ทำไมใครๆ ก็อยากเป็น ตัวประสานรอยร้าวให้พม่า?

วิกฤตโรฮีนจาที่เกิดมาตั้งแต่ปี 2017 ไม่ได้เป็นบททดสอบราคาแพงสำหรับพม่าเท่านั้น แต่ยังมีหลายประเทศที่ต้องการเข้าไปนั่งเป็นตัวกลางเพื่อยุติปัญหานี้เพื่อแลกกับความไว้ใจและผลประโยชน์มหาศาลในพม่า แม้แต่อินเดียที่มีความสัมพันธ์ที่ไม่สู้ดีนักกับจีน โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์การปะทะกันระหว่างกองกำลังของทั้งสองชาติที่ดอกลัม (Doklam) อันเป็นพรมแดนระหว่างจีน อินเดีย และภูฏาน ในปี 2017 ก็ยิ่งทำให้ทั้งสองชาติเหินห่างกันมากขึ้น ทั้งๆ ที่เป็นเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกันถึงกว่า 4 พันกิโลเมตร แต่ในประเด็นโรฮีนจา อินเดียกลับร่วมมือกับจีนเพื่อสนับสนุนพม่า และแสดงความเห็นอกเห็นใจรัฐบาลพม่าเป็นพิเศษ โดยไม่ได้สนใจการกดดันจากประชาคมโลก ทั้ง 2 ชาติ ซึ่งต่างมองว่าพม่าเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ เพราะมีชายแดนติดทั้งจีนและอินเดีย แสดงทีท่าว่าตนเชื่อมั่นว่ารัฐบาลพม่าจะทำให้รัฐยะไข่กลับมาสู่สถานการณ์ปกติอีกครั้งได้

ภายใต้นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ผู้ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้นำชาตินิยมจัดของอินเดีย นโยบายต่างประเทศอินเดียกับจีนและประเทศคู่รักคู่แค้นอย่างปากีสถานแข็งกร้าวขึ้นตามลำดับ ท่าทีของรัฐบาลอินเดียที่เข้าหาพม่าอาจชี้ให้เห็นว่าอินเดียกำลังพยายามสกัดกั้นอิทธิพลของจีน ไม่ให้มีบทบาทและมีอิทธิพลกับรัฐบาลพม่ามากเกินไป อย่างไรก็ดี หากจะให้เทียบแบบหมัดต่อหมัด นโยบายต่างประเทศของอินเดียต่อพม่านั้นยังไม่มีอะไรหวือหวา ในขณะที่จีนเดินหมากเต็มกำลังเพื่อเข้าไปเป็นผู้ไกล่เกลี่ยสถานการณ์โรฮีนจาให้ได้ ทั้งๆ ที่นโยบายต่างประเทศของจีนบอกไว้ชัดว่าจีนจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวในกิจการภายในของประเทศอื่น บ่อยครั้งที่เราจะได้ยินคนในรัฐบาลจีนออกมาให้สัมภาษณ์สื่อเรื่องการพิสูจน์สัญชาติโรฮีนจา และการนำชาวมุสลิมเหล่านี้กลับไปรัฐยะไข่ ส่วนหนึ่งเพราะต้องการให้โลกเห็นว่าตนจริงจังและจริงใจกับพม่า และพม่าภายใต้รัฐบาล NLD ในปัจจุบันก็ไว้วางใจรัฐบาลจีนมากกว่าโลกตะวันตก

จีนแสดงทีท่าว่าต้องการช่วยพม่าจัดการกับปัญหาชาวโรฮีนจาทุกวิถีทาง แม้แต่ส่งตู้คอนเทนเนอร์หลายร้อยตู้เข้าไปในรัฐยะไข่เพื่อรองรับชาวโรฮีนจากำลังอยู่ในขั้นตอนพิสูจน์สัญชาติก็ยังทำมาแล้ว แต่ 2 ปีผ่านไป ตู้คอนเทนเนอร์นั้นยังอยู่ที่เดิม และมีชาวโรฮีนจาเพียงหลักร้อยที่กลับไปรัฐยะไข่ สหประชาชาติและรัฐบาลบังกลาเทศออกมาแถลงว่าสถานการณ์ในรัฐยะไข่ยังไม่ปลอดภัยสำหรับชาวโรฮีนจา ผู้เขียนคิดว่าการแก้ปัญหาโรฮีนจาในระยะยาวนั้นแทบเป็นไปไม่ได้ เพราะผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายล้วนจับชาวโรฮีนจาไว้เป็นตัวประกัน ฝ่ายพม่าก็ไม่ต้องการชาวโรฮีนจากลับไป เพียงแต่แสดงท่าทีขึงขังว่าพร้อมรับชาวมุสลิมกลุ่มนี้กลับไปเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ถูกประชาคมโลกประณาม ด้านสหประชาชาติและหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนหลายแห่งที่ทำประเด็นโรฮีนจาก็ไม่ไว้ใจรัฐบาลพม่า และรัฐบาลบังกลาเทศที่ไม่ได้แสดงทีท่าจริงจังว่าต้องการผลักดันชาวโรฮีนจากลับไปพม่า เพราะตนก็ได้รับผลประโยชน์มหาศาลจากองค์กรระหว่างประเทศและรัฐบาลของหลายชาติในโลกตะวันตก

เมื่อวิกฤตโรฮีนจาถึงทางตัน จีนจึงเห็นช่อง “สถานการณ์สร้างวีรบุรุษ” เพราะรู้ดีว่ารัฐบาลโลกตะวันตกไม่อยากคบค้าพม่ามากนัก และออง ซาน ซูจี ผู้นำชาตินิยมที่มี “อีโก้” เอ่อล้น ก็ไม่ต้องการไป “ง้อ” โลกตะวันตกเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ พม่าจึงต้องเข้าหาจีนมากขึ้น จีนมีอารมณ์ร่วมกับกรณีโรฮีนจานี้อย่างมาก ถึงขนาดที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ต้องเดินทางไปเจรจากับพม่าด้วยตัวเองในช่วงต้นปีที่ผ่านมา และยังมีผู้นำระดับสูงในรัฐบาลจีนที่ไปเยือนพม่าอีกหลายครั้งในช่วง 2 ปีมานี้ หลังการมาเยือนของประธานาธิบดีสี รัฐบาลพม่าออกแถลงการณ์ขอบคุณจีน ที่ “มีความเข้าใจปัญหาในรัฐยะไข่ ตลอดจนความยากลำบาก และความซับซ้อนของปัญหานี้”

Advertisement

ด้วยเม็ดเงินลงทุนของจีนในพม่า อีกทั้งโปรเจ็กต์โครงสร้างพื้นฐาน เช่น การสร้างเขื่อนพลังน้ำขนาดใหญ่ ที่ถูกรัฐบาลประธานาธิบดีเต็ง เส่ง สั่งระงับไปตั้งแต่ปี 2011 ที่จีนต้องการผลักดันให้กลับมา และท่าเรือน้ำลึกในยะไข่ ที่จะเติมเต็มโครงการเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 (Belt and Road Initiative) ของตน ที่ผ่านมาจีนกับพม่าลงนามในข้อตกลงหลายฉบับ ทั้งที่เกี่ยวกับการค้าและการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้จีนกลายเป็นคู่ค้าใหญ่ที่สุดของพม่าทั้งในวันนี้และต่อไปในอนาคตข้างหน้า จีนจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับรัฐยะไข่เป็นพิเศษเพราะภาคตะวันตกของจีนยังไม่มีทางออกทะเล แต่หากถนนที่เชื่อมจีนตะวันตกและใต้กับมหาสมุทรอินเดีย ผ่านรัฐยะไข่พม่าตะวันตกประสบความสำเร็จ จีนก็จะยิ่งมีอิทธิพลทางการค้า ไม่ใช่เฉพาะกับพม่าแต่เป็นในประเทศที่อยู่ล้อมรอบมหาสมุทรอินเดียทั้งหมด ไกลถึงแอฟริกาตะวันออก

ท่าทีที่กระตือรือร้นสุดขีดของจีนที่มีต่อการแก้ปัญหาโรฮีนจาในพม่าสร้างความหวั่นวิตกให้กับประชาคมโลก เพราะทุกคนรู้ จีนรู้ว่ารัฐยะไข่มีทรัพยากรที่มีค่าหลายรายการ โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติ และที่ตั้งที่อยู่ระหว่างจีนกับมหาสมุทรอินเดีย/อ่าวเบงกอล การแก้ปัญหาโรฮีนจาของจีนคือการเร่งให้รัฐบาลพม่านำตัวโรฮีนจากลับไปให้เร็วที่สุด แต่ไม่ได้คำนึงว่าสภาพแวดล้อมในรัฐยะไข่จะพร้อมหรือมีความปลอดภัยเพียงพอสำหรับชาวโรฮีนจาหรือไม่

เหตุผลที่จีนต้องช่วยเหลือพม่าและเป็นเสมือนกระบอกเสียงให้โลกรับรู้ว่าพม่ามีความจริงใจจะแก้ปัญหาโรฮีนจา สวนทางกับนานาประเทศที่มองว่าพม่าไม่ต้องการนำชาวโรฮีนจากลับเข้าไปในรัฐยะไข่ และไม่มีความจริงใจใดๆ ที่จะแก้ปัญหานี้ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะจีนก็ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักเรื่องการจัดการกับชนกลุ่มน้อยอุยกูร์ ทั้งจีนและพม่าไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court หรือ ICC) แต่ศาลก็ขยายเขตอำนาจการปกครองของตนเพื่อคุ้มครองชาวโรฮีนจา และมองว่าอาชญากรรมที่รัฐบาลพม่าทำกับโรฮีนจาส่งผลกระทบกับบังกลาเทศ ซึ่งเป็นสมาชิกของตน

Advertisement

ในอีก 5 ปี หากได้กลับมาอ่านบทความนี้ใหม่ ก็จะค้นพบว่าสถานการณ์ยังเหมือนเดิม ไม่รู้ว่าอีกกี่ปีชาวโรฮีนจาจะกลับมาพม่าได้อย่างสมศักดิ์ศรี แต่ตราบใดที่การเมืองพม่ายังพึ่งพาพรรค NLD และมีจีนเป็นผู้ไกล่เกลี่ยหลักแล้วล่ะก็ แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ก็จะห่างไกลออกไปเรื่อยๆ

ลลิตา หาญวงษ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image