หนี้ครัวเรือน

ธนบัตร หรือเงิน

ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้เผยแพร่ตัวเลขสถิติเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือน หรือหนี้ครัวเรือน ประจำไตรมาสที่ 3 ปี 2563 โดยมีหนี้สินครัวเรือนในระบบหมุนเวียนอยู่ที่ 13,766,209 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2 ปี 2563 ที่ 182,091 ล้านบาท และเมื่อเทียบอัตราส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีแล้วอยู่ที่ 86.6% ทำลายสถิติหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีสูงที่สุดในรอบ 18 ปี เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2 ปี 2563 อยู่ที่ 83.8% และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบไตรมาส 3 ปี 2562 อยู่ที่ 78.9%

ขณะที่ น.ส.ธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ทิศทางหนี้ครัวเรือนที่ปรับขึ้นเป็นไปตามการคาดการณ์อยู่แล้วประกอบด้วย 3 เหตุผล คือ 1.จีดีพีมีการหดตัวลง 2.มาตรการช่วยเหลือพักชำระหนี้ของภาครัฐ การปรับโครงสร้างหนี้ ทำให้ยืดระยะเวลาการชำระหนี้ออกไป 3.การกู้หนี้เพื่อมาเสริมสภาพคล่อง กลุ่มลูกหนี้รายได้ระดับปานกลางและระดับสูง ยังมีความสามารถในการก่อหนี้ทั้งสินเชื่อบ้านและรถ และในอนาคตข้างหน้าระดับหนี้ครัวเรือนก็จะพุ่งสูงขึ้นไปอีก ตราบใดที่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังไม่หายไปน.ส.ธัญญลักษณ์กล่าวว่า วิธีการลดหนี้ครัวเรือน คือ ต้องเพิ่มรายได้และลดรายจ่าย การเพิ่มรายได้ต้องดูเศรษฐกิจในภาพรวม ซึ่งตอนนี้ยังไม่ใช่จังหวะที่ดี ส่วนการลดรายจ่ายเป็นเรื่องของวินัยการเงินส่วนบุคคล เช่น การจะซื้อตู้เย็น หรือรถ ก็ควรจะมีการออมก่อนส่วนหนึ่ง ซึ่งค่านิยมตอนนี้ไม่ได้เป็นแบบนั้น ขณะที่โรคโควิด-19 กลับมาระบาดรอบใหม่ โจทย์เฉพาะหน้าตอนนี้ต้องมีมาตรการมารองรับ เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบต่อเนื่องอยู่

น.ส.ธัญญลักษณ์มองว่า ตอนที่มีสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ครัวเรือนสูญเสียรายได้จากการเลิกจ้างงาน หรือการลดเงินเดือน แต่หนี้สินยังคงมีอยู่เท่าเดิม ทำให้ภาคครัวเรือนอยู่ในภาวะที่ฝืดเคือง โดยเฉพาะกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำกว่า 20,000 บาทต่อเดือน มีหนี้สินมากกว่าเงินออม อยู่ในภาวะที่น่าห่วง ยิ่งสังคมไทยกำลังอยู่ในภาวะสังคมผู้สูงอายุ สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ การไม่มีเงินออมเก็บไว้เลย

สถานการณ์ที่ปรากฏออกมาเป็นสถานการณ์สะสมมาตั้งแต่ปี 2563 แล้วมาตอกย้ำซ้ำเติมตั้งแต่ต้นปี 2564 นี้ สถานการณ์เช่นนี้ประชาชนต้องรับทราบ และเพิ่มการออมให้มาก เพื่อรับมือผลกระทบจากโรคโควิด-19 ระบาด ขณะเดียวกัน รัฐบาลจำเป็นต้องคิดหาวิธีการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจเพิ่มเติม เพื่อให้ครัวเรือนมีหนทาง มีกำลังใจ สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ท่ามกลางสถานการณ์ที่เป็นอยู่

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image