ผลของประชามติที่พอคาดได้ โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

แม้มีความบกพร่องในการตรวจบัตรประจำตัวผู้ลงคะแนนและการนับคะแนนบางหน่วย แต่ก็ไม่มีสิ่งใดพิสูจน์ได้ว่า กกต.ก็ตาม คสช.ก็ตาม มีเจตนาจะโกงการลงประชามติในวันที่ 7 ส.ค.

ที่บกพร่องที่สุดคงเป็นเวลานับเดือนก่อนหน้าวันที่ 7 ส.ค. เมื่อ คสช.ใช้มาตรการกดขี่บังคับมิให้ใครได้เผยแพร่ความเห็นค้าน หรือชี้ข้อบกพร่องของร่างรัฐธรรมนูญ ถึงกับจับกุมคุมขังผู้คนจำนวนมาก (เกือบ 200 คน) โดยไม่ชัดเจนว่าทำผิดกฎหมายข้อใด รวมแม้กระทั่งกฎหมายที่ออกมาภายใต้อำนาจของ คสช.เอง กกต.บกพร่องที่เผยแพร่เนื้อหาของรัฐธรรมนูญไม่กว้างขวางพอ อีกทั้งบางครั้งก็มีเนื้อหาบิดเบือนด้วย เพราะยกข้อดีออกมากล่าวโดยไม่ชี้แจงถึงบริบทของข้อดีเหล่านั้นว่าเกิดขึ้นท่ามกลางเงื่อนไขบัญญัติในข้ออื่นอย่างไร

แม้กระนั้น คะแนนเสียงที่ร่างรัฐธรรมนูญได้รับอย่างท่วมท้นจากประชาชนไทย ก็ไม่ได้มาจากข้อบกพร่องดังกล่าวทั้งหมด ในโลกปัจจุบัน ไม่ว่าจะมีการปิดกั้นอย่างไร หากประชาชนไทยต้องการจะเรียนรู้เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญให้กระจ่างแก่ตนเอง ก็ทำได้ไม่ยาก หากอยากจะเรียนรู้ความคิดเห็นต่อร่างฯ ที่แตกต่างกันระหว่างฝ่ายต่างๆ ก็ไม่ยากจะเรียนรู้เช่นกัน ลองเปรียบเทียบกับสมัยที่ต้องแอบเปิดวิทยุเสียงประชาชนไทยของ พคท.ฟัง ก็จะเห็นได้ว่ารัฐได้สูญเสียอำนาจการปิดกั้นข้อมูลข่าวสารไปจนแทบจะสิ้นเชิงไปนานแล้ว

แต่ส่วนใหญ่ของประชาชนไทยที่มาลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญ ได้ตัดสินใจไปแล้ว โดยไม่ต้องการข้อมูลอื่นอีกต่างหาก ที่ทำให้พวกเขาพากันออกมาลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญ

Advertisement

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น คงต้องศึกษากันต่อไป ในที่นี้เพียงแต่พยายามจะสรุปว่า เมื่อมีผู้ลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญอย่างท่วมท้นเช่นนี้ จะเกิดผลอะไรในทางการเมืองบ้าง และเท่าที่ผมพอจะคิดออก มีดังนี้

1.โดยไม่ต้องอ่านร่างรัฐธรรมนูญ หรือฟังเสียงวิจารณ์จากหลายๆ ฝ่าย การรับรองร่างฯ ก็คือการรับรอง คสช.นั่นเอง

แต่ในการรับรอง คสช.อย่างท่วมท้นนี้ ก็เท่ากับรับรองพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างท่วมท้นไปด้วย เพราะในระยะหลัง ลักษณะการนำแบบรวมหมู่ของ คสช.ซึ่งมีเบาบางอยู่แล้ว แทบจะหายไปเลย กลายเป็นการนำของพลเอกประยุทธ์คนเดียวมากขึ้นอย่างชัดเจน ดังนั้นคะแนนเสียงที่ท่วมท้นนี้จึงทำให้กลุ่มชนชั้นนำที่อยู่เบื้องหลัง คสช.มีช่องสำหรับการปรับตัวได้น้อยลงไปด้วย อย่างไรเสียก็ต้องรักษาพลเอกประยุทธ์เอาไว้ ไม่ว่าพวกเขาจะพอใจหรือไม่พอใจพลเอกประยุทธ์ก็ตามที

พลเอกประยุทธ์จะใช้ความมั่นคงที่ได้จากคะแนนเสียงลงมติอย่างท่วมท้นนี้อย่างไร ขยายฐานมวลชนผู้สนับสนุนให้กว้างขึ้น จนกระทั่งในเวลาเกือบ 2 ปีข้างหน้า พรรคการเมือง (โดยเฉพาะ ปชป.) จะไม่มีทางเลือกอื่นมากไปกว่าสนับสนุนให้พลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯ หรือในทางตรงกันข้ามเหลิงอำนาจ จนสูญเสียแม้แต่พันธมิตรของตนเองไปมากขึ้น

ข้อนี้ผมเดาไม่ถูก แต่ในสองสามวันหลังลงประชามติ เริ่มมีเสียงจากบุคคลซึ่งพลเอกประยุทธ์น่าจะไว้วางใจได้ว่า ไม่ได้เป็นอริกับตนแน่ เสนอให้ถอนหรือระงับคดีกฎหมายประชามติเสีย เพราะการดำเนินคดีต่อไปไม่เกิดประโยชน์อะไรแก่บ้านเมืองเสียแล้ว หากพลเอกประยุทธ์ทำตาม

แนวโน้มก็มีความเป็นไปได้ว่า พลเอกประยุทธ์จะผ่อนคลายการใช้อำนาจบีบคั้นต่างๆ ลง เพื่อขยาย “ฐานเสียง” ของตนเอง

2.แม้ไม่ใช่เสียงส่วนใหญ่ แต่คนประมาณ 30% กว่า ของประชากรที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ (หรือไม่รับอำนาจของสถาบันต่างๆ ที่เกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ อันไม่ยึดโยงกับประชาชน) ประกอบเป็นประชาชนจำนวนมากทีเดียว (ยิ่งรวมอีกส่วนหนึ่งของผู้ไม่ไปใช้สิทธิซึ่งมีถึง 20 ล้าน ก็ยิ่งมากขึ้นไปอีก) ร้ายไปกว่านั้น จำนวนมากของคนเหล่านี้ คือคนที่มีศักยภาพทำให้เสียงของตนเองดังเสียด้วย เช่น นักการเมืองจากสองพรรคการเมืองใหญ่, เอ็นจีโอ, นักวิชาการ, ผู้นำบางกลุ่มในสาขาสื่อสารมวลชน, นักกิจกรรม ฯลฯ ดังนั้นจะหวังว่าคน 30% นี้จะไม่เคลื่อนไหวอะไรต่อไปทั้งหมด คงเป็นไปไม่ได้ พวกเขาคงต้องยอมรับรัฐธรรมนูญที่เสียงส่วนใหญ่ให้คำรับรองแน่ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเขาจะไม่ชี้ข้อบกพร่องที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำความเสียหายต่างๆ แก่บ้านเมือง ซ้ำยังสามารถชี้อย่างเป็นรูปธรรมได้ด้วย

พวกเขาคงมาร่วมคัดค้านในประเด็นสิ่งแวดล้อม, พลังงาน, สิทธิสากลของการรักษาพยาบาล, สิทธิที่ทำกิน, ราคาข้าว, งบทหาร, เขตเศรษฐกิจพิเศษ, การทุจริตหรือส่อเค้าทุจริต, กฎหมายลูก ฯลฯ ไม่จำเป็นต้องออกมาในรูปของความรุนแรงทุกเรื่อง แต่บางเรื่องอาจมีการปิดถนน หรือตั้งเวทีกลางถนนก็เป็นได้ สื่อกระแสหลักจะสามารถระงับการให้ข่าวตลอดไปได้หรือ

ในช่วงประมาณเกือบสองปีแรก พลเอกประยุทธ์คงสามารถระงับมิให้เกิดความแตกแยกวุ่นวายได้ ด้วยอำนาจรัฐประหารซึ่งยังดำรงอยู่ แต่เมื่อขึ้นเป็นนายกฯ จากเสียงรับรองของรัฐสภาแล้ว อำนาจรัฐประหารย่อมหายไป หากยังขืนระงับด้วยวิธีเดิมต่อไป ก็เท่ากับทำลายความชอบธรรมของรัฐบาลที่มีน้อยอยู่แล้วให้สูญสิ้นไปด้วย

ภายใต้รัฐธรรมนูญ แม้แต่รัฐธรรมนูญที่บกพร่องขนาดนี้ ความชอบธรรมทางการเมือง ย่อมทำให้เป็นที่ยอมรับกว่าอำนาจของตำรวจและกองทัพอย่างแน่นอน

ใครที่หวังว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะนำมาซึ่งความสงบเรียบร้อยแบบไม่หือไม่อืออีกเลย ก็จะเห็นความไร้ประสิทธิภาพของรัฐธรรมนูญ หรือของรัฐบาล ในเวลาไม่นาน

3.ที่คิดว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้นหลังร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ จึงไม่น่าเป็นไปได้ (ยกเว้นแต่ในตลาดการพนันเช่นตลาดหุ้น)

ในโลกนี้ เศรษฐกิจดีขึ้นได้ (หรือจีดีพีเพิ่มขึ้นได้) ก็เพราะมีการลงทุน ถ้าการลงทุนทั้งจากนายทุนภายในและต่างชาติ ชะลอตัวลงหรือหยุดไป จะหวังให้เศรษฐกิจดีขึ้นย่อมเป็นไปไม่ได้

ปัญหาเศรษฐกิจไทยเวลานี้คือนายทุนใหญ่หยุดลงทุน ที่หวังว่าผู้คนจะกลายเป็นผู้ประกอบการรายย่อยเพิ่มขึ้นด้วยธุรกิจสตาร์ตอัพ ยังไม่ส่อแววว่าจะช่วยอะไรได้ เรามีโครงสร้างพื้นฐานสำหรับธุรกิจสตาร์ตอัพแค่ไหน ในเมื่อตลอดเวลาที่ผ่านมาทั้งหมด เราทำโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการลงทุนของผู้ประกอบการรายใหญ่เป็นหลัก ดังนั้นหากแม้ว่าธุรกิจสตาร์ตอัพจะประสบความสำเร็จในอนาคต ก็ยังอยู่อีกนาน

นายทุนนั้นไม่ห่วงหรอกว่า จะลงทุนในประเทศประชาธิปไตยหรือเผด็จการ เขาต้องการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนแน่นอนต่างหาก แต่ดังที่กล่าวแล้วว่า การเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่มีทาง “นิ่ง” ได้ จึงเท่ากับมีระเบิดเวลาวางอยู่ข้างล่าง ไม่มีใครรู้ว่าจะระเบิดเมื่อไร นายทุนจึงต้องการรอให้สภาพการณ์ที่ “คาดได้” กลับคืนมาก่อน

ประเทศไทยต้องการการลงทุนที่ต่างจากกัมพูชาหรือพม่าแล้ว ไม่ใช่แค่โรงงานที่จะมาเก็บเกี่ยวแรงงานราคาถูกอีกต่อไปแต่ต้องเป็นการผลิตที่อาศัยทักษะแรงงานสูงขึ้น ดังนั้นเมื่อเกิดระเบิด จึงยากที่จะย้ายฐานการผลิตได้ทันท่วงที สภาพการณ์ที่ “คาดได้” จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง

ทั้งนี้ยังไม่ได้พูดถึงความจำเป็นต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับ การผลิตระดับที่ต้องการทักษะสูงขึ้น ซึ่งไทยยังไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน เมื่อเปรียบเทียบกับมาเลเซีย และเวียดนาม

4.คะแนนเสียงประชามติในครั้งนี้ อาจแยกออกตามรายจังหวัดหรือภูมิภาคได้ แต่ไม่อาจแยกออกตามวัย, ตามเพศ, ตามสถานะทางเศรษฐกิจ ฯลฯ หรืออะไรอื่นได้เลย (จนกว่าจะมีผู้ทำวิจัยรวบรวมสถิติหลังการออกเสียงแล้ว) อย่างไรก็ตาม มีคนขยันเก็บคะแนนเสียงหน้าหน่วยลงคะแนนเสียงในมหาวิทยาลัยที่มีนักศึกษาอยู่ประจำสี่แห่ง คือ ธรรมศาสตร์, มช., มข. และมน. ได้พบปรากฏการณ์หนึ่งซึ่งสอดคล้องกันในทั้ง 4 มหาวิทยาลัย ขอยกตัวอย่างจากตัวเลขของหนึ่งในสี่นี้

มีหน่วยลงคะแนนเสียงในมหาวิทยาลัยแห่งนั้น 7 หน่วย 2 หน่วยที่ส่วนใหญ่ของผู้ลงคะแนนเสียงคือเจ้าหน้าที่และอาจารย์มหาวิทยาลัย ให้การยอมรับร่างรัฐธรรมนูญ อีก 5 หน่วยที่ส่วนใหญ่ของผู้ลงคะแนนเสียงเป็นนักศึกษา ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ

หากสถิตินี้สะท้อนคะแนนเสียงในหน่วยอื่นๆ ทั่วไปด้วย แสดงว่าคนหนุ่มสาวมีทรรศนะทางการเมืองแตกต่างจากคนในวัยผู้ใหญ่ คนหนุ่มสาวเป็นส่วนหนึ่งของ 30% กว่า ผู้ใหญ่เป็นส่วนหนึ่งของ 60% กว่า

ความต่างของวัยสะท้อนความต่างของอะไรอีกบ้าง ผมให้สงสัยว่าสะท้อนความต่างของแหล่งข้อมูลข่าวสาร ในขณะที่คนหนุ่มสาวเลือกรับข่าวสารข้อมูลผ่านสื่อออนไลน์ คนวัยผู้ใหญ่เลือกรับผ่านสื่อกระดาษและทีวี ข้อมูลและความเห็นของสื่อสองชนิดนี้ภายใต้อำนาจของคณะรัฐประหารแตกต่างกันมาก

สิ่งที่ควรคิดสำหรับอนาคตก็คือ สื่อออนไลน์กำลังกลายเป็นสื่อกระแสหลักในสังคม เพราะผู้คนใช้สื่อประเภทนี้ในการรับข่าวสารมากกว่าสื่อตามประเพณี (หนังสือพิมพ์และทีวีกำลังจะเจ๊งเป็นส่วนใหญ่)

นอกจากความต่างในด้านการรับสื่อแล้ว ยังอาจกล่าวอย่างกว้างๆ ได้ว่า ผู้ใหญ่คือคนที่มีงานการทำอย่างมั่นคงแล้ว ไม่ว่ารายได้ของเขาจะดีหรือไม่ดี น้อยคนคิดจะเปลี่ยนอาชีพ จะแปลว่าผู้ใหญ่ประเมินสถานการณ์ทางการเมืองจากปัจจุบันได้หรือไม่ ตรงกันข้าม หนุ่มสาวยังไม่มีงานทำ หรือถึงมีทำก็มักคิดว่าเป็นงานชั่วคราวที่อาจเปลี่ยนไปในอนาคต จะแปลในทางตรงกันข้ามได้หรือไม่ว่า หนุ่มสาวประเมินสถานการณ์ทางการเมืองจากอนาคต

รัฐบาลของ คสช.และรัฐบาลที่จะมาตามรัฐธรรมนูญใหม่ จะทำความเชื่อมั่นแก่ปัจจุบัน หรือแก่อนาคต

ในระยะยาว โครงสร้างการเมืองที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้วางเอาไว้ดูไม่มั่นคงนัก หากคิดว่าผู้คนจะหันไปรับสื่อออนไลน์มากขึ้นกว่านี้อีก แต่ในขณะเดียวกันหนุ่มสาวของวันนี้ ก็คงได้งานที่ตนพอใจทำสักวันหนึ่งข้างหน้า และอาจเปลี่ยนทัศนคติทางการเมืองมาเป็นการประเมินสถานการณ์จากปัจจุบันเพิ่มขึ้นด้วยก็ได้

ขึ้นอยู่กับว่า ปัจจุบันในอนาคตของพวกเขานั้น จะเป็นปัจจุบันที่รับได้หรือไม่ คืออำนวยความมั่นคงที่พอจะคาดได้ในการดำเนินชีวิตหรือไม่ เช่น ควรเริ่มผ่อนรถได้แล้ว ควรเริ่มผ่อนบ้านได้แล้ว เป็นต้น

ผมบอกได้แต่เพียงว่า ตัวเลขของผู้ให้การรับรองร่างรัฐธรรมนูญอย่างท่วมท้นครั้งนี้ ไม่เป็นหลักประกันอย่างไรว่า การเมืองไทยในอนาคตจะเป็นการเมืองที่ “นิ่ง” หรือดำรงอยู่อย่างไม่เปลี่ยนแปลงเลยในระยะยาว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image