ที่เห็นและเป็นไป : อาจจะเสียทั้ง 2 ทาง โดย สุชาติ ศรีสุวรรณ

โควิด-19 กลับมาระบาดอีกครั้งในประเทศไทยเรา คราวนี้ไม่เหมือนกับครั้งก่อน

การระบาดเมื่อต้นปี 2563 ภารกิจหลักในการบริหารจัดการประเทศชัดเจนว่าอยู่ที่การควบคุม เพื่อหยุดยั้งการระบาด มาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลประกาศออกมาจึงมุ่งไปที่การทำให้ตัวเลขผู้ป่วยไม่เพิ่มขึ้น และผู้ติดเชื้อรายใหม่ไม่เกิดขึ้น โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบในด้านอื่นๆ หรือคำนึงถึงน้อยมาก

การประกาศล็อกดาวน์พื้นที่ต่างๆ การห้ามเดินทาง ห้ามทำกิจกรรม หรือปิดบางกิจการจึงเกิดขึ้นอย่างไม่ใส่ใจรับฟังว่าใครจะเดือดร้อนอย่างไร

การทำจิตวิทยามวลชนมุ่งไปที่การสร้างความกลัวให้เกิดขึ้น ใครสักคนที่ติดเชื้อจะเปลี่ยนชีวิตปกติให้เป็นชีวิตเลวร้าย ถูกแอนตี้รุนแรงจากเพื่อนร่วมสังคมเดียวกัน

Advertisement

พื้นที่ไหนมีผู้ติดเชื้อจะกลายเป็นย่านอันตรายที่ผู้คนซึ่งอาศัยอยู่จะต้องถูกควบคุมอย่างเข้มข้น

ภารกิจนั้นสำเร็จ ไทยได้เป็นประเทศที่ควบคุมการแพร่ระบาดอย่างได้ผล

เพียงแต่ว่าการดำเนินการเช่นนั้นทำให้ไทยเรากลายเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจสูงยิ่ง จนกลายเป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในอันดับต้นๆ ในกลุ่มที่ย่ำแย่

Advertisement

เป็นประเทศที่ออกกฎหมายเพื่อให้รัฐสภาอนุมัติให้รัฐบาลกู้ยืมเงินมหาศาลมาแก้ปัญหาของประเทศ

รัฐบาลต้องใช้จ่ายเงินจำนวนมากเพื่อกอบกู้ระบบเศรษฐกิจให้พอหมุนขับเคลื่อนชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนได้บ้าง

การบริหารประเทศท่วมหัวด้วยรายจ่าย ขณะที่การหารายได้มารองรับแทบไม่มีช่องทางที่เป็นไปได้

ท่องเที่ยวทรุด ความพยายามหาวิธีเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่เห็นทางที่เป็นไปได้ ขณะที่การลงทุนไหลออกไปประเทศเพื่อนบ้านด้วยสาเหตุหลายอย่างที่ทำให้นักลงทุนมองเห็นว่าการลงทุนในประเทศไทยไม่เอื้อต่อความสำเร็จของธุรกิจในอนาคตอีกแล้ว

แม้ในช่วงปลายปีจะพอมีความหวังว่าจะเยียวยาได้บ้างจากความพยายามกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ

โรงแรม และสถานที่ท่องเที่ยวที่ไม่ไกลนักจากกรุงเทพฯ โดยเฉพาะที่พอเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวได้คลาคล่ำไปด้วยนักท่องเที่ยวชาวไทยที่อัดอั้นกับการไม่ได้เดินทางก่อนหน้านั้น

แต่เดือนสุดท้ายของปี การระบาดครั้งใหญ่ของโควิด-19 ก็เริ่มต้น

เริ่มในแบบที่ประเมินได้ว่าจะลุกลามรุนแรงกว่าครั้งก่อนหน้านั้น เป็นการส่งสัญญาณว่าประเทศไทยเราจะต้องเปิดรับปี 2564 ด้วย

โควิด-19 ที่ลุกลามอย่างน่าห่วงในสถานการณ์มากกว่า

ทว่าท่าที่ของรัฐบาลในการกำหนดมาตรการรับมือ กลับเห็นได้ชัด เน้นที่ไม่สร้างความตื่นกลัวเพื่อให้เกิดจิตสำนึกในการควบคุมโรคเป็นหลักเหมือนที่ผ่านมา

เป็นมาตรการที่ผ่อนปรน คล้ายกับจะพร้อมให้ประเทศใช้ความเป็นปกติรับมือกับวิกฤตการระบาดครั้งใหม่เสียมากกว่า

ท่าทีเช่นนี้ย่อมช่วยไม่ได้ที่จะทำให้คนที่คลุกอยู่วงในมองเห็นว่า ความสามารถในการรับมือความเป็นไปทางเศรษฐกิจนับจากนี้เป็นเรื่องที่ต้องซีเรียสแล้ว

ประเทศอาจจจะมีมหาเศรษฐีเกิดขึ้นในช่วงวิกฤตมากมาย และที่เป็นเศรษฐีใหญ่อยู่แล้วสร้างความร่ำรวยเพิ่มขึ้นมหาศาลจากความพร้อมในทุกด้านที่ทำให้ได้เปรียบในการทำมาหากินทุกทาง สามารถฉกฉวยโอกาสในวิกฤตได้อย่างง่ายดาย

แต่สำหรับประเทศต้องจนลง กลายเป็นประเทศที่สร้างหนี้มโหฬารโดยยิ่งนับวันยิ่งมองไม่เห็นช่องทางเก็บรายได้มาชดใช้หนี้ที่สร้างไว้

ประชาชนระดับผู้ด้อยโอกาสอย่างคนระดับล่าง หรือเสียเปรียบในโอกาสอย่างคนชั้นกลาง นับวันจะต้องแบกรับภาระที่ชีวิตที่มองไม่เห็นอนาคตอย่างทุลักทุเล โดยที่ความสามารถของรัฐบาลที่จะช่วยเหลือที่เจือจานให้พออยู่ได้จะต่ำลงเรื่อยๆ

การตอบโจทย์ว่าเราจะอยู่กันอย่างไร เป็นเรื่องที่ยากเย็นยิ่ง

มาตรการผ่อนปรนในการควบคุมการระบาด เพื่อหวังให้เกิดการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แทบจะมองไม่เห็นความเป็นไปได้ที่จะประสบความสำเร็จ

“ความกลัว” อันเป็นค่านิยมที่ถูกสร้างขึ้นในการระบาดครั้งก่อนยังฝังอยู่ในใจ ที่มาตรการผ่อนปรนจะไม่เป็นแรงกระตุ้นให้ค่านิยมนั้นเปลี่ยนไป

การระบาดอาจจะเพิ่มขึ้นความไม่เข้มข้นในการควบคุมของรัฐบาล ผู้ป่วย ผู้ติดเชื้ออาจมากขึ้น

แต่สภาพเศรษฐกิจที่หวังจะแลกกับมาตรการผ่อนปรนอาจจะไม่เป็นผล

จะไม่ได้อย่างเสียอย่างอย่างที่หวังไว้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image