ที่เห็นและเป็นไป : เลยจาก ‘จะจบอย่างไร’

ที่เห็นและเป็นไป : เลยจาก ‘จะจบอย่างไร’

ยังเป็นคำถามที่ได้ยินอยู่ในทุกวงสนทนา โดยเฉพาะเมื่อมีคนที่ไม่ได้เจอกันนาน หรือห่างกันมาระยะหนึ่งร่วมวงอยู่ด้วย

“ที่สุดแล้วมันจะจบยังไง”

เป็นคำถามที่หวังว่าจะมีใครสักคนเชี่ยวชาญพอที่จะอ่านความเป็นไปของการเมืองในระดับที่ประเมินถึงผลสุดท้ายได้

เป็นคำถามที่ส่งนัยถึงการต่อสู้ ระหว่าง “รัฐบาล” ภายใต้การนำของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ที่ทำหน้าที่แทนโครงข่ายอำนาจแบบผูกขาดเบ็ดเสร็จ กับ “เยาวชนคนรุ่นใหม่” ที่เป็นตัวแทนของสิทธิเสรีภาพความเท่าเทียม

Advertisement

ฟังๆ ดู คำตอบที่ไม่โลกสวย หรือโลกมืด คือประเมินอย่างระมัดระวังในการเกาะกับความเป็นจริงของปัจจัยที่ประกอบกันขึ้นเป็นสถานการณ์แต่ละขณะคือ

“มันไม่มีการจบแบบเด็ดขาดหรอก”

คำตอบคือผลของการต่อสู้จะค่อยเป็นค่อยไป พลิกไปพลิกมาตามสถานการณ์ ยังต้องเปลี่ยนไปเรื่อยๆ อีกนาน

Advertisement

แต่ถ้าพูดถึงสัปดาห์นี้ เดือนนี้ หรือสองสามเดือนข้างหน้า

ฝ่าย “เยาวชน” อ่อนแรงลง ม็อบที่เคยฮึกเหิมก่อนหน้านั้นซาลงในช่วงนี้

อาจจะเป็นเพราะ “การกลับมาระบาดของโควิด-19” ที่ทำให้ต้องระมัดระวังในการรวมตัวมากขึ้น หรือความเข้มข้นของการบังคับใช้กฎหมายที่ทำให้ต้องคดีกันระนาว ทำให้คิดมากที่จะเอาชีวิตมาเสี่ยง หรือใกล้ปีใหม่ที่มีกิจกรรมส่วนตัวต้องทำ

ขณะที่ “ผู้กุมอำนาจ” เริ่มตั้งตัวได้ และเปิดฉากรุก ไม่ว่าจะเป็นการใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น กลไกรัฐทำหน้าที่แข็งขัน พร้อมกับการปฏิบัติการไอโอที่รุกเข้าไปในโลกออนไลน์อย่างเป็นระบบ

และอื่นๆ ที่สะท้อนว่ามีการปรับตัวบางอย่างเพื่อล้างความชอบธรรมของม็อบ

เมื่อเป็นเช่นนี้ ในระยะสั้นๆ ผลการต่อสู้จะกลับไปโฟกัสที่ปฏิบัติการของกลไกรัฐ

ฝ่ายเยาวชนจะอยู่ในสภาพถูกดำเนินคดีกันมากขึ้น ส่งผลให้ต้องจัดกระบวนตั้งรับกันใหม่

สำหรับฝ่ายกุมอำนาจที่จะต้องรับมือคือ “การอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภา” ซึ่ง “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” และคณะรัฐมนตรีจะต้องรับหน้าไปเต็มๆ

อย่างไรก็ตาม ความร้อนแรงจะเป็นแค่ประเด็นและสาระของการอภิปรายเท่านั้น

เพราะถึงที่สุดแล้ว แม้ในความรู้สึกของประชาชนรัฐบาลจะถูกโจมตีจนขาดความชอบธรรมที่จะอยู่ในอำนาจ แต่โครงสร้างอำนาจตามรัฐธรรมนูญที่วางเครือข่ายปกป้องการสืบทอดอำนาจไว้อย่างแข็งแกร่ง ย่อมทำให้ผลที่ออกมารัฐบาลยังรักษาอำนาจไว้ได้อย่างง่ายดาย

เนื่องจากไม่จำเป็นต้องสะดุ้งไปตามความรู้สึกของประชาชน เพราะประชาชนทำอะไรไม่ได้อยู่แล้ว

ที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่าพลังประชาชนไม่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้

เป็นแค่ก่อกระแสความคิด และกดดันให้ต้องปรับรูปแบบการรับมือเท่านั้น

แต่กระนั้นก็ตาม แม้จะทำอะไรไม่ได้ ผลของการลุกขึ้นมาสู้ที่ผ่านมาได้เปลี่ยนความคิดของประชาชนส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะ “คนรุ่นใหม่” ไปแล้วอย่างสิ้นเชิง

ซึ่งจะส่งผลให้รัฐบาลแม้อยู่ได้ แต่จะอยู่อย่างถูกรังเกียจรุนแรงขึ้นในความรู้สึกของ “คนรุ่นลูกรุ่นหลาน”

เป็นรัฐบาลที่ไม่ได้อยู่ด้วยศรัทธาประชาชน

รัฐบาลแบบนี้แม้จะมีอำนาจ แต่จะไม่สามารถเรียกหาความร่วมมือได้ มีแต่ต้องใช้อำนาจบังคับ ซึ่งเสี่ยงจะถูกท้าทายด้วยการถามหาความชอบธรรม

และเนื่องจากถึงอย่างไรประเทศไทยเราไม่ได้อยู่โดดเดี่ยวในโลกใบนี้ ยังต้องอยู่ด้วยความสัมพันธ์ที่ดีกับนานาชาติ

เงื่อนไขของความสัมพันธ์ที่ดีคือ “บริหารอำนาจเพื่อสร้างความชอบธรรม ไม่ใช่ทำลายความชอบธรรมเพื่อรักษาอำนาจ”

หากบริหารประเทศโดยที่นานาชาติไม่ยอมรับ การพัฒนาซึ่งต้องอาศัยเงื่อนไขที่นานาชาติอำนวยให้ย่อมเกิดความยุ่งยาก

ในโลกที่ผลประโยชน์ของประเทศอยู่ที่ความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งอำนาจที่ไม่ชอบธรรมย่อมทำลายความสามารถนั้น

ดังนั้น “ที่สุดแล้วมันจะจบอย่างไร”

คำตอบไม่ใช่วันนี้ พรุ่งนี้ใครจะกำราบใครได้มากกว่า

แต่อยู่ที่ “เรื่องราวในใจคนรุ่นใหม่” และ “ภาพของประเทศในสายตานานาชาติ”

ลองวางอคติในใจ แล้วมองผ่านปัจจัยต่างๆ แล้วจะรู้

แม้ไม่รู้ว่าที่สุดประเทศจะเป็นไปอย่างไร แต่จะรู้ว่าโอกาสในการพัฒนาประเทศ ให้คนรุ่นหลังอยู่ร่วมกันอย่างมีอนาคตที่ดีนั้น ทำได้แค่ไหน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image