อุเบกขาของพระอริยะ

ในพรรษาแรกของพุทธกิจที่ถ้ำสุกรขาตาเชิงเขาคิชฌกูฏ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงโปรดทีฆนขปริพาชกมิให้ยึดติดในความคิดเห็นของตนว่าถูกต้องแล้ว เมื่อละวางทิฏฐิเดิมก็ทรงสอนธาตุและเวทนาให้ละต่อเป็นลำดับจนครบ

ครั้งนั้นทีฆนขปริพาชกได้เป็นโสดาบัน ส่วนพระสารีบุตรบรรลุอรหัตตผล

ทีฆนขปริพาชกเป็นนักบวชบูชาไฟซึ่งคงถึงอุเบกขาในฌานกสิณแล้ว ทีฆนขปริพาชกกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่าความคิดเห็นของตนไม่ใช่ความเห็นที่ควรกับพระพุทธองค์ ต่างฝ่ายต่างก็มีความคิดเห็นที่เหมาะสมแตกต่างกันไป พระพุทธองค์ทรงตอบว่าความคิดเห็นที่ว่าไม่ควรกับพระองค์ก็ไม่ควรกับทีฆนขปริพาชกเช่นกัน

Advertisement

พระพุทธองค์ทรงอธิบายถึงปัญหาความยึดถือความคิดเห็นส่วนตน บุคคลอาจมีความคิดเห็นแตกต่างกันแต่ผู้ที่สามารถละความคิดเห็นของตนได้โดยไม่ต้องไปมีความเห็นแบบอื่นนั้นมีน้อย สิ่งที่เห็นว่าควรแก่ตนเองมักอยู่ข้างกิเลส ผู้หลุดพ้นจะไม่วิวาทเพราะความคิดเห็นที่แตกต่างกัน โวหารใดที่ชาวโลกพูดกันก็อาจพูดไปตามโวหารนั้น ไม่ยึดมั่นด้วยทิฏฐิ

การละความคิดเห็นทั้งที่มีความคิดเห็นเช่นนั้นจึงเป็นการปล่อยวางทิฏฐิ นี้ถือว่าเป็นการไม่เอนเอียงต่อความคิดเห็นที่แตกต่างออกไป สามารถละวางอคติทั้งสี่หรือความนึกคิดที่เป็นกิเลสขั้นกลางอันได้แก่ความชอบ ความโกรธ ความหมกมุ่นหลงใหลและความกลัว

อาการของจิตก็จะไม่กวัดแกว่งไปตามอิทธิพลของอคติ มีความสงบที่พร้อมต่อการรับฟังหรือสดับธรรม

Advertisement

ดังนั้นการละวางในระดับเบื้องต้นนี้จึงมีความสำคัญมาก การตกอยู่ในความนึกคิดที่เป็นอคติทำให้อารมณ์กระเพื่อมมาก ขาดสติความพร้อมในการน้อมจิตเข้าไปในธรรม การละวางเป็นการไม่ปักใจไปในความนึกคิดนั้นโดยไม่ต้องหันไปยึดถือความนึกคิดอื่นแทนด้วย

การละวางที่มีลักษณะแบบนี้คือ “ตัตรมัชฌัตตตา” ซึ่งแปลกันว่าความเป็นกลาง

ตัตรมัชฌัตตตาเป็นแก่นคำที่ดูเหมือนขาดการเจียระไนถึงที่มาทางบาลี อาการของจิตที่มีความเป็นกลางหรือสงบราบเรียบจะเรียกว่าตัตร
มัชฌัตตตาเจตสิก ส่วนตัตรมัชฌัตตุเบกขาเป็นอุเบกขาจากอคติ ความนึกคิดจะมีความเป็นกลางโดยไม่ถูกอคติรบกวน

ตัตรมัชฌัตตตาเป็นคุณลักษณะที่สำคัญของสภาวจิตที่เป็นอุเบกขา ในทางพระพุทธศาสนาการปฏิบัติเริ่มด้วยการน้อมความนึกคิดไปสู่สัมมาสังกัปปะและสติที่ตั้งมั่น สมถวิปัสสนาต้องมีความเป็นกลางเป็นองค์ประกอบ ความเป็นกลางจะมีความสำคัญจนถึงขั้นที่จิตละเอียดมาก

อาการของจิตที่เป็นกลางจะพักการทำงานของกิเลสมิให้แล่นไปอย่างคล่องแคล่วได้เช่นเดิม ตัตรมัชฌัตตตาเจตสิกจึงมีลักษณะของการละหรือเว้นวรรคในขณะจิตนั้นๆ

อุเบกขามีอารมณ์ที่เป็นกลางและเป็นหนึ่ง ด้านหนึ่งไม่แล่นออกไปเกาะอารมณ์ที่ไม่อยู่ในธรรม อีกด้านหนึ่งไม่มีปฏิกิริยาต่อสัมผัสใดๆ ที่แทรกเข้ามา รู้จักหยุดหรือถอยออกจากความฟุ้งซ่าน

ตัตรมัชฌัตตตาจึงเป็นสภาวะของการตัดการเดินทางของอารมณ์และความคิดปรุงแต่งด้วย

สำหรับพระอริยบุคคล ลักษณะที่เป็นกลางนี้จะเกิดขึ้นในพรหมวิหารภาวนาซึ่งเรียกว่า “พรหมวิหารุเบกขา” (อุเบกขาในพรหมวิหาร) อุเบกขาดังกล่าวมีลักษณะของการแผ่ออกไป อาการของจิตมีวิมุติที่ห่างจากกิเลสราคะซึ่งเรียกว่าอุเบกขาเจโตวิมุติ การแผ่อุเบกขาเจโตวิมุติออกไปอย่างกว้างขวางไม่มีขอบเขตจะเป็นอุเบกขาอัปปมัญญา

อุเบกขาอัปปมัญญาเป็นการเจริญสมถะที่สำคัญยิ่งของพระอริยบุคคลโดยเฉพาะอย่างยิ่งพระอนาคามี สามารถนำไปสู่อรูปฌานที่มีอารมณ์แบบอากิญจัญญายตนะ ถ้าสามารถสลายความเป็นของตนในอุเบกขาได้อีกก็จะช่วยให้ออกจากทั้งรูปราคะและอรูปราคะ

อุเบกขาอัปปมัญญาจึงเป็นยอดของอุเบกขาภาวนา

เมื่อพระอริยบุคคลบรรลุอรหัตตผล อุเบกขาที่เป็นอัตโนมัติและปราศจากกิเลสจะเกิดขึ้นซึ่งเรียกว่า “ฉฬังคุเบกขา” พระอรหันต์จะไม่ถูกรบกวนจากอารมณ์ที่ผ่านเข้ามาทางทวารครบทั้งหก อุเบกขาแบบนี้เป็นผลของการบรรลุธรรม

เมตตาเจโตวิมุติเป็นจิตที่มีความสุขความปรารถนาดี กรุณาเจโตวิมุติและมุทิตาเจโตวิมุติก็เป็นจิตที่มีคุณลักษณะเดียวกัน

อุเบกขาเจโตวิมุติจะเป็นจิตที่มีความเป็นกลางหรือตัตรมัชฌัตตตา ในพระสูตรพระพุทธองค์ทรงแสดงอุเบกขาอัปปมัญญาไว้คล้ายคลึงกับเมตตาอัปปมัญญา ต่างกันเพียงต้องเริ่มที่อุเบกขาเจโตวิมุติซึ่งเป็นอารมณ์ของความเป็นกลางแล้วค่อยแผ่ออกไป

การแผ่ออกไปนี้มีทั้งส่วนที่เฉพาะเจาะจงและไม่เฉพาะเจาะจง แผ่ออกไปในทิศทางต่างๆและไปยังสัตว์โลกทุกภพภูมิทั่วจักรวาลอย่างเสมอกัน

ในเมตตสูตร พรหมวิหาร 4 ล้วนแผ่ไปอย่างไม่มีประมาณ มีข้อความที่ย่นย่อเกี่ยวกับอุเบกขาว่า “จงมีใจประกอบด้วยอุเบกขา แผ่ไปตลอดทิศที่ 1 อยู่ ทิศที่ 2 ทิศที่ 3 ทิศที่ 4 ก็เหมือนกัน โดยนัยนี้ ทั้งเบื้องบนล่างและเบื้องขวาง จงมีใจประกอบด้วยอุเบกขาอันไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่ หาประมาณไม่ได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน แผ่ไปตลอดโลก ในที่ทุกสถาน ทั่วสัตว์ทุกเหล่า”

อุเบกขาอัปปมัญญาจึงเป็นเช่นเดียวกับอัปปมัญญาอื่นๆ คือแผ่ไปทุกทิศทาง ไปอย่างไม่มีประมาณและตลอดโลก แต่จิตที่แผ่ออกไปนั้นจะผ่านขั้นที่เคยมีเมตตาเป็นอาทิผสมอยู่ มีแต่อารมณ์ที่เป็นกลาง ไม่ทุกข์ไม่สุขและไม่เอียงไปแม้ในอารมณ์ของความปรารถนาดีทางพรหมวิหาร อุเบกขาอัปปมัญญาจึงเป็นการละวางความยินดีฝ่ายกุศลออกไปแล้ว ส่วนทิศทั้งสิบที่ใช้นั้นเป็นแนวปฏิบัติ

ในด้านสมถภาวนาขั้นอรูปฌาน การเจริญอุเบกขาอัปปมัญญามีความคล้ายคลึงกับการเจริญอารมณ์ของอากิญจัญญายตนะ ประเด็นนี้ก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาทำความเข้าใจเพราะชาวพุทธไม่จำเป็นต้องเจริญฌานกสิณเป็นพื้นแต่สามารถอาศัยพรหมวิหารอัปปมัญญาได้

จิตที่พัฒนาจากเมตตาอัปปมัญญาสู่อุเบกขาอัปปมัญญาจะให้อารมณ์ที่เป็นกลางอย่างไพศาล มิใช่อารมณ์ของความไม่มีแล้วนิ่งอยู่ในอารมณ์นั้น เมตตาอัปปมัญญาเป็นกระจายอารมณ์ที่มีความสุขใจจึงเป็นอารมณ์ของวิญญาณที่ไม่สิ้นสุดหรือวิญญาณัญจายตนะ ส่วนอุเบกขาอัปปมัญญาเป็นการกระจายอารมณ์ที่เป็นกลางออกไปซึ่งเทียบได้กับการแผ่ความไม่มีอะไรออกไปไม่เหลือ

ในพระสูตร การเจริญอรูปฌานที่เข้าถึงอากิญจัญญายตนะโดยตรงเป็นอารมณ์ของความไม่มีหรือไม่มีเหลือ ส่วนอารมณ์ของอุเบกขาอัปป
มัญญาเป็นอารมณ์ของความเป็นกลางที่แผ่ออกไปอย่างไม่มีประมาณซึ่งก็เป็นความไม่มีหรือไม่มีเหลือเช่นกัน จึงเป็นอากิญจัญญายตนะด้วย

ถ้าเจริญฌานต่อโดยละอารมณ์ดังกล่าวแล้วเข้าสู่เอกัคคตาที่ละเอียดที่สุดของฌานก่อนพุทธกาลก็จะเป็นเนวสัญญานาสัญญายตนะ

อารมณ์ของอรูปฌานทั้งสองขั้นนี้อาจทำให้ฤาษีดาบสเชื่อว่าตนหลุดพ้นแล้วเพราะเป็นอารมณ์ของความว่างเปล่าหรือไปทางความสงบที่เกิดได้ยาก จิตเบาอย่างยิ่ง ทว่ากิเลสที่มิได้ถูกถ่ายถอนจะทำให้ผู้ที่สำเร็จฌานยังคงกดทับกิเลสไว้ อาจติดภพและยิ่งยกตนเหนือผู้อื่น

ความทะยานอยากในอรูปภพนี้เป็นภวตัณหา มิใช่การก้าวสู่ความหลุดพ้น

พระอนาคามีละกามราคะได้แล้ว ราคะที่เป็นการติดอารมณ์ของรูปฌานและอรูปฌานก็จะต้องมีการละต่อไปอีก ราคะทั้งสามนี้เป็นการติดอยู่กับความพอใจอันละเอียดซึ่งเรียกว่า “ฉันทราคะ”

เมตตาอัปปมัญญาช่วยละพยาบาทรวมทั้งรูปราคะ อุเบกขาอัปปมัญญาช่วยละปฏิฆะรวมทั้งอรูปราคะที่เกิดขึ้นก่อนหน้า ส่วนอรูปราคะในอากิญจายตนะยังคงอยู่จนผ่านอรูปฌานขั้นนี้

อรูปภพมาจากภวตัณหาและเป็นภพละเอียดที่ผู้สำเร็จอุเบกขาฌานขั้นสูงมักเข้าใจว่าเป็นนิพพาน เป็นความสงบที่ยิ่งกว่าอุเบกขาในจตุตถฌาน เป็นความว่างเปล่าหรือความไม่มีอะไร อัปปมัญญาช่วยแบ่งปันความสงบอันละเอียดนั้นอย่างไม่มีประมาณแล้วกลับมาสู่ภาวะที่เป็นอุเบกขา

ในอากิญจัญญายตนะ อารมณ์ของความไม่มีถือว่าเสถียรได้ยากเพราะขาดความมีให้เกาะ อารมณ์ของเนวสัญญานาสัญญายตนะก็คงตั้งมั่นได้ยากมากเช่นกันเพราะเสมือนไม่มีสัญญาใดๆให้เกาะ การแผ่ออกไปของอุเบกขาเป็นการสละออกจึงช่วยเพิ่มความสงบและลดความยินดีในฌาน เมื่อจิตกลับเข้ามาอยู่ในอุเบกขาจะมีการอาศัยวิปัสสนาให้เห็นความไม่เที่ยงและไม่เป็นของตน

เมื่อการเดินทางของพระพุทธสาวกผ่านอนาคามีมรรคจนมาถึงช่วงที่ละรูปราคะและอรูปราคะได้แล้วก็ละสังโยชน์เบื้องสูงที่เหลืออันได้แก่มานะ อุทธัจจะและอวิชชา

มานะที่ระบุไว้นี้เป็นอนุสัยที่จิตตามให้ความสำคัญกับธรรมที่มีหรือได้ อุทธัจจะเป็นความแกว่งตัวของจิตที่ต้องการหลุดพ้น อวิชชาเป็นอนุสัยแห่งความหลง สังโยชน์เหล่านี้เป็นตัณหาและทิฏฐิส่วนที่อัปปมัญญาภาวนาไม่สามารถขจัดได้

อัปปมัญญาภาวนาเป็นภาคสมถะที่ใช้ในการเจริญมรรค ผู้ที่มีฌานอาจเจริญเมตตาและอุเบกขาให้มีเมตตาเจโตวิมุติและอุเบกขาเจโตวิมุติ พระอริยะที่มีรูปฌานอาจเจริญเมตตาอัปปมัญญาเพื่อละรูปราคะและอรูปราคะขั้นต้นแล้วต่อด้วยอุเบกขาอัปปมัญญาเพื่อละอรูปราคะที่ละเอียดขึ้น

จิตส่วนลึกจะมีการพัฒนาจากจิตที่เป็นกุศลสู่จิตที่มีความเป็นกลางและที่ไม่มีอะไร การพัฒนานี้สำคัญยิ่งต่อการละอนุสัยกิเลสที่เหนี่ยวรั้งการเดินทางขั้นสูงของพระอริยบุคคล

พระอริยะมีพรหมวิหารและใช้ไปเพื่อละอาสวะ จะเห็นเมตตาเจโตวิมุติและอุเบกขาเจโตวิมุติเป็นต้นว่าไม่เที่ยง จิตไม่ติดในสมถะ

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ทรงโปรดให้สอนพรหมวิหารภาวนาเพื่อไปสู่ความเป็นพรหม การภาวนาต้องเป็นไปเพื่อมรรคผล มีปัญญาและเดินทางไปจนถึงอริยสัจ

ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image