แนวโน้มของการใช้ซอฟต์พาวเวอร์ ของว่าที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน

ในแวดวงการเมืองระหว่างประเทศนั้นก็เป็นเรื่องของการใช้อำนาจและอิทธิพลเช่นเดียวกับการเมืองภายในประเทศจึงเป็นที่มาของประโยคที่ว่า “การเมืองคือเรื่องของอำนาจ” ซึ่ง ศาสตราจารย์โจเซฟ ไน นักรัฐศาสตร์ชาวอเมริกันได้อรรถาธิบายเรื่องการใช้อำนาจในแวดวงการเมืองระหว่างประเทศออกเป็น 2 ประเภท คือ ฮาร์ดพาวเวอร์ (Hard Power) กับ ซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) คือ

1.ฮาร์ดพาวเวอร์ (Hard Power) มี 2 องค์ประกอบหลักคือการใช้กำลังอำนาจทางทหารเข้าข่มขู่หรือเข้าปฏิบัติการ เช่น การที่สหรัฐอเมริกาส่งเรือบรรทุกเครื่องบินไปที่อ่าวเปอร์เซียเพื่อข่มขู่อิหร่านหรือส่งกองเรือรบแล่นลาดตระเวนบริเวณช่องแคบไต้หวันเพื่อข่มขู่จีน เป็นต้น และการใช้กำลังอำนาจทางเศรษฐกิจเข้าบีบคั้นประเทศต่างๆ อาทิ การบอยคอตทางเศรษฐกิจที่สหรัฐทำต่อประเทศอิหร่านรวมไปถึงประเทศคู่ค้าของอิหร่านด้วย หรือการทำสงครามการค้าด้วยการขึ้นภาษีสินค้าของจีนที่ส่งเข้าสหรัฐอเมริกา เป็นต้น

2.ซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) เป็นเรื่องที่มีการอ้างอิงถึงบ่อยมากเพราะซอฟต์พาวเวอร์เป็น
กระบวนการสร้างความคล้อยตาม ยอมตามโดยปราศจากการบังคับของนานาประเทศโดยมีหลักการสำคัญ 3 ข้อ ตามคำอรรถาธิบายของ ศาสตราจารย์โจเซฟ ไน ดังนี้คือ

1) วัฒนธรรม (culture) คือวิถีการดำเนินชีวิตตั้งเกิดจนตายซึ่งมีรูปแบบแตกต่างไปในแต่ละสังคมถ้าวัฒนธรรมของประเทศหนึ่งมีความสอดคล้องกับผลประโยชน์และค่านิยมของประเทศอื่นๆ เช่น การนิยมนุ่งกางเกงยีนส์ นิยมดูเค-ป๊อปหรือลอกเลียนระบบการศึกษาของประเทศหนึ่งมาใช้ ฯลฯ ทำให้โอกาสที่วัฒนธรรมดังกล่าวจะกลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศนั้นก็จะมีมากขึ้น ช่องทางที่ทำให้วัฒนธรรมของประเทศหนึ่งเป็นที่รู้จักในประเทศอื่นๆ นั้นมีมากมายหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการค้า การเยี่ยมเยือน การติดต่อสื่อสาร และการแลกเปลี่ยน

Advertisement

2) ค่านิยมทางการเมือง (political values) ถ้าประเทศดังกล่าวมีค่านิยมทางการเมืองที่สอดคล้องกับประเทศอื่นๆ ซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศนั้นจะเพิ่มขึ้นเช่นค่านิยมในเรื่องประชาธิปไตยหรือค่านิยมในเรื่องเผด็จการ คือซอฟต์พาวเวอร์ที่เห็นได้ชัดที่สุด

3) นโยบายต่างประเทศ (foreign policies) ถ้าประเทศหนึ่งดำเนินนโยบายที่ก้าวร้าว และไม่แยแสต่อท่าทีของประเทศอื่นๆ โอกาสที่จะสร้างซอฟต์พาวเวอร์ได้น้อย ดังเช่นกรณีของสหรัฐอเมริกาสมัยประธานาธิบดีทรัมป์ที่ยึดถือแต่นโยบาย “America First” มุ่งแต่ผลประโยชน์ของสหรัฐอเมริกาแต่ฝ่ายเดียว ไม่ฟังเสียงคัดค้านของประเทศอื่นๆ เป็นต้น แต่ถ้าประเทศดังกล่าวมีแนวนโยบายต่างประเทศที่รักสันติภาพและเคารพในสิทธิมนุษยชน โอกาสที่จะสร้างซอฟต์พาวเวอร์ให้เกิดขึ้นจะมีมาก

ว่าที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้เขียนบทความเรื่อง “Why America Must Lead Again : Rescuing U.S. Foreign Policy After Trump” ลงในนิตยสารที่เก่าแก่และทรงอิทธิพลเป็นอย่างสูงในทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและนโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาที่นักการทูตและนักวิชาการให้ความเชื่อถืออย่างสูงคือนิตยสารราย 2 เดือนชื่อ “Foreign Affairs” ฉบับเดือนมีนาคม-เมษายนปีนี้เองโดยเนื้อหาสำคัญของบทความนี้คือ โจ ไบเดน ได้ชี้แจงว่ายุทธศาสตร์การทูตของเขากับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ นั้นแตกต่างกันมากแบบว่าอยู่กันคนละขั้วเลยทีเดียว ดังนั้น การที่จะทำให้สหรัฐอเมริกากลับมาเป็นผู้นำของโลกอย่างที่เคยเป็นมาก่อนที่ทรัมป์จะขึ้นมาเป็นผู้นำ ก็คือต้องให้ไบเดนชนะการเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดี ซึ่ง โจ ไบเดน ได้เสนอนโยบายต่างประเทศตามแนวทางของซอฟต์พาวเวอร์ทั้งสิ้นอันมี 3 ประการ

Advertisement

1.ฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตยในประเทศ และระเบียบสากล ข้อนี้คือค่านิยมทางการเมือง (political values) เนื่องจากระบอบประชาธิปไตยของสหรัฐอเมริกาเสื่อมทรามลงมากในสมัยของทรัมป์ เนื่องจากการแบ่งฝักฝ่ายมีการเล่นพวกจนน่าเกลียด ตลอดจนเกิดมีการคอร์รัปชั่นกันมากแม้แต่ทรัมป์เองก็หลบเลี่ยงภาษีและความเหลื่อมล้ำในสังคมอเมริกันได้ถ่างออกมากขึ้น เนื่องมาจากการเก็บภาษีที่ไม่เป็นธรรมซึ่งสหรัฐอเมริกาต้องฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตยให้สดใสดีขึ้น และไม่ปล่อยปละละเลยต่อประเทศที่เคยเป็นประชาธิปไตยแล้วแปรเปลี่ยนไปเป็นเผด็จการละเมิดสิทธิมนุษยชนให้ลอยนวลเช่นสมัยประธานาธิบดีทรัมป์อีกต่อไป

2.ดำเนินนโยบายการทูตที่สอดคล้องกับผลประโยชน์ของชนชั้นกลาง เนื่องจากชนชั้นกลางเป็นกำลังหลักของประชาธิปไตยด้วยการดำเนินการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของประเทศอันได้แก่ถนน ทางรถไฟที่ทรุดโทรมขนานใหญ่และเตรียมบุคลากรเพื่อการแข่งขันทางการค้า อุตสาหกรรมและบริการอย่างมีคุณภาพ ส่วนการแข่งขันกับประเทศจีนก็จะคงการแข่งขันที่เป็นธรรมและเน้นคุณภาพต่อไป แบบว่า
นโยบายกับจีนคงไม่เปลี่ยนแปลงเท่าไรนัก แต่จะสุภาพแบบหนักในเกมมากกว่าการข่มขู่เช่นสมัยของทรัมป์

3.นำพาประชาคมโลกเข้าสู่โต๊ะประชุมเพื่อหารือตามวาระ สำหรับข้อนี้เป็นการยึดถือวัฒนธรรมอันดีที่จะเจรจาพูดจาพาทีอย่างอารยชน มีท่าทีแบบเอาใจเขามาใส่ใจเราเป็นหลัก แทนที่จะเอาแต่ได้หรือไปคนเดียวไม่สนใจผู้อื่นตามแบบที่ทรัมป์ปฏิบัติมาตลอด 4 ปีที่ผ่านมา

คงจะพอเห็นเค้าของนโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาต่อประเทศไทยเราบ้างแล้วนะครับ

โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image