ที่เห็นและเป็นไป : พลังที่นำชาติสู่วิกฤต

ที่เห็นและเป็นไป : พลังที่นำชาติสู่วิกฤต

ประเทศไทยเราเริ่มต้นปีใหม่ด้วยการกลับมาระบาดอีกครั้งของ “โควิด-19” หวัดที่คนหนุ่มคนสาวเป็นแล้วรักษาหาย แต่คนแก่มีความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะที่มีโรคเรื้อรังประจำตัวเป็นแล้วรอดยาก

เพราะรักษาหายไม่ใช่ไม่แพร่เชื้อ คนหนุ่มคนสาวจึงจำเป็นต้องเซฟตัวเองเพื่อไม่ให้ติดเชื้อแล้วเอามาแพร่ใส่คนแก่ที่ใกล้ชิด

เมื่อดูแนวโน้มการระบาดแล้วควบคุมได้ยากขึ้น ด้วยคนที่ติดเชื้อกระจายไปทั่วแบบตรวจสอบไม่ได้ ยิ่งทำให้สถานการณ์ของโรคน่าจะรุนแรงขึ้น

คล้ายกับว่าครั้งนี้รัฐบาลไม่เข้มข้นในการควบคุมเหมือนที่ผ่านมา ทั้งที่การระบาดลุกลามไปหลายจังหวัดเกือบทั่วประเทศ บางจังหวัดพบผู้ติดเชื้อรายวันจำนวนมาก การควบคุมยังเป็นแค่ขอความร่วมมือให้ระมัดระวังป้องกันตัวเอง ไม่มีมาตรการเด็ดขาดเหมือนที่ผ่านมาที่โอกาสของการระบาดขยายตัวน้อยกว่านี้

Advertisement

อาจจะเป็นเพราะเกิดการระบาดในช่วงวันหยุดเทศกาลปีใหม่พอดี ประชาชนเดินทางกลับบ้าน หรือท่องเที่ยวกันไปแล้ว หากประกาศควบคุมจะทำให้เกิดความยุ่งยากขึ้น

เชื่อกันว่าหลังวันหยุดยาว ประชาชนกลับสู่ที่ตั้งของชีวิตปกติ จะต้องมีการประกาศมาตรการที่เด็ดขาดออกมา เพื่อควบคุมสถานการณ์ให้เข้มข้นขึ้น เพราะไม่เช่นนั้นประเทศชาติจะเสียหายสาหัส

นั่นเป็นเรื่องที่จะต้องเตรียมใจรอรับวิกฤตครั้งใหม่ที่ซ้ำเข้ามาขณะที่วิกฤตครั้งก่อนยังเยียวยากันไม่เสร็จ

Advertisement

เดือดร้อนทุกหย่อมย่านดูจะเป็นเรื่องที่หนีไม่พ้น

ครั้งนี้มีการพูดถึงความหย่อนยานในการทำงานของข้าราชการมากขึ้น

ระเบียบปฏิบัติที่จะระวังป้องกันมีอยู่แล้วในทุกขั้นตอนตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ แต่การละเลยไม่เอาใจใส่ของผู้มีหน้าที่เกิดขึ้นแทบทุกจุด

เอาแค่เรื่อง “การแพร่ระบาดจากเมียนมาประเทศเพื่อนบ้าน”

ก่อนหน้านั้นทุกคนรู้อยู่แล้วว่าเกิดการระบาดรุนแรงที่ประเทศนี้ การจัดการที่ควรจะทำอย่างเข้มข้นคือป้องกันการแพร่เชื้อเข้ามาในประเทศไทย

เริ่มจากต้นน้ำ ต้องมีการตรวจสอบให้เกิดปฏิบัติการควบคุมการเดินทางเข้าออกข้ามประเทศให้เข้มงวดที่สุด

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือปล่อยปละละเลย ไม่มีการกักตัวเพื่อดูอาการตามระเบียบ

แรงงานข้ามชาติเข้าประเทศทั้งถูกกฎหมาย และผิดกฎหมายยังปล่อยเป็นไปตามยถากรรมเหมือนเดิม

ซึ่งรู้กันดีว่าที่เป็นเช่นนี้เพราะผลประโยชน์จากค่าหัวมีพลังมากกว่าสำนึกในการทำหน้าที่ จึงหลับหูหลับตาเปิดกระเป๋าปล่อยกันเข้ามา

พอมาถึงกลางน้ำคือเข้ามาแล้ว การควบคุมให้อยู่อย่างถูกสุขอนามัย ไม่มี

เป็นที่ทราบกันดีในทุกพื้นที่ว่า ที่อยู่ของแรงงานเหล่านี้คือ “ชุมชนแออัด” ที่ไร้สภาพของสุขอนามัย

วิธีการคือ เช่าที่ ขอเลขที่บ้านชั่วคราว เพื่อขอใช้น้ำ ใช้ไฟ หลังจากนั้นปลูกติดกันเป็นพรืด แค่ใช้แผ่นสังกะสีตีเป็นฝาแบ่งห้อง แต่ละห้องอยู่อย่างแออัด มาร่วมกันแบบไม่ต้องรู้หัวนอนปลายตีน

ไม่มีการจัดระเบียบตามวิธีการบริหารการปกครองให้รู้ว่าใครเป็นใคร เพื่อรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้น

ทุกขั้นตอนของความมักง่ายเช่นนี้ แทรกอยู่ด้วยผลประโยชน์ของฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ยิ่งผิดกฎหมายผิดระเบียบยิ่งเป็นช่องทางให้ทำมาหากิน

ความปลอดภัยในชีวิตทั้งของแรงงานข้ามชาติ และประชาชนคนไทยสำคัญน้อยกว่าผลประโยชน์ที่ข้าราชการพวกนี้ได้รับ

เช่นเดียวกับบ่อนการพนัน ทั้งที่รู้ว่าเป็นแหล่งแพร่ระบาดได้ง่าย เพราะเป็นการมั่วสุมของคนจำนวนมากในที่อับ และไม่สามารถควบคุมคนที่เข้าไปได้

แต่การทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นเพราะผลประโยชน์มหาศาลเกิดขึ้นแบบเป็นเรื่องปกติ อย่างที่หอการค้าจังหวัดบอกว่า “มีแต่เสาไฟฟ้ากับตำรวจที่ไม่รู้ว่าบ่อนตั้งอยู่ที่ไหนในพื้นที่”

ผลประโยชน์ติดคอ บังตาอยู่ทั้งนั้น

ทำให้การจัดการแก้ไขให้เป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งเป็นการบริหารปลายน้ำเกิดขึ้นไม่ได้

ผลประโยชน์ส่วนตัวและหมู่เหล่าแลกกับความเสียหายที่เกิดขึ้นกับประเทศชาติ กระทบกับประชาชนทุกคน

เรื่องเกิดขึ้นแล้วมาทำท่าร้อนรนแบบ “วัวหายล้อมคอก” จากนั้นไม่นานแรงผลักของพลังผลประโยชน์ก็พาเรื่องราวให้เกิดการทำงานแบบหรี่ตาปล่อยเละเทะ เพื่อเป็นช่องทางสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนกับผู้มีอำนาจเหมือนเดิม โดยไม่มีใครสนใจว่าประเทศจะอ่อนแอ สูญเสีย ยับเยินแค่ไหน

อำนาจที่ประชาชนไม่ได้เป็นผู้กำหนด ประคับประคองระบบที่เหลวแหลกในการบริหารแบบนี้ไว้

ธุรกิจใต้ดินที่สร้างความร่ำรวยมหาศาลให้คนกลุ่มหนึ่ง แต่สร้างความเสี่ยงมโหฬารกับประเทศชาติ ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เพียงไม่ได้รับประโยชน์อะไรกับธุรกิจนอกระบบภาษีแบบนี้ แต่กลับต้องมีชีวิตที่เสี่ยงต่อความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินอันมีเหตุทั้งโดยตรงและโดยอ้อมจากธุรกิจเหล่านี้

และที่สุดแล้ว “อำนาจที่เป็นของประชาชน” แทรกเข้าไปมีบทบาทไม่ได้

เป็นเพราะอะไร เป็นเรื่องที่ท้าทายให้ทุกคนคิดหาคำตอบ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image