เสน่ห์ดนตรี ศิลปะและวัฒนธรรม เป็นสินค้าของเมืองท่องเที่ยว

เสน่ห์ดนตรี ศิลปะและวัฒนธรรม เป็นสินค้าของเมืองท่องเที่ยว

เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ.2563 คณะอนุกรรมาธิการด้านศิลปะและวัฒนธรรม วุฒิสภา นำโดย คุณเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ จัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับ การอนุรักษ์ฟื้นฟูมรดกวัฒนธรรมและแหล่งอุทยานประวัติศาสตร์โรงงานกระดาษกาญจนบุรี จัดที่ศาลากลางจังหวัดกาญจนบุรี มีวิทยากรชาวกาญจนบุรี อาทิ ศาสตราจารย์ นพ.ประเวศ วะสี คุณวิกรม กรมดิษฐ์ คุณสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ยังมี คุณฮาราลด์ ลิงก์ ซึ่งเป็นเจ้าของบริษัท บี.กริม (B. Grimm) บริษัทผู้ก่อสร้างโรงงานกระดาษ เมื่อ พ.ศ.2481 ถือเป็นโรงงานอุตสาหกรรมแห่งแรกของภูมิภาค คุณสรรเพชญ ศลิษฏ์อรรถกร ประธานสภาอุตสาหกรรมกาญจนบุรี มีผู้ฟังที่สนใจและผู้เกี่ยวข้องจำนวนมาก

การท่องเที่ยวไทยโฆษณาขายความเป็นไทย เพื่อให้คนมาเที่ยวเมืองไทยไว้หลายรูปแบบ อาทิ การขายความแปลกประหลาด (Amazing Thailand) ขายวันหยุด ขายความยากจน ขายความด้อยพัฒนา ขายความดิบ (Unseen Thailand) ขายบริการ ขายความน่าสงสาร ขายความบริสุทธิ์ ขายธรรมชาติ ขายชายทะเล ขายเกาะ รวมทั้งขายเสรีภาพที่ไร้ข้อจำกัด เพื่อให้คนมีเงินเข้ามาเที่ยวในไทย ขายโดยให้ออกกันคนละครึ่ง ขายหยุดยาวให้เที่ยวได้นานๆ การมีสิทธิพิเศษ ขายในราคาพิเศษ ขายเทศกาลใหญ่ เป็นต้น ถึงวันนี้วิทยากรทุกคนบนเวทียอมรับว่า ทรัพยากรของไทยนั้นได้ขายไปหมดแล้ว ไม่มีอะไรเหลือจะให้ขายอีกต่อไป

ทรัพยากรที่เป็นทรัพย์สินที่สิ้นเปลือง อาทิ ขายเหมืองทอง ขายแร่ธาตุ ขายโลหะ ขายก๊าซ ขายหิน ขายดิน ขายป่าไม้ ขายพืชพันธุ์ธัญญาหาร ขายสัตว์บก สัตว์น้ำ สัตว์เลี้ยง ขายสิทธิ ขายเวลา ขายอากาศ เป็นต้น ไทยขายจนหมดและไม่มีอะไรจะขายอีก วันนี้คนในประเทศไม่ค่อยจะมีกิน โดยมีทัศนคติว่า “ของดีขายได้ราคาดี ของดีจึงเอาไว้ขาย ของเน่าเอาไว้กิน” เมื่อคนเจ็บป่วยจากอาหารการกินมากขึ้น โลกร้อนขึ้นเพราะการทำลายด้วยการกินการอยู่ ทรัพยากรธรรมชาติหมดลงแล้ว ความเดือดร้อนกำลังตามมา คนไทยจึงต้องหาช่องทางใหม่ในการดำรงชีวิตและการทำมาหากิน ประชาคมโลกเลิกเบียดเบียนโดยไม่กินเนื้อสัตว์เพื่อรักษาให้โลกเย็นลง

การท่องเที่ยวแนวใหม่โดยขายวิถีชีวิต ขายการทำมาหากิน ขายวัฒนธรรม ขายศิลปะ และขายดนตรี จึงเป็นทางเลือกใหม่ เพราะวัฒนธรรมยิ่งขายยิ่งได้ ยิ่งทำยิ่งมี วัฒนธรรมไม่ได้สิ้นเปลือง เพราะวัฒนธรรมไม่กุดเหมือนดินสอ ไม่สึกหรอเหมือนแคมตลิ่ง โดยภูมิประเทศของเมืองกาญจน์มีทรัพยากรมาก มีภูมิทัศน์ที่สวยงาม มีป่าไม้ มีภูเขา มีแควน้อย-ใหญ่ มีอาหารอุดมสมบูรณ์ มีประวัติศาสตร์ มีพระแท่นดงรัง มีเมืองเก่า มีด่านเจดีย์ 3 องค์ มีทางรถไฟสายมรณะ มีหลุมฝังศพทหารสงคราม มีผู้คนที่หลากหลายเผ่าพันธุ์ มีคนสำคัญทางศาสนา มีสังฆราช 3 นิกาย มีศิลปินแห่งชาติ มีนักปราชญ์ มีมหาเศรษฐี มีขุนแผน และมีกุมารทอง

Advertisement

อาคารเก่าโรงงานกระดาษกาญจนบุรี ในที่ดินของราชพัสดุ พื้นที่ 155 ไร่ (155 ไร่ 2 งาน 51 ตารางวา) ก่อสร้างเป็นโรงงานกระดาษเพื่อพิมพ์ธนบัตรใช้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 สมัยพระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นนายกรัฐมนตรี สร้างเสร็จในปี พ.ศ.2481 หยุดกิจการเมื่อปี พ.ศ.2525 เปิดให้เอกชนเช่าไปดำเนินธุรกิจ 30 ปี เมื่อหมดสัญญาเช่าแล้ว ชาวเมืองกาญจนบุรีได้เรียกร้องต่อสาธารณะเพื่อทำเป็น “พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมเมืองกาญจนบุรี” แต่ก็ยังไม่มีข้อยุติว่า จะทำเป็นพิพิธภัณฑ์อะไร ตั้งชื่ออย่างไร ใครเป็นผู้รับผิดชอบ ใครจะเป็นคณะบริหาร รวมทั้งรูปแบบจัดการเพื่อให้มีรายได้เลี้ยงตัวเองได้ ยังไม่สรุปว่าจะทำกันอย่างไร

คุณวิกรม กรมดิษฐ์ นั้นมีเครือข่ายกว้างขวางทั้งในและต่างประเทศ คุณสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อาสาเป็นผู้ดูแล “มูลนิธิภูมิบ้านภูมิเมืองกาญจนบุรี” โดยมีคุณหมอประเวศ วะสี เป็นประธาน คุณฮาราลด์ ลิงก์ อาสาช่วยในฐานะประธานบริษัท บี.กริม ผู้ก่อสร้างโรงงานกระดาษเมื่อ 82 ปีที่แล้ว ทุกคนเป็นบุคคลสาธารณะระดับชาติและนานาชาติ เป็นผู้มีวิสัยทัศน์กว้างไกลด้านพิพิธภัณฑ์ เห็นโลกมามาก มีฐานะทางเศรษฐกิจ มีฐานะทางสังคม มีประสบการณ์สูง มีชีวิตอยู่เหนือผลประโยชน์ส่วนตัว หากได้สถาปนิกคนรุ่นใหม่ที่จะช่วยออกแบบ อย่าง คุณชาตรี ลดาลลิตสกุล ศิลปินแห่งชาติ (พ.ศ.2562) ก่อสร้างด้วยฝีมือที่มีมาตรฐานสูง น่าจะนำสิ่งที่ดีที่สุดให้แก่โรงงานกระดาษเก่าที่กาญจนบุรี เป็นพิพิธภัณฑ์ที่ล้ำสมัยและมีรสนิยมได้อีกครั้งหนึ่ง

ฮาราลด์ ลิงก์
ศาสตราจารย์ นพ.ประเวศ วะสี
วิกรม กรมดิษฐ์
สุกรี เจริญสุข

กรณีการพัฒนากาญจนบุรีให้เป็นเมืองน่าท่องเที่ยว นายกเทศมนตรีเทศบาลนครยะลา คุณพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ ได้ให้ความเห็นว่า สิ่งสำคัญของเมืองน่าอยู่และน่าเที่ยวมี 3-4 อย่าง สิ่งแรก เป็นเมืองที่มีเสน่ห์ คนมาเที่ยวแล้วอยากจะกลับมาเที่ยวอีก เมืองกาญจน์จะต้องพัฒนาคนให้มีเสน่ห์ พูดจาดี ให้การต้อนรับด้วยอัธยาศัยที่ดี เป็นมิตรกับทุกคนที่มาเที่ยว สิ่งที่สอง เป็นเมืองที่มีสิ่งแวดล้อมดี เมืองมีระเบียบ คนมีวินัย มีความสะอาด อากาศดี แม่น้ำใสไหลคล่องสวยงาม จิตใจคนสะอาด มีป่าไม้ มีภูเขา การเดินทางสะดวก สิ่งที่สาม เป็นเมืองที่มีวัฒนธรรม มีวิถีชีวิตเรียบง่าย อาหารการกินสะอาด ปลอดสารพิษ มีสุขอนามัยที่ดี และมีความเชื่อมั่น

Advertisement

สิ่งสุดท้าย เป็นเมืองที่มีศิลปะดนตรี มีพิพิธภัณฑ์ มีงานเทศกาลดนตรีและศิลปะ มีนิทรรศการในระดับนานาชาติ มีของที่ระลึกที่ทุกคนภูมิใจ มีความประทับใจในการได้มาเที่ยว เมืองมีความลงตัว หาที่ไหนได้ยาก เมื่อมาแล้วก็ไม่อยากกลับ กลับไปแล้วก็อยากกลับมาอีก

เมืองกาญจน์เป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ของเพลงเขมรไทรโยค ซึ่งเป็นเพลงไทยสมัยใหม่ เมื่อครั้งที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ตามเสด็จรัชกาลที่ 5 ประพาสน้ำตกไทรโยค เมื่อปี พ.ศ.2431 ถือเป็นเพลงท่องเที่ยวเพลงแรกของสยาม บรรเลงครั้งแรกที่หน้ากรมยุทธนาธิการ กระทรวงกลาโหม วันที่ 20 กันยายน พ.ศ.2431 ครั้งนั้นได้แสดงพร้อมกับเพลงสรรเสริญพระบารมี เนื้อร้องเพลงเขมรไทรโยคได้พระราชนิพนธ์ขึ้นใหม่ ไม่ได้ใช้เนื้อร้องแบบเก่าจากวรรณคดีอีกต่อไป เขมรไทรโยคเป็นบทเพลงเล่าเรื่องธรรมชาติของกาญจนบุรี เนื้อร้องว่า

“บรรยายความตามไท้เสด็จยาตร ยังไทรโยคประพาสพนาสณฑ์ น้องเอยเจ้าไม่เคยเห็น ไม้ไร่หลายพันธุ์ คละขึ้นปะปน ที่ชายชลเขาชะโงกเป็นโตรกธาร น้ำพุพุ่งซ่าไหลมาฉาดฉาน เห็นตระการมันไหลจ้อกโครมจ้อกโครม มันดังจ้อกจ้อก จ้อกจ้อกโครมโครม น้ำใสไหลจนดูหมู่มัสยา กี่เหล่าหลายว่ายมาก็เห็นโฉม น้อยเอยเจ้าไม่เคยเห็น ยินปักษาซ้องเสียงเพียงประโคม เมื่อยามเย็นพยับโพยมร้องเรียกรัง เสียงนกยูงทองมันร้องโด่งดัง หูเราฟังมันร้องดังกระโต้งฮง มันดังก้อกก้อก ก้อกก้องกระโต้งฮง”

อีกเพลงหนึ่งสำคัญมาก ชื่อเพลงเชิดจีน แต่งโดยครูมีแขก (พระประดิษฐไพเราะ) เนื้อร้องจากวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน ซึ่งเกี่ยวข้องกับเมืองกาญจนบุรี เป็นบทโรแมนติกไทยโบราณ ดังนี้

“ว่าพลางทางจูงสีหมอกม้า เบาะอานพานหน้าดูงามสม ดังจะปลิวลิ่วลอยไปตามลม อย่าปรารมภ์เลยนะเจ้ามาขี่ม้า ปลอบพลางทางกอดกระซิบบอก ม้าสีหมอกตัวนี้มีสง่า เนื้ออ่อนงอนง้อขอษมา อย่าให้สีหมอกม้ากระเดื่องใจ วันทองสองมือประนมมั่น พรั่นพรั่นกลัวม้าไม่เข้าใกล้ พี่สีหมอกของน้องอย่าจองภัย จะขอขี่พี่ไปทั้งผัวเมีย ขุนแผนพานางมาใกล้ม้า ลูบหลังอาชาให้เชื่องเสีย หยิบมือลูบม้าว่าปลอบเมีย ม้าเลียมือหวีดประหวั่นกลัว”

ม้าสีหมอกของขุนแผนเป็นม้าเปอร์เซีย ซื้อมาจากเมืองมะริด ส่วนดาบฟ้าฟื้นของขุนแผน ด้ามดาบทำด้วยไม้กันเกรา บ้างก็ว่าทำด้วยไม้มะริด ซึ่งเป็นไม้ที่มีเนื้อสีดำแข็งมาก เป็นไม้ที่หายาก นิยมใช้ทำปลัดขิก ใช้ทำพระเครื่อง ทำด้ามดาบของนักรบ (แม่ทัพ) ใช้ทำระนาดเอก ทำปี่ (ปี่ท่านพระของครูมีแขก) ทำขลุ่ย (ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี) มะริดเป็นแก่นไม้ มีเนื้อละเอียด เชื่อว่ามีเสียงดี ไพเราะ เสียงดังกังวาน

นอกจากนี้ เมืองกาญจน์เป็นหัวเมืองมอญมาก่อน ชื่อว่าพลายงาม พลายแก้ว พลายเป็นชื่อในภาษามอญ มีเพลงมอญจำนวนมากในเพลงไทย มอญกละ มอญดูดาว มอญอ้อยอิ่ง โดยเฉพาะทำนองเพลงลูกทุ่ง ปี พ.ศ.2500-2530 เพลงลูกทุ่งส่วนใหญ่เป็นเพลงทำนองเพลงมอญแทบทั้งสิ้น

ขึ้นปีใหม่แล้ว ถึงเวลาโฉมหน้าใหม่ที่เมืองกาญจน์ จะสร้างพิพิธภัณฑ์แสดงประวัติศาสตร์กาญจนบุรี ต้องเลี้ยงกุมารทอง สร้างดาบฟ้าฟื้นขึ้นใหม่ มีคอกเลี้ยงม้าสีหมอก ในพิพิธภัณฑ์มีห้องแสดงดนตรี วงดนตรีมีเล่นเพลงมอญ เขมรไทรโยค เชิดจีน มีห้องโถงแสดงงานศิลปะ เพื่อปลุกให้กาญจนบุรีเป็นเมืองท่องเที่ยว โดยมีเหรียญขุนแผน กุมารทอง เป็นของที่ระลึกติดมือนักท่องเที่ยว

ประวัติศาสตร์สอนให้รู้ว่า การเมือง การทำสงคราม การพัฒนาเศรษฐกิจแบบกอบโกย เป็นสาเหตุทำให้โลกแตกแยก คนเกลียดชังและเอาเปรียบกันและกัน แต่การนำเอาวิถีชีวิต ประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม ดนตรี ศิลปะ มาแสดงให้เห็นเป็นประจักษ์ ทำให้คนมีความรัก เป็นมิตร และมีความเอื้ออาทรต่อกัน

สมัยใหม่บุคลากรโลกจะเลือกอยู่ที่ไหนก็สามารถทำงานได้ สำหรับคนที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล คนที่รักความสงบและเลือกชีวิตที่เรียบง่าย ก็จะเลือกวิถีชีวิตแบบใหม่ ทำงานในเมืองที่สงบน่าอยู่ เมืองที่มีเสน่ห์ เมืองที่มีความปลอดภัย ชีวิตที่มีอนามัย มีความสะดวกสบาย เมืองที่มีระเบียบ อยู่กับผู้คนที่มีน้ำใจ หากว่าคนเมืองกาญจน์ตั้งใจจะพัฒนาให้กาญจนบุรีเป็นเมืองต้นแบบที่น่าอยู่ เป็นเมืองที่ปลอดภัย คนเมืองกาญจน์ก็ต้องร่วมมือทำเอง โดยเฉพาะความร่วมมือจากทุกฝ่าย ประชาสังคม เอกชน และอำนาจรัฐ

แค่ได้คิดแล้วลงมือทำให้เกิดความเชื่อมั่น ทำด้วยความหวังว่า คนเมืองกาญจน์สามารถที่จะสร้างเมืองที่น่าอยู่ในจินตนาการให้สำเร็จได้

สุกรี เจริญสุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image