สุจิตต์ วงษ์เทศ : ห้วยแจระแม กับ ดงอู่ผึ้ง ชุมชนแรกเริ่มก่อนเป็นเมืองอุบลราชธานีปัจจุบัน

ห้วยแจระแม บริเวณที่ตั้งชุมชนแรกเริ่มก่อนเป็นเมืองอุบลฯ ปัจจุบันมีสะพานข้ามบนถนนเข้าเมือง อุบลฯ ภาพนี้เมื่อบ่ายแก่ๆ วันศุกร์ที่ 5 สิงหาคม 2559

ถนนจากตัวเมืองอุบลฯ ไป จ. ยโสธร ผ่านสี่แยกบายพาสดงอู่ผึ้ง กับผ่านห้วยแจระแม ก่อนถึงชุมชนคนกุลา บ้านโนนใหญ่ อ. เขื่องใน จ. อุบลราชธานี
ขากลับจากชุมชนคนกุลา ผมลงจากรถแท็กซี่ไปถ่ายรูปบริเวณสะพานข้ามห้วย แจระแม แล้วยืนมองไปไกลๆ ไม่มีจุดหมาย เพราะไม่รู้จะมองหาอะไร
ภูมิประเทศตรงห้วยแจระแมเหมาะสมหลายอย่างที่จะทำแหล่งบอกเล่าความเป็นมาของเมืองอุบลฯ โดยมีป้ายเขียนบอกไว้ แต่ไม่มี

ท้องถิ่นอุบลฯ ต้องทำเอง

เมืองอุบลฯ ทุกวันนี้มีความทันสมัยทุกด้าน ทั้งด้านเทคโนโลยีและด้านอื่นๆ ในชีวิตประจำวัน
เช่น มีแท็กซี่บริการทั้งกลางวัน-กลางคืน เพราะมีประชากรหนาแน่น และเมืองขยายกว้างขวางมาก
แต่ยังขาดความเป็นสมัยใหม่ในเมืองอุบลฯ เพราะยังไม่มีมิวเซียมประวัติศาสตร์สังคมบอกความเป็นมาของผู้คนและบ้านเมืองอุบลฯ กับไม่มีหอศิลปวัฒนธรรมที่มีกิจกรรมสม่ำเสมอด้านศิลปะและวัฒนธรรมร่วมสมัย
ที่มีคือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ไม่เอื้อต่อความเป็นสมัยใหม่ในความหมายสากล

ห้วยแจระแม

 ห้วยแจระแม บนสะพานข้ามขาออกจากเมืองอุบลฯ ไปยโสธร
ห้วยแจระแม บนสะพานข้ามขาออกจากเมืองอุบลฯ ไปยโสธร

อุบลราชธานี เป็นชื่อเมืองมีครั้งแรกสมัย ร.1 ราว พ.ศ. 2335 ตั้งอยู่บ้านห้วยแจระแม ต่อมาย้ายไปอยู่บ้านดงอู่ผึ้ง สืบใหญ่โตกว้างขวางจนปัจจุบัน
“แจระแม” (ในชื่อบ้านห้วยแจระแม) เป็นภาษาอะไร? แปลว่าอะไร? หมายถึงอะไร? ยังไม่รู้
“ดงอู่ผึ้ง” น่าจะหมายถึงบริเวณที่มีผึ้ง แล้วเคยถูกเกณฑ์ให้ส่งส่วยขี้ผึ้งเข้ากรุงเทพฯ จนมีพัฒนาการเป็นประเพณีแห่เทียนพรรษาทุกวันนี้
บ้านห้วยแจระแม กับบ้านดงอู่ผึ้ง ปัจจุบันอยู่ในเขต อ. เมืองฯ เป็นที่รู้จักทั่วไปของชาวอุบลฯ แต่คนส่วนมากไม่รู้ความหมายว่าเกี่ยวข้องอย่างสำคัญกับกำเนิดอุบลราชธานี

Advertisement
แผนที่แสดงตำแหน่งห้วยแจระแม และดอนมดแดง จ. อุบลราชธานี (จากหนังสืออุบลราชธานี มาจากไหน? โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ พิมพ์ครั้งแรกที่ระลึกงานทอดกฐินวัดศรีโพธิ์ชัย ต. ขุหลุ อ. ตระการพืชผล                     จ. อุบลราชธานี  13 พฤศจิกายน 2553)
แผนที่แสดงตำแหน่งห้วยแจระแม และดอนมดแดง จ. อุบลราชธานี (จากหนังสืออุบลราชธานี มาจากไหน? โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ พิมพ์ครั้งแรกที่ระลึกงานทอดกฐินวัดศรีโพธิ์ชัย ต. ขุหลุ อ. ตระการพืชผล จ. อุบลราชธานี 13 พฤศจิกายน 2553)

ท้องถิ่นอุบลฯ ควรจัดสถานที่อยู่บริเวณบ้านห้วยแจระแมกับบ้านดงอู่ผึ้ง มีป้ายบอกประวัติความเป็นมาอย่างสั้นๆ ง่ายๆ ให้คนทั่วไปรู้ (ไม่ต้องใหญ่โตก็ได้)
โรงแรมและห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ในเมืองอุบลฯ น่าจะมีนิทรรศการขนาดกะทัดรัดเหมาะกับห้องโถงล็อบบี้ หรือมีแจกแผ่นพับขนาด A4 บอกความเป็นมาย่อๆ สั้นๆ ของเมืองอุบลฯ ชดเชยที่ไม่มีบอกในพิพิธภัณฑ์ของทางการ
รัฐราชการตั้งตนเป็นนาย เขาไม่ทำหรอกเพื่อชาวบ้านทั่วไป ท้องถิ่นเมืองอุบลฯ ต้องทำเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image