
ที่มา | คอลัมน์สยามประเทศไทย มติชนรายวัน |
---|---|
ผู้เขียน | สุจิตต์ วงษ์เทศ |
เผยแพร่ |
นางนาค (ในสงกรานต์เรียกแม่สี แต่มักเขียนเป็นแม่ศรี) สัญลักษณ์ผู้หญิงเป็นใหญ่ในพิธีกรรมของคนพื้นเมืองสุวรรณภูมิในอุษาคเนย์เมื่อหลายพันปีมาแล้ว
พระทอง สัญลักษณ์ชายต่างชาติมาทางทะเลสมุทร ผู้นำวัฒนธรรมจากภายนอกสู่คนพื้นเมืองราวพันกว่าปีมาแล้ว
นางนาคกับพระทอง เป็นชื่อเพลงคู่กัน นิยมบรรเลงขับกล่อมในพิธีแต่งงานยุคอยุธยาหรือก่อนนั้น มีคำร้องบทมโหรี ยุคอยุธยา ดังนี้
ร้องนางนาค
@ เจ้าเอยนางนาค เจ้าคิดแต่เท่านั้นแล้ว
เจ้าปักปิ่นแก้ว แล้วเจ้ามาแซมดอกไม้ไหว
จำปาสองหูห้อย สร้อยสังวาลแลมาลัย
ชมพูผ้าสไบ เจ้าห้อยสองบ่าสง่างาม
ร้องพระทอง
@ พระทองเทพรังสรรค์ หล่อด้วยสุวรรณกำภู
เจ้างามบริบูรณ์ไม่มีคู่ โฉมตรูข้าร้อยชั่งเอย
@ พระทองข้ารูปหล่อเหลา หนักเล่าก็ได้ร้อยชั่ง
รัศมีนั้นงามอยู่เปล่งปลั่ง ทั้งเมืองไม่มีเหมือนเอย
ร้องคู่พระทอง
@ พระทองเจ้าจะไป น้องจะได้ใครมานอนเพื่อน
อันใจเจ้าดีไม่มีเหมือน เจ้าเพื่อนที่นอนของน้องเอย
@ เจ้าเอยเจ้าพี่ ค่อยอยู่จงดีกว่าจะมา
จะไปก็ไม่ช้า จะพลันมาเป็นเพื่อนนอนเอย
@ พระทองเจ้าจะไป จะให้อะไรไว้น้องชม
ขอแต่ผ้าลายที่ชายห่ม จะชมต่างหน้าพระทองเอย