ระบาดวิทยาใหม่ของโควิด-19 กับระบอบทุนนิยมชายแดนไทย

เมื่อพยายามมองความเข้าใจระหว่างโควิด19กับผลกระทบด้านสังคมและเศรษฐกิจการเมือง ยังมีอีกประเด็นหนึ่งที่เรายังไม่ได้ให้ความสำคัญมากเท่าไหร่ในรอบที่แล้ว ก็คือมิติเรื่องของ “ชายแดน” หรือ “พรมแดน” รวมไปถึงเรื่อง “การข้ามแดน”

ไม่ว่ารัฐบาลนั้นจะยอมรับ หรือจะสร้างวาทกรรมใหม่ในเรื่องของการระบาด ว่าเป็น “การระบาดรอบหนึ่งและสอง” หรือมองว่าเป็น “การระบาดใหม่” ก็ตาม สิ่งที่เราควรให้ความสนใจก็คือเรื่องของการระบาดของโควิด19 ก็คือเรื่องของความรุนแรงของตัวของโรคและการแพร่กระจาย-ระบาดของโรค ในด้านหนึ่ง (พยาธิวิทยาและระบาดวิทยาในความหมายเดิม) และ ผลกระทบทางสังคม เศรษฐกิจการเมืองอันเรื่องมาจากตัวโรคและการแพร่ระบาดของโรค (ภูมิศาสตร์ สังคมวิทยา มานุษยวิทยา และ เศรษฐศาสตร์การเมืองในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของระบาดวิทยาใหม่ที่เป็นระบาดวิทยาเชิงวิพากษ์)

ในแง่นี้การเกิดขึ้นและเข้ามาของโควิด19 นั้นมาจากพื้นที่นอกประเทศไทย และมีลักษณะของการ “ข้ามแดน” มาถึงประเทศไทย แต่เราควรตั้งหลักคำถามใหม่ด้วยว่า ในวันนี้เรามีเชื้อโควิดกี่สายพันธุ์แล้ว แล้วระลอกต่างๆที่เข้ามาในบ้านเราในวันนี้เราพบกี่แบบแล้ว และวัคซีนที่จะนำเข้ามาจะครอบคลุมจริงไหม และที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือในประเทศของเรามีลักษณะของการกลายตัวบ้างหรือไม่

อย่าลืมว่าสถานการณ์โควิดล่าสุดนับตั้งแต่การค้นพบที่เชียงรายเชียงใหม่ หลายจังหวัด และ สมุทรสาคร (พื้นที่มหาชัย) กลายเป็นประเด็นที่ว่าเราเองนั้นไม่ได้ตรวจปูพรมตั้งแต่แรกด้วย และนี่คือข้อพิสูจน์ที่คนจำนวนไม่น้อยวิจารณ์ตั้งแต่ต้นว่าการเร่งรีบอ้างผลงานว่าประเทศของเรานั้นมีเคสเป็นศูนย์นั้นไม่เคยคำนึงถึงเรื่องของการปูพรมตรวจ ขณะที่หลายประเทศนั้นที่มีตัวเลขมากกว่าเรานั้นเขาปูพรมตรวจ และมีมาตรการที่ยืดหยุ่นกว่าในการรับมือกับสถานการณ์ ซึ่งส่งผลให้เกิดความพยายามหาสมดุลย์ระหว่างความมั่นคงทางสุขภาวะ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และ ความมั่นคงทางสังคมการเมือง

Advertisement

มาลองพิจารณาเรื่องของโควิด19ในมุมมองใหม่ๆ เราจะพบว่าในรอบแรกนั้น โควิดมาจากการข้ามแดนด้วยกิจกรรมทางเศรษฐกิจแบบการท่องเที่ยว ดังนั้นพื้นที่และสถานที่หลักในการติดต่อและเชื่อมต่อจึงอยู่ที่สนามบิน และ ผู้ติดเชื้อจึงเกี่ยวเนื่องไปกับนักท่องเที่ยว และผู้ที่เดินทางมาไปกลับจากต่างประเทศผ่านเที่ยวบินเป็นหลัก ก่อนที่จะระบาดไปตามจุดต่างๆ ดังนั้นเราจะเห็นว่าเงื่อนไขใหญ่ในข้อเรียกร้องช่วงแรกจะอยู่ที่เรื่องของการปิดประเทศในความหมายของการห้ามนักท่องเที่ยวเข้าออก และ การปิดสนามบิน รวมทั้งการควบคุมการบินและการเดินทางบนเครื่องบิน

ในรอบนี้เราจะเห็นว่าเรื่องใหญ่ไม่ใช่เรื่องการท่องเที่ยวอีกต่อไป แต่เป็นการข้ามแดนทางบกที่ลักษณะของการข้ามแดนนั้นมีความแตกต่างและเข้มข้นที่แตกต่างกับรอบแรก ทั้งนี้ก่อนที่จะเข้าถึงประเด็นนี้อยากให้ดูรอยต่อของสองรอบการระบาดที่แตกต่างกันอยู่ตรงที่เรื่องของการค้นพบการติดเชื้ออย่างสม่ำเสมอจากสถานที่กัดตัวของรัฐจากผู้ที่เดินทางเข้าประเทศที่มาจากทั่วทุกมุมโลก และก็ส่งผลต่อการติดเชื้อต่อบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมการกักตัว

มาถึงระลอกใหญ่ที่มีสัญญานมาตั้งแต่การค้นพบการติดเชื้อจากคนไทยที่ลักลอบเดินทางกลับเข้าประเทศจากชายแดนพม่าที่เชียงรายมาจนถึงเเชียงใหม่ จากนั้นพบการกระจายตัวของผู้ที่ตรวจพบในหลายจังหวัดที่เชื่อมโยงกับการเดินทางจากพื้นที่เชียงใหม่เชียงราย จะพบว่าลักษณะทางประชากรศาสตร์ที่เกี่ยวข้องคือเป็นคนไทยที่ทำงานข้ามแดนไปที่พม่า และคนที่เดินทางกลับจากพื้นที่ภาคเหนือ แต่ในรอบนี้ยังไม่สามารถระบุอย่างชัดเจนเหมือนในช่วงต้นของการระบาดรอบแรกได้ว่ามีจุดติดต่อและเชื่อมต่อจากตรงไหนกันแน่ เพราะคนที่ติดเชื้อมีความหลากหลาย ไม่ได้เชื่อมโยงกับสถานบันเทิงที่เชียงใหม่และที่ฝั่งท่าขี้เหล็กเท่านั้น

Advertisement

และรอบใหญ่ที่มหาชัย สมุทรสาครนั้นจะพบว่าเริ่มพบที่คนไทยที่เป็นเจ้าของแพอาหารทะเล และเริ่มไล่ตรวจไปจนพบกับกลุ่มติดเชื้อใหญ่คือแรงงานต่างด้าวจากประเทศเมียนมาร์ (ต้องไม่ลืมว่าในการตรวจนั้นไม่มีได้มีแต่จากแรงงานต่างด้าว มีคนไทยด้วย แต่ในการแถลงจะไม่เน้นในส่วนนี้มากนัก) และถือเป็นครั้งแรกที่เริ่มมีการตรวจกันอย่างจริงจังเข้มข้น จนพบตัวเลขที่น่าตกใจว่า การตรวจแรงงานกลุ่มนี้พันคนพบการติดเชื้อจำนวนเกือบห้าร้อยคน หรือเกือบครึ่ง และในจำนวนนั้นส่วนหนึ่งไม่แสดงอาการ

ข้อมูลล่าสุดที่มีตัวเลขเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดก็คือ

19 ธันวาคม แถลง 22.00 น. +548 ราย (เฉพาะสมุทรสาคร)
20 ธันวาคม แถลง 11.00 น. +576 ราย
21 ธันวาคม แถลง 11.00 น. +382 ราย
22 ธันวาคม แถลง11.00 น. +427 ราย

ในการแถลงข่าวใหญ่วันที่ 20 ธันวาคมของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด ก็จะพบวิธีการอธิบายการจัดการปัญหาในลักษณะที่น่าตั้งข้อสังเกตเป็นพิเศษสักประการหนึ่งได้แก่การระบุว่าจะจำกัดบริเวณของแรงงานต่างด้าวเหล่านั้นไว้ในพื้นที่ และจะนำคนไทยออกมารักษา และจะมีการจำกัดเวลาการใช้ชีวิตนอกบ้านในตอนกลางคืน

เรื่องที่พอจะสังเกตได้ก็คือ ทั้งกรณีเชียงรายและกรณี มหาชัย/สมุทราสาครนั้น ตัวร่วมที่สำคัญก็คือลักษณะของชายแดนและการข้ามแดนที่ไม่เหมือนกับการข้ามแดนระลอกแรกที่มาจากนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจผ่านน่านฟ้าและสนามบิน โดยการติดต่อและติดเชื้อในรอบนี้เป็นเรื่องของแรงงานข้ามแดนทั้งกรณีของไทยและต่างชาติที่มาจากเพื่อนบ้าน ซึ่งผมพยายามเน้นว่าเราไม่ควรมองแต่ว่าคนที่ติดนั้นจะต้องเป็นคนต่างชาติเท่านั้น เพราะหัวใจสำคัญก็คือแรงงานที่ไปทำงานหรือมาทำงานต่างหาก และเมื่อทำความเข้าใจเรื่องแรงงาน เราก็จะต้องเข้าใจว่ามันเป็นเรื่องของเศรษฐกิจที่นำพาเอาโรคเหล่านั้นเข้ามา ไม่ใช่เรื่องของโรคเฉยๆ แต่มันเป็นการเชื่อมโยงกันของเศรษฐกิจ-สังคม ที่เชื่อมโยงกับโรคชนิดนี้ โดยเชื่อมโยงกับ “ระบอบเศรษฐกิจการเมืองของทุนนิยมชายแดน” ที่ไม่ใช่เฉพาะเรื่องของการศึกษา “ทุน” ว่าใครถือครองทรัพยากร ปัจจัยการผลิด และการตัดสินใจลงทุนที่ชายแดนเท่านั้น

แต่ยังเชื่อมโยงไปถึงเรื่องของตัวผู้คนที่เกี่ยวข้องกับระบบเศรษฐกิจดังกล่าว และรัฐที่เข้ามาเกี่ยวกันกับความเป็นไปของเศรษฐกิจชายแดน โดยเฉพาะการสะสมทุน และการขูดรีดในลักษณะพิเศษที่ชายแดนที่เกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าไม่มีนโยบายและปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ที่ชายแดนเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย อีกทั้งยังรวมไปถึงความเข้มแข็งหรืออ่อนแอของเครือข่ายทางสังคมของตัวแรงงานที่ชายแดน และความสัมพันธ์ของเศรษฐกิจ การเมือง และ เครือข่ายของคนข้ามแดนกับคนในพื้นที่ด้วย

การระบาดของโควิด19 ในรอบนี้เราจึงเห็นลักษณะของการเชื่อมโยงของเงื่อนไขปัจจัยเหล่านี้เป็นพิเศษ อย่างในกรณีเชียงรายที่เชื่อมโยงกับท่าขี้เหล็กของฝั่งเมียนม่าร์ ซึ่งถ้าใครเข้าใจพลวัตรในพื้นที่ย่อมจะเห็นว่า โอกาสทางเศรษฐกิจในพื้นที่ชายแดนนั้นมีทั้งสองด้าน ไม่ใช่มีแต่ฝั่งไทยที่เราเชื่อว่าแรงงานฝั่งเมียนม่าร์จะทะลักเข้ามาในพื้นที่ฝั่งเราเท่านั้น แต่เราต้องเข้าใจระบบการเชื่อมโยงของฝั่งไทยที่ไปทำงานในฝั่งเมียนม่าร์ ซึ่งมีโอกาสทางเศรษฐกิจอยู่มาก และก็มีความเสี่ยงของโรคภัยไข้เจ็บอยู่มากเช่นกันในภาวะวิกฤติในรอบนี้

ระบอบเศรษฐกิจสังคมการเมืองที่ชายแดนฝั่งนั้นมีลักษณะเด่นอยู่ที่การขนสินค้าข้ามแดน และเรื่องของระบบการให้บริการข้ามแดน ซึ่งเชื่อมโยงมากับความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ในพื้นที่เดิมและภูมิศาสตร์ในพื้นที่ ชายแดนบริเวณนั้นจึงมีการข้ามไปมาของสินค้าของ ไทย จีน เมียนม่าร์มาโดยตลอด สินค้าจากไทยเข้าสู่พื้นที่เมียม่าร์ในส่วนนี้เข้าถึงพื้นที่ทางบกใกล้กว่าส่งขึ้นมาจากร่างกุ้ง และในอดีตนั้นความแตกต่างของกฏระเบียบของดินแดนสองด้านก่อให้เกิดระบอบสินค้าข้ามแดนที่สำคัญ เพราะสินค้าบางอย่างที่เป้ฯสินค้าต้องห้ามในฝั่งนู้น กลับไม่ใช่สินค้าต้องห้ามในฝั่งเรา ดังนั้นการขนของข้ามแดนจึงเกิดขึ้นจากเครือข่ายของผู้คนข้ามเดินในพื้นที่ อาทิ ยุคหนึ่งน้ำอัดลม บะหมี่สำเร็จรูป แม้กระทั่งผงชูรสนั้นเป็นสินค้า ห้ามนำเข้าไปเมียนม่า ในยุคสงครามชาติพันธุ์ยังเข้มข้น แต่สินค้าเหล่านี้ฝั่งเราถูกกฏหมาย และสามารถทำพิธีศุลกากรส่งออกได้ส่วนนำเข้าอย่างไรไม่ใช่เรื่องของฝั่งเรา) ดังนั้นการข้ามแดนที่แบกเอาสินค้าเหล่านี้ข้ามไปจึงเป็นเรื่องหนึ่งที่ำให้เศรษฐกิจสังคมชายแดนดำเนินไปได้ หรือแม้กระทั่งการปิดพรมแดนนั้นก็ไม่ได้ส่งผลต่อการข้ามไปมาของสินค้าที่เป็นเรื่องปกติที่ชายแดนที่เป็นเส้นแดนธรรมชาติตลอดพื้นที่

ในอีกด้านหนึ่งความแตกต่างเรื่องกฏหมายของสองประเทศก็ส่งผลด้านกลับตรงที่ว่าไทยนั้ยบ่อนการพนันผิดกฏหมาย (แม้ว่าจะมีก็ต้องหลบซ่อน) แต่ฝั่งท่าขี้เหล็กนั้นถูกกฏหมาย เราจึงไม่แปลกใจจะเห็นภาพคนข้ามแดนทุกเช้าไปทำงานที่ฝั่งนู้น และกลับมาก่อนด่านปิดตอนเย็น และตอนนี้แม้ว่าพรมแดนจะปิด กดยรอบที่ข้ามไปทำงานในพื้นที่นั้น

สำหรับกรณีของมหาชัย สมุทรสาครนั้น เราจะพบความพิเศษของ “ความเป็นชายแดน” ของพื้นที่ และความสำคัญของพื้นที่มหาชัย ซึ่งเป็นเพียงตำบลหนึ่งในอำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร แต่ก็ถือเป็นตำบลที่เป็นเมืองหลวงของอุตสาหกรรมประมงของประเทศไทยกันเลยทีเดียว

ทั้งจังหวัดสมุทรสาครนั้น มีผลิตภัณฑ์มวลรวมประมาณ สี่แสนล้านบาท สูงเป็นอันดับหกของประเทศ และเป็นพื้นที่ติดกับกรุงเทพ นครปฐม สมุทรสงคราม และราชบุรี เรื่องที่น่าสนใจต่อก็คือด้วยรายได้ที่มหาศาลของจังหวัดนั้นดูจะสวนทางกับสภาพความเป็นจริงที่เกิดในพื้นที่ กล่าวคือ รายได้ต่อหัวของสมุทรสาครอยู่ที่ 32485 บาทต่อเดือน แต่ในความเป็นจริงสมุทรสาครมีประชากรแฝงเป็นแรงงานต่างด้าว และส่วนมากก็หลบหนีเข้าเมืองผิดกฏหมาย จำนวนมหาศาล และค่าแรงของคนเหล่านี้ก็ย่อมไม่ถึงจำนวนสามหมื่นกว่าบาทต่อเดือนอย่างแน่นอน

ฐานสำคัญของความมั่งคั่งของสมุทรสาครคือโรงงาน และอุตสาหกรรมประมงนั้นมีลักษณะพิเศษ กล่าวคือระบอบทุนนิยมประมงสมัยใหม่นั้นมีหัวใจสำคัญในเรื่องของการขูดรีดที่ซับซ้อน ทั้งบนเรือและบนบก (เรื่องนี้เป็นงานวิจัยที่ผมยังทำค้างอยู่หลายปีแล้วแต่ยังไม่เสร็จสักที แม้ว่าจะมีโอกาสนำเสนอไปหลายครั้งตามที่ต่างๆ) และเกี่ยวพันกับระบบความเป็นชายแดนที่ซับซ้อนกว่าระบบชายแดนปกติที่เราเข้าใจกัน

โดยตัวพื้นที่ของสมุทรสาครและมหาชัยนั้นจัดเป็นพื้นที่ “ชายแดนซ่อนรูป” คือไม่ได้เป็นพื้นที่ที่ติดชายแดนทางบกเลย ดังนั้นในทางกายภาพสมุทสาครจึงไม่ถือเป็นจังหวัดชายแดนและไม่มีพรมแดนทางบกติดเมียนม่าร์ แต่ก็มีปีะเด็นของการเป็น “เมืองชายแดนทางทะเล” ที่พึ่งพาโอกาศทางเศรษฐกิจทางทะเลคือตัวอาหารทะเล แะระบบการจับปลาที่ซับซ้อนในเรื่องที่ต้องเกี่ยวพันกับระบบเส่นแดนทะเลที่ยุ่งยากทับซ้อนกว่าระบบเส้นแดนทางบก ในขณะที่เมืองมหาชัยต้องพึ่งพาความเป็นชายแดนทางบก(ที่ซ่อนรูป) ในการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในพื้นที่

ในส่วนของความเป็นทุนนิยมของมหาชัยนั้น จัดเป็นทุนนิยมประมง ที่เป็นทุนนิยมในแง่ของขนาดการผลิตและระบบการผลิตที่ไม่ใช่ประมงพื้นบ้านที่ครอบครัวเล็กเป็นกิจการ แต่เป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่เชื่อมโยงกับการส่งออกในระดับโลก และมีอุตสาหกรรมหลากหลายรูปแบบที่เชื่อมโยงกัน ทั้งการออกเรือ แพหรือตลาดอาหารทะเล โรงงานแปรรูป และระบบสนับสนุนย่อยนอกระบบ/ที่ไม่เป็นทางการ (ล้ง) ทั้งหมดนี้นอกจากต้องใช้ทุนมหาศาลแล้ว ยังต้องใช้แรงงานและการ “สร้างระบอบแรงงาน” (labor regime) ที่พิเศษ กล่าวคือ แรงงานเหล่านี้มักเป็นแรงงานข้ามแดนที่หลบหนีเข้าเมืองอย่างผิดกฏหมาย และเข้ามาผ่านระบอบแรงงานที่เป็นทางการผ่าน “การลงทะเบียน/ผ่อนผัน” เพื่อให้ทำงาได้ในระยะเวลาหนึ่ง โดยสิทธิ/สวัสดิการต่างๆของแรงงานเหล่านี้มีน้อยกว่าแรงงานไทย ทั้งหมดนี้้เราจะเห็นว่า หากปราศจากการข้ามแดนทางบกเข้ามาในพื้นที่ของเครือข่ายแรงงานและระบบนายหน้า บวกกับความต้องการแรงงานมหาศาลจากระบบทุนนิยมประมง และผู้ประกอบการ (นายทุน) และระบอบกฏหมายและการผ่อนผันรวมทั้งระบบใต้ดินของการตรวจจับ จับปล่อย ตรวจปล่อย ก็จะไม่สามารถเกิด “ระบอบแรงงานประมง” ในพื้นที่มหาชัยได้ เพราะมหาชัยไม่ได้มีพรมแดนทางบกติดเมียนม่าร์ แต่พึ่งพาเครือขายการเคลื่อนที่จากชายแดนบกเข้ามา เราจึงไม่ด่านและระบบทหารตำรวจตระเวณชายแดนมาป้องกันชายแดนที่มหาชัย และการข้ามแดนเข้ามหาชัยของแรงงานนั้นมาจากการแทรกซึมเข้ามา รวมทั้งระบอบ MOU ที่มีการทำสัญญาเข้ามาเป็นกลุ่มก้อนจากเมียรม่าร์เข้ามา ซึ่งยังมีความซับซ้อนในเรื่องการปฏิบัติจริง

เราจะเห็นได้ชัดว่าเรื่องที่ผมพูดนี้ย่อมถูกรายงานมานานแล้วในแง่ของปัญหาที่เกิดขึ้นของระบบแรงงานที่ขูดรีดเป็นพิเศษเกินมาตรฐานแรงงานทั่วไปทั้งจากองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ รายงาน IUU (Illegal, Unreported and. Unregulated Fishing) ของสหภาพยุโรปที่จับไทยขึ้นอันดับที่ต้องจับตามองมาหลายปี และ รายงาน TIP (Trafficking in Persons Report) ของกระทรวงพานิชย์ของสหรัฐ ที่ไทยต้องพยายามปรับปรุงระบบกฏหมายเพื่อให้รอดพ้นจากมาตรฐานการค้าแรงงานที่ย่ำแย่และเกี่ยวพันกับการค้ามนุษย์มาเป็นเวลาหลายปี

หัวใจสำคัญอีกประการหนึ่งของระบอบทุนนิยมประมง นอกเหนือจากการสะสมทุนและการขูดรีดอันเป็นปกติของระบอบทุนนิยมตัวแบบคลาสสิคแล้ว ยังรวมไปถึงสถานะบุคคลของแรงงานเหล่านี้ที่น้อยกว่าสถานะแรงงานทั่วไป เช่นการเคลื่อนย้ายที่ยากเพราะต้องขึ้นกับนายจ้าง และ คุณภาพชีวิตที่ย่ำแย่ ทั้งสาธารณสุขและการอยู่อาศัย เพราะมีเงื่อนไขทั้งต้องอยู่ให้รอด หลบหนีการจับกุม รวมทั้งส่งเงิรกลับบ้านทั้งที่รายได้จะอยู่ก็แย่เต็มทน เขาจึงต้องขุดรีดตัวเองซ้ำจากที่ถูกขูดรีดจากนายทุน และ หลบหนีหรือต้องจ่ายค่าคุ้มครองให้กับระบอบการทุจริตแรงงานต่างด้าว เขายังจะต้องส่งเงินกลับบ้านด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้คือปัญหาของระบอบทุนนิยมและแรงงานที่ชายแดนไทยในภาพรวม แต่กรณีประมงอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การขูดรีดเข้มข้นกว่าแรงงานอุตสาหกรรมชายแดนทั่วไปก็คือเรื่องของ “ความเร็ว” ในการผลิต เพราะโดยพื้นฐานแล้วการทำงานประมงนั้นจำเป็นจะต้องผลิตเพื่อแข่งกับความเร็วเนื่องจากตัวสินค้าที่ผลิต (ทั้งจับและแปรรูป) นั้นเป็นสินค้าที่เสียง่าย การทำงานแข่งกับเวลาจึงเป็นสิ่งสำคัญ เช่นบนเรือก็จะต้องตื่นมาจับปลากลางดึก เลือกเวลาไม่ได้ และถูกจำกัดพื้นที่อยู่บนเรือจะพักผ่อนนอกพื้นที่การผลิตก็ไม่ได้ ขณะที่บนบกนั้น ด้วยลักษณะความเร็วและความต้องการสินค้าประมงคือต้องทำให้สด ให้เร็ว ก่อนส่งเข้าแช่เย็นและส่งออกนั้น ทำให้ต้องมีการแกะปลาและกุ้งอย่างเร็ว และอาจจะแยกไปเป็นล้งย่อย ซึ่งย่อมไม่เป็นไปตามมาตรฐานแรงงานใดๆ และถ้าใครเคยสังเกตผ่ามือและผิวของแรงงานประมงเหล่านี้ จะเต็มไปด้วบบาดแผลของการแกะกุ้งที่เขาต้องทำความเร็ว เผื่อให้สินค้าเหล่านั้น “สด” มากที่สุดเพื่อให้ผู้บริโภคที่ต้องการสินค้าเหล่านั้นพึงใจ และ อาจไม่ระแวดระวังเลยว่าสินค้าที่พวกเขารับประทานนันผ่านความทุกข์ยากขั้นเข้มข้นอย่างไรกว่าจะมาสู่ครัว ภัตตาคาร โต๊ะอาหาร และมื้ออาหารอันหรูหราของพวกเขา

การทำความเข้าใจเรื่องของการระบาดโควิด19 รอบนี้ในพื้นที่มหาชัยจึงไม่ใช่เรื่องที่จะต้องมองปัญหาการระบาดว่าเป้นเพราะการข้ามแดนของแรงงานต่างด้าวเหล่านี้ และ สภาพความเป็นอยู่ของพวกเขา ว่าเพราะพวกเขาเป็นเช่นนี้ไม่ดูแลตัวเอง จึงนำโรคร้ายมาสู่เรา แต่ควรพิจารณา “ระบอบการผลิตอาหารแบบทุนนิยมและระบอบแรงงานประมงชายแดน” ของพื้นที่นี้เป็นพิเศษว่าเราและความต้องการอาหารทะเลสดใหม่ราคาถูกของพวกเราเป็นส่วนหนึ่งของกำเนิดของเงื่อนไขของการระบาดในรอบนี้ และตราบใดที่เราไม่คำนึงถึงคุณภาพชีวิตของแรงงานเหล่านี้ แต่ยังมองว่าเขาเป็นเชื้อโรคหรือพาหะของเชื้อโรคที่แยกขาดจากเรา หรือมองแค่การแก้ระบอบกฏหมายที่เช้มงวดขึ้น โดยไม่มองความเป็นธรรมในการจ้างงาน และความเป็นพลเมืองทางเศรษฐกิจและสังคมของพื้นที่เหล่านี้ และนำเอาเรื่องเหล่านี้มาเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นธรรมทางอาหาร และความเข้าใจเรื่องของสุขภาพดีของอาหารที่มากกว่าเรื่องของความสะอาดจากปุ๋ยและสารเคมี โดยไม่คำนึงถึงแรงงานที่ถูกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม และมีคุณภาพชีวิตที่แย่ในการผลิตอาหารทะะเลที่เราชอบนึกว่าปลอดภัยและสะอาดจากสารปนเปื้อนมากกว่าอาหารในระบอบอุตสาหกรรมปิด เราจะพบ “ชายแดนที่อยู่รอบตัวเรา” มากขึ้นเรื่อยๆ ใกล้ขึ้นเรื่อยๆ ใกล้แค่ 30 กิโลเมตรจากกรุงเทพ และใกล้จากปากของเราไม่ถึงหนึ่งช่วงมือ

คนที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้จึงไม่ใช่แค่แรงงานต่างด้าวที่อยู่ในสภาพชีวิตที่ย่ำแย่ แต่เป็นตัวเราในฐานะผู้บริโภค ผู้ประกอบการที่รับผิดชอบต่อกระบวนการผลิตทั้งหมด (หมายถึงว่านายทุนนั้นจะต้องมีนัยยะของผู้ประกอบการคือต้องรับผิดชอบทั้งกิจการด้วย ไม่ใช่แค่เป็นเจ้าของทุน เพราะเขาเป็นเจ้าของการตัดสินใจ) รัฐที่ดูแลกฏหมายและอาจมีเจ้าหน้าที่รัฐหาช่องโหว่ทางกฏหมาย รวมทั้งเครือข่ายนายหน้าแรงงานในรูปแบบต่างๆ นั่นหมายความว่าการดูแลปัญหาการระบาดจะต้องมองให้ไกลถึงการปรับเปลี่ยนระบอบทุนนิยมประมงให้เป็นธรรมและพัฒนาเมืองมหาชัยให้น่าอยู่และเป็นธรรมกับทุกๆฝ่ายในระยะต่อไปด้วยครับ

มติชนรายวัน อังคารที่ 22 ธันวาคม 2563 หน้า 16 (ปรับปรุง อีกครั้ง อังคารที่ 22 ธันวาคม 2563 เวลา 15.00 น.)
พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image