กก.สมานฉันท์…อกหักดีกว่ารักไม่เป็น

ถึงวันนี้ผลการตัดสินกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถูกพรรคเพื่อไทยร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ตัดสิน ว่าอยู่บ้านพักหลวงตั้งแต่เกษียณอายุราชการปี 2557 จนถึงปัจจุบันขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะรัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติห้ามผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองรับผลประโยชน์อื่นใดจากหน่วยราชการ คงปรากฏออกมาแล้ว

สถานการณ์การเมืองจะดำเนินไปอย่างไร ดูเหมือนว่าความสนใจของสังคมยังคงเน้นไปที่ความเคลื่อนไหวของกลุ่มราษฎรเป็นหลัก เช่นเดิม

หากผลตัดสินเป็นบวก นั่นเท่ากับข้อเรียกร้องประการแรกของกลุ่มราษฎรที่ให้ พล.อ.ประยุทธ์ลาออก ยังคงดำรงอยู่ การชุมนุมคงจะดำเนินต่อไป

แต่หากผลตัดสินเป็นลบ พล.อ.ประยุทธ์และคณะรัฐมนตรีต้องพ้นตำแหน่งตามกันไปทั้งยวง เท่ากับว่าข้อเรียกร้องแรกตกไปโดยปริยาย ขณะที่ข้อเรียกร้องที่ 2 ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่และปฏิรูปสถาบันยังดำรงอยู่

Advertisement

ฉะนั้นไม่ว่าผลการตัดสินจะออกมาอย่างไร เชื่อว่าการเคลื่อนไหวของกลุ่มราษฎรจะไม่หยุดลง แม้แกนนำจะโดนข้อหาทำผิดกฎหมายอาญามาตรา 112 เพิ่มเข้าอีกหลายต่อหลายคนก็ตาม

นอกจากนั้น กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามข้อเรียกร้องที่ 2 เพิ่งผ่านที่ประชุมรัฐสภาให้ยกร่างโดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ต้องผ่านการลงประชามติก่อน ถึงจะเริ่มกระบวนการหาสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ต้องใช้เวลาอีกนานนับปี

ภายใต้สถานการณ์ที่ยังหาจุดจบไม่ได้ ความเคลื่อนไหวอีกด้านหนึ่ง ซึ่งเป็นผลจากการเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญเพื่อรับฟังความคิดเห็นของสมาชิกรัฐสภาต่อสถานการณ์ตึงเครียด ล่อแหลมจะเกิดความรุนแรง

Advertisement

ผลจากการประชุม คุณชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ร่วมหารือกับวิป 3 ฝ่าย รัฐบาล ฝ่ายค้าน วุฒิสมาชิก รับข้อเสนอของพรรคประชาธิปัตย์ให้ตั้งกรรมการสมานฉันท์เพื่อหาทางออก กำลังเป็นที่ติดตามของผู้คนว่าจะทำให้สถานการณ์คลี่คลายไปโดยสันติได้สำเร็จหรือไม่

โดยมอบให้สถาบันพระปกเกล้าเสนอรูปแบบ และแนวทางการดำเนินงาน เพื่อให้ปัญหาข้อเรียกร้องต่างๆ เข้ามาสู่เวทีรัฐสภา เน้นการพูดคุย เจรจาเพื่อหาบทสรุปร่วมกัน เป็นสำคัญ

ภายใต้ความหวังข้างต้น มีความเชื่ออีกฝ่ายหนึ่งเห็นตรงกันข้ามว่าแนวทางการตั้งกรรมการสมานฉันท์เป็นที่ฟอกขาวให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นช่องทางต่ออายุรัฐบาลมากกว่า จึงยากที่จะสำเร็จได้

ฝ่ายหลังนี้เห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นเงื่อนไขหลักเพราะเป็นคู่ขัดแย้งโดยตรง หากไม่รับข้อเสนอและยังอยู่ในตำแหน่งต่อไป การสมานฉันท์ไม่มีทางเกิดขึ้นได้

ภายใต้ความเห็นต่างระหว่างฝ่ายทีี่มีความหวังกับฝ่ายที่ไร้ความหวังนี้ ประธานรัฐสภายืนยันที่จะเดินหน้าต่อไป ทำได้เท่าไหร่ก็เอาเท่านั้น

โครงสร้างองค์ประกอบของคณะกรรมการสมานฉันท์มี 2 ระดับ ชุดแรก ผู้แทนมาจาก 7 ฝ่าย จำนวน 21 คน ได้แก่ 1.ผู้แทนฝ่ายผู้ชุมนุม 2 คน 2.ผู้แทนรัฐบาล 2 คน 3.ผู้แทน ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล 2 คน 4.ผู้แทน ส.ส.ฝ่ายค้าน 2 คน 5.ผู้แทนวุฒิสภา 2 คน 6.ผู้แทนฝ่ายที่มีความเห็นอื่น 2 คน (กลุ่มเรียกร้องที่เห็นด้วยกับรัฐบาล) 7.ผู้ทรงคุณวุฒิเลือกโดยที่ประชุมอธิการบดี (ทปอ.) เสนอชื่อ 3 คน ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ 1 คน มหาวิทยาลัยราชมงคล 1 คน ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์ด้านการสร้างความปรองดอง 4 คน

ชุดที่สอง เป็นคนนอกล้วน ทั้งผู้ทรงคุณวุฒิและผู้อาวุโสทางการเมือง การบริหาร ซึ่งไม่ใช่คู่ขัดแย้ง

ถึงขณะนี้ประธานรัฐสภายังรอคำตอบจากผู้ที่ได้รับเชิญทั้งสองชุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้แทนฝ่าย
ผู้ชุมนุมและพรรคฝ่ายค้านจะตอบรับเข้าร่วมหรือไม่

คำตอบรับของคู่ขัดแย้งจึงเป็นตัวบ่งชี้แนวโน้มว่า สถานการณ์จะดำเนินต่อไปในลักษณะใด

และเป็นคำตอบสุดท้ายว่า โมเดลกรรมการสมานฉันท์จะเป็นทางออกของความขัดแย้งโดยสันติ ได้จริงหรือไม่ ในสังคมไทย

เงื่อนไขที่ทำให้ฝ่ายเห็นต่างยังมีท่าทีปฏิเสธการเข้าร่วม ไม่ได้อยู่ที่โครงสร้าง องค์ประกอบ สัดส่วนของกรรมการมาจากฝ่ายใด จำนวนเท่าไหร่ เท่านั้น

แต่สำคัญอยู่ที่กรอบ ขอบเขตของเนื้อหาสาระการพูดคุยเจรจามากกว่าว่า เวทีกรรมการสมานฉันท์จะสามารถพูดคุยถึงข้อเรียกร้องทั้งหมดของฝ่าย
ผู้ชุมนุนได้หรือไม่

ประเด็นขอบเขตของเนื้อหาการพูดคุยเจรจา นี่แหละครับ เป็นตัวกำหนดจุดจบของกรรมการสมานฉันท์ว่าจะเป็นอย่างไร หากทำให้กรรมการสมานฉันท์เป็นพื้นที่แห่งความปลอดภัย และความหวัง ไม่ได้

แต่ไม่ว่าจะล้มไม่เป็นท่า หรือค่อยๆ เดินหน้าต่อไปเรื่อยๆ อย่างมีความหวัง ในทำนอง มีดีกว่าไม่มีŽ แม้เป็นแค่ความฝันก็ยังดีกว่าไม่เคยฝัน อะไรทำนองนั้น

ขอให้กำลังใจทุกฝ่าย อกหักดีกว่ารักไม่เป็น ครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image