เทรนด์ใหม่สาธารณสุขไทย ในปี‘โควิด’เคาะประตู ศักราชที่การแพทย์ถูกท้าทาย

เป็นห้วงเวลาสำคัญทางการแพทย์ทั่วโลก นับแต่ไวรัสโควิด-19 ถือกำเนิดขึ้นในบรรณพิภพเมื่อ ค.ศ.2019 ก่อนระบาดหนักจนต้องบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์แห่งมนุษยชาติ โดยในปี 2020 ผู้ติดเชื้อแล้วแตะ 65 ล้านคน ไม่เกี่ยงเงื่อนไขในความยากดีมีจน หรือชนชาติใดๆ

สำหรับประเทศไทย ในพุทธศักราช 2563 ซึ่งมีการระบาด ‘รอบใหม่’ ตามคำศัพท์ที่รัฐไทยให้บัญญัติใช้ในปลายปีนี้จากกรณีตลาดกุ้ง-ปลาที่สมุทรสาคร ก่อนกระจายไปในจุดต่างๆ ของประเทศ นำมาซึ่งมาตรการเข้มงวดในการสกัดโรคอีกครั้ง แต่ยังไม่มีการล็อกดาวน์อย่างที่หลายฝ่ายหวาดหวั่น

ล่าสุดมีการตั้ง ‘โรงพยาบาลสนาม’ ที่จังหวัดดังกล่าวเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อย ในขณะที่ รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการ ‘ธรรมศาสตร์’ ก็สั่งเตรียมความพร้อม รพ.สนาม 100% เปิดได้ทันทีภายใน 24 ชั่วโมง แต่งตั้งคณะกรรมการทำงานเชิงรุกในลักษณะวอร์รูมเพื่อมอนิเตอร์เหตุการณ์ทั้งภายนอกและภายในมหาวิทยาลัย

Advertisement

ย้อนไปในช่วงเดือนพฤษภาคมปีนี้ ธรรมศาสตร์ก็เคยตั้งโรงพยาบาลสนามมาก่อน โดยทีมแพทย์พยาบาลจากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ

ย้อนไปก่อนหน้านั้นอีกนิด ในเดือนมีนาคม บริษัทเครือโรงพยาบาลธนบุรีเคยประกาศเตรียมเปิดคลินิกธนบุรี บางซื่อ ตามแนวคิดการสร้างสถานพยาบาลฉุกเฉิน หรือคลินิกพิเศษ สอดรับแนวทางของรัฐบาล โดยใช้ตัวอย่างโรงพยาบาลฉุกเฉินอู่ฮั่นโมเดลของจีน อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในไทยไปไม่ไกลถึงจุดที่เคยหวั่น เพราะสามารถสกัดการแพร่ระบาดได้ด้วยความร่วมมือของทุกฝ่าย

ไม่เพียงคำว่าโรงพยาบาลสนามจะอยู่ในคลังคำศัพท์ใหม่ที่คนไทยได้รู้จัก ทว่ายังเกิดเทรนด์ใหม่ในด้านสาธารณสุขอย่างมากมาย ผู้คนปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่ในด้านสุขภาพ เช่นเดียวกับบุคลากรทางการแพทย์ที่ตื่นตัวในการเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ หรือแม้แต่องค์กรการกุศลที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์ ก็ปรับเปลี่ยนการทำงานให้สอดรับกับยุคโควิด ที่ส่งผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคม

Advertisement

‘เทเลเมดิซีน’ พบหมอ-รับยา

โดยไม่ต้องมาโรงพยาบาล

พรรณสิรี คุณากรไพบูลย์ศิริ ผู้จัดการมูลนิธิรามาธิบดี ซึ่งเป็นศูนย์กลางระดมทุน เพื่อสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาทางด้านการแพทย์ให้ผู้ป่วยมีโอกาสเข้าถึงการรักษาอย่างเต็มประสิทธิภาพ เปิดเผยว่า ในปี 2563 เกิดเทรนด์น่าสนใจหลายประการในแวดวงสาธารณสุขและองค์กรการกุศล เช่น บริการและการรักษาผ่านเทเลเมดิซีน (Telemedicine) ซึ่งเป็นการพบแพทย์โดยไม่ต้องเดินทางมาโรงพยาบาล มีความแพร่หลายมากขึ้น เนื่องจากการเดินทางออกจากบ้านของผู้ป่วยเพื่อมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาลมีความเสี่ยง ขณะเดียวกันยังลดความแออัดที่โรงพยาบาล ช่วยให้สามารถดำเนินมาตรการด้านระยะห่างในหน่วยบริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยผู้ป่วยสามารถรับยาทางไปรษณีย์ และจ่ายค่าจัดส่งยาและค่าตรวจผ่านบริการ e-banking, บัตรเครดิต หรือโอนเงินผ่านธนาคารได้ ที่ผ่านมามีผู้ป่วยที่ใช้บริการดังกล่าวตั้งแต่เดือนเมษายน-กรกฎาคมแล้วกว่า 7,000 ราย

ขณะที่มาตรการล็อกดาวน์และมาตรการเว้นระยะห่างทำให้ประชาชนปรับตัวเข้าสู่สังคมไร้เงินสดได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น และการที่ผู้คนหันมาใช้ Mobile banking และ e-wallet มากขึ้น ก็ทำให้มูลนิธิเองต้องปรับตัวเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการเสริมสร้างประสบการณ์ “ไร้รอยต่อ” บนโลกดิจิทัลให้กับผู้บริจาค โดยมีการพัฒนาเว็บไซต์และช่องทางโซเชียลให้มีความทันสมัย เข้าถึงง่ายและรวดเร็วยิ่งขึ้น รวมถึงการจับมือร่วมกับพันธมิตร Super App ในการเพิ่มช่องทางการบริจาคที่หลากหลาย ทำให้มีสัดส่วนผู้บริจาคของมูลนิธิรามาธิบดีฯ แบ่งเป็นกลุ่มที่เดินเข้ามาที่มูลนิธิ กับบริจาคผ่านช่องทางออนไลน์หลักของมูลนิธิ และแอพพ์ต่างๆ หรือที่เรียกว่า Non-Walking อยู่ที่ 60% ขณะที่กลุ่มผู้บริจาคที่เดินทางมาบริจาคอยู่ที่ 40%

“ด้วยวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป เราเชื่อว่าแนวโน้มที่กลุ่ม Non-walking หรือออนไลน์ จะมีจำนวนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกัน เราพบว่าผู้บริจาครายใหญ่ยังคงอยู่ แต่ยอดการบริจาคต่อครั้งจากผู้บริจาครายบุคคลมีจำนวนลดลง จากปกติ 500 บาท ก็จะลดลงเหลือ 300 บาท เป็นต้น เนื่องจากมีโครงการที่ต้องการสนับสนุนมากขึ้น และยังต้องพิจารณาเลือกองค์กรที่เชื่อถือและตรวจสอบได้ นอกจากนี้ เรายังได้เห็นการสนับสนุนและความร่วมมือร่วมใจจากพันธมิตรเพิ่มมากขึ้น อาทิ เครือข่ายศิลปินจิตอาสา เช่น ลายจากศิลปินแห่งชาติ อ.ถวัลย์ ดัชนี และแบรนด์คาแร็กเตอร์อย่าง สนู้ปปี้ เพื่อกระตุ้นให้ผู้มีจิตศรัทธารู้สึกสนใจและต้องการสมทบทุนบริจาค ซึ่งนอกจากช่องทางการซื้อขายทั้งแบบออฟไลน์และออนไลน์ของมูลนิธิเอง เรายังได้รับการสนับสนุนจากเครือข่ายองค์กรรวมถึงแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ อย่าง Shopee และ Lazada
มากขึ้นด้วย” ผู้จัดการมูลนิธิรามาธิบดีกล่าว

เคสฉุกเฉินกลางโควิด

สู่ความสำเร็จครั้งแรกของโลก

นอกจากนี้ ปี 2563 นับเป็นอีกปีหนึ่งที่มูลนิธิรามาธิบดีฯ ต้องเร่งช่วยเหลือและสนับสนุนการดำเนินงานของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เพื่อสร้างความพร้อมและความคล่องตัวในการบริหารจัดการ รวมถึงเร่งระดมความช่วยเหลือการปฏิบัติงานของโรงพยาบาลรามาธิบดีและบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อการป้องกันการแพร่ระบาด และการช่วยเหลือผู้ป่วยในภาวะเร่งด่วนได้อย่างทันท่วงที บทบาทของมูลนิธิรามาธิบดีในช่วงที่ผ่านมาจึงเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการเคลื่อนไหวทางสังคมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการร่วมมือกับพันธมิตรและจิตอาสาในการระดมทุนและเผยแพร่ข่าวสาร การเร่งระดมทุนเพื่อให้สามารถจัดซื้ออุปกรณ์การแพทย์ให้เพียงพอกับความต้องการให้ได้ภายใต้สถานการณ์เร่งด่วน การสร้างความรู้ความเข้าใจกับภาคประชาชน เช่นการรณรงค์เชิญชวนร่วมบริจาค หน้ากากอนามัย N95 สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงให้การสนับสนุนเร่งด่วนแก่เคสฉุกเฉินต่างๆ ที่เกิดขึ้นท่ามกลางโรคระบาด เช่น กรณีความสำเร็จของทีมแพทย์ รพ.รามาธิบดี ในการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จากผู้ป่วยโควิด-19 มาให้กับผู้ป่วยธาลัสซีเมีย สำเร็จเป็นครั้งแรกของโลก ซึ่งมีการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนมิถุนายน โดย ศ.นพ.สุรเดช หงส์อิง แพทย์
ผู้เชี่ยวชาญด้านการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดในเด็ก อาจารย์ประจำภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้ปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จากพี่น้อง คือ ด.ช.ศิลา บุญกล่อมจิตร หรือน้องจีโอ้ ผู้บริจาคไขกระดูกวัย 5 ขวบ ขณะติดเชื้อโควิด-19 เพื่อรักษา ด.ญ.จินตนาการ บุญกล่อมจิตร หรือน้องจีน พี่สาววัย 7 ขวบ ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียตั้งแต่กำเนิด แม้ท้าทายและซับซ้อน แต่ก็สำเร็จ แม้ต้องแข่งกับเวลา แต่ก็ทันท่วงที

ปี’64 ระดมทุนช่วยผู้ป่วยยากไร้

หนุน รพ.ชุมชน ซื้อเครื่องมือแพทย์

สำหรับภารกิจหลักในปี 2564 จะเร่งช่วยเหลือผู้ป่วยยากไร้ที่มีเพิ่มมากขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงนักศึกษาคณะแพทยศาสตร์ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 พร้อมสนับสนุนการพัฒนาความรู้ ความสามารถด้านการวิจัย และเครื่องมือแพทย์เพื่อพร้อมรับมือกับความจำเป็นเร่งด่วนด้านสาธารณสุข รวมถึงขยายการสนับสนุนสู่โรงพยาบาลชุมชนต่างๆ 23 แห่งทั่วประเทศ โดยมีโครงการหลักที่ยังคงดำเนินการต่อเนื่อง 4 โครงการ รวมงบประมาณที่ต้องระดมทุนกว่า 1,000 ล้านบาท ได้แก่

1.โครงการจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ เพื่อสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็น รพ.หลักที่ให้การรักษาผู้ป่วยโควิดในช่วงที่ผ่านมา และยังเป็นสถาบันด้านการวิจัย โดยการสร้างงานวิจัยที่มีคุณภาพ และมุ่งเป้าเพื่อแก้ไขปัญหาสาธารณสุขของประเทศอย่างตรงจุด

2.โครงการเพื่อผู้ป่วยยากไร้ เป็นโครงการที่มูลนิธิรามาธิบดีฯ ได้ให้การสนับสนุนมายาวนานกว่า 51 ปี เนื่องจากในแต่ละปีจะมีผู้ป่วยจำนวนมากจากทั่วประเทศที่เข้ารับการรักษากับทาง รพ.รามาธิบดี แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ค่ารักษาพยาบาล

3.โครงการรามาธิบดี เพื่อโรงพยาบาลชุมชน เพื่อการกระจายการสนับสนุนแก่โรงพยาบาลชุมชนต้นแบบ 4 แห่ง คือ โรงพยาบาลอุ้มผาง จ.ตาก, โรงพยาบาลน้ำพอง จ.ขอนแก่น, โรงพยาบาลอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น และโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ด่านซ้าย จ.เลย และโรงพยาบาลชุมชนอื่นๆ ในเครือข่ายอีก 19 แห่ง โดยตลอดระยะเวลา 3 ปี ของโครงการนับจากนี้จะช่วยเหลือผู้คนใน 79 หมู่บ้าน 23 อำเภอกว่า 4 แสนราย, พัฒนาการเรียนการสอนด้านระบบบริการสาธารธารณสุขและระบบสุขภาพชุมชนที่ดีและมีคุณภาพ มุ่งผลิตนักบริบาลชุมชน บุคลากรการแพทย์กว่า 5,000 ราย รวมถึงสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ นำชุดความรู้ไปพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขและระบบสุขภาพชุมชนให้ดีขึ้น

4.โครงการทุนการศึกษารามาธิบดี เพื่อมอบทุนการศึกษาแก่นักศึกษาคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ทั้งหลักสูตรปริญญาตรี และบัณฑิตศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ เมื่อจบการศึกษา จะได้นำความรู้ไปพัฒนาให้เกิดความเชี่ยวชาญจนเป็นที่พึ่งของผู้ป่วยและทำประโยชน์ต่อสังคมต่อไป

นี่คือส่วนหนึ่งของเทรนด์ใหม่ในปีนี้ และความท้าทายในปีหน้าด้านการแพทย์ของไทยในวันที่โควิดยังอยู่กับเรา

ทีมข่าวเฉพาะกิจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image