี้คือหัวใจของการกำกับดูแล

คงต้องติดตามว่าในวิกฤตโควิด-19 ที่ประเทศกำลังนอนซม รอฟื้นไข้จากเทคโนโลยีดิจิทัลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ การสรรหา กสทช.ชุดใหม่ ภายใต้ พ.ร.บ.เดิม จะได้มาซึ่ง กสทช.คุณภาพคับแก้ว ทันต่อเทคโนโลยี ทำงานเชิงรุกทะลุทุกปัญหา ทำนายอนาคต ผลักดันประเทศให้กลายเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีได้หรือไม่

อัมพวัน อยู่กระทุ่ม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image