การเมือง สังคม ประวัติศาสตร์ แนวหนังสือสุดฮอต ทะลุความหนาว ใน Winter Book Fest 2020

การเมือง สังคม ประวัติศาสตร์ แนวหนังสือสุดฮอต ทะลุความหนาว ใน Winter Book Fest 2020

ในงาน Winter Book Fest หนังสือที่ฮอตมากๆ ของ สนพ.มติชน ฮอตแบบมีคนหยิบไปจ่ายสตางค์ตลอดเวลา คือหนังสือใหม่สามเล่ม “ชาติไทย, เมืองไทย, แบบเรียนและอนุสาวรีย์” โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์, “ปีศาจ” โดย เสนีย์ เสาวพงศ์, และ “24-7/1” โดย ภู กระดาษ

มองเผินๆ เหมือนทั้งสามเล่มจะแตกต่างกันในประเภทของผลงาน ซึ่งเป็นบทความเชิงวิชาการ นวนิยายไทยคลาสสิก และนวนิยายไทยร่วมสมัย แต่ทุกเล่มล้วนมีจุดร่วมหนึ่งที่จับใจคนอ่านได้เฉกเดียวกัน คือ การพูดถึงประเด็นทาง “การเมือง สังคม และประวัติศาสตร์”

ไม่น่าแปลกใจเลย เพราะในเทศกาลหนังสือฤดูหนาวครั้งนี้ หนังสือแนวการเมือง สังคม ประวัติศาสตร์ มาแรงมากๆ ไม่ได้ซื้อกันแค่เล่มสองเล่ม แต่ขนกันแบบยกเซต หลายๆ สำนักพิมพ์ที่โดดเด่นในงานเชิงนี้ อาทิ มติชน, ฟ้าเดียวกัน, bookscape, Illuminations Editions, แสงดาว, Salt, Way of Book มีแต่คนรุมล้อม หาทั้งเล่มเก่าเล่มใหม่

Advertisement

และนักอ่านทั้งหลาย มีตั้งแต่วัยมัธยม วัยมหาวิทยาลัย จนถึงวัยทำงาน

ผศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ลงพื้นที่สำรวจเก็บข้อมูล และพบว่าหนังสือที่วัยรุ่นไทยให้ความสนใจในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา อันดับแรก คือชุดหนังสือที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของไทย โดยเฉพาะเหตุการณ์สำคัญๆ ช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 14 ตุลา หรือ 6 ตุลา อันดับที่ 2 ชุดหนังสือที่เกี่ยวกับรัฐวิพากษ์ ที่วิพากษ์วิจารณ์กลไกรัฐไทย ไม่ว่าจะเป็นตุลาการ ทหาร หรือว่าระบบราชการ อันดับที่ 3 เป็นหนังสือเกี่ยวกับกษัตริย์ศึกษา ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับสถาบันทั้งในและต่างประเทศ และ สุดท้าย คือหนังสือประวัติศาสตร์เปรียบเทียบ เป็นการศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองและสังคมในประเทศอื่นๆ

ในมุมมองของ จรัญ หอมเทียนทอง ผู้อำนวยการงาน Winter Book Fest และเจ้าของสำนักพิมพ์แสงดาว มองว่าการที่หนังสือการเมือง สังคม ประวัติศาสตร์ เป็นกระแสหลักในงานครั้งนี้ เป็นเพราะความอยากรู้และการแสวงหาความจริง

Advertisement

“ประการแรก เป็นเพราะกลุ่มวัยรุ่นคือวัยที่กำลังแสวงหา คือต้องการแสวงหาความจริงจากสังคมในปัจจุบัน คนที่เติบโตมาในสมัยนี้คือคนที่ถูกให้ท่องคุณธรรม 12 ประการมาตลอด จากเด็กที่วันนั้นอาจจะอายุ 12 ปี ปัจจุบันก็ต้องอายุ 19 ปีแล้ว พวกเขาอาจจะเกิดคำถามว่า เกิดอะไรขึ้นในยุคของเขา แล้วจะหาความรู้ ความจริงจากไหน ก็ต้องจากหนังสือ เมื่อมีคนผลิตหนังสือตรงกับใจของเขา การอ่านก็ยิ่งเพิ่มขึ้น นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็กในรุ่นปัจจุบันสนใจหนังสือแนวทางการเมือง ซึ่งถือเป็นเรื่องดีที่เยาวชนสนใจ เขาจะรู้สึกว่า การเมืองอยู่รอบตัวเขา เขาคืออนาคตของชาติ และคงไม่ต้องการให้อนาคตของเขาเป็นดังเช่นปัจจุบัน

ไม่นานมานี้เราคิดว่าเด็กไม่สนใจบ้านเมือง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ ทำให้เห็นว่าเราดูถูกพวกเขาเกินไป เขาสนใจ และจริงจังด้วย ในงานหนังสือครั้งนี้ จะเห็นภาพที่เด็กส่วนใหญ่ถือถุงหนังสือแนวสังคม การเมือง ประวัติศาสตร์ ความรู้ต่างๆ เยอะมาก เป็นภาพที่น่าสนใจอย่างยิ่ง”

ในมุมของ ธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการบริหาร สนพ.ฟ้าเดียวกัน มองว่าประโยคที่ผู้ใหญ่พูดว่า “กลับไปอ่านประวัติศาสตร์ไทยเสียใหม่” กลายเป็นกระแสที่ทำให้เกิดการอ่านหนังสือประวัติศาสตร์และสังคมการเมืองมากขึ้นของเยาวชน

“คำพูดนี้ไม่ว่าตั้งใจหรือไม่ของบรรดาคนรุ่นเก่า ผู้มีอำนาจ เพื่อตอบโต้กับการตั้งคำถามของเยาวชนคนรุ่นใหม่ ส่งผลให้เป็นกระแสการกลับไปอ่านหนังสือแนวนี้มากขึ้น

ผมขออ้างถึงงานวิจัยของอาจารย์กนกรัตน์ ว่าหนังสือแนวประวัติศาสตร์วิพากษ์เป็นหัวข้อที่อยู่ในความสนใจ แต่หนังสือเรียนกลับไม่สามารถตอบสนองความต้องการและตอบคำถามดังกล่าวได้ ผมคิดว่านี่เป็นโอกาสที่ สำนักพิมพ์อื่นๆ ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ถ้าสามารถตอบโจทย์เหล่านี้ได้ ก็จะสามารถขยายพื้นที่ไปสู่นักอ่านได้เช่นกัน ขณะเดียวกัน สื่อโซเชียลมีเดียก็กลายเป็นช่องทางที่ทำให้คนได้รู้จักหนังสือมากขึ้น และเมื่อได้อ่านก็สามารถสร้างเป็นชุมชนการอ่านได้เช่นกัน”

มาเปิด 3 เล่มฮอต ที่นักอ่านขนกันแบบทั้งเซตของ สนพ.มติชน กัน

“ชาติไทย, เมืองไทย, แบบเรียนและอนุสาวรีย์” ของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ หนังสือเล่มนี้วิพากษ์และตีพิมพ์มานานกว่า 20 ปี แต่เนื้อหายังร่วมสมัยอยู่เสมอ โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากบริบทสังคมไทยในปัจจุบัน

โดยเป็นรวมบทความวิเคราะห์วิจารณ์ว่าด้วยปัจจัยที่อยู่เบื้องหลังการสร้างรัฐชาติและการปกครอง (หรือครอบงำความคิด) ของประชาชนด้วยการใช้แบบเรียนเป็นเครื่องมือเผยแพร่แนวคิดความรักชาติ การสร้างชาติไทย ชาตินิยม ความเป็นไทย ปลูกฝังจิตสำนึกร่วมกันโดยใช้แบบเรียนกล่อมเกลา และมีจุดเริ่มต้นจากหมู่บ้านและครอบครัว จนกระทั่งสู่มหภาคอย่างกระบวนการศึกษาของรัฐ

ปีศาจ โดย เสนีย์ เสาวพงศ์ ก็เป็นนวนิยายอีกเรื่องที่ก้าวข้ามผ่านเวลา และยังคงความร่วมสมัยอยู่เสมอ

การปะทะกันระหว่างโลกเก่าและโลกใหม่ สร้างปีศาจอย่างสาย สีมา รัชนี และเพื่อนๆ ให้หลอกหลอนกลุ่มคน ที่ยังคงยึดติดกับอดีต และหวาดกลัวความเปลี่ยนแปลง

ความเปลี่ยนแปลงที่สั่นคลอนสังคม ทั้งในแง่ของผู้ดี และผู้ใหญ่ ผู้ดีทางสายเลือดที่กำลังถูกชนชั้นล่างท้าทายอำนาจเดิมที่มีด้วย “ความรู้” ผู้ใหญ่ ที่กำลังถูกผู้เยาว์ตั้งคำถามถึงความแปลกประหลาดในสังคมที่ส่งต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่นด้วย “ความจริง”

จากทั้งสองเล่มนี้ ชัดเจนมากๆ ว่าสังคมไทยยังไม่ค่อยก้าวไปไหนเลย และไม่ค่อยเรียนรู้ความผิดพลาดจากประวัติศาสตร์เลยด้วยซ้ำ

แม็กซ์ ณัฐวุฒิ เจนมานะ

และเล่มใหม่กิ๊ก ที่กำลังเป็นกระแสอยู่ตอนนี้คือนวนิยายเรื่องแรกของ ภู กระดาษ อย่าง “24-7/1” ที่ถ่ายทอดชีวิตของ เหล่าตัวละครในครอบครัว วงศ์คำดี ครอบครัวชนชั้นกลางระดับสูงจากภาคอีสาน ที่เปรียบเสมือน ฟันเฟืองในเครื่องจักรและสายพานที่ดำเนินไปซ้ำแล้วซ้ำเล่าในประวัติศาสตร์การกดขี่ของนายทุน และร่วมหมุนเฟืองของความวิปริตนี้ไปด้วยกันอย่างไม่รู้ตัว โดยไม่อาจหนีได้พ้นจากผลลัพธ์ของสิ่งที่ตัวเองมีส่วนสร้าง

เรื่องราวดำเนินไปพร้อมกับการฉายภาพสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองที่กระทำต่อผู้คนชนชั้นข้างล่างที่ไม่เคยถูกบันทึก

“ชาติไทย, เมืองไทย, แบบเรียนและอนุสาวรีย์”, “ปีศาจ” และ “24-7/1” รวมถึงหนังสือสุดฮอตเล่มอื่นๆ รออยู่ที่งาน Winter Book Fest ณ มิตรทาวน์ฮอลล์ สามย่านมิตรทาวน์ ถึงวันอาทิตย์ที่ 20 ธันวาคมนี้แล้ว

ไม่อยากเอาต์ ต้องรีบมาสอยไปไว้ในครอบครองเลย

สิรนันท์ ห่อหุ้ม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image