ความยุติธรรม กับ มาตรา 44

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ใช้กฎหมายมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มีคำสั่งมาตรการแก้ปัญหาเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบ โดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ตั้งแต่ปี 2558 จนถึงต้นปี 2559 รวมแล้ว 3 คำสั่ง

มีทั้งข้าราชการระดับสูง ปลัดกระทรวง อธิบดี ผู้ตรวจราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ถูกสั่งให้ระงับการปฏิบัติราชการชั่วคราวไปประจำสำนักปลัดกระทรวง ถ้าเป็นผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็จะไม่ได้รับค่าตอบแทน เงินประจำตำแหน่ง ฯ รวมทั้งสิ้น 167 คน

ตามขั้นตอนในคำสั่งกำหนดไว้ว่า เมื่อหน่วยงานตรวจสอบ แจ้งข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมของผู้ถูกตรวจสอบต่อหน่วยงานต้นสังกัดแล้วให้หน่วยงานเร่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงหรือสอบสวนเพื่อดำเนินการทางวินัย ในกรณีไม่พบว่ามีความผิดก็ให้รายงานนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาเปลี่ยนแปลงคำสั่งต่อไป

ถ้าติดตามผลการใช้มาตรการดังกล่าวมาตามลำดับ ซึ่งเจตนารมณ์เพื่อแก้ปัญหาการทุจริต ประพฤติมิชอบ ทำความเสียหายแก่ทางราชการหรือทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนเป็นหลัก จะพบว่าในช่วงแรก ปฏิกิริยาจากฝ่ายผู้ถูกตรวจสอบ ถูกสั่งระงับการปฏิบัติหน้าที่ ตัดเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง ส่วนใหญ่ต่างปิดปากเงียบ ไม่ตอบโต้ ร้องขอความเป็นธรรม

Advertisement

จนกระทั่งมาถึงคำสั่งสุดท้าย ปฏิกิริยาเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หลายรายออกมาโต้แย้งมากขึ้นตามลำดับ

รายล่าสุด นางสำรวย พยอมใหม่ อดีตนายกเทศมนตรีตำบลบ้านใหม่ พร้อมคณะผู้บริหารเทศบาลตำบลบ้านใหม่ อ.เมือง จ.นครราชสีมา ยืนยันว่าตลอดระยะเวลา 3 ปีในการปฏิบัติหน้าที่ มีความมุ่งมั่นตั้งใจทำงานเพื่อพี่น้องประชาชนอย่างเต็มความสามารถ เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตภัยแล้งของประชาชนในพื้นที่ โดยถูกต้องตามกฎหมายทุกขั้นตอน ยืนยันว่าการปฏิบัติงานมีความสุจริต โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน แต่ช่วงหลังมานี้ปรากฏว่ามีกลุ่มคนการเมืองฝ่ายตรงข้าม พยายามร้องเรียนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ตรวจสอบมาโดยตลอด ซึ่งตนก็ให้ความร่วมมือหน่วยตรวจสอบเป็นอย่างดี 

แต่ในที่สุดต้องถูกสั่งระงับการปฏิบัติหน้าที่ ทั้งที่หลายเรื่องยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบซึ่งยังไม่ชี้มูลความผิดที่ชัดเจน ขอให้ ป.ป.ช.ส่วนกลาง หรือ ป.ป.ช.จังหวัดนครราชสีมา เร่งตรวจสอบโครงการเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ และขอความเป็นธรรมให้ตนด้วย

กรณีของนางสำรวย เป็นหนึ่งในตัวอย่างของผู้ถูกคำสั่งมาตรา 44 ซึ่งยังเหลืออีกกว่า 100 คน ผลสุดท้ายชะตากรรมของแต่ละคนจะปรากฏออกมาอย่างไร ยังไม่มีใครตอบได้ ขึ้นอยู่กับพยานหลักฐาน ผลการสอบสวน การตัดสินขององค์กรตรวจสอบและหน่วยงานต้นสังกัดจนถึงผู้บังคับบัญชาระดับสูงของรัฐบาล

Advertisement

ประเด็นมีว่า การมีคำสั่งใช้มาตรการดังกล่าวทำให้ คสช. รัฐบาล มีภาพว่าเอาจริงเอาจังกับการปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ แต่อีกด้านหนึ่งในฝ่ายของผู้ถูกร้องเรียน ถูกตรวจสอบ ถูกคำสั่ง ในประเด็นของความชอบธรรม ความเป็นธรรม ความยุติธรรม ที่พวกเขาจะได้รับ โดยเฉพาะประสิทธิภาพการตรวจสอบ จนถึงการตัดสินใจขั้นสุดท้าย กระบวนการดังกล่าวใช้ระยะเวลายาวนานเพียงไร ถึงจะได้ข้อยุติ

เมื่อวันเวลาผ่านไป ผลการตรวจสอบของแต่ละรายคืบหน้าไปอย่างไร ใครได้รับความเป็นธรรมกลับคืนไปแล้วบ้าง กี่ราย สังคมและสาธารณชนควรได้รับข่าวสารข้อมูลข้อเท็จจริงในเรื่องเหล่านี้ด้วยหรือไม่ หรือเป็นเรื่องของทางราชการ ข้าราชการ ชาวบ้านไม่เกี่ยว

แม้เจตนารมณ์ของการใช้มาตรา 44 อ้างว่าเพื่อความรวดเร็วในการแก้ปัญหาสำคัญที่บ่อนเซาะสังคมมายาวนาน แต่ขณะเดียวกันก็เกิดประเด็นคำถามควบคู่กันมาตลอด ทั้งในระดับหลักการ การใช้อำนาจรัฐ (พิเศษ) ในการตรวจสอบ ใคร องค์กรใดจะทำหน้าที่ตรวจสอบ ถ่วงดุล การใช้อำนาจของผู้ตรวจสอบ

ภายใต้สถานการณ์พิเศษ บนฐานคิดทุกคนต้องเชื่อว่า ผู้ใช้อำนาจพิเศษมีความยุติธรรม ให้ความเป็นธรรมในการดำเนินงานทุกขั้นตอน ไม่ควรโต้แย้ง ร้องแรกแหกกระเชอใดๆ ผู้ถูกตรวจสอบส่วนใหญ่จึงเลือกที่จะนิ่งเงียบ ยอมรับชะตากรรมมากกว่าที่จะโวยวาย เคลื่อนไหว คัดค้าน เพื่อความปลอดภัยของตัวในระยะยาว

ด้านหนึ่งเป็นเพราะส่วนใหญ่เป็นข้าราชการ ต้องยึดมั่นรักษา ทำตามระเบียบวินัย แต่อีกด้านหนึ่งเพราะบรรยากาศทางสังคม การเมืองยุคพิเศษ ปฏิกิริยาที่แสดงออกมีเพียงไม่กี่คน

นอกจากนั้นยังเกิดคำถามทั่วไปอีกว่า กรณีร้องเรียน ผู้ถูกร้องเรียน ถูกคำสั่ง ถูกตรวจสอบ ล้วนมีแต่ข้าราชการพลเรือนสามัญ ครู ผู้บริหารท้องถิ่น ข้าราชการประเภทอื่น คนในเครื่องแบบอื่นๆ ไม่มีบ้างเลยหรือ ฝนตกไม่ทั่วฟ้าหรืออย่างไร

ครับ ผู้ปกครองหากยึดมั่นในความยุติธรรม ก็จะไม่เป็นไปตามคำสอนของพระพุทธองค์ที่ว่า ถึงจะมีอำนาจยิ่งใหญ่ ถ้าประมาทธรรมเสียแล้วก็ล่วงจากรัฐ

ส่วนประเด็นการปลดกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่อยู่ในคำสั่งเดียวกัน อันเป็นผลมาจากวิธีคิดและมุมมองต่อกระบวนการทำงานของ สสส.ที่แตกต่างกัน จะบานปลายต่อไปอย่างไรนั้น คงต้องติดตาม…

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image