คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : อุดมการณ์ของเด็กหนุ่มสาว ผู้พิฆาต‘อสูร’

ฉันเรียนรู้ถึงเหตุผล พรุ่งนี้ต้องดีกว่า จับมือไว้ไปจากนี้ อย่ายอมแพ้

ญี่ปุ่นใช้การ์ตูนทั้งที่เป็นแบบภาพนิ่ง (มังงะ) และภาพยนตร์การ์ตูน (อนิเมะ) ทั้งมิติภายนอกคือ
การส่งออกความเป็นญี่ปุ่นไปเป็นสินค้าทางวัฒนธรรม และมิติภายใน คือ การใช้เป็นเครื่องปลูกฝังหล่อหลอมค่านิยมให้กับเด็กและเยาวชน

ข้อพิสูจน์ที่จับต้องได้ว่า “มังงะ” สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรมญี่ปุ่นได้ คือ การ์ตูนเรื่อง “กัปตันซึบาสะ” ที่สามารถปลูกฝังความทะเยอทะยานในกีฬาฟุตบอลให้กับเยาวชนญี่ปุ่นยุคปลายโชวะ (ประมาณ ค.ศ.1981-1988) จากกีฬาที่แทบไม่มีใครเล่นมาสู่การเป็นทีมชาติและลีกฟุตบอลชั้นนำระดับโลก โดยเฉพาะทีมฟุตบอลหญิงญี่ปุ่นเคยได้แชมป์ฟุตบอลโลกในปี ค.ศ.2011

นักเตะญี่ปุ่นระดับตำนานต่างยอมรับ คือพวกเขาล้วนแต่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากการ์ตูนที่ กัปตัน
ซึบาสะ ตัวเอกของเรื่องประกาศไว้ตั้งแต่สี่สิบกว่าปีก่อนว่า “สักวันเถอะ ทีมฟุตบอลของญี่ปุ่นจะเป็นแชมป์บอลโลก”

Advertisement

เมื่อจ้องมองลองย้อนดู ภาพที่ปกคลุมไปด้วยโคลน ใจเริ่มสั่นเทิ้มและมือคู่นี้ที่มันสั่นระรัว สั่นเหมือนว่ามันอยากไขว่คว้าบางสิ่ง และมันก็เท่านั้นและสำหรับวงการการ์ตูนญี่ปุ่นในปีนี้ คงไม่มีใครปฏิเสธความยิ่งใหญ่ของ Kimetsu No Yaiba หรือในชื่อภาษาไทยว่า “ดาบพิฆาตอสูร”

มังงะหรือหนังสือการ์ตูนเรื่องนี้ยอดขายรวมกันกว่า 82 ล้านเล่มจนขึ้นมาเป็นหนังสือมังงะที่ขายดีที่สุดตลอดกาลของญี่ปุ่น และภาพยนตร์แอนิเมชั่นตอน “ศึกรถไฟสู่นิรันดร์” (Kimetsu No Yaiba : Mugen Train) ก็ชุบชีวิตธุรกิจโรงภาพยนตร์ของญี่ปุ่นที่โดนพิษโควิดไปเต็มๆ ให้หายใจต่อไปได้

ภาพยนตร์ดังกล่าวทำรายได้ในโรงภาพยนตร์ถึง 30,000 ล้านเยนภายในเวลาเพียง 10 วัน แซงทั้งหนังการ์ตูนญี่ปุ่นขึ้นหิ้งอย่าง Spirit Away กับหนังรักตำนานชู้รักเรือล่ม TITANIC ไปได้แบบไม่ยากเย็น และเมื่อวันที่ 4 ธันวาคมที่ผ่านมา หนังสือมังงะเล่ม 23 ซึ่งเป็นตอนจบของการ์ตูนชุดนี้ก็ออกวางจำหน่ายสร้างปรากฏการณ์ไปทั่วญี่ปุ่น ที่นอกจากหนังสือการ์ตูนจะขายหมดในเวลาอันสั้นแล้ว หนังสือพิมพ์หลักทั้ง 5 หัวทั่วญี่ปุ่นที่ลงรูปตัวละครของการ์ตูนชุดนี้เป็นหน้าแรกที่ระลึกก็ขายเกลี้ยงหมดแผง สถาบันวิจัยทางเศรษฐศาสตร์ของญี่ปุ่นประเมินว่าการ์ตูนเรื่องนี้สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจรวมสามแสนล้านเยนในทุกรูปแบบรวมกัน

Advertisement

สำหรับในประเทศไทย ภาพยนตร์การ์ตูนดาบพิฆาตอสูรตอน “ศึกรถไฟสู่นิรันดร์” มีกำหนดฉายในโรงภาพยนตร์ทั่วไปในวันที่ 9 ธันวาคมนี้ แต่ก่อนหน้านั้นได้ชิมลางแบบจำกัดในโรงระบบ iMax เพียงหนึ่งสัปดาห์ก็ทำรายได้ไปถึง 2 ล้านบาท จนคาดเดาได้ไม่ยากว่ารายได้ของภาพยนตร์อนิเมะเรื่องนี้ในไทยก็น่าจะสร้างปรากฏการณ์ได้ไม่ผิดจากที่ญี่ปุ่น

หลายท่านคงสงสัยว่าการ์ตูน ซึ่งสร้างปรากฏการณ์ระดับนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร และมีความน่าสนใจอย่างไร หรือบางท่านที่มีลูกหลานวัยประถมก็อาจจะพอนึกออก หรือเด็กๆ ของท่านมารบเร้าขอให้พาไปดูการ์ตูนเรื่องนี้ในโรงภาพยนตร์

กลิ่นหอมโชยมายามค่ำคืน (I spend all day and night) ท้องฟ้าที่เคยได้เห็น (Staring into the sky) สิ่งเดียวที่อาจแปรผันไป ตอนนี้มีเพียงแค่ตัวเอง และมันก็เท่านั้น

ฉากของการ์ตูนเรื่องนี้คือประเทศญี่ปุ่นยุคสมัยจักรพรรดิ์ไทโช (ค.ศ.1912-ค.ศ.1026) บนโลกที่มี “อสูร” (Oni) ร่วมสังคมและกัดกินมนุษย์เป็นอาหาร

พวกมันเป็นอมนุษย์ที่มีร่างกายที่เกือบเป็นอมตะ สามารถฟื้นฟูบาดแผลได้ในเวลาอันสั้น แม้แต่แขนขาที่ถูกตัดก็งอกใหม่ได้ ดังนั้นโดยทั่วไปแล้วมนุษย์แทบไม่มีทางเอากำจัดมันได้ เพราะอสูรนั้นแพ้เพียงแสงอาทิตย์ หรือการบั่นคอด้วยดาบนิจิริน (เพลิงสุริยัน) ที่ตีขึ้นจากเหล็กพิเศษซึ่งเก็บพลังศักดิ์สิทธิ์จากแสงอาทิตย์เท่านั้น

ผู้ที่สามารถใช้ดาบเพลิงสุริยันร่วมกับ “พลังปราณ” ได้ก็คือกลุ่มองค์กรที่เรียกตัวเองว่า “หน่วยพิฆาตอสูร” ซึ่งประกอบไปด้วยเด็กหนุ่มเด็กสาวที่อายุตั้งแต่ 14 ถึง 20 กว่าปีเท่านั้น

ฉันเรียนรู้ถึงเหตุผล พรุ่งนี้ต้องดีกว่าจับมือไว้ไปจากนี้ อย่ายอมแพ้

เมื่อต้องแสงอาทิตย์ ร่างกายและร่องรอยทั้งหมดของอสูรจะสลายตัวเป็นผุยผงไม่เหลือแม้แต่เศษซากจนไม่มีหลักฐานการดำรงอยู่ เว้นแต่เรื่องที่ผู้คนที่เป็นเหยื่อของพวกมันถูกเข้าใจว่า ถูกฆ่าตาย หรือหายสาบสูญไปโดยปริศนา ผู้ที่ได้รับรู้ว่าอสูรมีอยู่จึงมักจะเป็นผู้รอดชีวิตจากพวกมัน แต่ก็ต้องเสียครอบครัวและคนที่รักไป ซึ่งเขาและเธอก็จะเข้ามาเป็นสมาชิกของหน่วยพิฆาตอสูรที่จัดตั้งโดยตระกูลอันลึกลับเพื่อไถ่บาปแต่ปางบรรพ์ที่เป็นต้นตอของอสูรร้ายตัวแรก ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของอมนุษย์เผ่าพันธุ์ผู้มีนามว่า คิบุตสึจิ มุซัน

คามาดะ ทันจิโร ตัวเอกของเรื่องก็เป็นหนึ่งในผู้สูญเสียครอบครัวซึ่งประกอบด้วยแม่และน้องๆ ให้อสูร และยิ่งกว่านั้นคามาดะ เนะสึโกะ น้องสาวคนหนึ่งของเขาที่แม้จะรอดชีวิต แต่ก็กลายเป็นอสูรไปด้วย

ทันจิโรจึงไปฝึกวิชา สมัครเข้าทดสอบเข้ามาเป็นสมาชิกหน่วยพิฆาตอสูรด้วยจุดมุ่งหมายสำคัญสองประการ คือ หาวิธีทำให้น้องสาวที่เป็นอสูรได้กลับมาเป็นมนุษย์ และจัดการกับมุซันเพื่อชำระแค้นให้ครอบครัว

ทั้งหมดที่เล่ามานี้เหมือนจะเป็นพลอตเรื่องแนวผู้กล้าที่ต่อสู้กับปีศาจปกป้องโลกและมนุษยชาติที่ดาษดื่นไม่มีอะไรใหม่เหมือนหลายร้อยหลายพันเรื่องก่อนหน้านี้ ไม่เห็นน่าจะเป็นปรากฏการณ์ได้ตรงไหน แล้วสิ่งใดเล่าที่ทำให้การ์ตูนเรื่องนี้กินใจและกระทบใจผู้คนจนสร้างประสบการณ์ระดับกู้เศรษฐกิจญี่ปุ่น และเป็นสินค้าส่งออกทางวัฒนธรรมที่สร้างรายได้ระดับโลกถึงขนาดนี้

และหากแม้ในความฝันไม่อาจเลือนไป และในตอนนี้ไม่หยุดลงไป

ก็เพราะเรื่องมันไม่ได้ดำเนินไปอย่างง่ายดายว่าตัวเอกและพรรคพวกผู้เก่งฉกาจกำจัดอสูรไต่ระดับเพิ่มประสบการณ์และทักษะไปจนไร้เทียมทานก่อนตามไปเด็ดหัวนายใหญ่ฝ่ายอสูรได้ ตามแนวทางที่เหมือนจะคาดเดาได้เช่นเดียวกับการ์ตูนที่เคยอ่าน ภาพยนตร์ที่เคยดู

แต่เป็นเพราะว่าหน่วยพิฆาตอสูรเผชิญหน้ากับอสูรด้วยร่างกายที่มีเลือดเนื้อเยี่ยงมนุษย์ บาดแผลที่เกิดขึ้นจากการต่อสู้ก็ฟื้นฟูหรือหายได้ช้า แขนขาที่ขาดไปก็ไม่มีวันงอกคืนกลับมาได้อีก

ถึงกระนั้น พวกเขาก็ยังยืนหยัดต่อสู้กับอสูรเพื่อปกป้องเหล่ามนุษย์ แม้ในการต่อสู้ส่วนใหญ่ โดยเฉพาะเมื่อต้องเผชิญหน้ากับอสูรระดับสูงนั้น แม้แต่นักพิฆาตอสูรระดับสูงที่สุดที่เรียกว่า “เสาหลัก” ก็อาจจะทำได้แค่เอาตัวเข้าแลก ต่อสู้เพื่อตรึงอสูรนั้นไว้ในที่แจ้งรอให้ดวงอาทิตย์ขึ้นมาแผดเผาอสูรด้วยแสงแห่งธรรมชาติเท่านั้น

เพื่อการนั้น นักฆ่าอสูรอาจจะต้องรวบรวมพลังจากร่างกายที่ถูกทำลายเจียนสิ้นสภาพ ซี่โครงหัก อวัยวะภายในแหลกเหลว แขนขาขาด หรือสูญเสียดวงตา แต่พวกเขาก็ยังหยัดยืนขึ้นมา รวบรวมลมปราณเพ่งสมาธิ แล้วฟาดดาบเพลิงสุริยันอีกสักกระบวนท่าใส่อสูร แต่การทุ่มเทระดับเอาชีวิตเข้าแลกนั้นอาจจะทำได้เพียงเปิดแผลบนผิวหนังอสูรได้เพียงชั่ววินาทีเดียว ร่างอมนุษย์นั้นก็จะประสานสมานแผลนั้นได้ราวกับไม่เคยต้องคมดาบอันใดของใคร ในขณะที่มนุษย์ผู้ต่อกรกับมันกำลังจะดับลมหายใจลง

แล้วพวกเขาทำเรื่องสูญเปล่าแบบนั้นไปเพื่ออะไร ?

แต่หากว่าเธอในวันนี้ต้องปกป้องชีวิตใครสักคนจงยืนขึ้นมาจะกี่ครั้งก็ตาม

เพราะดังที่ได้เล่าไปแล้วว่าสมาชิกหน่วยพิฆาตอสูรเกือบทั้งหมดสูญเสียชีวิตอันเป็นปกติไปเพราะอสูร ครอบครัวที่เคยพร้อมหน้าอบอุ่นล่มสลาย บุคคลผู้เป็นที่รักจากไปต่อหน้าต่อตา พวกเขาจึงลุกขึ้นมาต่อสู้กับอสูรร่วมกับผู้คนที่มีประสบการณ์เดียวกัน นอกจากจะเพื่อชำระแค้นหรือเหตุผลส่วนตัวอื่นๆ แล้ว แต่ทั้งหมดนั้นก็เพื่อว่าอย่างน้อยก็ให้มนุษย์คนใดหรือครอบครัวไหนต้องพานพบประสบการณ์อันเลวร้ายเช่นนี้อีกต่อไป แม้แต่ครอบครัวเดียวหรือใครสักคนหนึ่งก็ยังดี

นี่คืออุดมการณ์ที่ไม่มีวันตายของนักล่าอสูร ซึ่งอาจทำลายลงได้ ไม่ว่าจะสังหารนักฆ่าอสูรไปกี่คน หรือแม้แต่จะฆ่าผู้ที่เป็นเหมือนผู้นำขององค์กรพิฆาตอสูรนี้ก็ตาม หากแม้ว่าเวลาจะผ่านไปหลายพันปี กลุ่มพิฆาตอสูรก็ไม่สูญหายไป แม้เด็กหนุ่มสาวรุ่นแล้วรุ่นเล่าจะต้องตาย แต่ก็จะมีนักฆ่าอสูรรุ่นใหม่ก็จะเกิดขึ้นและเข้ามารับไม้ต่อ ความมุ่งมั่นที่จะไม่ให้อภัยต่อคนที่ทำลายชีวิตคนอื่นไปอย่างไร้เหตุผลนั้นคือ อุดมการณ์อันเป็นนิรันดร์ของพวกเขา

โลกใบนี้ยังบังคับให้ตื่นลืมตา และได้รู้เหตุผลที่เกิดขึ้นมา เมื่อดอกบัวนั้นแย้มบาน แต้มสีแดงเจือจาง ชะตาของเรายังสดใส**

เช่นเดียวกับมังงะและอนิเมะอื่น ดาบพิฆาตอสูรได้แฝงซ่อนคุณค่าเชิงคุณธรรม และวัฒนธรรมแบบญี่ปุ่นลงไปในอย่างแนบเนียน ทั้งเรื่องความเสียสละต่อสังคมและการกระทำเพื่อผู้อื่น ความเพียรอันไม่ย่อท้อ การทุ่มเทฝึกฝนอย่างไม่มีที่สิ้นสุด พลังแห่งสมาธิและการรู้ตัวทั่วพร้อม หรือคติแบบญี่ปุ่นที่ว่า ถ้าแม้นจะทำอะไรเก่งกระจ่างเพียงอย่างเดียว ก็ขอให้ทำเรื่องนั้นให้มันดีที่สุดอย่างที่ไม่มีใครเทียบเทียมได้

แต่นอกจากนั้นแล้ว เนื้อเรื่องหลายตอน ฉากหลายฉาก คำพูดหลายประโยคที่ได้เห็นในการ์ตูน ทั้งที่เป็นซีรีส์อนิเมะในระบบสตรีมมิ่งและในภาพยนตร์ตอนใหม่ ก็มาซ้อนทับกับการต่อสู้ทางการเมืองที่เกิดขึ้นจากการเริ่มต้นของเด็กๆ วัยรุ่น และคนหนุ่มสาวเกิดในหลายต่อหลายที่ในโลก

ผู้ใหญ่ที่เฉลียวใจบางคนอาจจะได้รับคำตอบในขณะดูการ์ตูนเรื่องนี้ว่า ทำไมเด็กๆ ชายหญิงมือเปล่า จึงเดินหน้าเข้าหาเจ้าหน้าที่ผู้มีอาวุธครบมือ และอำนาจตามกฎหมายอย่างไร้ขีดจำกัด ด้วยเสื้อกันฝน แว่นตาดำน้ำ และเป็ดยางเป่าลมอย่างกล้าหาญ แม้จะถูกฉีดพ่นด้วยน้ำเคมี แก๊สน้ำตา หรือแม้แต่กระสุนจริงไม่ทราบฝ่าย แต่พวกเขาก็สับเปลี่ยนกันดาหน้าออกไปเผชิญหน้าอย่างไม่กลัวเกรง ทั้งๆ ที่ส่วนใหญ่เพิ่งพ้นวัยเด็กหญิงเด็กชายได้ไม่ถึงขวบปี

พวกเขาจึงมีกำลังใจที่ไม่มีวันหมดต่อสู้กับสิ่งที่คนรุ่นเราไม่กล้าจินตนาการว่าจะลุกขึ้นต่อสู้ได้ อย่าว่าแต่เอาชนะเลย

อาจจะไม่ใช่การ์ตูนหรอกที่ปลูกสร้าง แต่คงเป็นจิตวิญญาณและอุดมการณ์ร่วมกันของเด็กวัยรุ่นหนุ่มสาวรุ่นนี้ต่างหากที่แสดงออกมาผ่านการ์ตูนเรื่องนี้

**มาจากเพลงเปิดแอนิเมชั่นเรื่องนี้ในฉบับซีรีส์มีชื่อว่า Gurenge ซึ่งแปลว่า “ดอกบัวสีแดง” หรือ “บัวสัตตบรรณ” คำแปลเพลงนี้มาจากช่อง YouTube ของ MasterSDesu SAKI ซึ่งเป็นคำแปลและเนื้อเพลงภาษาไทยฉบับแฟนๆ ทำกันเองที่ผู้เขียนชอบที่สุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image