กักตัว ไม่กักความสุข กับเล่มสนุกรับปีใหม่

กักตัว ไม่กักความสุข กับเล่มสนุกรับปีใหม่

ถึงตอนนี้หลายๆ คนที่วางแผนไว้ว่าจะไปเฮฮาปาร์ตี้เคาต์ดาวน์ปีใหม่ในที่ต่างๆ ก็คงตัดสินใจพับแผนการเดินทาง แล้วล็อกดาวน์กักตัวเองอยู่บ้านช่วงปีใหม่แบบไม่ต้องมีใครสั่ง เพื่อป้องกันไว้ก่อน

จะได้ไม่ต้องมาคอยถามทั้งตัวเอง และคนรอบข้างแบบหวาดระแวงอยู่ตลอดเวลา ว่าติดแล้วยังๆ ติดเจ้าโควิด-19 ที่กำลังเดินทางแพร่กระจ่ายเชื้ออยู่ในหลายจังหวัดแล้วหรือยัง

แต่ถึงจะกักตัว ก็ไม่ได้แปลว่าความสุขจะต้องถูกกักไปด้วยนี่นา และสำหรับหนอนหนังสือทั้งหลายแล้ว อะไรจะดีเกินไปกว่าการได้นอนกลิ้งอ่านหนังสือเจ๋งๆ ท่ามกลางอากาศหนาวๆ ในช่วงปีใหม่

เรามีหนังสือมาแนะนำเพียบเลย ตามไปอ่านกัน เผื่อจะเจอเล่มถูกใจบ้าง

Advertisement

เล่มแรกสุดฮอต สนพ.มติชน คือ 24-7/11 นวนิยายเล่มล่าสุดโดย ภู กระดาษ ที่ถ่ายทอดชีวิตของเหล่าตัวละครในครอบครัว วงศ์คำดี ครอบครัวชนชั้นกลางระดับสูงจากภาคอีสาน ที่เปรียบเสมือนฟันเฟืองในเครื่องจักรและสายพานที่ดำเนินไปซ้ำแล้วซ้ำเล่าในประวัติศาสตร์การกดขี่ของนายทุน และร่วมหมุนเฟืองของความวิปริตนี้ไปด้วยกันอย่างไม่รู้ตัว โดยไม่อาจหนีได้พ้นจากผลลัพธ์ของสิ่งที่ตัวเองมีส่วนสร้าง

เรื่องราวดำเนินไปพร้อมกับการฉายภาพสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองที่กระทำต่อผู้คนชนชั้นข้างล่างที่ไม่เคยถูกบันทึก เป็นฟันเฟืองน้อยใหญ่บนสายพานวิปริต ยังคงหมุนขยับกลไปอย่างแข็งขัน บดขยี้กันและกันอยู่ในนั้น

24 ชั่วโมงต่อวัน และ 7 วันต่อสัปดาห์

Advertisement

มาที่เล่มดังจากเกาหลีกันบ้าง ที่จริงแล้ว ฉันเป็นคนเก็บตัวนะ (Actually, I’ m an Introvert) โดย “นัมอินซุก”

เล่มนี้ขายได้ที่เกาหลีกว่า 3.8 ล้านเล่ม และไม่น่าแปลกใจเลยที่จะขายดีมากของ สนพ. Bibli ก็ช่างร่วมสมัยเหลือเกินนี่นา

หนังสือเล่มดังจากเกาหลีใต้ที่โดนใจคนอ่านเล่มนี้ เล่าเรื่องผ่านมุมมองของผู้หญิงที่โตมากับการเป็นคนแบบอินโทรเวิร์ต ทำให้สายตาของเธอมองเห็นด้วยโลกเป็นอีกแบบ เป็นงานเขียนที่สะท้อนให้เห็นภาพของคนร่วมสมัยได้อย่างซื่อตรง และทำให้เข้าใจว่าความแตกต่างของคนเรานั้นล้วนมีที่ทางเป็นของตนเอง

บุคลิกลักษณะของเราเป็นเหมือนตารางไล่โทนสี ที่ไม่มีขอบเขตชัดเจน ในคนเดียวกันก็สามารถเป็น “คนชอบเก็บตัวที่มีลักษณะค่อนไปชอบทางเข้าสังคม” และสามารถเป็น “คนชอบเข้าสังคมที่ค่อนไปทางเงียบขรึม” ได้ด้วย จึงไม่อาจอธิบายได้ด้วยคุณสมบัติเพียงอย่างเดียว

เพราะงั้นการตอบคำถามว่าตัวเรามีลักษณะนิสัยแบบไหนนั้น เป็นเรื่องที่เราต้องถามใจตัวเอง ไม่ใช่การวัดด้วยไม้บรรทัดของคนทั่วไป

เล่มใหม่ของฟ้าเดียวกัน ที่คนถามหาคือ รัฐราชาชาติ ว่าด้วยรัฐไทย ผลงานใหม่ล่าสุดของ ธงชัย วินิจจะกูล

บทความในหนังสือเล่มนี้ อธิบายคุณลักษณะของรัฐ ชาติ และชาตินิยมของไทยในปัจจุบัน (ในช่วงทศวรรษระหว่าง 2500 ถึง 2550) รวมถึงประเด็นของการถือกำเนิดขึ้น การสืบทอดต่อมาอย่างไร เพื่ออะไร และกำลังประสบกับภาวะอย่างไร จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของประชาสังคมที่ผลิตซ้ำอุดมการณ์บางอย่าง และเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการปฏิรูปไม่น้อยไปกว่ากลไกทางการของรัฐ ผู้เขียนเคยตีพิมพ์บทความหลายชิ้นเพื่ออธิบายในประเด็นเหล่านี้มาก่อน บทความในเล่มนี้ตอกย้ำและเพิ่มเติมประเด็นซึ่งไม่เคยกล่าวถึงมาก่อนในเล่มก่อนหน้า ได้แก่ รัฐและการใช้อำนาจรัฐในชีวิตประจำวัน ความเป็นมาและกระบวนการสร้างลัทธิ ระบบการทำงานอย่างเป็นรูปธรรมของระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข นิติศาสตร์ของรัฐราชาชาติ และชาตินิยมที่ไม่มีประชาชนของไทย

เล่มต่อไปคือ ความถูกต้องอยู่ข้างใคร The Righteous Mind: Why Good People Are Divided by Politics and Religion ผลงานของ Jonathan Haidt แปลโดย วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ จาก สนพ. Be(ing)

เล่มนี้น่าสนใจ และร่วมสมัยมากๆ ขณะที่สังคมทั่วโลกเริ่มถลำลึกเข้าสู่การแบ่งฝักฝ่ายและความตึงเครียด ความโกรธแค้นในกันและกัน ดึงเราไว้จนไม่เป็นอันทำอะไร นักจิตวิทยาสังคมชื่อดัง โจนาธาน ไฮดต์ ได้ทำในสิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้ นั่นคือเขาเขียนหนังสือที่ท้าทายแนวคิดดั้งเดิมทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับศีลธรรม การเมือง และศาสนาในแบบที่ทุกคน ไม่ว่าจะอยู่เฉดสีไหนทางการเมือง ก็สามารถเข้าถึงได้

ในหนังสือที่ถูกเขียนขึ้นจากการวิจัยด้านจิตวิทยาศีลธรรม ที่ทำมายาวนานกว่า 25 ปีเล่มนี้ ไฮดต์จะแสดงให้เห็นว่าการตัดสินทางศีลธรรมของเรา ไม่ได้มีพื้นฐานมาจากเหตุและผลอย่างที่คิดกัน หากแต่มาจากความรู้สึกและสัญชาตญาณ ไฮดต์ยังอธิบายด้วยว่าทำไมพวกเสรีนิยม พวกอนุรักษนิยม และพวกอิสรนิยม จึงมีสัญชาตญาณเกี่ยวกับความถูกผิดทางสังคมที่แตกต่างกันมากเหลือเกิน

น่าสนใจมากๆ เลยทีเดียว

เล่มต่อไปไม่ใช่หนังสือเล่มแต่เป็น zine จาก Way of Book คือซีรีส์รวมบทสัมภาษณ์นักเรียน-นักศึกษา เยาวชนคนรุ่นใหม่ ที่ออกมาเคลื่อนไหวในประเด็นทางสังคมที่หลากหลาย พวกเขาเรียกร้องประชาธิปไตย ไล่นายกรัฐมนตรี ขอร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน เรียกร้องความเสมอภาคทางเพศ รวมถึงปฏิรูปโครงสร้างสังคม เป็นปากคำ 14 ราษฎรหนุ่มสาว อาทิ รุ้ง-ปนัสยา, มายด์-ภัสราวลี, เมนู-สุพิชฌาย์, แรปเตอร์-สิรภพ, เอเลียร์ ฟอฟิ ผู้ใฝ่ฝันจะเห็นประเทศดีขึ้นกว่าเดิม

เล่มสุดท้ายคือ Becoming A Butterfly การเดินทางของผีเสื้อหลากสี เป็นวรรณกรรมเยาวชน ซึ่งเขียนขึ้นโดย เมริษา ยอดมณฑป หรือครูเม เจ้าของเพจ ตามใจนักจิตวิทยา และวาดภาพประกอบโดย ชนิดา อารีวัฒนสมบัติ หรือ chubbynida

เป็นเรื่องราวของ “ลิซ่า” นักจิตวิทยาฝึกหัด ซึ่งเลือกเข้ามาฝึกงานในโรงพยาบาลบาร์เน็ต ที่ขึ้นชื่อในเรื่องเคสหินของเด็กและเยาวชนโดยตลอดระยะเวลา 6 เดือนที่อยู่ที่นี่ ลิซ่าต้องพบสารพัดเคสจากเด็กๆ อาทิ “เด็กชายไม่พูด” “เด็กชายมังกร” (โรคหลายบุคลิก) “เด็กหญิงไร้เสียง” (โรค Selective Mutism หรือ SM) “เด็กชายโทรโข่ง” (โรค Tics ในกลุ่มอาการ Tourette Syndrome) “เด็กชายต่างดาว” (โรคออทิสติกที่มีความสามารถสูง High-function Autism)

ทุกเคสละเอียดอ่อน ต้องการความเข้าอกเข้าใจและคนที่เคียงข้าง เพื่อข้ามผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากและเลวร้าย

สำหรับเรา นี่ไม่ใช่แค่เรื่องของเด็ก แต่เป็นเรื่องที่เราพบเจอได้เสมอแม้แต่ในผู้ใหญ่ ซึ่งยิ่งถ้าเป็นคนใกล้ตัว ก็ยิ่งจำเป็นที่จะต้องเข้าใจแบบร่วมรู้สึกในสิ่งที่เขาเป็น ไม่ใช่แค่สงสาร และอยู่เคียงข้างโดยไม่ตัดสิน

เป็นเล่มที่อ่านสนุกมาก และได้ความรู้ทางจิตวิทยาเยอะมากทีเดียว อยากชวนให้อ่านกัน

ถึงจะต้องกักตัวเอง แต่ความสุขก็ไม่จำเป็นต้องถูกกักนี่นา

แล้วมาเคาต์ดาวน์ผ่านตัวอักษรบนหน้ากระดาษไปด้วยกัน

สิรนันท์ ห่อหุ้ม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image