หนึ่งประเทศ หลายสถานการณ์ โดย ปราปต์ บุนปาน

ดูเหมือนจะมีสถานการณ์อันแตกต่างหลากหลายเกิดขึ้นและดำรงอยู่อย่างทับซ้อนกัน ภายในช่วงเวลาราวหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมาของประเทศไทย

จนคล้ายว่าเรากำลังเผชิญหน้ากับ “โลก” หลายๆ ใบ ในหนึ่งสังคม

เริ่มจาก “ผลประชามติ 7 สิงหาคม” ซึ่งนำไปสู่การคาดคะเนถึงอนาคตหลายแง่มุม

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีเสถียรภาพ (และ “การอยู่ยาว”) ภายใต้การนำของกองทัพและรัฐราชการ ที่ไม่ใช่นักการเมือง

Advertisement

ขณะที่ฝ่ายรณรงค์ “โหวตโน” และ “โนโหวต” ก็กำลังตั้งคำถามและคิดใคร่ครวญถึงผลคะแนนประชามติและผลต่อเนื่องหลังจากนั้น ไปพร้อมๆ กับการวิพากษ์ตนเอง ตลอดจนวิจารณ์ซึ่งกันและกัน

บางส่วนเห็นว่าประเทศนี้ช่างมืดมนไร้อนาคตเสียเหลือเกิน ทว่าอีกหลายคนก็เห็นว่าควรต่อสู้ ขยับเขยื้อนประเด็นเคลื่อนไหวกันต่อไป เท่าที่โอกาสและเพดานทางสังคมการเมืองจะเอื้ออำนวย

ข้ามไปที่การแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ณ ประเทศบราซิล

Advertisement

กลายเป็นว่าโอลิมปิกเกมส์ครั้งนี้ นับเป็นปีที่ดีของนักกีฬา (ยกน้ำหนัก) ไทย

เมื่อทีมชาติไทยคว้ามาได้แล้ว 2 เหรียญทอง 1 เหรียญเงิน 1 เหรียญทองแดง จากกีฬายกน้ำหนักทั้งหมด

แม้จนถึงขณะนี้ นี่ยังไม่ใช่สถิติจำนวนเหรียญที่ดีที่สุดของทีมชาติไทยในโอลิมปิก แต่อย่างน้อย เราก็สามารถลบเลือนความล้มเหลวจากการไร้เหรียญทองที่กรุงลอนดอนเมื่อสี่ปีก่อนลงได้สำเร็จ

มีแนวโน้มว่าในสัปดาห์นี้ นักกีฬาไทยอาจคว้าเหรียญเพิ่มจากบางชนิดกีฬา

สำหรับกลุ่มคนไทยที่ชอบดูชอบเชียร์กีฬา นี่จึงเป็นภาวะแห่งการเฉลิมฉลองและการมีความสุข-ความภาคภูมิใจร่วมกันของสมาชิกภายในชาติ

หมดจากสนามกีฬา หลายคนก็กำลังคร่ำเคร่งอยู่กับการเล่มเกม “โปเกมอน โก” หน้าจอโทรศัพท์มือถือ

สำหรับฝ่ายที่ “ไม่ชอบ” ย่อมสามารถสรุปฟันธงด้วยมุขเก่าๆ ได้อย่างง่ายๆ ว่านี่เป็นอาการป่วยไข้ของสังคมก้มหน้า เป็นพิษของระบบทุนนิยม-บริโภคนิยม เป็นความ “เบาหวิว” และไร้สาระของผู้คนในยุคสมัยปัจจุบัน

ที่ไปไกลกว่านั้น คือ เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงภาครัฐ ซึ่งมองว่าโปเกมอน โก จัดเป็น “ภัยคุกคาม” ที่ต้องหาทางจำกัดและควบคุม

แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม การเกิดขึ้นของเกมยอดฮิตนี้ได้แสดงให้เห็นถึงพลานุภาพของเทคโนโลยี ในการเข้าถึงและจัดการความสัมพันธ์กับ “ความจริง”

ทั้งยังนำไปสู่การสร้าง “ความหมายใหม่ๆ” ให้แก่ “ความจริง” ด้วย

แล้วในช่วงปลายสัปดาห์ก่อน ก็เกิดเหตุระเบิดต่อเนื่องขึ้นที่หลายจังหวัดภาคใต้ (ซึ่งมิใช่พื้นที่ความขัดแย้งเดิมตรงชายแดน)

หลายฝ่ายวิเคราะห์ เชื่อมโยง มูลเหตุของสถานการณ์ระเบิดระลอกนี้ อย่างแตกต่างกันไป

บางฝ่ายคล้ายจะสรุปว่าสถานการณ์ความรุนแรงดังกล่าวเป็นผลมาจากความขัดแย้งทางการเมืองระดับชาติ อันเกี่ยวข้องกับผลประชามติ

แต่ก็มีผู้ชี้แนะถึงความเป็นไปได้ ที่กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะขยายพื้นที่ปฏิบัติการออกมา เช่นเดียวกับการไม่ปิดกั้นความเป็นไปได้ว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอาจมีความข้องเกี่ยวกับกลุ่มก่อการร้ายระดับสากลอยู่บ้างไม่มากก็น้อย

ตราบใดที่ยังไม่มีข้อสรุปในทางคดี ต่างฝ่ายต่างก็ยังสามารถตีความ-อธิบายเหตุการณ์ความไม่สงบชุดนี้ได้อีกมาก (แต่แน่นอนว่ามีแค่ไม่กี่คน ที่จะสามารถเข้าถึง “ข้อเท็จจริง”)

ทว่าอย่างน้อยที่สุด ความสุขสงบและเสถียรภาพของสังคมที่หลายคนคาดหวังว่าจะพบพานหลังประชามติ 7 สิงหาคม ก็เริ่มถูกตั้งคำถามด้วยความไม่มั่นใจ

ในภาวะที่มีหลายๆ “โลก” หลายๆ “สถานการณ์” วิ่งวนอยู่รอบตัวเรา

การหมกมุ่นอยู่กับโลกใดโลกหนึ่ง ย่อมส่งผลให้เรางุนงงไม่เข้าใจในโลกใบอื่นๆ

แต่การพยายามทำความเข้าใจและข้องแวะกับโลกหลายใบที่รายรอบตัวอย่างแข็งขัน ก็มิใช่เรื่องง่ายดายเช่นกัน

เมื่อแต่ละ “โลก” แต่ละ “สถานการณ์” ต่างก็มีประเด็นสลับซับซ้อนเฉพาะตัวซ่อนเร้นอยู่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image