ที่มา | คอลัมน์ คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง มติชนรายวัน |
---|---|
ผู้เขียน | กล้า สมุทวณิช |
เผยแพร่ |
คล้ายว่าฉันทามติร่วมกันของคนไทยในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา จะพร้อมใจกันหมุนนาฬิกากลับไปในสมัยประชาธิปไตยครึ่งใบ ช่วง พ.ศ.2520-2530 ยุคสมัยแห่งการบังคับใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521
รัฐธรรมนูญซึ่งมีองค์ประกอบทางอำนาจค่อนข้างใกล้เคียงกับ (ว่าที่) รัฐธรรมนูญปี 2559 อันประกอบด้วยระบบเลือกตั้งที่เอื้อให้มีรัฐบาลผสม เปิดช่องให้ใครก็ได้ไม่จำเป็นต้องเป็น ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี และมีสมาชิกวุฒิสภามาจากการแต่งตั้งสรรหา ภายใต้อำนาจข้าราชการประจำเป็นใหญ่ครอบงำลงไปเป็นรัฐซ้อนรัฐ
“อนาคต” แห่ง “อดีต” ที่มองได้จาก “ปัจจุบัน” สำหรับฝ่าย “เสียงข้างน้อย” ที่ไม่เห็นชอบด้วยกับรัฐธรรมนูญมองเห็น ท่ามกลางความยินดีปรีดาของผู้คนที่เป็นเสียงส่วนใหญ่ของประเทศ ที่อาจจะประกอบด้วยเหตุผลอันผสมผสาน ทั้งผู้ที่นิยมความสงบราบคาบภายใต้ปกครองภายใต้ระบอบเบ็ดเสร็จ ชื่นชมในตัว “ท่านผู้นำ” ที่เด็ดขาดห้าวหาญสมชายชาติทหาร ตลอดจนผู้คนที่เบื่อหน่ายกับความขัดแย้งทางการเมืองและความคิดของผู้คนในสังคมจนเห็นว่าเพื่อจะยุติสภาพดังกล่าว จะเอาอย่างไรก็เอากันไปเพื่อให้เดินหน้าต่อ
กลายเป็นบทสรุปข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ เถียงไม่ออก ทำใจได้ยากว่าคนส่วนใหญ่ในประเทศเรานั้นเขา “ยอมรับ” กติกาของร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่นำมาลงประชามติ
แม้อาจจะมีข้อโต้แย้งถึงความไม่เปิดเสรีในการรณรงค์ ภายใต้กติกาอันไม่ยุติธรรมที่มีฝ่ายหนึ่งฝ่ายเดียวเท่านั้นที่ครอบครองพื้นที่และเวลาแห่งการป่าวประกาศ แต่ผู้ลงประชามติทั้งหลายก็ได้ออกเสียงด้วยเจตจำนงของตนเองไม่มีใครไปบังคับ ลึกๆแล้วฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยก็รู้ดีว่า ต่อให้มีการรณรงค์อย่างเสรี พูดได้เต็มที่ ผลสรุปก็ไม่น่าจะแตกต่างไป อย่างมากแค่เปลี่ยนจากการการแพ้ขาดลอยไปเป็นการแพ้อย่างมีลุ้นเท่านั้นเอง
เสียงตอบรับจากคนส่วนใหญ่ในประเทศที่ว่า ทำให้ชาวเสียงข้างน้อยหลายคนสิ้นหวังกับอนาคต อดที่จะรู้สึกตัวว่าคนอีกฝั่งหนึ่ง ฝ่ายอนุรักษนิยม อำนาจนิยม หรือผู้ไม่หือไม่อือขอแค่ให้มันผ่านๆไป กำชัยชนะกำหนดอนาคตของประเทศนี้ได้อีกครั้ง คนวัยหนุ่มสาวที่เพิ่งสร้างครอบครัวหลายคนแสดงความท้อแท้ถึงกับเอ่ยกล่าวว่าคงเลิกคิดที่จะสร้างทายาทรุ่นใหม่สืบต่อไปในประเทศที่ไร้อนาคตนี้ หรือใครที่มีลูกแล้ว ก็ควรหาช่องทางเพื่อเป็นทางเลือกเพื่อให้ลูกหลานมีทางเลือกที่จะไม่ต้องติดยึดอยู่กับประเทศในเชิงพื้นที่ หรืออย่างน้อยก็ไปให้พ้นจากการศึกษาที่น่าจะมีแนวโน้มไปในทางกล่อมเกลาเยาวชนให้เป็นเด็กที่ดีที่เชื่องซื่อต่อสิ่งที่อ้างว่าเป็น “ชาติ” หรือ “หน้าที่พลเมือง” แต่เรื่องมันจะเลวร้ายสิ้นหวังขนาดนั้นจริงหรือ ?
หากลองพิจารณาว่า คนรุ่นที่เป็น “พ่อแม่” ในตอนนี้ คือคนที่มีอายุตั้งแต่ 30-40 ปี กำเนิดและเติบโตมาให้บรรยากาศทางการเมืองและสังคมในยุคที่ไม่แตกต่างไปจากทุกวันนี้เท่าไรในช่วงปี 2520-2530 เราหลายคนคงระลึกได้ว่าเคยฟังเพลง “สยามมานุสติ” และเพลงปลุกใจอื่นๆยามเช้าก่อนไปโรงเรียน เหมือนที่เด็กสมัยนี้จะต้องฟังเพลง “คืนความสุขให้ประเทศไทย” นั่นแหละ
พ่อแม่ของใครหลายคนอาจจะเป็นพลังนักศึกษาประชาชนคนหนุ่มสาวที่เพิ่งพ่ายแพ้จากกระแสขวาจัดในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 คนรุ่นนั้นบางคนต้องเข้าป่าจับอาวุธต่อสู้กับอำนาจรัฐ หรือที่ไม่มีโอกาสเช่นนั้นก็เร้นตัวซ่อนความคิดอยู่อย่างมิดชิด เป็นคนชั้นกลางมนุษย์เงินเดือน ข้าราชการ นักธุรกิจ และเลี้ยงดูลูกหลานตัวเองไปอย่างเงียบๆ ลูกหลานของพวกเขาเหล่านั้น ก็คือพวกเราในขณะนี้
ในเมื่อบรรยากาศเช่นนั้น พ่อแม่ของเรายังเลี้ยงดูเราให้เติบโตมาเป็นเราเช่นในทุกวันนี้ได้ แล้วจะมีเหตุผลอะไรที่เราจะไม่สามารถเลี้ยงดูรุ่นลูกรุ่นหลานของเราให้เติบโตมาเป็นคนที่มีความเชื่อและศรัทธาว่าผู้คนเท่ากัน มีสิทธิมีเสียงและมีอำนาจตัดสินใจในทิศทางของประเทศเท่ากันได้เล่า
ถึงแม้บางคนอาจจะได้รับการเลี้ยงดูมาให้เป็น “พลเมืองที่เชื่อง” ต่อรัฐ แต่กระนั้นมันก็มีอะไรบางอย่างที่ทำให้พวกเรา “กลายพันธุ์” มาเป็นเช่นนี้ได้อยู่ดีไม่ใช่หรือ และเราก็ยังมีคนรุ่นใหม่ที่เป็นความหวัง กำเนิดและเติบโตขึ้นมาเรื่อยๆ เรายังมีวัยรุ่นอย่างเนติวิทย์ หรือพริษฐ์ (ชิวารักษ์) ปรากฏขึ้นมาให้เห็นอยู่มิได้ขาด
ด้วยปัจจัยความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและโลกทรรศน์ ที่ในปี 2520 นั้น โทรทัศน์สียังไม่มีครอบคลุมทุกจังหวัด ข่าวต่างประเทศผ่านดาวเทียมเป็นสิ่งล้ำสมัย คอมพิวเตอร์เป็นสมบัติของมหาวิทยาลัยชั้นนำหรือคนมีเงินเหลือใช้ ความรู้ภาษาอังกฤษของผู้คนมีเพียงสองปีในการศึกษาภาคบังคับ และคนทั้งหลายยังมองข้าราชการเป็น “เจ้านาย” ประชาชนเป็นเพียงผู้ถูกปกครอง
หากใน พ.ศ.2559 ที่เรามีคอมพิวเตอร์อเนกประสงค์กันคนละเครื่องในอุ้งมือ และทำหน้าที่เป็นหนังสือพิมพ์และสถานีถ่ายทอดโทรทัศน์ส่วนตัวด้วย ข่าวสารเคลื่อนที่เร็วจากแหล่งข่าวไม่เกิน 5 นาทีก็กระจายไปได้ทั่วโลกผ่านผู้คนด้วยกันเองไม่ต้องรอสื่อที่ไหน ความรู้ของผู้คนเติบโตขึ้น และการตื่นตัวทางการเมืองของผู้คนก็เปลี่ยนไป เพราะการปฏิรูปการเมืองที่เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2540 นั้น ได้สร้างความตระหนักรู้ให้แก่ประชาชนส่วนใหญ่แล้ว ว่าแท้จริงเราเองต่างหากคือผู้ทรงสิทธิในประเทศนี้ แม้ในภาวะยกเว้นที่คนส่วนหนึ่งอาจยอมลดหรือมอบสิทธิเช่นนั้นให้ไปเพื่อแก้ความเดือดร้อนรำคาญหรือเพื่อแลกกับความสะดวกเด็ดขาดดังใจ แต่นั่นก็เป็นการชั่วคราว เมื่อเวลามาถึงและต้องการ เราย่อมเรียกสิทธิอำนาจอันเป็นของเรานั้นกลับคืนมาได้เสมอ
สภาพแวดล้อม เทคโนโลยี และโลกทรรศน์ของผู้คนที่เปลี่ยนไปนี้เอง ระบอบการเมืองที่พยายามฟื้นฟูขึ้นมาจากเศษซากของยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ จะอยู่รอดกับสภาพแวดล้อมในปัจจุบันจนกระทั่งกล่อมเกลาลูกหลานเราให้เป็นพลเมืองตุ๊กตาที่ซื่อเชื่องสืบสานอุดมการณ์รัฐอนุรักษนิยมได้จริงหรือ เราให้ราคากับปีศาจโบราณพ้นสมัยที่มากำเนิดใหม่ให้น่ากลัวเกินจริงไป กับเราประเมินตัวเอง และลูกหลานคนรุ่นใหม่ของเราต่ำเกินไปหรือเปล่า
เนื่องในโอกาส “วันแม่” ซึ่งคนหนุ่มสาวหลายคนตัดสินใจที่จะไม่เป็นพ่อเป็นแม่คนแล้ว แต่ส่วนตัวก็ยังอยากเชื่อและตั้งความหวังว่าประเทศนี้ยังมีอนาคตที่จะขับสิ่งแปลกปลอมพ้นสมัยที่เกิดขึ้นนี้ได้ในวันและเวลาที่พร้อม ถ้าเรายังอดทนพอ อย่ารีบประมาทสติปัญญาของตัวเราเองและลูกหลานเราเร็วเกินไปนัก