‘นัย’ของ20ธ.ค.

ผลการเลือกตั้งนายกและสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ขณะที่เขียนต้นฉบับ ยังไม่ทราบผลจะออกมาอย่างไร

แต่เราก็สัมผัสได้ถึง 2 แนวทางหลักที่ต่อสู้กัน

แนวทางหนึ่งคือ การทำให้การเลือกตั้งท้องถิ่น เป็นเรื่องของท้องถิ่น ไม่เชื่อมโยงถึง การเมืองระดับชาติ

แนวทางนี้ส่วนใหญ่เป็นแนวทางของพรรครัฐบาล โดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)

Advertisement

โดย พปชร.ปล่อยให้กลุ่มการเมืองแข่งขันกันในพื้นที่กันเอง แล้วไปเก็บเกี่ยวทีหลัง

ด้วยการดึงเอาฝ่ายชนะเข้ามาเป็นพวก ขณะเดียวกันก็ไม่บาดหมางกับฝ่ายที่แพ้

แนวทางสองคือ การยกระดับการเลือกตั้งท้องถิ่น ให้เชื่อมโยงกับการเมืองระดับชาติ นำโดยคณะก้าวหน้า และพรรคเพื่อไทย

Advertisement

มีการลงไปต่อสู้ในนามกลุ่มและพรรคอย่างเปิดเผย

โดยมีเป้าหมายที่จะทำให้อำนาจในท้องถิ่นเป็นหนึ่งเดียวกับการเมืองระดับชาติ แล้วขับเคลื่อนไปด้วยกัน

ซึ่งแนวทางนี้ คณะก้าวหน้า ชัดเจน

ส่วนพรรคเพื่อไทยอาจจะกึ่งๆ

แต่ด้วยความที่เคยเป็นเจ้าของพื้นที่แบบเบ็ดเสร็จมาก่อน

จึงใช้พรรค รวมถึงตัวบุคคลอย่างนายทักษิณ ชินวัตร เป็นตัวขับเคลื่อน เชื่อมประสานทั้งการเมืองระดับชาติและท้องถิ่นไปด้วยกัน

หากแนวทางแรกกำชัย การเมืองท้องถิ่น คงไม่ได้พลิกโฉมไปจากเดิม

ซึ่งการดำรงแบบเดิม ทำให้ไม่มีแรงเสียดทาน

ตรงกันข้าม กลับมีแรงสนับสนุนเข้ามาเพิ่มเติม

นั่นคือ พลังจารีตและอนุรักษ์ ซึ่งอาจเชื่อมโยงถึง ฝ่าย “ราชการรวมศูนย์”

ที่ไม่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ

ยังมุ่งดำรง การปกครองส่วนท้องถิ่น เอาไว้ในมือของตนเองต่อไป

และแรงสนับสนุนเหล่านี้เอง ทำให้แนวทางที่สอง ที่หวังจะเห็นการเปลี่ยนแปลงในการเมืองท้องถิ่น ด้วยการกระจายอำนาจออกไปจาก ฝ่าย “บ้านใหญ่” เดิม

และที่สำคัญ ดึงอำนาจจากระบบราชการรวมศูนย์ ไปยังประชาชนมากขึ้น

เจอแรงเสียดทานหนักขึ้นเป็นสองเท่า

นั่นคือ นอกจากต้องต่อสู้ในสนามการเลือกตั้ง ที่แข่งขันกันทั้งนโยบาย คุณสมบัติผู้สมัครแล้ว

ยังต้องต่อสู้กับกลไก ที่เสมือนเป็น “มืออันมองไม่เห็น”

โดยเข้ามามีบทบาทสำคัญในการรณรงค์ทางการเมืองครั้งนี้ด้วย

มีการดึงเอาการต่อสู้ระหว่างฝ่ายจารีตกับฝ่ายก้าวหน้า เข้ามาร่วม

เราจึงได้ปรากฏการณ์ “หนักแผ่นดิน” “ชังชาติ” “ล้มเจ้า” เข้ามาสกัดฝ่ายแนวทางที่สองในฐานะ “แนวคิดอันตราย” อย่างเปิดเผย

ภายใต้ความคาดหมายว่า หากสกัดกระแสการเปลี่ยนแปลงของฝ่ายแนวทางที่สองได้ ก็จะเสมือนยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว

นกตัวหนึ่งก็คือการสกัดการเติบโตแนวคิดที่พวกเขาเชื่อว่าเป็นแนวคิดอันตรายลงได้

หรืออย่างน้อย ก็สามารถนำไปโฆษณาชวนเชื่อได้ว่า ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ต้องการการเปลี่ยนแปลง หรือก้าวไปสู่ทิศทางใหม่ อย่างที่มีการนำเสนอผ่านฝ่ายกลุ่มการเมืองคณะก้าวหน้า และทั้งฝ่ายผู้ชุมนุมในนามคณะราษฎร ที่ฝ่ายจารีตเชื่อว่าเป็นหนึ่งเดียวกัน

และมีความชอบธรรมมากขึ้นที่อาจจะปฏิเสธการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการสมานฉันท์ที่ดำเนินอยู่ตอนนี้

ส่วนนกตัวที่สองก็คือหากเพื่อไทยล้มเหลวโดยเฉพาะที่เชียงใหม่

ย่อมเป็นการลดบารมีของนายทักษิณ ชินวัตร อย่างมีนัยสำคัญ

และอาจจะมีปฏิบัติการต่อเนื่อง ด้วยการ “ตอกลิ่ม” ให้พรรคเพื่อไทยแตกแยกหนักกว่าที่เป็นอยู่ และดึงบางส่วนออกมายืนอยู่ข้างปีกตนเอง

อันจะทำให้ “อำนาจเก่า” อ่อนเปลี้ยลงไปอีก

นี่จึงทำให้ผลการเลือกตั้ง 20 ธันวาคม มีความหมายอย่างสูง

แต่กระนั้นหากสกัดกั้นทุกอย่างแล้ว

เกิดคณะก้าวหน้าและเพื่อไทย ยังเบียดแทรกเข้ามาได้อีก

อีกฝ่ายก็คงเย็นยะเยือกไปถึงขั้วหัวใจเช่นกัน

สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image