อย่าทำให้เรื่องโควิด เป็นเรื่องการเมือง : ใครกันแน่?

รายงานเรื่อง “เสรีภาพในโลกออนไลน์” (Freedom on the Net 2020) ขององค์กร Freedom House ซึ่งจัดทำกันมาหลายปีแล้ว เพิ่งตีพิมพ์รายงานฉบับล่าสุดของปีนี้ออกมา ก็เลยอยากจะขอนำเอาเรื่องบางส่วนของรายงานฉบับนี้มาเล่าสู่กันฟัง และเชิญชวนให้ท่านผู้อ่านได้เข้าไปค้นคว้าเพิ่มเติม

รายงานเสรีภาพในโลกออนไลน์นี้ถือเป็นน้องใหม่ล่าสุดของรายงานหลักสามฉบับของ Freedom House ซึ่งเป็นองค์กรส่งเสริมประชาธิปไตยที่มีชื่อเสียงก่อตั้งมานานในสหรัฐอเมริกา โดยรายงานหลักรายปีอีกสองฉบับที่เก่าแก่กว่าตามลำดับก็คือ Freedom of the World กับ Freedom of the Press หมายถึงการไล่ดูภาพรวมของเสรีภาพโลก เสรีภาพสื่อ และเสรีภาพในโลกออนไลน์

โดยตัวของรายงานเสรีภาพในโลกออนไลน์เองนั้น จะแบ่งออกเป็นสองส่วนใหญ่ ได้แก่ เรื่องของการประเมินคะแนนของแต่ละประเทศ และในส่วนของภาพรวมของปีซึ่งแต่ละปีจะมี theme หรือประเด็นหลักแตกต่างกันไป และก็ยังมีการวิเคราะห์บางประเทศเป็นพิเศษ (แต่ปีนี้ไม่มีเรื่องประเทศไทยเป็นพิเศษ)

ในส่วนของการประเมินคะแนนเสรีภาพในโลกออนไลน์ ซึ่งในรายงานแบ่งการประเมินออกเป็นสามด้านหลัก คือ

Advertisement

1.อุปสรรคในการเข้าถึง (25 คะแนน) ประกอบไปด้วย ประเด็นโครงสร้างพื้นฐานด้านการโทรคมนาคมที่ทำให้คนออนไลน์ได้ไหม เท่าเทียมไหม ราคาแพงไหม มีการผูกขาดไหม รัฐบาลมีการระงับการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตในบางสถานการณ์ไหม

2.การจำกัดเนื้อหา (35 คะแนน) ประกอบไปด้วยเรื่องของการที่รัฐเข้ามาปิดกั้น หรือกลั่นกรองเนื้อหาในโลกออนไลน์ไหม มีการสั่งให้ลบเนื้อหาไหม มีการเปิดให้มีการร้องเรียนและทบทวนคำสั่งการปิดกั้นไหม บรรดานักข่าว ผู้ให้ความเห็น และผู้ใช้ทั่วไปมีการปิดกั้น/เซ็นเซอร์ตัวเองไหม รัฐบาลและผู้ที่มีอำนาจสามารถกดดันและบิดแปลงเนื้อหาในโลกออนไลน์ได้ไหม มีการแทรกแซงของรัฐด้วยเงื่อนไขทางเศรษฐกิจอะไรที่จะส่งผลต่อการสร้างแรงจูงใจในตีพิมพ์เนื้อหา เนื้อหาในโลกออนไลน์มีความหลากหลายไหม และประชาชนสามารถใช้โลกออนไลน์ในการรณรงค์ในเรื่องต่างๆ รวมทั้งการรณรงค์ทางการเมืองได้หรือไม่

3.การละเมิดสิทธิของผู้ใช้อินเตอร์เน็ต (40 คะแนน) จะเห็นว่าเรื่องนี้มีน้ำหนักในการให้คะแนนสูงสุด เกี่ยวข้องกับเรื่องกฎหมายปกป้องผู้ใช้ ในเรื่องของการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ไหม (ไม่ใช่ปกป้องแต่รัฐ) มีการกำหนดบทลงโทษมากเกินสัดส่วนไหม มีการกำหนดให้ผู้ใช้ทุกคนลงทะเบียนไหม มีการสอดส่องจากรัฐที่ละเมิดความเป็นส่วนตัวของประชาชนไหม มีการขอความร่วมมือจากรัฐไปยังบรรดาผู้ให้บริการเครือข่ายให้ร่วมตรวจสอบผู้ใช้หรือไม่ มีการข่มขู่คุกคามของรัฐต่อผู้ใช้อินเตอร์เน็ตไหม และทุกฝ่ายตั้งแต่รัฐจนถึงประชาชนมีการถูกบุกรุกเข้าสู่ระบบอย่างผิดกฎหมายหรือไม่

Advertisement

และผลรวมของประเทศไทยในปีนี้คือ 35 เป็นประเทศที่ไม่เสรี เพราะได้คะแนน ซึ่งอยู่ในสถานะไม่เสรี (0-39) ส่วนกึ่งเสรีต้องได้คะแนน 40-69 และสถานะเสรีอยู่ที่ 70-100 ซึ่งเป็นการคงอันดับเท่ากับปีที่แล้ว และคาดว่าปีหน้าคะแนนน่าจะลงกว่าเดิม เพราะจะเกี่ยวพันกับเรื่องของการบริหารจัดการม็อบที่ผ่านมาด้วย

ในรายละเอียดนั้น ประเทศไทยได้คะแนน 16/25 จากหัวข้อ อุปสรรคในการเข้าถึง 12-35 จากหัวข้อ การจำกัดเนื้อหา และ 7/40 จากหัวข้อการละเมิดสิทธิของผู้ใช้อินเตอร์เน็ต

โดยภาพรวมในโลกปี 2020 นี้ (วัดผลจากต้นปี 2019) จะพบว่ามีประเทศที่มีโลกออนไลน์ที่ไม่เสรีมากที่สุดคือ 35% กึ่งเสรี 32% เสรี 20% และไม่ได้ประเมิน 13%

ในส่วนภาพรวมของรายงานเสรีภาพในโลกออนไลน์ ปีนี้ใช้ชื่อประเด็นหลักว่า The Pandemic’s Digital Shadow หรือว่าด้วยเรื่องของเงา (ทะมึน) แบบดิจิทัลของโรคระบาด หมายถึงว่าภายใต้สถานการณ์วิกฤตด้านสุขภาวะและการระบาดอันเนื่องมาจากโรคโควิด-19 นี้ กลายเป็นว่าเกิดประเด็นท้าทายสำคัญต่อสิทธิมนุษยชนและการจัดการปกครองแบบประชาธิปไตย เนื่องจากรัฐและผู้กระทำการที่ไม่ใช่รัฐอีกหลายกลุ่มได้ใช้โอกาสนี้ในการเข้ามาเกี่ยวพันกับเรื่องราวในโลกออนไลน์ ปิดกั้นความคิดเห็นที่สำคัญ และสร้างระบบเทคโนโลยีใหม่ที่ควบคุมสังคมมากขึ้นไปอีก

แนวโน้มสำคัญที่เกิดขึ้นสามประการในปีนี้คือ

1.ผู้นำทางการเมืองใช้ภาวะการระบาดของโลกเป็นเงื่อนไขในการจำกัดก่อนเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร อาทิ การปิดกั้นข่าวจากสำนักข่าวอิสระ หรือจับกุมผู้คนภายใต้ข้อหาการแพร่กระจายของข่าวปลอม ทั้งที่ในหลายกรณีนั้นรัฐและบรรดาผู้สนับสนุนรัฐเองก็เป็นผู้ที่เผยแพร่ข้อมูลปลอม หรือข้อมูลที่นำไปสู่ความเข้าใจที่ผิดพลาด รวมทั้งบิดเบือน เปลี่ยนความสนใจของประชาชนไปจากการบริหารจัดการที่ไร้ประสิทธิภาพ รวมไปถึงการเหมารวม/กล่าวโทษแบบโยนหาแพะรับบาปไปยังกลุ่มคนบางกลุ่ม อาทิ กลุ่มชาติพันธุ์ หรือศาสนาบางกลุ่มว่าเป็นต้นตอของปัญหาโดยปราศจากข้อมูลที่หนักแน่นน่าเชื่อถือ อาจรวมไปถึงการปิดกั้นการเข้าถึงหรือการมีส่วนร่วมของบางกลุ่มคนให้เข้ามาในโลกออนไลน์ ซึ่งกล่าวโดยสรุปก็คือ รัฐบาลนั้นล้มเหลวในการที่จะต้องทำหน้าที่ในการส่งเสริมให้เกิดโลกออนไลน์ที่มีความหลากหลาย มีชีวิตชีวาและน่าเชื่อถือ

2.รัฐบาลและผู้มีอำนาจอ้างเอาโควิด-19 มาเป็นเงื่อนไขในการขยายอำนาจในการสอดส่องประชาชนและใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เคยถูกมองว่ามีลักษณะละเมิดสิทธิและความเป็นส่วนตัวของประชาชน กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ วิกฤตและภัยพิบัติด้านสาธารณสุขในรอบนี้ได้เปิดโอกาสให้เกิดการรวบรวม วิเคราะห์ข้อมูลที่เป็นส่วนตัวมากๆ ของประชาชนโดยไม่มีระบบการปกป้อง/ป้องกันอย่างเพียงพอต่อการที่รัฐบาลอาจนำเอาข้อมูลเหล่านั้นไปใช้ในทางที่ผิด ทั้งนี้ จะเห็นว่าทั้งรัฐบาลและภาคเอกชนจำนวนไม่น้อยได้นำเอาระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ระบบการสอดส่องด้วยข้อมูลทางชีวภาพ (biometric) และระบบสัญญาณข้อมูลขนาดใหญ่ (big data) ในการตัดสินใจซึ่งกระทบต่อสิทธิทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมของผู้คน นอกจากนี้ กระบวนการใช้ข้อมูลเหล่านี้และตัดสินใจยังมีลักษณะที่ขาดความโปร่งใส และไม่มีองค์กรอิสระมากำกับดูแล หรือมีช่องทางในการชดเชยกับความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น

3.มีความพยายามของแต่ละรัฐที่จะสร้างระบบอธิปไตยไซเบอร์ (cyber sovereignty) ของตัวเอง โดยมีระบบการกำกับดูแลของตัวเองที่ไม่ทำให้เกิดการไหลเวียนของข้อมูลข้ามประเทศ ซึ่งทำให้ระบบการเชื่อมโยงของผู้คนในโลกและการพยายามทำให้ตัวกระทำการที่มีอำนาจมากๆ ในโลกต้องถูกตรวจสอบและรับผิด และการสร้างระบบอธิปไตยไซเบอร์ในกรอบของความเป็นชาตินี้เองที่นำไปสู่การจัดการกับผู้ที่เห็นต่างหรือต่อต้านรัฐในแนวทางสันติวิธีได้ อาทิ เรื่องของการปิดกั้นบริการอินเตอร์เน็ตที่มาจากต่างชาติ รวมไปถึงการควบคุมสอดส่องโลกออนไลน์อย่างเข้มงวดภายใต้แนวคิดเรื่องความมั่นคง ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการสถานการณ์ฉุกเฉินที่รัฐบาลประกาศขึ้น

ข้อเสนอหนึ่งที่เป็นประเด็นสำคัญในรายงานฉบับนี้ก็คือเป็นรายงานที่ตระหนักให้เห็นว่าในช่วงที่มีวิกฤตสาธารณสุขนี้การรับมือของรัฐบาลบางรัฐบาล ตลอดจนผลงานของรัฐบาลเหล่านั้นอาจจะไม่มีประสิทธิภาพมาตั้งแต่ก่อนโควิด-19 แล้ว แต่เมื่อประชาชนได้ออกมาชุมนุมบนท้องถนน พวกเขากลับถูกรัฐบาลใช้มาตรการต่างๆ ในการปิดกั้นเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน และการเรียกร้องประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการแพร่กระจายความหวาดกลัว และข้อมูลที่บิดเบือนในเรื่องสถานการณ์ (อาทิ มองว่าถ้าชุมนุมจะเป็นการกระจายความเสี่ยง และมีผู้ติดเชื้อจากการชุมนุม) แต่กระนั้นก็ตามข้อเสนอที่สำคัญก็คือจะต้องมีการเรียกร้องมากไปกว่าการมีนโยบายในการเคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชนในวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้น

มาสู่เรื่องของการสร้างโครงสร้างการจัดการปกครองที่สามารถยอมรับ ส่งเสริม/ให้คุณค่า และปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนให้เกิดขึ้นจริงให้จงได้

ในรายงานเสรีภาพในโลกออนไลน์ของปีนี้ให้ความสำคัญกับการดำรงอยู่ของโลกออนไลน์ที่เต็มไปด้วยสิทธิเสรีภาพ และการได้รับการส่งเสริมจากระบอบประชาธิปไตย ซึ่งแตกต่างไปจากความเป็นจริงในช่วงการบริหารสถานการณ์การฉุกเฉินด้านสุขภาวะของหลายประเทศในช่วงการระบาดของโควิด-19 โดยมองว่าลักษณะของการปิดกั้น (censor) ในยุคการระบาดของโควิด-19 นั้นเป็นไปในลักษณะของการแยกออก/สร้างความโดดเดี่ยวของข้อมูลข่าวสาร (information isolation) โดยเฉพาะการปิดกั้นเว็บไซต์ และลบข้อมูลอันไม่พึงประสงค์จากมุมมองของรัฐบาล ซึ่งอาจไม่ได้หมายความว่าข้อมูลเหล่านั้นไม่จริง รวมไปถึงการปิดกั้นข้อมูลไม่ให้ประชาชนในบางพื้นที่เข้าถึง ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของวิกฤตสุขภาวะอย่างเดียว แต่รวมไปถึงการที่กองกำลังทหารของรัฐบาลกลางเข้าไปต่อสู้และปราบปรามผู้เห็นต่างในบางพื้นที่ในช่วงเวลานั้นด้วย เช่น กรณีของเมียนมา นอกจากนี้รัฐบาลยังอาจจะปิดกั้นการวิจารณ์และจับตัวผู้ที่วิจารณ์รัฐบาลในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น รวมไปถึงอาจจะปล่อยให้หรือเป็นส่วนหนึ่งของการแพร่ระบาดของข่าวสารที่ไม่ถูกต้องและสร้างความเกลียดชัง (infodemic) ในสังคมด้วย

อีกส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญในการสร้างเงาทะมึนด้านดิจิทัลต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็คือการสร้าง “ยาแก้สารพัดโลกที่ไม่เป็นจริง” (False Panacea) โดยการสอดส่องประชาชนในทางที่ผิดโดยการใช้ข้ออ้างของการบริหารจัดการสาธารณสุข ซึ่งมีการค้นพบว่าหลายครั้งในอดีตนั้นการขยายขอบเขตอำนาจรัฐที่เริ่มต้นขึ้นในห้วงขณะที่มีวิกฤตการณ์นั้นมักจะทำให้อำนาจรัฐนั้นคงอยู่และมีอายุยืนยาวกว่าตัววิกฤตการณ์เหล่านั้น คือเมื่อวิกฤตการณ์จบลง อำนาจรัฐที่ขยายตัวและรุกรานเข้ามาในปริมณฑลของความเป็นส่วนตัวของประชาชนก็จะเพิ่มขึ้นไม่ถอยกลับไปสู่จุดเดิม ในรอบนี้นั้นการขยายอำนาจของหน่วยงานรัฐบาลและการเติบโตแพร่กระจายของแอพพลิเคชั่นติดตามตัวบุคคลนั้นเกิดขึ้นทั่วทุกหัวระแหง และบางทีไม่มีข้อจำกัดว่าจะเก็บข้อมูลและลบข้อมูลออกเมื่อไหร่ รวมทั้งการปล่อยให้เอกชนหลายที่พัฒนาระบบความปลอดภัยโดยเอาข้อมูลชีวภาพของเราเช่น ดีเอ็นเอ ไปใช้และยังรวมไปถึงการที่รัฐกับเอกชนที่ให้บริการเครือข่ายโทรคมนาคมในการสอดส่องประชาชนเกินเส้นของความพอดี เช่นการสอดส่องไปถึงข้อมูลการเดินทางและตำแหน่งแห่งที่ของประชาชนโดยไม่ได้รับการยินยอมจากประชาชนเสียก่อน นอกจากนั้น ยังเกิดความคลางแคลงใจในเรื่องของการสอดส่องที่พ้นไปจากการกระทำของมนุษย์ไปสู่การใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการพิจารณาในเรื่องต่างๆ เช่น การระบุสถานะความเสี่ยงทางสุขภาพของบุคคลจากการประมวลข้อมูลด้วยฐานข้อมูลและระบบปัญญาประดิษฐ์ในการกำหนดชีวิตมนุษย์

กล่าวโดยสรุป รายงานเสรีภาพในโลกออนไลน์ปีนี้ทำให้เราตระหนักและตระหนกด้วยว่า “ชีวิตปกติใหม่” ของเราจากวันนี้ไปจะเหมือนกับการอยู่ในเงาทะมึน หรือกล่องดำ ที่เต็มไปด้วยความมืดมนจากการสอดส่องของรัฐและองค์กรเอกชนมากขึ้นและไม่ได้สัดส่วนกับการแก้ปัญหาโควิด-19 ที่มีต่อการต้องแลกเอาสิทธิเสรีภาพและความเป็นประชาธิปไตยของสังคมไป และที่น่ากลัวกว่าโลกเผด็จการแบบเดิมๆ ที่เรามักจะมองว่าไร้หัวใจอยู่แล้วก็คือบทบาทของปัญญาประดิษฐ์ที่มีบทบาทมากขึ้นทุกวัน และพ้นไปจากการควบคุมของทุกคนนั่นแหละครับ

สุดท้ายสรุปง่ายๆ จากที่อ่านคือ โควิดหมดไปหรือเปล่าไม่รู้ บ้างก็บอกว่ามันอาจจะกลายเป็นโรคประจำถิ่นที่ไร้พิษสงไปเอง แต่รัฐกลับมีอำนาจเพิ่มขึ้นและเพิ่มพิษสงมากขึ้นนั่นแหละครับ นี่คือขยายมาในปริมณฑลของโลกออนไลน์มากขึ้นเรื่อยๆ แล้วครับ

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image